“ภูมิใจมากที่ติดเตรียมทหารทั้งรอบวิชาการและพละฯ ก็ถือได้ว่าได้พิสูจน์สิ่งที่ตั้งใจมา 3 ปี ตั้งใจขนาดยอมหยุดเรียนเพื่อเป็นในสิ่งที่ฝัน”
ตอนหนึ่งในไดอะรีของ ‘น้องเมย-ภคพงศ์ ตัญกาญจน์’ นักเรียนเตรียมทหารชั้นปีที่ 1 ซึ่งเสียชีวิตภายในโรงเรียนเตรียมทหาร เมื่อวันที่ 17 ตุลาคมที่ผ่านมา ท่ามกลางข้อกังขาถึงสาเหตุการตายจากครอบครัวรวมถึงคนในสังคม
สุพิชา ตัญกาญจน์ พี่สาวน้องเมย เปิดเผยกับสื่อมวลชนว่า ก่อนที่จะเสียชีวิต น้องเมยเพิ่งเรียนที่นี่ได้เพียง 5 เดือน กลับถูกรุ่นพี่ปี 3 บางคนลงวินัยทำโทษต่างๆ นานาอย่างรุนแรง จนกระทั่งน้องหยุดหายใจไปครั้งหนึ่ง
สอดคล้องกับไดอะรีส่วนตัวของน้องเมย ซึ่งได้บันทึกเรื่องราวชีวิตนักเรียนเตรียมทหารใหม่
วิ่ง พุ่งหลัง ดึงข้อ ยึดพื้น ถูกต่อยท้อง และลงนรก คือส่วนหนึ่งในไดอะรีของน้องเมยที่เขียนถึงการธำรงวินัยในรั้วจักรดาว
น.น้ำหนึ่งใจเดียว ต.ตั้งใจแน่วแน่ ท.ทำไม่ได้ไม่มี
วิทยานิพนธ์เรื่อง ประสบการณ์ความเข้มแข็งอดทนที่ผ่านการบ่มเพาะของนักเรียนเตรียมทหารตำแหน่งผู้บังคับบัญชา ของเรือโท สยมภู ชูเลิศ คณะจิตวิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย อธิบายฉายภาพชีวิตนักเรียนเตรียมทหารใหม่ได้อย่างดีเยี่ยม
ตลอดระยะเวลาของภาคเรียนที่ 1 หรือประมาณ 6 เดือนในรั้วเตรียมทหารจะมีการปรับเปลี่ยนชีวิตและวิธีคิดของนักเรียนจากแบบพลเรือนมาสู่ระบบทหาร นักเรียนใหม่ต้องเข้าสู่กระบวนการดังกล่าวอย่างเข้มงวดตลอดเวลา นักเรียนจะต้องทำตามคำสั่งที่ดูเหมือนจะเกินขีดความอดทนของร่างกายและจิตใจ
ระหว่างช่วงนักเรียนใหม่มีนักเรียนลาออกไปมากบ้างน้อยบ้างทุกปี ระบบนักเรียนใหม่นี้จะคัดกรองให้เหลือเฉพาะนักเรียนเตรียมทหารที่แข็งแกร่งและมีจิตใจที่เข้มแข็งเท่านั้น
การฝึกภายในโรงเรียนเตรียมทหารมีจุดมุ่งหมายคือเปลี่ยนเด็กมัธยมพลเรือนให้กลายเป็นทหารเต็มตัว ทั้งอุดมการณ์ วิธีคิด ร่างกาย และจิตใจ ผ่านการฝึกตามหลักสูตรรวมถึงระบบต่างๆ เช่น ระบบนักเรียนใหม่ ระบบเกียรติศักดิ์ ระบบอาวุโส และระบบนักเรียนบังคับบัญชา
