×

Premflix คืออะไร? รู้จักว่าที่บริการใหม่จากพรีเมียร์ลีก ที่เตรียมกระชากใจแฟนบอลทั่วโลก

12.02.2020
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

6 MINS. READ
  • Premflix เป็นบริการแบบ OTT (Over-the-Top) บนแพลตฟอร์มใหม่ที่พรีเมียร์ลีกสร้างขึ้นเอง โดยมีรูปแบบคล้ายคลึงกับ Netflix
  • ลาลีกาก็เปิดให้บริการแบบ OTT ของตัวเองผ่านแอปพลิเคชัน LaLiga SportsTV (สามารถดาวน์โหลดได้ในประเทศไทย) ซึ่งแม้จะไม่มีการถ่ายทอดสดฟุตบอลลาลีกา ซานตาเดร์ แต่ก็มี Original Content ไฮไลต์ฟุตบอล มีรายการสไตล์แมกกาซีนฟุตบอล
  • หากสมมติว่ามีแฟนฟุตบอลทั่วโลกจำนวน 200 ล้านคนที่จ่ายค่าบริการเดือนละ 10 ปอนด์ หรือราว 400 บาท ตัวเลขรายได้ 3 พันล้านปอนด์ต่อปีของพรีเมียร์ลีก จะเปลี่ยนเป็น 24 พันล้านปอนด์ทันที

กลายเป็นข่าวเขย่าหัวใจแฟนฟุตบอลทั่วโลกทันทีเมื่อ ‘พรีเมียร์ลีก’ ลีกฟุตบอลที่ได้รับความนิยมอันดับหนึ่งของโลกเปิดเผยว่ามีแผนพัฒนาบริการรูปแบบใหม่ของตัวเอง ที่จะทำให้คอบอลทั่วโลกสามารถรับชมฟุตบอล และคอนเทนต์อื่นๆ จากพรีเมียร์ลีกได้ในรูปแบบบริการสตรีมมิงในสไตล์เดียวกับ Netflix บริการรับชมคอนเทนต์บันเทิงระดับโลก 

 

บริการนี้ยังไม่มีชื่ออย่างเป็นทางการ แต่มีการเรียกขานกันเป็นการชั่วคราวในเวลานี้ว่า ‘Premflix’ (ซึ่งเป็นการนำชื่อ Premier League กับคำว่า Flix ซึ่งมีที่มาจากคำว่า Flicks หรือ Flicker ที่แปลว่า วูบวาบ กะพริบ) ซึ่งได้รับความสนใจจากแฟนฟุตบอลทั่วโลก รวมถึงแฟนฟุตบอลในประเทศไทยที่เป็นหนึ่งในฐานที่สำคัญของพรีเมียร์ลีก

 

แต่จริงๆ แล้ว Premflix คืออะไร? มีอะไรให้ดูบ้าง? แพงไหม? จะได้ดูเมื่อไร? แล้วคนไทยจะได้ดูไหม? 

 

มาทำความรู้จักกับว่าที่บริการใหม่ที่อาจจะพลิกโฉมหน้าการถ่ายทอดสดเกมฟุตบอลไปตลอดกาลกัน

 

 

 

Premflix เกี่ยวอะไรกับ Netflix? มีอะไรให้ดูบ้าง?

เรื่องนี้กลายเป็นสิ่งที่แฟนฟุตบอลทั่วโลกเกิดความสับสนว่า Premflix เป็นอะไรกับ Netflix? แม้กระทั่งสื่อบางสำนักได้รายงานว่าพรีเมียร์ลีกกำลังหารือกับ Netflix เพื่อที่จะนำคอนเทนต์พรีเมียร์ลีกไปปรากฏบนแพลตฟอร์มดัง (และทำให้แฟนฟุตบอลจำนวนมากแอบดีใจ เพราะคิดว่าจะได้ดูทั้งหนังและฟุตบอลในที่เดียวกัน!)

