ผมแอบเชื่อว่าคุณผู้อ่านหลายท่านที่เป็นคอฟุตบอลน่าจะไม่อยากเชื่อสายตาตัวเองนัก เมื่อเปิดเช็กผลการแข่งขันฟุตบอลพรีเมียร์ลีกเมื่อคืนที่ผ่านมา
บางท่านอาจจะขยี้ตาสักสามทีว่าไม่ได้ตาฝาดไป บางท่านอาจจะหยิกแก้มตัวเองเบาๆ ว่าฝันไปหรือเปล่า เมื่อได้เห็นสกอร์ที่สนามโอลด์แทรฟฟอร์ด ซึ่งจบลงด้วยความพ่ายแพ้ของ แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด ที่โดน ท็อตแนม ฮอตสเปอร์ บุกมาเอาชนะได้ถึง 6-1 และสำหรับเดอะ ค็อปที่ตื่นมาทำงานตอนเช้าน่าช็อกยิ่งกว่า เมื่อเห็นสกอร์ที่ วิลลา ปาร์ค แชมป์พรีเมียร์ลีกถูก แอสตัน วิลลา ถล่มอย่างย่อยยับถึง 7-2
หรือแม้แต่ แมนเชสเตอร์ ซิตี้ ก็โดน เลสเตอร์ ซิตี้ บุกมาถล่ม 5-2 (ก่อนที่จิ้งจอกจะพ่าย เวสต์แฮม ยูไนเต็ด คาบ้านเหมือนกัน 0-3)
อย่างไรก็ดี หากตัดความน่าเหลือเชื่อของผลการแข่งขันแล้วมองในภาพใหญ่จะพบว่า ฟุตบอลพรีเมียร์ลีกในฤดูกาลนี้มีการทำประตูสูงมาก
นับจนถึงจบเกมกับลิเวอร์พูล ซึ่งเป็นการจบเกมสัปดาห์ที่ 4 (Matchday 4) มีเกมลงสนามไปแล้ว 38 นัด (ในสัปดาห์แรกเกมของแมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด และแมนเชสเตอร์ ซิตี้ ถูกเลื่อนออกไป) มีการทำประตูไปแล้วถึง 144 ประตู
หากคิดเป็นค่าเฉลี่ยแล้วมีการทำประตูกันมากถึง 3.78 ประตูต่อนัด ถือเป็นสถิติสูงสุดตลอดกาลอันดับที่ 4 ของลีกฟุตบอลอังกฤษ
นอกจากนี้ในจำนวนเกมทั้งหมด 38 นัดที่ผ่านมานั้น ทีมเยือนกวาดชัยชนะได้ถึง 20 นัด ขณะที่เจ้าบ้านชนะ 15 นัด และเสมอเพียง 3 นัดเท่านั้น
สิ่งที่เกิดขึ้นนั้นเรียกได้ว่าเป็นสถานการณ์ที่แปลกเข้าขั้นประหลาดครับ เพียงแต่เรื่องนี้ไม่ใช่จะไม่มีที่มาที่ไปเสียทีเดียว
มันมีเหตุผลหรือทฤษฎีที่พอจะหาคำอธิบายได้อยู่ครับ
การเตรียมพร้อมแบบไม่พร้อม
อย่างแรกคือการเตรียมความพร้อมในฤดูกาลนี้ของทุกทีม (ย้ำว่าทุกทีม) ได้รับผลกระทบอย่างรุนแรงจากการระบาดของโควิด-19
การที่โปรแกรมการแข่งขันถูกพักนานถึง 3 เดือนในช่วงเดือนมีนาคมถึงมิถุนายน กว่าที่พรีเมียร์ลีกจะกลับมา ‘รีสตาร์ท’ กันได้อีกครั้งนั้น ส่งผลต่อการจัดโปรแกรมการแข่งขันอย่างมาก ช่วงระยะเวลาในการปิดฤดูกาลที่จากเดิมจะมีเวลาราว 2 เดือนครึ่งถึง 3 เดือนถูกหดเหลือแค่ราวเดือนครึ่ง