โดยนักเรียนบังคับบัญชาคือ นักเรียนเตรียมทหารชั้นปีที่ 3 คัดเลือกโดยกรมนักเรียน ตำแหน่งของนักเรียนบังคับบัญชาประกอบไปด้วย หัวหน้านักเรียน หัวหน้ากองพัน หัวหน้ากองร้อย หัวหน้าหมวด และผู้ช่วยครูฝึก ทำหน้าที่เป็นผู้ช่วยนายทหารที่ทำหน้าที่ฝ่ายปกครอง มีหน้าที่กำกับดูแลควบคุมความเป็นอยู่ ระเบียบวินัย ความประพฤติและการฝึกอื่นๆ ที่ไม่เกี่ยวกับการศึกษาในชั้นเรียน
นักเรียนบังคับบัญชารายหนึ่งเปิดเผยว่า การจะเป็นนักเรียนบังคับบัญชา หรือ command จะต้องผ่านการฝึก คือจะฝึกให้รู้ว่าต้องสั่งอย่างไร สั่งเท่าไรถึงจะพอ ไม่เกินลิมิต การฝึกจะถูกทำท่าทุกอย่างรวมทั้งท่าที่ผิดระเบียบ บางท่าไม่เหนื่อยแต่เจ็บ ฝึกเพื่อให้รู้ว่ามันเจ็บอย่างไรจะได้สั่งน้องได้ถูกต้อง บางวันปลุกมากลางดึกฝึกถึงเช้าแล้วก็ไม่ได้นอนต้องวิ่งต่อตอนเช้า
วิ่ง ยึดพื้น พุ่งหลัง และกฎแห่งมุมฉาก นักเรียนใหม่สิทธิ์เท่ากับศูนย์
ตอนหนึ่งของงานวิจัย ผู้วิจัยได้เก็บข้อมูลโดยการสัมภาษณ์เชิงลึกกับนักเรียนเตรียมทหารในระดับนักเรียนบังคับบัญชาและหัวหน้าหมวดขึ้นไปจำนวน 17 คน ถึงความยากลำบากที่ต้องเผชิญทั้งทางร่างกายและจิตใจ
นักเรียนเตรียมทหารใหม่จะได้รับการฝึกพื้นฐานของการเป็นทหารอย่างหนัก พร้อมทั้งต้องเข้ารับการฝึกเบื้องต้นที่จำเป็นก่อนแต่งเครื่องแบบ ตลอดระยะเวลา 18 สัปดาห์แรกจะมีการฝึกสมรรถภาพร่างกาย เช่น วิ่งรอบโรงเรียน ยึดพื้น ดึงข้อ เป็นต้น
นักเรียนใหม่ต้องอยู่ภายใต้กฎแห่งมุมฉาก การเคลื่อนที่ของนักเรียนใหม่จะต้องกระทำโดยการวิ่งเท่านั้น บางครั้งนักเรียนใหม่จะถูกสั่งลงทัณฑ์เมื่อกระทำความผิดด้วยจำนวนครั้งที่กำหนดไว้ในระเบียบ เช่น ยึดพื้น งอเข่าครึ่งนั่ง พุ่งหลัง วิ่งระยะกลางไม่เกิน 1,500 เมตร เพื่อเปลี่ยนสภาพจากชีวิตพลเรือนสู่ทหาร
ผู้ให้ข้อมูลเปิดเผยว่า ช่วงนักเรียนใหม่มีการฝึกกลางแดดที่ร้อนแรง เหน็ดเหนื่อยอย่างยิ่งสำหรับพลเรือนที่ต้องเปลี่ยนสภาพเป็นนักเรียนทหารฉับพลัน และจากเดิมที่ไม่เคยถูกลงโทษมาก่อน แต่ต้องถูกลงโทษอย่างหนักตลอดเวลาในช่วงนักเรียนใหม่ จนบางครั้งรู้สึกหนักเกินกว่าจะทนได้
“เป็นนักเรียนใหม่ก็จะถูกกดดันทั้งร่างกายและจิตใจ เราก็จะทำอะไรไม่สะดวกเหมือนกับที่ทุกๆ คนเป็น เป็นภาวะที่เรียกได้ว่ายากลำบากที่สุดแล้ว เท่าที่ผ่านมา ช่วงนั้นยากลำบากที่สุด ไม่มีอิสระอะไรเลย ที่เขาบอกว่านักเรียนใหม่มีสิทธิ์เท่ากับศูนย์ จะทำอะไรก็ต้องให้เขาสั่งอย่างเดียว เราทำอะไรเองไม่ได้” นักเรียนเตรียมทหาร ผู้ให้ข้อมูลรายหนึ่ง กล่าว
ความคาดหวังของครอบครัวคือแรงขับให้ผ่านพ้น
ผู้ให้ข้อมูลอีกรายเปิดเผยว่า นักเรียนใหม่จะทำอะไรแต่ละอย่างต้องขออนุญาตก่อนเสมอ หน้าที่มีอย่างเดียวคือปฏิบัติตามคำสั่ง เมื่อเป็นนักเรียนเตรียมทหารจะต้องทำตามคำสั่งทั้งหมดให้เสร็จ และทำให้ดีด้วยเวลาอันจำกัด และต้องหาทางออกจากปัญหากับคำสั่งที่เกินขีดความอดทนทั้งร่างกายและจิตใจ
ผู้ให้ข้อมูลเปิดเผยด้วยว่า สิ่งที่เป็นแรงผลักดันให้ผ่านช่วงเวลานั้นมาได้นอกจากตัวเองแล้ว คือการคิดถึงและความคาดหวังจากครอบครัว การจบมาเป็นนายทหารถือเป็นชื่อเสียงแก่วงศ์ตระกูล การลาออกจะทำให้พ่อแม่เสียใจและอับอาย นอกจากนี้อุดมการณ์ทหาร และความมุ่งมั่นตั้งใจส่วนตัวก็เป็นแรงขับดันให้นักเรียนเตรียมทหารใหม่ผ่านช่วงเวลาอันยากลำบากมาได้
“พ่อกับแม่เราตั้งความหวังไว้กับเราว่า เราเข้าโรงเรียนนี้ เราต้องอยู่ได้ เราต้องจบมาเป็นทหาร เป็นชื่อเสียงแก่วงศ์ตระกูลเรา เพราะถ้าเราออกตอนนี้ เราจะไปทำอะไร จะมาลาออก พ่อแม่จะเอาหน้าไปไว้ที่ไหนใช่ไหม” ผู้ให้ข้อมูล กล่าวเปิดใจ
ผบ.สส. สั่งสอบสวนปมซ่อม ‘น้องเมย’ เกินกรอบกำหนดหรือไม่
พล.อ. ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม นักเรียนเตรียมทหารรุ่นที่ 6 กล่าวถึงการธำรงวินัย หรือ การซ่อมของนักเรียนเตรียมทหาร ว่าการโดนซ่อมนั้นโดนกันทุกคน ผมก็เคยโดนมาเหมือนกัน เช่น วิดพื้น วิ่ง สก๊อตจัมป์ ไม่ต้องถูกตัวกัน
“ผมก็เคยโดนซ่อมจนเกินกำลังจะรับได้ จนสลบไปเหมือนกัน แต่ผมไม่ตาย” พล.อ. ประวิตร กล่าว
ด้าน พล.อ. ธารไชยยันต์ ศรีสุวรรณ ผู้บัญชาการทหารสูงสุด กล่าวว่า บางครั้งการซ่อมเป็นเรื่องของการอบรมวินัย ซึ่งนักเรียนเตรียมทหารเป็นเรื่องปกติที่มีการซ่อม เพราะเป็นการสร้างวินัยในการแปรสภาพจากพลเรือนไปสู่การเป็นทหาร แต่ไม่สามารถซ่อมเกินกรอบที่กำหนดเอาไว้ได้ หากเป็นเช่นนั้นถือว่ามีความผิด และจะต้องมีการสอบสวนและลงโทษ ซึ่งในส่วนของนักเรียนเตรียมทหารคนดังกล่าว ผู้ปกครองระบุว่ามีการโดนซ่อมด้วย ซึ่งเราก็จะสอบสวนตรงนี้ทั้งหมด ขณะนี้เราต้องทำความเข้าใจกับพ่อแม่ให้ดีที่สุด โดยเฉพาะข้อข้องใจของครอบครัวเราก็จะชี้แจงทั้งหมด ซึ่งจะมีขั้นตอนทางการแพทย์ ระเบียบวินัย รวมถึงเพื่อนๆ ที่อยู่ในเหตุการณ์
Photo: โรงเรียนเตรียมทหาร