ในที่สุด คดีประวัติศาสตร์ที่ถือเป็นคดีแห่งศตวรรษของเกมฟุตบอลอังกฤษจะได้ฤกษ์เริ่มต้นไต่สวนแล้ว
ตลอดระยะเวลาหลายปีที่ผ่านมา ‘115 ข้อหาทางการเงิน’ ของทีมแมนเชสเตอร์ ซิตี้ เป็นเครื่องหมายคำถามตัวใหญ่สำหรับพรีเมียร์ลีก ในฐานะองค์กรที่กำกับดูแลการแข่งขันให้บริสุทธิ์ยุติธรรม ว่าเมื่อไรที่จะมีการดำเนินการจริงจังเสียที
ตอนนี้ถึงเวลานั้นแล้ว เมื่อพรีเมียร์ลีกจะเริ่มต้นไต่สวนในวันจันทร์ที่ 16 กันยายนนี้ และจะใช้เวลา 10 สัปดาห์ด้วยกัน
มีอะไรที่เราควรรู้และควรทบทวนกันบ้างในเรื่องนี้?
สาเหตุของความล่าช้า
หากนับระยะเวลาแล้ว เรื่องราวของทีม ‘เรือใบสีฟ้า’ แมนเชสเตอร์ ซิตี้ นั้นยืดเยื้อมากว่า 2 ปีนับจากที่มีการประกาศว่ามีการสอบสวนและตั้งข้อหาคดีที่เกี่ยวข้องกับการกระทำผิดทางกฎการเงินจำนวนถึง 115 ข้อหาด้วยกันในระยะเวลา 14 ฤดูกาล เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2022
ไม่นับช่วงเวลาในการสืบเสาะข้อมูลก่อนหน้านั้นที่พรีเมียร์ลีกพยายามตรวจสอบข้อมูลต่างๆ ที่หลุดจาก ‘Football Leaks’ คดีการเปิดโปงความลับดำมืดทางการเงินของสโมสรฟุตบอลที่ถูกตีแผ่โดย DER SPIEGEL สื่อเชิงสอบสวนของเยอรมนี
โดยการเปิดโปงครั้งนั้นนำไปสู่การสั่งลงโทษแมนฯ ซิตี้ โดยยูฟ่าในปี 2020 ด้วยการลงโทษแบนห้ามแข่งรายการสโมสรยุโรปเป็นเวลา 2 ปี พร้อมปรับเงินก้อนโต แต่อนุญาโตตุลาการกีฬา (CAS) ยกคำตัดสิน โดยอ้างว่าระยะเวลาในหลักฐานเก่าเกินกว่าจะใช้ตัดสินได้
แต่ในความล่าช้านั้นเกิดจากการรวบรวมเอกสาร หลักฐาน และพยานที่มีจำนวนมากของคณะกรรมการอิสระที่พรีเมียร์ลีกได้แต่งตั้งขึ้น เพื่อตัดสินเรื่องนี้โดยเฉพาะ
อีกทั้งแมนฯ ซิตี้ ก็ต่อสู้อย่างหนักในเรื่องนี้ โดยนอกจากจะยืนกรานในความบริสุทธิ์ของตัวเองแล้ว ยังไม่ให้ความร่วมมือกับพรีเมียร์ลีกอย่างเต็มที่ และยังแต่งตั้งทีมกฎหมายชุดที่เก่งที่สุดของโลก เพื่อต่อสู้พิสูจน์ความบริสุทธิ์ของตัวเองด้วย ไปจนถึงการฟ้องร้องพรีเมียร์ลีกที่ดำเนินคดีกับพวกเขา
ทั้งหมดคือเหตุผลที่ทำให้คดีประวัติศาสตร์นี้ยืดเยื้อจนถึงปัจจุบัน
เป็นการทำผิดกฎ PSR?