 

ความจริงแล้ว Premflix ไม่ได้เกี่ยวข้องอะไรกับ Netflix แม้แต่น้อย แค่เป็นการตั้งชื่อชั่วคราวให้เข้าใจไอเดียใหม่ได้ง่ายขึ้นเท่านั้น

 

Premflix เป็นบริการแบบ OTT (Over-the-Top) บนแพลตฟอร์มใหม่ที่พรีเมียร์ลีกสร้างขึ้นเอง โดยมีรูปแบบคล้ายคลึงกับ Netflix ซึ่งเป็นคอนเทนต์บันเทิงแบบออนดีมานด์ ที่สมาชิกสามารถเลือกรับชมได้ตามใจชอบทุกที่ทุกเวลา และสามารถรับชมผ่านอุปกรณ์ที่หลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นสมาร์ทโฟน แท็บเล็ต หรือคอมพิวเตอร์ส่วนบุคคล

 

แล้วจะมีอะไรให้ดูบ้างบนนั้น?

 

แน่นอนว่าสิ่งที่เป็นไฮไลต์ของ Premflix คือการถ่ายทอดสดฟุตบอลพรีเมียร์ลีก ซึ่งจะมีให้ชมสัปดาห์ละ 10 คู่ และหากรวมตลอดฤดูกาลตั้งแต่เดือนสิงหาคม จนถึงเดือนพฤษภาคม จะมีให้ชมถึง 380 คู่ โดยที่ในจำนวนนี้จะมี 76 คู่ที่มีการถ่ายทอดสดผ่านระบบ 4K หรือ Ultra High Definition

 

โดยในการรับชมเชื่อว่าจะมีฟังก์ชันในการย้อนเวลา สามารถย้อนกลับไปชมช่วงเวลาที่ผ่านไปแล้วได้ หรือสามารถเลือกรับชมไฮไลต์ประตูที่เกิดขึ้นในช่วงเวลานั้นแบบเรียลไทม์ได้ด้วย

 

สิ่งที่เป็นเสน่ห์คู่กับการถ่ายทอดสด คือการวิเคราะห์ฟุตบอลใน Matchday Live ทั้งในช่วงก่อนเกม ระหว่างเกม และหลังเกมจบลง โดยนักวิเคราะห์ผู้เชี่ยวชาญ ซึ่งจะมีทั้งสิ้นสัปดาห์ละกว่า 40 ชั่วโมง

 

นอกเหนือจากนั้นคือรายการไฮไลต์ฟุตบอลที่จะมีให้ชมทุกคู่อย่างแน่นอน และสามารถจะก้าวไปได้ไกลกว่านั้น เช่น การได้ชมไฮไลต์ในมุมกล้องที่หลากหลาย เนื่องจากในการถ่ายทอดสดพรีเมียร์ลีกแต่ละนัดจะมีมุมกล้องอย่างน้อย 37 ตัว (ข้อมูลในปี 2018) รวมถึงกล้องมุมสูงอย่าง Spidercam ที่จะทำให้เห็นภาพในมุมที่แตกต่าง

 

นอกจากนี้พรีเมียร์ลีกยังได้ผลิตรายการคอนเทนต์ฟุตบอลในสไตล์แมกกาซีนจำนวน 7 รายการ คิดเป็น 40 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ มีคอนเทนต์ขนาดสั้น (Short-form Content) อีก 50 ชิ้นต่อสัปดาห์ เรียกว่าหากได้ติดตามชมช่องรายการของพรีเมียร์ลีกเองจะได้เห็นรายการเหล่านี้ที่ออกอากาศตลอดทั้งวัน ในรูปแบบที่หลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นการย้อนอดีต เล่าประวัติศาสตร์ ฮีโร่ในวันวาน ไปจนถึงเรื่องเบื้องหลังแรงบันดาลใจของนักฟุตบอลที่ถูกส่งผ่านถึงแฟนบอล

 

ทั้งหมดนี้พรีเมียร์ลีกได้ร่วมมือกับ IMG สตูดิโอระดับโลกสร้างโปรดักชันเฮาส์ของตัวเองที่ชื่อว่า Premier League Productions (PLP) เพื่อดูแลการถ่ายทอดสด และผลิตรายการทั้งหมด ในสัญญาระยะเวลา 3 ปีตั้งแต่ 2019 จนถึง 2022

 

