มีคำถามที่แฟนฟุตบอลทั่วโลกให้ความสนใจและอยากรู้เป็นอย่างยิ่งว่า ฟุตบอลพรีเมียร์ลีกในฤดูกาลนี้จะดำเนินต่อไปหรือไม่และอย่างไร ท่ามกลางสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ลุกลามไปทั่วโลกในเวลานี้ ล่าสุดทางรัฐบาลอังกฤษและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมีคำตอบออกมาแล้ว
คำตอบคือ การที่ทุกฝ่ายอันประกอบไปด้วยภาครัฐ, องค์กรกีฬา (พรีเมียร์ลีก ฯลฯ), สถานีโทรทัศน์ในระบบบอกรับสมาชิก (Sky, BT) รวมถึงสถานีโทรทัศน์ในระบบปกติและวิทยุ รวมถึงเลขาธิการด้านกีฬา โอลิเวอร์ ดาวเดน ได้จากการหารืออย่างเคร่งเครียดคือ การให้ทุกอย่างเดินหน้าต่อไปได้ เนื่องจากยังไม่มีเหตุผลทางการแพทย์ที่จะยกเลิกการจัดการแข่งขันได้
แต่ในขณะเดียวกันจะมีการจับตาสถานการณ์อย่างใกล้ชิด จะมีการประชุมกันรายวัน และมีแผนการรับมือจัดเตรียมเอาไว้แล้วในกรณีที่สถานการณ์ทวีความรุนแรงมากขึ้น
บิลล์ สวีนี ประธานอาร์เอฟยู ได้ให้สัมภาษณ์หลังการประชุมที่ลอนดอนถึงสถานการณ์ที่เกิดขึ้นว่า “ไม่มีเหตุผลทางการแพทย์ที่จะยกเลิกกิจกรรมหรือแข่งขันในสนามปิด แต่แน่นอนว่าสถานการณ์มีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา ดังนั้นเราจะมีการพูดคุยกันอย่างสม่ำเสมอนับจากนี้”
ขณะที่ดาวเดนได้ให้สัมภาษณ์ในช่วงเช้าวันจันทร์ต่อรายการ BBC Breakfast ว่า “เราดำเนินการตามข้อเท็จจริงและหลักฐาน ในเวลานี้คำแนะนำจากหัวหน้าคณะแพทย์ชัดเจนว่ายังไม่มีความจำเป็นที่จะต้องยกเลิกการแข่งขัน”
อย่างไรก็ดี หากเกิดสถานการณ์ที่เลวร้ายขึ้น ก็มีโอกาสที่พรีเมียร์ลีก (และการแข่งขันกีฬารายการอื่น) จะต้องดำเนินตามทิศทางของชาติอื่นๆ ที่ได้รับผลกระทบ เช่นในฝรั่งเศสหรือในกรีซ ที่สั่งให้แข่งในสนามปิด ไปจนถึงการสั่งห้ามไม่ให้ดำเนินการแข่งขันใดๆ เลยในช่วงนี้จนถึงวันที่ 3 เมษายนเหมือนในอิตาลี
หากสถานการณ์นำพาไปเช่นนั้น จะเกิดอะไรขึ้นบ้าง มีผลกระทบอย่างไรบ้าง
ทำไมจึงต้องแข่งในสนามปิด
หนึ่งในทางออกของปัญหาที่มีการพูดถึงมากที่สุดในช่วง 2 สัปดาห์ที่ผ่านมาคือการที่จะให้พรีเมียร์ลีกดำเนินการแข่งขันต่อไปใน ‘สนามปิด’ ห้ามไม่ให้ผู้ชมเข้ามาในสนามเพื่อหลีกเลี่ยงการแพร่ระบาดของไวรัส
แต่คำถามที่หลายคนสงสัยคือ แล้วทำไมถึงต้องแข่งในสนามปิด ทำไมไม่เลื่อน หรือยกเลิกการแข่งขันไปในสถานการณ์พิเศษเช่นนี้
ปัญหาเกิดจากการที่ต่อให้ไม่มีสถานการณ์พิเศษ ตารางการแข่งขันฟุตบอลอังกฤษก็แน่นมากอยู่เป็นทุนเดิม โดยนับจากวันนี้ไปจนจบฤดูกาลในวันที่ 17 พฤษภาคมนี้ มีตารางกลางสัปดาห์ที่ว่างเพียงแค่ 2 สัปดาห์เท่านั้นที่ไม่ถูกใช้สำหรับการแข่งขันเกมยุโรปคือช่วงวันที่ 22 เมษายน และ 12 พฤษภาคม
และตารางนั้นเองก็ถูกจับจองเอาไว้อ้อมๆ แล้วสำหรับการแข่งขันรายการเอฟเอคัพ เผื่อกรณีมีการเลื่อนโปรแกรม ส่วนหลังจากนั้นก็มีโปรแกรมเอฟเอคัพนัดชิงชนะเลิศในวันที่ 23 พฤษภาคม และนัดชิงแชมเปียนส์ลีกในอีก 7 วันหลังจากนั้น
ก่อนที่ฟุตบอลยูโร 2020 จะเริ่มในวันที่ 12 มิถุนายน!
ดังนั้น การเลื่อนโปรแกรมจึงเป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ ขณะที่การยกเลิกการแข่งขันโดยให้ตัดจบฤดูกาลแค่นี้เป็นเรื่องที่ยากยิ่งกว่า เพราะนอกจากเรื่องของความรู้สึกแล้ว ยังมีเรื่องของกฎระเบียบที่ไม่มีการระบุกรณีเหล่านี้เอาไว้ว่า หากแข่งไม่จบฤดูกาลแล้วจะตัดสินแชมป์ ทีมที่ได้สิทธิ์ไปสโมสรยุโรป หรือทีมตกชั้นอย่างไร (และไหนจะทีมที่จะเลื่อนชั้นขึ้นมา)
ไม่นับเรื่องผลกระทบการเงินอีกมากมายมหาศาล
การแข่งในสนามปิดอาจจะไม่ใช่ทางออกที่ดีนัก แต่อย่างน้อยก็ถือว่าดีที่สุดเท่าที่มีในตอนนี้
การชมฟุตบอลในผับจะถูกสั่งห้ามเช่นกัน
ค่าเสียหายที่จะเกิดขึ้น
แน่นอนว่าหากมีการตัดสินใจที่จะยกเลิกหรือแข่งในสนามปิด สโมสรทุกสโมสรจะได้รับผลกระทบตามไปด้วย
ในกรณีที่แข่งในสนามปิดยังถือว่า ‘เบา’ เพราะถึงจะสูญเสียรายได้จากการจำหน่ายบัตรผ่านประตู รวมถึงสินค้า อาหาร เครื่องดื่มต่างๆ ที่จะสามารถจำหน่ายได้ที่สนาม แต่ปัจจุบันสโมสรในพรีเมียร์ลีกจำนวนมากไม่ได้ยึดรายได้ส่วนนี้เป็นหลักแต่อย่างใด
ยกตัวอย่างเช่น บอร์นมัธ ในรอบบัญชีปี 2018 พวกเขามีรายได้จากการจำหน่ายบัตรผ่านประตูตลอดฤดูกาลที่ 5.29 ล้านปอนด์ คิดเป็นแค่ 4% ของทั้งหมด โดยหารเฉลี่ยแล้วตกเกมละ 240,000 ปอนด์ ซึ่งเท่ากับเงินค่าเหนื่อยเพียงเดือนเดียวของ คัลลัม วิลสัน กองหน้าของทีม
ขณะที่เลสเตอร์ ซิตี้ เงินจาก ‘แมตช์เดย์’ ในปี 2019 อยู่ที่ 14.69 ล้านปอนด์ คิดเป็น 8.2% ส่วนทีมใหญ่อย่างแมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด รายได้จากวันที่มีเกมในโอลด์แทรฟฟอร์ด ในฤดูกาล 2018-19 คิดเป็น 112.33 ปอนด์ หรือเฉลี่ย 4 ล้านปอนด์ คิดเป็น 18.75% ของรายได้ทั้งหมด
สิ่งที่จะกระทบมากกว่าคือส่วนแบ่งจากค่าลิขสิทธิ์การถ่ายทอดสด ซึ่งหากยกเลิกการแข่งขันไป เงินส่วนแบ่งตามจำนวนนัดก็จะน้อยลงตามไปด้วย
อย่างไรก็ดี หากมีการปิดสนามแข่งเป็นระยะเวลานาน ผลกระทบก็อาจจะเริ่มทวีความรุนแรงมากขึ้น
ผลกระทบอื่นๆ และแฟนฟุตบอลจะทำอย่างไร ดูในผับได้ไหม
ในกรณีที่มีคำสั่งให้แข่งในสนามปิด นอกจากสโมสรฟุตบอลที่จะได้รับผลกระทบแล้ว ยังมีภาคส่วนอื่นๆ ที่ได้รับผลกระทบตามไปด้วย
ธุรกิจการท่องเที่ยวคือหนึ่งในธุรกิจที่ได้รับผลกระทบอย่างรุนแรงจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 เนื่องจากพรีเมียร์ลีกเป็นลีกฟุตบอลที่เป็นที่นิยมของแฟนฟุตบอลทั่วโลก ในแต่ละปีมีแฟนฟุตบอลจำนวนมากมายมหาศาลที่เดินทางมาอังกฤษเพื่อชมเกมของสโมสรโปรด
การปิดสนามแข่งอาจทำให้แฟนฟุตบอลจำนวนมากตัดสินใจที่จะงดการเดินทาง และนั่นหมายถึงรายได้มหาศาลของภาคการขนส่ง ไปจนถึงธุรกิจโรงแรมที่พักและธุรกิจอื่นๆ ที่อยู่ในระบบนิเวศลูกหนังเดียวกัน เช่น ร้านค้าของที่ระลึก ร้านอาหาร ธุรกิจนำเที่ยว
แม้กระทั่งผับและบาร์ที่เป็นอีกหนึ่งเสน่ห์ที่แฟนฟุตบอลทั่วโลกอยากมาสัมผัสการเชียร์บอลในผับอังกฤษแบบแท้ๆ ก็ได้รับผลกระทบตามไปด้วย เนื่องจากทางการไม่ต้องการให้แฟนฟุตบอลที่เข้าสนามไม่ได้มารวมตัวกันในผับแทน ซึ่งเป็นสถานที่ที่แย่กว่าสนามฟุตบอลด้วยซ้ำไป จึงอาจจะมีการห้ามการถ่ายทอดสดในผับหรือบาร์
ทางออกที่มีการพูดคุยกันคือ อาจจะมีการยกเว้นการห้ามถ่ายทอดสดในช่วงบ่ายสามโมงวันเสาร์ ซึ่งปกติแล้วในอังกฤษจะมีการห้ามการถ่ายทอดสดในช่วงเวลาดังกล่าวเพื่อให้แฟนฟุตบอลเดินทางไปชมเกมในสนาม โดย Sky และ BT อาจจะยอมถ่ายทอดสดให้ชมแบบฟรีๆ
ถึงจะไม่ถูกใจแต่ก็เป็นการเยียวยาที่ดีที่สุดเท่าที่จะทำได้แล้ว
ภาพการแห่ฉลองแชมป์ยุโรปในเมืองลิเวอร์พูลที่สร้างความประทับใจเมื่อปีที่แล้ว
แล้วการฉลองแชมป์ของลิเวอร์พูลจะมีไหม
นี่คือหนึ่งในคำถามที่ถูกถามมากที่สุดว่า หากลิเวอร์พูลคว้าแชมป์พรีเมียร์ลีกมาครองได้ ซึ่งเวลานี้ต้องการอีกเพียง 6 คะแนน พวกเขาจะได้ฉลองแชมป์ต่อหน้าแฟนบอลของตัวเอง และที่สำคัญจะมีการแห่ฉลองแชมป์เพื่อให้สมกับที่รอคอยมายาวนาน 30 ปีหรือไม่
เรื่องนี้ยังไม่มีคำตอบที่ชัดเจน สิ่งที่อาจจะเป็นไปได้มากที่สุดและดีที่สุดคือ หากลิเวอร์พูลสามารถคว้าชัยชนะในอีก 2 นัดต่อจากนี้ได้ พวกเขาจะเป็นแชมป์ในวันที่ 21 มีนาคมนี้ ซึ่งเป็นการเล่นในบ้าน