สิ่งที่ต้องทำความเข้าใจอีกนิดคือ ใน 115 ข้อหาของแมนฯ ซิตี้ มีหลากหลายการกระทำผิด
หนึ่งในนั้นมีส่วนเกี่ยวข้องกับกฎ Profit and Sustainability Rule (PSR) ที่เป็นเรื่องใหญ่ของพรีเมียร์ลีกตั้งแต่ฤดูกาลที่แล้วโดยตรง
กฎ PSR ว่าด้วยเรื่องของ ‘ผลประกอบการ’ ที่ห้ามขาดทุนเกินกว่า 105 ล้านปอนด์ในเวลา 3 ฤดูกาล (3 รอบปีบัญชีเดินสะพัด) ซึ่งที่เอฟเวอร์ตัน, น็อตติงแฮม ฟอเรสต์ หรือเลสเตอร์ ซิตี้ เจอการตั้งข้อหามาจากเรื่องทางบัญชี
สำหรับแมนฯ ซิตี้ ข้อหาส่วนหนึ่งที่เผชิญคือ การกระทำมิชอบ ทุจริตทางการเงิน เช่น การจ่ายเงินให้แก่ โรแบร์โต มันชินี อดีตผู้จัดการทีม ผ่านบริษัทอื่น หรือเรื่องของการรับเงินสนับสนุนจากสปอนเซอร์ซึ่งมีเจ้าของเดียวกับสโมสร แต่ใช้วิธีการตกแต่งบัญชี
โดยวัตถุประสงค์ก็เพื่อให้ผ่านกฎ Financial Fair Play ของยูฟ่าที่เริ่มใช้ในปี 2011 และ PSR (กฎในรูปแบบเดียวกัน แต่พรีเมียร์ลีกเรียกคนละแบบ) ที่เริ่มใช้ในปี 2012
แต่นอกจากนี้ยังมีอีกหลายเรื่อง โดยสรุปคือ
- 54 ข้อหา กระทำผิดเรื่องการจัดส่งข้อมูลทางการเงินที่ถูกต้องตั้งแต่ฤดูกาล 2009/10-2017/18
- 14 ข้อหา กระทำผิดเรื่องการจัดส่งข้อมูลการจ่ายเงินให้ผู้เล่นและผู้จัดการทีม ตั้งแต่ฤดูกาล 2009/10-2017/18
- 5 ข้อหา กระทำผิดเรื่องการไม่ทำตามกฎ FFP ของยูฟ่าตั้งแต่ฤดูกาล 2013/14-2017/18
- 7 ข้อหา กระทำผิดกฎ PSR ของพรีเมียร์ลีกในฤดูกาล 2015/16-2017/18
- 35 ข้อหา กระทำผิดในการไม่ให้ความร่วมมือกับพรีเมียร์ลีกในการสอบสวน ตั้งแต่เดือนธันวาคม 2018 – กุมภาพันธ์ 2023
ย้อนไปเมื่อปี 2014 แมนฯ ซิตี้ เคยโดยยูฟ่าลงโทษการทำผิดกฎ FFP ไปแล้วด้วย ก่อนจะโดนลงโทษอีกครั้งเมื่อปี 2020 แต่อุทธรณ์ชนะในชั้น CAS
การไต่สวนใช้เวลาเท่าไร?
ตามการเปิดเผยของพรีเมียร์ลีก คาดว่าคณะกรรมการอิสระจะใช้ระยะเวลาราว 10 สัปดาห์ด้วยกัน โดยคณะกรรมการจะเปิดโอกาสให้แมนฯ ซิตี้ ชี้แจงในการกระทำผิดข้อหาต่างๆ
หลังจากนั้นคาดว่าจะมีการประกาศผลการตัดสินคดีภายในต้นปีหน้า
ใครจะเป็นผู้ชนะ และผลของคดีจะเป็นอย่างไร
ในตอนนี้ยังเป็นเรื่องยากที่จะคาดเดาถึงผลการตัดสินคดี เนื่องจากพรีเมียร์ลีกแม้จะคิดว่ามีหลักฐานที่แน่นหนา แต่คณะกรรมการอิสระนั้นจะตัดสินโดยปราศจากอคติ โดยจะดูตามหลักฐานและพยาน
หากหลักฐานไม่มีน้ำหนักพอ ก็เป็นไปได้ที่จะทำให้น้ำหนักของข้อหาเบาลงไปด้วย เหมือนกรณีที่ยูฟ่าเคยถูก CAS ล้มคำตัดสินมาก่อน
การรอดตัวของเลสเตอร์จากการทำผิดกฎ PSR เมื่อไม่กี่วันก่อนหน้านี้จากรายละเอียดเล็กน้อยในกฎที่เป็นช่องโหว่คือความหวังของแมนฯ ซิตี้ ที่พร้อมจะหาช่องโหว่เหล่านี้เพื่อหาทางรอดให้ได้ และจะมีการต่อสู้อย่างหนักหน่วงแน่นอน
สำหรับเรื่องผลของคดีมีเพียงการคาดเดาว่า หากแมนฯ ซิตี้ ถูกพบว่ากระทำผิดจริง บทลงโทษควรจะรุนแรงที่สุดตั้งแต่มีการก่อตั้งฟุตบอลอังกฤษขึ้นมาเลยทีเดียว โดยอิงจากการที่เอฟเวอร์ตันถูกลงโทษตัดคะแนนรวมถึง 10 แต้มในฤดูกาลที่แล้วจากการทำผิดกฎ PSR
บ้างก็ว่าแมนฯ ซิตี้ อาจโดนสั่งตัดแต้มมหาศาลที่ไม่ต่างอะไรจากการทำให้ตกชั้นล่วงหน้า หรืออาจมีการสั่งให้ตกชั้นลงไปสู่ระดับล่างสุดของลีก
ขณะที่ผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายของ BBC มองว่า อาจจะมีการไกล่เกลี่ยกันระหว่างสองฝ่าย เพื่อหาทางออกที่สงบสุขทุกฝ่าย แต่ยังยากที่จะคาดเดาว่าจะเกิดเหตุการณ์แบบนั้นหรือไม่ และกระแสสังคมจะเป็นอย่างไรต่อในเรื่องนี้
แต่ถ้าหากแมนฯ ซิตี้ ชนะขึ้นมา อาจหมายถึงเป็นการประทับตราว่า ทุกสิ่งที่ทำมาในอดีตคือสิ่งที่ทำได้ และสโมสรที่มีทุนไม่มีขีดจำกัดจะสามารถทำอะไรก็ได้ในอนาคต
บทสรุปจะเป็นอย่างไร อีก 10 สัปดาห์โดยประมาณเราจะได้รู้กัน
อ้างอิง: