วันนี้ (17 มกราคม) รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงผลการประชุมคณะกรรมการจัดทำงบประมาณรายจ่ายบูรณาการประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 แผนงานบูรณาการการพัฒนาและส่งเสริมเศรษฐกิจฐานราก ซึ่งมี จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน ที่ประชุมเห็นชอบกรอบแนวทางการจัดทำแผนงานบูรณาการพัฒนาและส่งเสริมเศรษฐกิจฐานราก วงเงินงบประมาณ 8.9 พันล้านบาท
ประกอบด้วย 114 โครงการ สอดคล้องกับแผนยุทธศาสตร์ชาติด้านการส่งเสริมเศรษฐกิจฐานราก มี 8 กระทรวงร่วมบูรณาการการทำงาน คือ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (เป็นผู้รับผิดชอบหลัก), กระทรวงพาณิชย์, กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม, กระทรวงมหาดไทย, กระทรวงสาธารณสุข, กระทรวงการอุดมศึกษา, กระทรวงอุตสาหกรรม, สำนักนายกรัฐมนตรี และหน่วยงานอื่นของรัฐ คือ สภาเกษตรกร และสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย
โดยงบบูรณาการปี 2564 มีวงเงินเพิ่มขึ้นจากปี 2563 ถึง 5.9 พันล้านบาท และต้องขอย้ำว่า ยังมีแผนงานด้านการส่งเสริมเศรษฐกิจฐานรากของรายกระทรวงที่จะดำเนินการควบคู่กันด้วย
เป้าหมายของแผนบูรณาการฯ คือ ชุมชนและเกษตรกรมีรายได้เพิ่มขึ้น (ร้อยละ 6 ต่อปี) และลดช่องว่างความเหลื่อมล้ำของรายได้ กลุ่มเป้าหมายประกอบด้วย 1. ผู้มีรายได้น้อย 2. เกษตรกรรายย่อย 3. สถาบันเกษตรกร 4. วิสาหกิจชุมชน 5. ผู้ผลิตและผู้ประกอบการชุมชน พื้นที่ดำเนินการครอบคลุม 7,255 ตำบลทั่วประเทศ
สำหรับแนวทางการทำงาน จุรินทร์ได้ให้ความสําคัญกับการบริหารจัดการที่ดินแก่เกษตรกรรายย่อยและผู้ด้อยโอกาส ให้มีที่ดินทำกินอย่างถูกกฎหมาย ไม่มีการบุกรุกป่าเพิ่ม ผ่านกลไกต่างๆ เช่น ส.ป.ก., โฉนดชุมชน, ธนาคารที่ดิน, นิคมสหกรณ์, นิคมสร้างตนเอง อีกทั้งให้ความสําคัญกับการคัดเลือกสหกรณ์ / กลุ่มเกษตรที่มีศักยภาพผลิตสินค้าจับคู่ทำการตลาด สินค้าที่ผลิตต้องขายได้
ขณะที่ภาพรวมของแผนบูรณาการแบ่งเป็น 3 ส่วน คือ ต้นทาง มุ่งเป้าการพัฒนาศักยภาพประชาชนตามกลุ่มเป้าหมาย สนับสนุนการเข้าถึงทรัพยากรและปัจจัยการผลิต (ตั้งเป้าไม่น้อยกว่า 2.4 แสนราย) และส่งเสริมการพัฒนาอาชีพ (ไม่น้อยกว่า 3 แสนราย) กลางทาง มุ่งเป้าพัฒนาศักยภาพผลิตภัณฑ์และการให้บริการชุมชน พัฒนาผู้ประกอบการชุมชน วิสาหกิจชุมชน เกษตรกรรุ่นใหม่ (ตั้งเป้าไม่ต่ำกว่า 4,300 กลุ่ม) และปลายทาง พัฒนาระบบบริหารจัดการและกลไกตลาด สนับสนุนให้เข้าถึงตลาดทั้งออนไลน์และออฟไลน์ (ตั้งเป้ารายได้จากการจำหน่ายสินค้าชุมชนเพิ่มขึ้นร้อยละ10)
ตัวอย่างโครงการ
- โครงการบริหารจัดการที่ดินทำกินแก่เกษตรกรรายย่อยและผู้ด้อยโอกาส วงเงิน 1.5 พันล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปี 2563 จำนวน 1.1 พันล้านบาท
- โครงการศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าการเกษตร วงเงิน 1.2 พันล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปี 2563 จำนวน 873 ล้านบาท
- โครงการ Smart Farmer วงเงิน 635 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปี 2563 จำนวน 434 ล้านบาท
- โครงการสร้างความเข้มแข็งกลุ่มการผลิตด้านการเกษตร วงเงิน 352 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปี 2563 จำนวน 266 ล้านบาท
- โครงการพัฒนาสินค้าชุมชน วงเงิน 1.1 พันล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปี 2563 จำนวน 711 ล้านบาท เช่น การพัฒนาผลิตภัณฑ์สินค้าชุมชนในพื้นที่ 20 จังหวัดยากจน ด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรม วงเงิน 80 ล้านบาท เริ่มปี 2564 เป็นครั้งแรก
- โครงการพัฒนาศักยภาพการดำเนินธุรกิจของสหกรณ์ กลุ่มเกษตรกร และธุรกิจชุมชน วงเงิน 503 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปี 2563 จำนวน 423 ล้านบาท
- โครงการส่งเสริมการพัฒนาระบบตลาดภายในสำหรับสินค้าเกษตร วงเงิน 538 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปี 2563 จำนวน 459 ล้านบาท เช่น การพัฒนาระบบเก็บข้อมูลการบริหารจัดการการผลิตและการตลาดของสหกรณ์ด้วยเทคโนโลยี Blockchain วงเงิน 73 ล้านบาท เริ่มปี 2564 เป็นครั้งแรก กลุ่มเป้าหมายคือ สหกรณ์และกลุ่มเกษตรกร 30 แห่ง ใน 4 ชนิดสินค้า ได้แก่ ข้าว มันสำปะหลัง ยางพารา และปาล์มน้ำมัน
“กรอบแนวทางการทำงานบูรณาการที่กล่าวมานี้ เป็นอีกกลไกสำคัญหนึ่งที่จะเข้าไปสร้างความเข้มแข็งแก่กลุ่มเกษตรกรและชาวบ้านในชุมชน รวมถึงยังแก้ปัญหาการบริหารราชการที่เป็นแบบต่างคนต่างทำระหว่างกรมและกระทรวง นำไปสู่การใช้งบประมาณไม่คุ้มค่า และไม่สามารถบรรลุผลลัพธ์ที่ตั้งไว้ได้” รัชดากล่าว
พิสูจน์อักษร: ภาวิกา ขันติศรีสกุล