Original Content เหล่านี้ถือว่าเพียงพอสำหรับการเปิดให้บริการ แต่มีความเป็นไปได้ที่จะมีการผลิตคอนเทนต์ที่หลากหลายยิ่งขึ้นอีก โดยเฉพาะคอนเทนต์สารคดีฟุตบอลขนาดยาวเหมือนที่ Netflix มีคอนเทนต์สารคดีฟุตบอลให้ชมมากมาย ที่อาจเป็นอีกหนึ่ง ‘ไม้เด็ด’ ได้เหมือนกัน

ภาพ: Premierleague.com 

พรีเมียร์ลีกเริ่มต้นผลิตรายการและคอนเทนต์ของตัวเองในฤดูกาล

 

Premflix คือเจ้าแรกของโลกที่ให้บริการแบบนี้? 

 

เรื่องนี้ชัดเจนว่า ‘ไม่ใช่’ เพราะมีผู้ให้บริการถ่ายทอดสดฟุตบอลผ่านระบบ OTT มาสักพักแล้ว เช่น beIN SPORTS, DAZN หรือ FOX Sports รวมถึง Amazon Prime ที่ซื้อลิขสิทธิ์ฟุตบอลพรีเมียร์ลีก และให้บริการแบบ OTT ในอังกฤษเป็นรายแรกในฤดูกาลนี้ โดยมีจำนวนการถ่ายทอดสด 20 นัดต่อฤดูกาล 

 

ส่วนในประเทศไทย beIN SPORTS ได้เปิดให้บริการชมฟุตบอลสดผ่านระบบสตรีมมิงมาตั้งแต่ปี 2017 และยังคงให้บริการจนถึงปัจจุบัน ขณะที่ DAZN ยังไม่ได้เปิดให้บริการเต็มรูปแบบ

 

หรือหากมองในมุมของเจ้าของลิขสิทธิ์เอง คู่แข่งสำคัญอย่างลาลีกาก็เปิดให้บริการแบบ OTT ของตัวเองผ่านแอปพลิเคชัน LaLiga SportsTV (สามารถดาวน์โหลดได้ในประเทศไทย) ซึ่งแม้จะไม่มีการถ่ายทอดสดฟุตบอลลาลีกา ซานตาเดร์ ซึ่งเป็นลีกสูงสุด เนื่องจากขายลิขสิทธิ์การถ่ายทอดสดให้ beIN SPORTS แต่ก็มี Original Content ไฮไลต์ฟุตบอล มีรายการสไตล์แมกกาซีนฟุตบอล รวมถึงการเปิดช่องรายการตามความสนใจของผู้ใช้บริการให้ติดตามอีกมากมาย

 

ส่วนสหพันธ์ฟุตบอลนานาชาติหรือ UEFA เองก็เปิดบริการ OTT ของตัวเองเช่นกัน ผ่านแอปพลิเคชัน UEFA.tv ขณะที่บุนเดสลีกา พร้อมจะเปิดให้บริการ OTT ของตัวเองในฤดูกาล 2020-21

 

แต่หากไม่นับเฉพาะเกมฟุตบอล ในวงการอเมริกันเกมส์มีการเปิดให้บริการในรูปแบบนี้มานานแล้ว ไม่ว่าจะเป็นบริการของบาสเกตบอล NBA หรือ อเมริกันฟุตบอล NFL ซึ่งจะมีการจำหน่ายตั๋วปี (NBA เรียกว่า League Pass ส่วน NFL เรียกว่า Game Pass) ซึ่งนอกจากชมการถ่ายทอดสดเกมแล้ว ยังมีคอนเทนต์อีกมากมายให้ติดตาม ซึ่งสามารถกล่าวได้ว่าเป็นต้นแบบที่พรีเมียร์ลีกและลีกฟุตบอลระดับชั้นนำต้องการเดินตาม

 

 

ทำไมพรีเมียร์ลีกจึงต้องการเปิด Premflix?