ทั้งนี้แม้ช่วงของการล็อกดาวน์ 3 เดือนจะเหมือนการได้พัก แต่ความจริงแล้วนักฟุตบอลทุกคนไม่ได้พัก แต่ยังต้องพยายามรักษาสภาพความฟิตของร่างกาย ซึ่งเป็นไปอย่างยากลำบาก ไม่นับผลกระทบทางจิตใจในช่วงที่ไม่สามารถทำอะไรได้ ไม่สามารถออกไปนอกบ้านได้ พบปะเพื่อนไม่ได้ สิ่งเหล่านี้ส่งผลกระทบทั้งสิ้นครับ
ระยะเวลาการปิดฤดูกาลที่สั้น ทำให้ทุกสโมสรสามารถปล่อยนักฟุตบอลให้พักได้เพียงแค่ระยะเวลาสั้นมากๆ ราว 2 สัปดาห์ก่อนที่จะเรียกกลับมารายงานตัวฝึกซ้อมสำหรับพรีซีซันอีกครั้ง (โดยในช่วงพักก็ไม่สามารถหย่อนกายและใจได้เต็มที่เหมือนเดิม)
ทีนี้เมื่อพูดถึงช่วงพรีซีซัน สำหรับบางทีม โดยเฉพาะทีมที่ติดภารกิจต้องเล่นในรายการสโมสรยุโรปที่ถูกเลื่อนให้แข่งในช่วงเดือนสิงหาคมอย่าง 2 ทีมจากเมืองแมนเชสเตอร์ ระยะเวลาในการเตรียมความพร้อมยิ่งหดสั้นลงไปอีกเหลือเพียงแค่ราว 2 สัปดาห์เท่านั้น
ระยะเวลาแค่นั้นทำให้การเตรียมทีมให้มีความพร้อมถึงขีดสุดเป็นเรื่องที่แทบเป็นไปไม่ได้ เพราะช่วงพรีซีซันนั้นเป็นช่วงที่สำคัญที่สุดสำหรับการเตรียมทีม มีสิ่งที่ผู้จัดการทีมและสตาฟฟ์โค้ชต้องทำมากมาย
มีอะไรที่ต้องทำบ้าง?
อย่างแรกคือเรื่องของสภาพความฟิต ที่ต้องทำให้ผู้เล่นมีสภาพร่างกายที่พร้อมสำหรับการสู้ศึกหนักตลอดฤดูกาลที่ยาวนาน ซึ่งปัจจุบันแม้จะมีวิทยาศาสตร์การกีฬาและเทคโนโลยีเข้ามาช่วยอย่างมาก แต่ระยะเวลาที่สั้นทำให้การออกแบบโปรแกรมฝึกซ้อมเพื่อรีดศักยภาพนักเตะนั้นเป็นงานที่ท้าทายในระดับ Mission Impossible สำหรับทีมโค้ช
อย่างที่สองคือเรื่องของแท็กติก การเล่นเป็นกลุ่ม การเล่นเป็นทีมที่ปกติแล้วจะมีการปรับแต่งแก้ไข จูนเครื่องกันในช่วงพรีซีซัน อะไรที่เคยผิดพลาดหรือเป็นจุดอ่อนจะถูกแก้ไขในช่วงนี้ โดยโค้ชจะค่อยๆ ใส่แท็กติกลงไปในทีมช่วงนี้ เพราะการเปลี่ยนแปลงแท็กติกการเล่นในระหว่างฤดูกาลเป็นไปได้ยากจากโปรแกรมที่หนักและถี่
ยังมีเรื่องของการพัฒนาศักยภาพของผู้เล่นโดยส่วนตัวอีกที่นักฟุตบอลแต่ละคนจะมีโปรแกรมการฝึกซ้อมเฉพาะของตัวเอง ซึ่งเราจะเห็นได้บ่อยๆ ว่าเมื่อเปิดฤดูกาลใหม่จะมีนักฟุตบอลบางคนที่เก่งขึ้นแบบผิดหูผิดตาก็มาจากการซ้อมในช่วงที่มีเวลาให้ขัดเกลาเต็มที่นี่แหละครับ
สุดท้ายคือการลงสนามเพื่ออุ่นเครื่อง ทดสอบระบบ เช็กสภาพความฟิตนั้นน้อยมาก บางทีมไม่ได้ลงแข่งพรีซีซันเลยแม้แต่เกมเดียว
ดังนั้นในโปรแกรม 4 นัดที่ผ่านมาจึงไม่ต่างอะไรจากการที่แต่ละสโมสรเพิ่งจะเริ่มเข้าสู่ช่วงท้ายของโปรแกรมพรีซีซันในยามปกติครับ และเป็นหนึ่งในเหตุผลที่ทำให้เราได้เห็นการเล่นที่เต็มไปด้วยความผิดพลาดแบบง่ายๆ ไม่ว่าจะเป็นความผิดพลาดส่วนบุคคลหรือความผิดพลาดในแท็กติกการเล่น
โดยเฉพาะเกมรับการปิดพื้นที่ที่ทำได้ไม่ดี ซึ่งมีส่วนในการทำให้ทีมที่บุกมีพื้นที่และเวลาในการเล่น และสามารถสร้างโอกาสได้มากขึ้น
ความผิดพลาดต่างๆ นั้นจะลดลงเมื่อนักฟุตบอลเรียกจังหวะและการเล่นที่เฉียบคม (Sharpness) กลับมา ซึ่งสิ่งเหล่านี้ต้องใช้เวลาครับ
แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด เป็นทีมที่ได้รับผลกระทบรุนแรงในการเตรียมทีม ทำให้ทีมขาดสภาพความพร้อมอย่างหนัก และสะท้อนออกมาผ่านผลงานในสนาม
โปรแกรมที่อัดแน่นเกินไป
ปัจจัยต่อมาคือเรื่องของโปรแกรมการแข่งขันที่ถูกบีบจากการเริ่มต้นฤดูกาลช้าและยังมีโปรแกรมฟุตบอลทีมชาติคั่น รวมถึงโปรแกรมทัวร์นาเมนต์ใหญ่อย่างฟุตบอลยูโรที่ต่อคิวรออยู่ในช่วงสิ้นสุดฤดูกาลหน้า ทำให้แทบทุกสโมสรจะต้องลงสนาม 2 นัดต่อสัปดาห์ไปเรื่อยๆ จนจบฤดูกาล โดยเฉพาะทีมที่ติดภารกิจฟุตบอลสโมสรยุโรปด้วย
เพราะแบบนี้เราจึงได้เห็นสเปอร์สลงเล่นในเกมพรีเมียร์ลีกวันอาทิตย์ ลงเล่นลีกคัพวันอังคาร ยูโรปาลีกวันพฤหัสบดี และกลับมาเล่นพรีเมียร์ลีกอีกครั้งในวันอาทิตย์
การลงเล่นถี่แบบนี้ส่งผลต่อการจัดทีมลงสนาม ทุกทีมต้องมีการหมุนเวียนผู้เล่นกัน ซึ่งเรื่องขุมกำลังของแต่ละสโมสรเองก็มีความพร้อมไม่เท่ากัน ตัวสำรองไม่สามารถทดแทนตัวจริงได้เสมอไป
และต่อให้เป็นตัวจริงแต่การถูกเข็นลงสนามต่อเนื่อง (เช่น เวอร์จิล ฟาน ไดจ์ค ของลิเวอร์พูล) ก็เป็นเรื่องยากที่จะลงสนามในสภาพที่เต็มร้อยทั้งกายและใจได้
ไม่นับเรื่องอาการบาดเจ็บที่เกิดขึ้นของนักฟุตบอลหรือการติดเชื้อโควิด-19 ภายในทีม (ลิเวอร์พูลเสีย ติอาโก อัลคันทารา และ ซาดิโอ มาเน ที่ต้องถูกกักตัวหลังติดเชื้อ) ซึ่งสิ่งเหล่านี้ส่งผลต่อการแข่งขันได้หมดครับ
ทีมเหย้า = ทีมเยือน
ปัจจัยที่ 3 คือการเล่นในสนามปิดไม่มีแฟนฟุตบอลนั้นมีผลอย่างมากต่อการแข่งขัน
เพราะถึงจะมีการวิเคราะห์ว่าทำให้นักฟุตบอลมีสมาธิกับการเล่นมากขึ้นแต่ในทางตรงกันข้ามพวกเขาก็ ‘ใส่ใจ’ กับผลการแข่งขันน้อยลงตามไปด้วย เพราะถึงจะเล่นพลาดก็ไม่ต้องเผชิญกับแรงกดดันมหาศาลจากแฟนบอล
หรือในอีกทางคือการไม่มีแฟนบอลก็ทำให้ทุกทีมขาดแรงกระตุ้นพิเศษที่จะสร้างความเปลี่ยนแปลงให้เกิดขึ้นในสนาม
ยกตัวอย่างเช่นในเกมที่โอลด์แทรฟฟอร์ด ในสถานการณ์ที่แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ดตามหลัง 1-4 ในช่วงครึ่งแรกนั้น หากมีแฟนบอลอยู่ในสนาม เสียงกระตุ้นจากแฟนๆ ที่ไม่สามารถยอมรับความพ่ายแพ้ย่อยยับตรงหน้าอาจจะทำให้นักฟุตบอลรู้สึกต้องการที่จะทำอะไรสักอย่างขึ้นมามากกว่าการยอมรับความปราชัยง่ายๆ แบบนี้
การไม่มีแฟนบอลในสนามยังทำให้ไม่มีความได้เปรียบสำหรับทีมเจ้าบ้านด้วย ซึ่งอย่างที่บอกไปข้างต้นครับว่าในจำนวน 38 นัดที่ผ่านมา มีทีมเยือนชนะมากถึง 20 นัด หรือคิดเป็นค่าเฉลี่ยที่ 52.63% ซึ่งถือว่าสูงมาก เพราะโดยปกติแล้วค่าเฉลี่ยที่ทีมเยือนจะชนะนั้นมีแค่ราว 30% เท่านั้น
ในทางวิทยาศาสตร์แล้ว เวลาที่ฮอร์โมน ‘เทสโทสเตอโรน’ (Testosterone) เพิ่มสูงขึ้น จะทำให้นักกีฬามีความมั่นใจสูงขึ้น ตัดสินใจได้ดีขึ้น มีพลังความกร้าวแกร่งมากขึ้น อยากจะชนะในการแข่งขันมากขึ้น ซึ่งเทสโทสเตอโรนนั้นจะถูกกระตุ้นได้โดยเสียงเชียร์ของแฟนๆ และเสียงในสนามนั่นเอง
นั่นคือเหตุผลที่ทำให้เจ้าบ้านเล่นได้ไม่ดี ทั้งๆ ที่เล่นในบ้านของตัวเองก็ตาม
ขณะที่ทีมเยือนซึ่งปกติจะมีฮอร์โมนอีกตัวคือ คอร์ติซอล (Cortisol) ที่มีผลต่อความกลัว กลัวในการไปเยือนสถานที่ที่ไม่คุ้นเคย กลัวเสียงเชียร์ในสนาม และทำให้ทำผลงานได้ไม่เต็มที่ เมื่อไม่มีกองเชียร์เจ้าบ้านกดดันแล้วทำให้การไปเล่นเกมเยือนกลายเป็นความรู้สึกตื่นเต้น การได้เล่นในสนามใหม่ บรรยากาศใหม่ ปราศจากความกดดันก็กลายเป็นเล่นดีไป
บรรยากาศที่หายไปทำให้เกมการแข่งขันไม่ต่างอะไรจากเกมฝึกซ้อม ซึ่งการเล่นในสภาพนี้เป็นระยะเวลานานทำให้นักฟุตบอลสูญเสีย ‘ความรู้สึก’ บางอย่างไปด้วย
ทั้งหมดที่กล่าวมานั้นคือสิ่งที่เราแลกเปลี่ยนเกมฟุตบอลที่เราคุ้นเคยกับเกมฟุตบอลในบรรยากาศใหม่ที่มีความ Pure Football แข่งกันด้วยฝีเท้า วัดกันด้วยแท็กติก วันนั้นใครเตรียมตัวมาดีกว่าก็มีโอกาสชนะ ไปจนถึงขั้นชนะถล่มทลายทีมที่ไม่คิดว่าจะถล่มได้
ฟุตบอลจึงกลายเป็นเกมที่คาดเดาผลการแข่งขันได้ยาก อะไรก็เกิดขึ้นได้ อะไรที่ไม่เคยเห็นก็ได้เห็น และคาดว่าจะเป็นแบบนี้ไปจนกว่าแฟนบอลจะกลับเข้ามาเชียร์ในสนามได้อีกครั้ง
ฟุตบอลแบบเก่าที่เราคุ้นเคยจึงจะกลับมาครับ
ภาพประกอบ: นิสากร ฤทธาภัย
พิสูจน์อักษร: พรนภัส ชำนาญค้า
อ้างอิง: