×

เหตุผลที่ ‘พรีเมียร์ลีก 2020-21’ เป็นฤดูกาลที่โหดร้ายที่สุดในประวัติศาสตร์

11.09.2020
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

8 mins. read
  • ฟุตบอลพรีเมียร์ลีกฤดูกาล 2020-21 ถูกมองว่าเป็นฤดูกาลที่โหดที่สุด เพราะกรอบระยะเวลาทั้งหมดถูกบีบลงจากผลกระทบของโควิด-19 โดยโปรแกรมแข่งถูกบีบให้จบเร็วกว่าปกติถึง 1 เดือน
  • รายได้จากวันแข่งขัน (Matchday) ที่หายไป ทำให้เส้นเลือดใหญ่ของทุกสโมสรตีบตัน สโมสรใหญ่ๆ อย่างลิเวอร์พูลและแมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด อาจสูญเสียรายได้ 3-5 ล้านปอนด์ต่อเกมในบ้าน ไม่นับรายได้จากลิขสิทธิ์การถ่ายทอดสดที่ลดลงและต้องจ่ายเงินชดใช้ให้แก่เจ้าของลิขสิทธิ์ทั่วโลกด้วย
  • ถึงสถานการณ์ทางการเงินจะดูลำบาก แต่หลายสโมสรตัดสินใจเดิมพันด้วยการเสริมทัพอย่างจริงจัง แต่ก็มีทีมที่เลือกความมั่นคงทางการเงินก่อนด้วยการลดการใช้จ่ายลง

สุดสัปดาห์นี้ The Greatest Show on Earth อย่างฟุตบอลพรีเมียร์ลีกจะกลับมาเปิดม่านฤดูกาลกันอีกแล้ว แม้ว่าในความรู้สึกจะเหมือนกับฤดูกาลที่แล้วที่แสนยาวนานจะเพิ่งจบลงไปได้เพียงไม่นานก็ตาม

 

ที่เป็นเช่นนี้เพราะโควิด-19 ได้สร้างผลกระทบต่อโลกอย่างมากมายมหาศาลไม่เว้นแม้แต่ในเกมกีฬาอย่างโลกฟุตบอลที่ได้รับผลกระทบอย่างมากมายมหาศาล รวมถึงการแข่งขันฟุตบอลลีกทั่วยุโรปที่ควรจะปิดฤดูกาลเมื่อเดือนพฤษภาคม แต่การต้องพักการแข่งขันยาวนานถึง 3 เดือน (มีนาคม-มิถุนายน) ทำให้ม่านของฤดูกาล 2019-20 เพิ่งจะถูกปิดฉากลงไปเมื่อปลายเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา

 

ฟุตบอลเอฟเอ คอมมิวนิตี้ ชิลด์ ซึ่งเป็นรายการเปิดม่านตามธรรมเนียมของฤดูกาลใหม่เอง จากเดิมที่จะจัดขึ้นในช่วงต้นเดือนสิงหาคม ถูกขยับมาเป็นช่วงปลายเดือนและแข่งขันหลังฟุตบอลยูฟ่าแชมเปียนส์ลีกนัดชิงชนะเลิศจบลงเพียง 1 สัปดาห์ โดยที่ยังมีโปรแกรมฟุตบอลทีมชาติยูฟ่าเนชันส์ลีกต่อในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา

 

สถานการณ์ที่เกิดขึ้นจึงเป็นสถานการณ์ที่มีความพิเศษเป็นอย่างยิ่งที่อาจจะเป็นเพียงครั้งเดียวในชีวิตของเราด้วยซ้ำไป (หวังว่าจะเป็นแค่ครั้งเดียว!) 

 

และแน่นอนว่ามันเป็นสถานการณ์พิเศษที่นำมาซึ่งความท้าทายที่พิเศษกว่าปกติอย่างชนิดที่เทียบกันไม่ได้

 

เส้นแบ่งระหว่างความฝัน ความจริง และความท้าทายที่อยู่ตรงหน้า มีอะไรที่ควรรู้และทำความเข้าใจบ้างสำหรับแฟนบอลอย่างเราๆ ซึ่งก็ได้รับผลกระทบไม่แพ้กัน

 

ผลกระทบจากโควิด-19 ทำให้แชมป์อย่างลิเวอร์พูลมีเวลาพักหลังจบฤดูกาลที่แล้วเพียงแค่ 2 สัปดาห์เท่านั้น ก่อนต้องรายงานตัวฝึกซ้อมทันที

 

ฤดูกาลที่เข้มข้นยิ่งกว่าเอสเพรสโซ

สิ่งแรกที่ต้องเข้าใจให้หนักคือพรีเมียร์ลีกในฤดูกาล 2020-21 จะเป็นฤดูกาลที่เข้มข้นที่สุด

 

ความเข้มข้นนั้นไม่ได้เกิดจากการแข่งขันระหว่างสโมสรที่ต้องทำทุกวิถีทางเพื่อที่จะไปให้ถึงเป้าหมายเท่านั้น แต่หมายถึงโปรแกรมการแข่งขันที่หนักหน่วงอย่างมาก เนื่องจากการเริ่มต้นฤดูกาลที่ล่าช้าและมีฟุตบอลระดับนานาชาติอย่างฟุตบอลยูโรรออยู่ ทำให้ทุกอย่างต้องถูกบีบลงอย่างมีนัยสำคัญ

 

38 นัดของพรีเมียร์ลีกที่จะเริ่มในวันที่ 12 กันยายน และหวังว่าจะสามารถปิดฤดูกาลได้ภายในวันที่ 23 พฤษภาคม 2021 จะมีระยะเวลาในการแข่งขันน้อยลงกว่าปกติถึง 4 สัปดาห์ หรือเกือบ 1 เดือน โดยที่จะไม่มีการพักเบรกฤดูหนาว (Winter Break) ที่เดิมตั้งใจจะให้มีช่วงเวลาพักในฤดูหนาวอย่างน้อยทีมละ 1-2 สัปดาห์ (แล้วแต่ความจำเป็นของโปรแกรมการแข่งขัน)

 

ถึงแม้จะมีความพยายามช่วยเหลือจากเอฟเอและฟุตบอลลีกในการลดจำนวนแมตช์ในรายการฟุตบอลถ้วย ทั้ง เอฟเอคัพ ที่ยกเลิกการรีเพลย์ และ ฟุตบอลลีกคัพ ที่เปลี่ยนรูปแบบในรอบรองชนะเลิศจากเดิมที่ต้องแข่ง 2 นัดเหลือแค่นัดเดียว แต่เพราะฟุตบอลถ้วยและฟุตบอลทีมชาติ ทำให้หมายถึงการที่จะมีโปรแกรมในช่วงกลางสัปดาห์เกิดขึ้นต่อเนื่องทุกสัปดาห์

 

ยกตัวอย่างให้เห็นภาพง่ายขึ้นคือกรณีของท็อตแนม ฮอตสเปอร์ ที่มีโปรแกรมต้องลงสนาม 9 นัดในช่วง 20 วันระหว่างเดือนกันยายนจนถึงตุลาคม โดยไม่นับเรื่องของการเดินทางที่มีส่วนมาก โดยหลังจากเกมเปิดสนามฤดูกาลใหม่กับเอฟเวอร์ตันในวันอาทิตย์ที่ 13 กันยายน พวกเขาจะต้องเดินทางไปบัลแกเรียเพื่อเล่นเกมฟุตบอลยูฟ่ายูโรปาลีกรอบคัดเลือกกับโลโคโมทีฟ พลอฟดิฟ ในวันพฤหัสบดีที่ 17 กันยายน และจะต้องกลับมาลงสนามต่อกับเซาแธมป์ตันในวันอาทิตย์ที่ 20 กันยายน

 

สถานการณ์ที่เกิดขึ้นทำให้ โชเซ มูรินโญ อาจต้องแก้ไขด้วยการเตรียมทีมเอาไว้ 2 ชุดเพื่อรับมือกับสถานการณ์นี้

 

โปรแกรมที่ถูกบีบนี้ส่งผลอย่างมหาศาลต่อทุกทีมอย่างแน่นอน และกลายเป็นความท้าทายที่ยิ่งใหญ่ของบรรดาสตาฟฟ์โค้ชด้านฟิตเนสและแพทย์ประจำสโมสรที่จะต้องพยายามหาทางทำทุกอย่างเพื่อให้นักฟุตบอลยังคงสภาพร่างกายให้พร้อมสำหรับการแข่งขันได้

 

ความยากไม่ได้มีเพียงแค่โปรแกรมที่ถูกบีบ แต่ระยะเวลาในการเตรียมสภาพความพร้อมของแต่ละทีมก็ลดน้อยลงไปอีก

 

โดยหลังจบฤดูกาล 2019-20 เมื่อปลายเดือนกรกฎาคม นักฟุตบอลส่วนใหญ่จะได้พักราว 2 สัปดาห์เท่านั้น จากที่ควรจะมีเวลาพักอย่างน้อย 4-6 สัปดาห์ก่อนจะกลับมาทำการรายงานตัวฝึกซ้อมตามปกติ (สำหรับทีมที่ติดภารกิจในเวทีฟุตบอลยุโรปอย่างแมนเชสเตอร์ ซิตี้, เชลซี, แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด และวูล์ฟส์ ได้รับการอนุโลมให้ออกสตาร์ทฤดูกาลได้ช้ากว่าปกติ)

 

ระยะเวลาการเตรียมตัวน้อยลงส่งผลให้ทุกสโมสรต้องมีการออกแบบการฝึกซ้อมใหม่ทั้งหมด โดยอาศัยระยะเวลาการพักหลังปิดฤดูกาลที่น้อยลง ทำให้สภาพร่างกายของนักเตะยังไม่เสียสภาพมากนัก เพียงแต่ในเรื่องของความกรอบและบอบช้ำเป็นเรื่องที่ยากจะประเมิน แม้ว่าเทคโนโลยีสมัยใหม่จะสามารถบ่งบอกระดับอาการบาดเจ็บภายในร่างกายได้ก็ตาม

 

สิ่งที่อาจจะเกิดขึ้นให้ได้เห็นเป็นประจำคือการบาดเจ็บ ไม่ว่าจะหนักหรือเบาของนักฟุตบอล และปัญหาในการจัดทีมที่จะตามมา โดยเฉพาะทีมที่มีขนาดไม่ใหญ่มาก

 

การที่แฟนบอลเข้าสนามไม่ได้ ทำให้สโมสรขาดรายได้มหาศาล โดยเฉพาะทีมใหญ่อย่างแมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด ที่สูญเสียรายได้ 3-5 ล้านปอนด์ต่อนัดที่ไม่มีแฟนบอล

 

ผลกระทบทางรายได้ เงินละลายหายไปในอากาศ

โควิด-19 ไม่ได้ทำให้บรรดาสโมสรพรีเมียร์ลีกต้องเผชิญกับความท้าทายของการแข่งขันที่เข้มข้นกว่าฤดูกาลไหนเท่านั้น แต่นอกสนามแล้วสโมสรฟุตบอลเหล่านี้เองก็เผชิญกับความท้าทายไม่แพ้กันในเรื่องของการประคับประคองสโมสรให้อยู่รอด

 

เพราะแม้จะเป็นลีกที่ดังที่สุดในโลก ทุกสโมสรได้รับเงินส่วนแบ่งจากค่าลิขสิทธิ์การถ่ายทอดสดสูงที่สุดในโลก แต่นั่นไม่ได้หมายความว่าทุกสโมสรจะมีสถานะทางการเงินที่เข้มแข็ง

 

รายได้ส่วนใหญ่ของสโมสรถูกใช้จ่ายไปกับทรัพยากรที่มีค่าที่สุดคือนักฟุตบอล โดยเฉพาะในบรรดาสโมสรระดับชั้นนำที่หลายแห่งมีรายจ่ายต่อปีหลายร้อยล้านปอนด์ ซึ่งรายจ่ายเหล่านี้เป็นรายจ่ายประจำที่เกิดขึ้น ไม่นับในส่วนของบุคลากรฝ่ายต่างๆ ตั้งแต่ผู้บริหารไล่ลงมาถึงระดับลูกจ้างประจำและลูกจ้างชั่วคราวในวันที่มีการแข่งขัน

 

ปัญหาคือโควิด-19 ทำให้ทุกสโมสรได้รับผลกระทบทางการเงินอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ในส่วนแรกสุดคือการที่แฟนฟุตบอลไม่สามารถเข้ามาชมเกมที่สนามได้ ทำให้ทุกสโมสรอยู่ในภาวะเส้นเลือดอุดตันทันที เนื่องจากรายได้ในวันแข่งขันซึ่งประกอบไปด้วยรายได้จากการจำหน่ายบัตรผ่านประตู รายได้จากการจำหน่ายสินค้าที่ระลึกต่างๆ รายได้จากธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับสโมสร เช่น การทัวร์สนามหรือการเข้าชมพิพิธภัณฑ์ และรายได้จากสปอนเซอร์ที่มีข้อตกลงที่เกี่ยวเนื่องกับเกมการแข่งขันในสนาม (เช่น ป้ายโฆษณาในสนาม หรือบ็อกซ์วีไอพีในสนาม)

 

รายได้จากวันแข่งขัน (Matchday) ส่วนนี้ไม่ใช่จำนวนน้อยๆ โดยเฉพาะกับสโมสรใหญ่อย่างลิเวอร์พูลหรือแมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด ที่ได้รับผลกระทบอย่างเต็มๆ โดยทุกเกมที่แข่งโดยไม่มีแฟนบอลมาที่สนามจะทำให้สโมสรขาดรายได้ราว 3-5 ล้านปอนด์ต่อนัด ซึ่งได้รับผลกระทบมาตั้งแต่ช่วงโค้งสุดท้ายของฤดูกาลที่แล้ว


ปัญหาใหญ่คือการที่ไม่มีใครสามารถระบุได้ว่าสถานการณ์จะกลับมาเป็นปกติเมื่อไร? 

 

ล่าสุดคือรัฐบาลอังกฤษพยายามที่จะทำให้แฟนฟุตบอลกลับมาเข้าสู่สนามได้อีกครั้งภายในเดือนตุลาคมนี้ แต่จะเป็นการจำกัดเพียงแค่บางส่วนเท่านั้น ซึ่งหมายถึงการที่รายได้ก็ยังไม่ได้กลับเข้าสู่สโมสรเหมือนเดิมตามปกติที่ควรจะเป็น

 

เรื่องนี้ทำให้ทางด้าน ริชาร์ด มาสเตอร์ ซีอีโอพรีเมียร์ลีกคนปัจจุบัน ต้องเรียกร้องขอให้แฟนบอลกลับเข้าสู่สนามโดยเร็วที่สุด เพื่อไม่ให้สโมสรต้องได้รับผลกระทบมากกว่านี้ เพราะคาดว่าหากแฟนบอลกลับเข้าสู่สนามไม่ได้ในฤดูกาล 2020-21 อาจทำให้เกิดผลกระทบสูงถึง 700 ล้านปอนด์ ไม่นับผลกระทบต่อเนื่องถึงธุรกิจต่างๆ ที่เชื่อมโยงกับพรีเมียร์ลีกที่จะได้รับผลกระทบไปด้วย

 

รายได้จากวันแข่งขันไม่ใช่ส่วนเดียวที่หายไป รายได้จากสปอนเซอร์เองก็ได้รับผลกระทบไปด้วย เพราะต่อให้มีการเซ็นสัญญากันไว้ ก็ไม่ได้หมายความว่าจะตกลงจ่ายกันตามที่ตกลงเพราะสถานการณ์เปลี่ยน 

 

ขณะที่รายได้จากการถ่ายทอดสดเองก็ลดลงด้วยเช่นกัน โดยในส่วนของพรีเมียร์ลีกจะต้องมีการจ่ายเงินชดใช้ (Rebate) ให้แก่เจ้าของลิขสิทธิ์การถ่ายทอดสดทั่วโลกที่ได้รับผลกระทบจากการแข่งขันที่ถูกเลื่อนออกไปราว 330 ล้านปอนด์ โดยแต่ละสโมสรจะจ่ายไม่เท่ากันตามจำนวนนัดของการถ่ายทอดสด แต่โดยเฉลี่ยแล้วจะอยู่ที่ราวสโมสรละ 20 ล้านปอนด์

 

สำหรับสโมสรใหญ่ที่ได้เข้าแข่งขันในรายการสโมสรยุโรปจะยิ่งได้รับผลกระทบหนักเข้าไปอีก เมื่อทางยูฟ่ามีการเผยว่าจะต้องมีการชดใช้ในแบบเดียวกับพรีเมียร์ลีก โดยตัวเลขมากมายมหาศาลถึง 519 ล้านปอนด์

 

สถานการณ์ที่เกิดขึ้นทำให้สโมสรทุกแห่งต้องพยายามที่จะรัดเข็มขัดมากขึ้น โดยนอกเหนือจากความพยายามในการเจรจาต่อรองเรื่องค่าเหนื่อยกับผู้เล่น เหมือนเช่น อาร์เซนอลที่ขอลดค่าเหนื่อยลงเป็นจำนวน 12.5 เปอร์เซ็นต์ ก็อาจส่งผลกระทบต่อบรรดาลูกจ้างของสโมสรด้วย โดยทีมกันเนอร์สมีการปรับโครงสร้างสโมสรครั้งใหญ่ ปลดพนักงานจำนวน 55 คน ซึ่งทำให้ผู้บริหารในระดับสูงอย่าง ราอูล ซาเนลฮี ไปจนถึงทีมแมวมองและฝ่ายอื่นๆ ต้องตกงาน

 

เชลซีเป็นทีมที่เสริมทัพได้อย่างโดดเด่นที่สุดในตลาดรอบฤดูร้อนนี้

 

การเดิมพันและสิ่งแลกเปลี่ยนที่เท่าเทียมกัน

ถึงฤดูกาลนี้จะโหดหินขนาดไหน แต่เพราะฟุตบอลอาชีพคือเกมกีฬาที่ผลการแข่งขันคือสิ่งที่จะตัดสินทุกอย่าง ความท้าทายขั้นต่อไปของทุกสโมสรที่เหนือกว่าการเอาตัวรอดให้ได้คือ การทำให้ทีมยังคงความสามารถในการแข่งขันได้ด้วย

 

นั่นทำให้หลายสโมสรเองยังมีการปรับทัพเสริมทีม โดยทีมที่ถูกจับตามองมากที่สุดคือ ‘สิงโตน้ำเงินคราม’​ เชลซี ที่ทุ่มเงินกว่า 200 ล้านปอนด์กับนักเตะใหม่ระดับท็อปอย่าง ฮาคิม ซิเยค, ติโม แวร์เนอร์, เบน ชิลเวลล์, ติอาโก ซิลวา และล่าสุดคือ ไค ฮาเวิร์ตซ์ 

 

อย่างไรก็ดี เหตุผลที่ทำให้เชลซีสามารถทุ่มเงินมหาศาลได้ เกิดจากการที่สโมสรถูกแบนจากการซื้อขายผู้เล่นเป็นเวลา 2 รอบตลาดการซื้อขาย (แต่โทษถูกลดลงเหลือแค่ตลาดรอบเดียวคือฤดูร้อนปีที่แล้ว) ซึ่งเงินที่ได้รับจากการขาย 2 สตาร์อย่าง เอเดน อาซาร์ และ อัลบาโร โมราตา ยังอยู่ในส่วนที่สามารถนำมาหมุนใช้จ่ายได้

 

แต่แน่นอนว่าเสริมทัพระดับนี้ ความคาดหวังก็ย่อมสูงขึ้นแน่นอนสำหรับทีมของ แฟรงก์ แลมพาร์ด

 

อาร์เซนอลเป็นอีกทีมที่มีการปรับทัพอย่างน่าจับตามอง แม้ว่าจะถูกวิจารณ์อย่างหนักในเรื่องของการปลดพนักงาน แต่ในส่วนของทีมกลับได้ วิลเลียน ปีกจอมเก๋าทีมชาติบราซิลมาร่วมทีม เช่นเดียวกับ กาเบรียล มากัลเยส ปราการหลังอนาคตไกลชาวบราซิลจากลีลล์ ที่ย้ายมาด้วยค่าตัว 25 ล้านปอนด์ และขอยืมตัว ดานี เซบายอส มิดฟิลด์จอมทัพชาวสเปนจากเรอัล มาดริดต่ออีก 1 ปี

 

พร้อมทุ่มเงินในการต่อสัญญากับ ปิแอร์ เอเมอริก โอบาเมยอง ที่คาดว่าจะมีการเซ็นสัญญาใหม่ในเร็ววันนี้ ซึ่งถือเป็นทิศทางที่ดีของทีมหลังได้ มิเกล อาร์เตตา ผู้จัดการทีมคนใหม่เข้ามาเปลี่ยนแปลงทีมในระยะเวลาไม่ถึงปี

 

แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด ได้ ดอนนี ฟาน เดอ บีค กองกลางอเนกประสงค์ที่โดดเด่นที่สุดคนหนึ่งของยุโรปมาจากอาแจ็กซ์ อัมสเตอร์ดัม และยังพยายามที่จะหาทางต่อรองให้โบรุสเซีย ดอร์ทมุนด์ยอมรับข้อเสนอเป็นจำนวนเงินที่ลดลงจากกำแพงค่าตัว 120 ล้านยูโร เพื่อแลกกับ จาดอน ซานโช เพชรเม็ดงามของวงการฟุตบอล

 

ขณะที่แมนเชสเตอร์ ซิตี้ ซึ่งเสียทีให้ลิเวอร์พูล พลาดหวังกับโอกาสครั้งประวัติศาสตร์ที่จะได้ตัว ลิโอเนล เมสซี ที่เปลี่ยนใจอยู่กับบาร์เซโลนาต่อไปเพื่อลดเลี่ยงปัญหาทางกฎหมาย แต่ยังได้ เฟร์ราน ตอร์เรส ปีกอนาคตไกลที่เป็นทายาทสายตรงของ ดาบิด ซิลบา ที่เป็นศิษย์บาเลนเซียเหมือนกัน รวมถึงเสริมแนวรับด้วย นาธาน อาเก กองหลังทีมชาติเนเธอร์แลนด์ที่ได้มาจากบอร์นมัธ 

 

สเปอร์สที่ปกติเป็นสโมสรที่ตระหนี่ยอมควักเงินซื้อ ปิแอร์ เอมิล ฮอยเบิร์ก มาจากเซาแธมป์ตันด้วยค่าตัว 15 ล้านปอนด์ เพื่อแก้ไขปัญหาแดนกลาง และอีก 15 ล้านปอนด์สำหรับ แมตต์ โดเฮอร์ตี วิงแบ็กขวาจอมบู๊จากวูล์ฟส์

 

เอฟเวอร์ตันทุ่มเงินถึง 53 ล้านปอนด์เพื่อแลกกับ 3 กองกลางอย่าง อัลลัน, อับดุลลาย ดูกูเร และที่เป็นไฮไลต์แม้ว่าจะมีค่าตัวถูกที่สุดคือ ฮาเมส โรดริเกซ สตาร์ลูกหนังทีมชาติโคลอมเบียจากเรอัล มาดริด ที่ปลุกชีวิตชีวาภายในทีมได้อย่างมาก

 

น้องใหม่อย่างลีดส์ ยูไนเต็ด ยังยอมทุ่ม 30 ล้านปอนด์เพื่อซื้อ โรดริโก กองหน้าทีมชาติสเปนมาจากบาเลนเซีย หรือแม้แต่ทีมที่ปกติแล้วควักยากที่สุดอย่าง นิวคาสเซิล ยูไนเต็ด (ซึ่งผิดหวังจากการเทกโอเวอร์ที่ล้มเหลว) ยังทุ่มเงินซื้อ คัลลัม วิลสัน และ จามาล ลูอิส กองหน้าและแบ็กซ้ายที่ค่าตัว 20 และ 15 ล้านปอนด์ตามลำดับ รวมถึงได้ ไรอัน เฟรเซอร์ กับ เจฟฟ์ เฮนดริก มาแบบฟรีๆ

 

จากภาพรวมจะเห็นได้ว่า แม้จะรู้ว่าความมั่นคงทางการเงินอาจจะไม่มาก แต่หลายสโมสรจำเป็นที่จะต้องยอมควักกระเป๋าเป็นการลงทุนเพื่ออนาคตไปก่อน

 

แต่ก็มีอีกหลายสโมสรที่เลือกความมั่นคงทางการเงินเป็นหลัก และลังเลที่จะจ่ายเงินเพื่อซื้อนักเตะหากไม่มีความจำเป็นจริงๆ

 

แน่นอนว่าทีมที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์มากที่สุดคือแชมป์อย่างลิเวอร์พูล ที่ควักเงินแค่ 11.75 ล้านปอนด์เพื่อซื้อ คอสตาส ซิมิคาส แบ็กซ้ายทีมชาติกรีซจากโอลิมเปียกอสมาเพื่อเป็นกำลังเสริมของ แอนดรูว์ โรเบิร์ตสัน เพียงรายเดียว โดยอีกรายที่มีข่าวมานานนับเดือนคือ ติอาโก อัลกันตารา จอมทัพทีมชาติสเปนที่บาเยิร์น มิวนิก ต้องการค่าตัว 30-35 ล้านยูโร ยังไม่มีความคืบหน้าที่ชัดเจนแต่อย่างใด 

 

ส่วนหนึ่งเป็นเพราะลิเวอร์พูลมีสภาพทีมที่ยังถือว่าแข็งแกร่งอยู่มาก และในกรณีของ ติอาโก จะสามารถย้ายทีมได้อย่างอิสระในวันที่ 1 มกราคมที่จะถึงนี้ ทำให้ทีมไม่มีความจำเป็นที่จะต้องรีบร้อนแต่อย่างใด

 

กระนั้นมันก็เป็นการเดิมพันเช่นเดียวกันสำหรับทีมที่ไม่ซื้อไม่เสริม เพราะหากท้ายที่สุดแล้วฤดูกาลนี้จบลงด้วยความล้มเหลว ราคาที่ต้องจ่ายจากความล้มเหลวที่ไม่กล้าเดิมพันนั้นก็อาจไม่ใช่น้อยเช่นเดียวกัน

 

และนี่คือฟุตบอลพรีเมียร์ลีกฤดูกาล 2020-21 ที่ถูกจับตามองว่าเป็นฤดูกาลที่โหดที่สุดในทุกด้าน

 

เพียงแต่สำหรับแฟนบอลทุกคนแล้ว พวกเขายังคาดหวังว่ามันจะสนุกเหมือนเดิมหรืออย่างน้อยให้ใกล้เคียงกับของเดิม

 

เพราะในวันเวลาที่ยากลำบากเช่นนี้ ฟุตบอลเป็นหนึ่งในไม่กี่สิ่งบนโลกใบนี้ที่พอจะมอบรอยยิ้มและเป็นความหวังให้แก่ผู้คนให้พยายามสู้ต่อไป

 

ยินดีต้อนรับสู่พรีเมียร์ลีกฤดูกาลใหม่ ขอให้โชคดีทุกทีม!

 

พิสูจน์อักษร: พรนภัส ชำนาญค้า

อ้างอิง:

FYI
  • พรีเมียร์ลีกในฤดูกาล 2020-21 จะกลับมาใช้กฎการเปลี่ยนตัวผู้เล่นได้แค่ 3 คนเท่าเดิม และไม่มีการพักเบรกดื่มน้ำระหว่างครึ่งเวลา
  • มาตรการในการป้องกันโรคโควิด-19 ยังคงเหมือนในช่วงของการรีสตาร์ททุกอย่าง ผู้เล่นจะต้องมีการตรวจหาเชื้ออย่างต่อเนื่อง และหากพบว่าติดเชื้อจะต้องมีการกักตัว ฯลฯ
  • หนึ่งในสิ่งที่จะมีการเปลี่ยนแปลงมากคือ VAR ที่จะเปลี่ยนจากที่ใช้รูปแบบของตัวเองมาใช้ตามมาตรฐานของ FIFA ทั้งหมดเพื่อลดกรณีปัญหาที่เกิดขึ้นมากมายตลอดฤดูกาลที่แล้ว และจะมีการพยายามผลักดันให้ผู้ตัดสินดูจอมอนิเตอร์ข้างสนามเพื่อประกอบการตัดสินใจให้มากขึ้น
  • เพื่อสนับสนุนการต่อต้านการเหยียดสีผิว พรีเมียร์ลีกจะให้มีการติดข้อความ No Room For Racism แทนข้อความ Black Lives Matter และจะสนับสนุนผู้เล่นที่ต้องการแสดงจุดยืนด้วยการนั่งคุกเข่าก่อนเกมจะเริ่ม
  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X