ปกติแล้วตามธรรมเนียมในกรณีที่ทีมใดสามารถคว้าแชมป์ได้ก่อนนัดสุดท้ายของฤดูกาล จะมีการมอบถ้วยแชมป์ให้ในเกมในบ้านนัดสุดท้าย แต่ในสถานการณ์นี้อาจจะมีการพูดคุยกันถึงโอกาสที่จะมอบถ้วยแชมป์ให้ตั้งแต่ในเกมกับคริสตัล พาเลซ หรืออาจจะเป็นเกมในบ้านนัดต่อไปกับแอสตัน วิลลา
เพราะไม่เช่นนั้นหากสถานการณ์วิกฤตขึ้น จอร์แดน เฮนเดอร์สัน อาจจะได้ซอยขาและชูถ้วยแชมป์ต่อหน้าอัฒจันทร์ที่ว่างเปล่าในแอนฟิลด์ ซึ่งเป็นภาพที่เศร้าอย่างน่าเหลือเชื่อ
ขณะที่เรื่องการแห่แชมป์ซึ่งเป็นสิ่งที่เดอะ ค็อปเฝ้ารอตลอด 30 ปี และเดิมคาดว่าจะมีผู้คนมาร่วมในหลัก ‘ล้านคน’ นั้น กำหนดการที่วางไว้ตอนแรกคือ 18 พฤษภาคม หนึ่งวันหลังจบฤดูกาล แต่หากสถานการณ์เลวร้ายขึ้นอาจทำให้มีการยกเลิกการแห่ หรือเลื่อนการแห่ออกไปจนกว่าทุกอย่างจะกลับสู่ภาวะปกติ
เรียกได้ว่าเป็นสถานการณ์วัดใจสำหรับลิเวอร์พูลที่ต้องลุ้นหนักกว่าการลุ้นแชมป์ในฤดูกาลนี้ และหากจำเป็นจะต้องทั้งแข่งในสนามปิดและงดการแห่ฉลองก็ถือเป็นเรื่องที่ต้องทำใจแม้ยากจะทำใจ
อย่างไรก็ดี ในเวลานี้ทุกอย่างยังดำเนินไปตามเดิม บางทีหากแมนเชสเตอร์ ซิตี้ แพ้ 2 นัดจากนี้ในเกมกับอาร์เซนอลในคืนวันพุธ และเบิร์นลีย์ในคืนวันเสาร์ เราอาจจะได้เห็นภาพเดอะ ค็อปออกมาฉลองแชมป์กันในเมืองลิเวอร์พูล หรือในสนามแอนฟิลด์ เหมือนที่ครั้งหนึ่งแฟนแมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ดเข้าไปฉลองแชมป์ในโอลด์แทรฟฟอร์ด หลังการรอคอย 26 ปีของพวกเขาจบลง เมื่อแอสตัน วิลลาเอาชนะโอลด์แฮม แอธเลติกไม่ได้ เมื่อปี 1993
พิสูจน์อักษร: พรนภัส ชำนาญค้า
อ้างอิง:
- https://www.bbc.com/sport/football/51805836
- https://www.dailymail.co.uk/sport/sportsnews/article-8091035/PL-chiefs-face-crunch-government-talks-TODAY-decide-games-played-closed-doors.html
- ยูเวนตุสสูญเสียรายได้จากค่าบัตรผ่านประตูในเกมกับอินเตอร์ มิลานนัดล่าสุดถึง 3 ล้านยูโร
- เมื่อปีที่แล้วมีแฟนบอลลิเวอร์พูลจำนวนกว่า 750,000 คนที่ออกมาร่วมแห่ฉลองหลังทีมคว้าแชมป์ยูฟ่าแชมเปียนส์ลีก