ถึงแม้ว่าปัจจุบันนี้พรีเมียร์ลีกจะสามารถทำเงินรายได้จากการขายลิขสิทธิ์การถ่ายทอดสดฟุตบอลให้แก่ผู้ให้บริการทั่วโลกได้มากมายมหาศาล โดยในรอบการประมูลล่าสุดทำเงินได้เฉลี่ยถึงปีละกว่า 3.1 พันล้านปอนด์ โดยที่ในจำนวนนี้ 1.4 พันล้านปอนด์มาจากผู้ซื้อลิขสิทธิ์จากต่างประเทศ แต่พรีเมียร์ลีกเชื่อว่ามีโอกาสที่จะสามารถทำรายได้มากกว่านี้อีกมากมายมหาศาล

 

กรณีตัวอย่างแรกคือที่ประเทศสิงคโปร์ Singtel ซื้อลิขสิทธิ์ฟุตบอลจากพรีเมียร์ลีกปีละ 70 ล้านปอนด์ แต่สามารถทำรายได้มากถึง 175 ล้านปอนด์

 

หรือกรณีตัวอย่างล่าสุดคือการที่พรีเมียร์ลีกบรรลุข้อตกลงในการขายลิขสิทธิ์ฟุตบอลพรีเมียร์ลีกเป็นระยะเวลา 6 ปีในราคา 2 พันล้านปอนด์ให้กับ NENT ที่ครอบคลุมประเทศแถบสแกนดิเนเวียน 4 ประเทศได้แก่ เดนมาร์ก, ฟินแลนด์, นอร์เวย์ และสวีเดน ซึ่งคิดเป็นค่าเฉลี่ยแล้วแฟนบอลทั้งชาย หญิง และเด็กจำนวน 27 ล้านคน จะต้องจ่ายเงินจำนวน 74 ปอนด์ต่อคน

 

แต่หากมองในมุมกลับกันแฟนบอลอาจจะจ่ายเงินเฉลี่ยแค่ 40-45 ปอนด์ต่อเดือน โดยที่หากคูณด้วยจำนวนประชากรทั้งหมด 3 ล้านครัวเรือนภายในระยะเวลา 6 ปี พรีเมียร์ลีกสามารถทำรายได้ถึง 8-9 พันล้านปอนด์ หรือมากกว่าที่ขายให้ NENT ถึง 4 เท่า

 

และหากสมมติว่ามีแฟนฟุตบอลทั่วโลกจำนวน 200 ล้านคนที่จ่ายค่าบริการเดือนละ 10 ปอนด์ หรือราว 400 บาท

 

ตัวเลขรายได้ 3 พันล้านปอนด์ต่อปีของพรีเมียร์ลีกจะเปลี่ยนเป็น 24 พันล้านปอนด์ทันที

 

นั่นคือเหตุผลว่าทำไมพรีเมียร์ลีกจึงอยากเปิด Premflix ของตัวเอง

 

Premflix จะพลิกโฉมโลกฟุตบอลอย่างไร?

หากพรีเมียร์ลีกเปิดให้บริการ Premflix จริงจะเปลี่ยนโฉมหน้าของเรื่องการถ่ายทอดสดฟุตบอลทันที

เปลี่ยนอย่างไร?

จากเดิมการรับชมการถ่ายทอดสดฟุตบอล คือการที่กล้องถ่ายทอดสดถ่ายเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในสนามแล้วยิงสัญญาณภาพขึ้นดาวเทียม แล้วจึงสะท้อนมาที่ประเทศที่ซื้อลิขสิทธิ์ ซึ่งเจ้าของลิขสิทธิ์จึงจะนำสัญญาณภาพนั้นไปออกอากาศต่อผ่านเครือข่ายของตัวเองอีกที 

 

ข้อดีของระบบนี้คือพรีเมียร์ลีกแค่ขายลิขสิทธิ์ให้ผู้ให้บริการ ถือว่าจบสำหรับพวกเขา เพราะจะได้เงินจากการขายลิขสิทธิ์ที่แน่นอน ที่เหลืออยู่ที่ผู้ให้บริการจะต้องไปทำการตลาด และการขายกันเองเพื่อให้ได้ยอดผู้ชมที่คุ้มสำหรับการลงทุน ซึ่งก็เป็นปัญหาในระยะหลัง เพราะตัวเลขค่าประมูลลิขสิทธิ์เพิ่มสูงขึ้นมหาศาลทุกรอบ จนทำให้ผู้ให้บริการประสบปัญหาในการหารายได้ให้พอกับเงินที่จ่ายไป และนำไปสู่การที่ราคาประมูลในบางพื้นที่เริ่มลดลง

 

นอกจากนี้ยังมีปัญหาเรื่องของการละเมิดลิขสิทธิ์การถ่ายทอดสดที่เป็นปัญหาใหญ่ระดับโลก เช่น ในกรณีที่ beIN SPORTS ถูก beoutQ ซึ่งเป็นผู้ให้บริการเถื่อนที่ได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลซาอุดีอาระเบีย ลักลอบนำสัญญาณถ่ายทอดสดไปจนทำให้กระทบต่อรายได้อย่างมหาศาลในประเทศแถบตะวันออกกลาง และต้องมีการปรับลดจำนวนพนักงานจำนวนมาก

 

สำหรับระบบ OTT ขั้นตอนจะถูกลดลงเหลือแค่กล้องและอุปกรณ์รับของผู้ชมจำนวน 200 ล้านใน 188 ประเทศโดยไม่ต้องผ่านตัวกลาง หรือเรียกว่า Direct-to-Consumer (D2C) 

 

จริงอยู่ที่การรับชมฟุตบอลผ่านระบบ OTT มีข้อเสียในเรื่องของสัญญาณภาพที่ดีเลย์กว่าสัญญาณโทรทัศน์ราว 1-2 วินาที แต่ด้วยเทคโนโลยีที่ล้ำหน้า และด้วยพฤติกรรมของคนยุคปัจจุบันที่เปลี่ยนแปลงไปจากอดีตทำให้ Premflix อาจจะเป็นคำตอบที่แฟนฟุตบอลถูกใจมากกว่าที่ผ่านมา เพราะได้รับการ Educate มาระยะหนึ่งแล้ว

 

Premflix จะทำให้ไม่ต้องลุ้นว่าจะมีถ่ายทอดสดคู่ไหน ไม่ต้องวุ่นวายกับการติดกล่องรับสัญญาณของผู้ให้บริการเจ้าต่างๆ ไม่ต้องจ่ายเงินในราคาแพงจนเกินไป และยังได้ชมคอนเทนต์กีฬาคุณภาพในรูปแบบที่หลากหลาย (ชมสดได้ทุกที่ทุกเวลา ยิงสัญญาณภาพขึ้นจอได้ ชัดแจ๋ว เลือกมุมกล้องได้ ดูไฮไลต์ได้สดๆ ฯลฯ)

 

ที่สำคัญคือเมื่อลิขสิทธิ์อยู่ในแพลตฟอร์มของพรีเมียร์ลีกเอง การป้องกันการลักลอบจะทำได้ง่ายขึ้น 

 

หรืออาจจะกล่าวได้ว่านี่จะเป็นการเข้าสู่ ‘ยุคใหม่’ ของเกมฟุตบอลก็ได้เช่นกัน

 

เพียงแต่พรีเมียร์ลีกจะไม่มีตัวเลขการันตีเงินรายได้ ทุกอย่างอยู่ในมือของแฟนบอล

 

ถ้าของดีก็พร้อมจ่าย แต่ถ้าของไม่ดีพอก็ต้องเผื่อใจ

ริชาร์ด มาสเตอร์ส ซีอีโอพรีเมียร์ลีกคนล่าสุดมีแผนพลิกโลกฟุตบอล

 

แล้วเราจะได้ดู Premflix เมื่อไร? ในประเทศไทยจะมีไหม?

จากการเปิดเผยของ ริชาร์ด มาสเตอร์ส Chief Executive Officer คนใหม่ของพรีเมียร์ลีกที่มารับบทต่อจาก ริชาร์ด สคูดามอร์ อดีตผู้บริหารคนสำคัญที่นำพรีเมียร์ลีกพัฒนาอย่างก้าวกระโดด ยังไม่มีกำหนดการที่ชัดเจนสำหรับการเปิดให้บริการ Premflix

 

โดยก่อนหน้านี้พรีเมียร์ลีกมีแผนที่จะทดลองเปิดให้บริการตั้งแต่ในรอบการประมูลที่ผ่านมา (2019-2022) แต่ตัดสินใจที่จะพับแผนไปก่อน แต่เวลานี้มีแผนสำหรับรอบการประมูลหน้าในปี 2022-25 

 

อย่างไรก็ดี พรีเมียร์ลีกกำลังทบทวนเรื่องของพื้นที่ที่จะเปิดให้บริการ โดยมาสเตอร์สเผยว่าจะมีการแบ่งเป็น 2 ระดับ (Two-tiered System) โดยในบางประเทศจะยังคงให้ชมผ่านผู้ให้บริการแบบเดิม (ผ่านระบบทีวี) ส่วนที่เหลือจะเปิดบริการให้ชมผ่านระบบสตรีมมิงของพรีเมียร์ลีกเอง

 

ประเทศไหนจะอยู่ใน Tier ไหนบ้างยังไม่มีการเปิดเผยที่แน่ชัด ซึ่งเชื่อว่าจะพิจารณาจากตลาดในภูมิภาคนั้นๆ ว่ามีความเหมาะสมกับรูปแบบไหน เพราะไม่ใช่ทุกประเทศบนโลกที่แฟนฟุตบอลจะมีความพร้อมสำหรับการรับชมผ่านระบบ OTT ซึ่งมีปัจจัยแวดล้อมหลายเรื่อง ไม่ว่าจะระบบอินเทอร์เน็ต หรือการทำการตลาดในภูมิภาค

 

โดยเฉพาะการทำคอนเทนต์ให้มีความเหมาะสมกับท้องถิ่น (Localization) เช่น การพากย์ฟุตบอล การลงเสียงในรายการ เป็นเรื่องที่ต้องพิจารณาความพร้อมอย่างถี่ถ้วน เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาเหมือนหลายเจ้าที่ได้ลิขสิทธิ์ แต่ไม่มีการทำคอนเทนต์ให้เหมาะสมกับท้องถิ่น จนทำให้ไม่สามารถชนะใจแฟนบอลได้ ซึ่งหนึ่งในเหตุผลสำคัญที่ทำให้ Netflix ชนะใจแฟนๆ ทั่วโลกคือเรื่องของการ Localization (มีซับไตเติล เรื่องย่อ ฯลฯ เป็นภาษาท้องถิ่น)

 

สำหรับในประเทศไทย ปัจจุบันลิขสิทธิ์ฟุตบอลพรีเมียร์ลีกอยู่ในมือของกลุ่มทรู ซึ่งสามารถรับชมได้ 2 รูปแบบ ทั้งผ่านระบบเดิมทางทรูวิชั่นส์ และระบบ OTT ผ่านทรูไอดี ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าสนใจว่าพรีเมียร์ลีกจะเลือกเข้ามาทำตลาดเองหรือไม่

 

เพราะที่ผ่านมาพรีเมียร์ลีก มีการทำคอนเทนต์ภาษาไทยบนโซเชียลมีเดียเช่นกัน แต่ในคอนเทนต์รายการพรีเมียร์ลีกที่ออกอากาศปัจจุบันยังไม่มีการ Localization โดย PLP แต่อย่างใด (มีเพียงการพากย์บอล หรือลงเสียงโดยทีมงานของทรูวิชั่นส์เท่านั้น) แต่ราคาแพ็กเกจชมพรีเมียร์ลีกในไทยนั้นไม่แพง มีตั้งแต่รายวัน 99 บาทจนถึงชมทั้งฤดูกาล 2,500 บาท (เฉลี่ยเดือนละ 250 บาท) ซึ่งไม่มีใครตอบได้ในเวลานี้ว่าพรีเมียร์ลีกจะกล้าทำราคาต่ำขนาดนี้หรือไม่? หรือจะมีแพ็กเกจดูแบบครอบครัวเหมือน Netflix? หรือจะเปิดให้ประมูลตามแบบเดิม เพราะมีผู้ที่พร้อมชิงลิขสิทธิ์หลายรายไม่ว่าจะเป็นกลุ่มทรู, beIN SPORTS เจ้าของลิขสิทธิ์เดิม หรือ DAZN ผู้ให้บริการน้องใหม่ที่รอแจ้งเกิดในบ้านเรา

 

ดังนั้นกับคำถามว่าคนไทยจะได้ดู Premflix หรือไม่? จึงเป็นสิ่งที่ยังไม่สามารถให้คำตอบได้ในขณะนี้ แต่แค่นี้ก็ถือว่าเป็นสิ่งที่น่าตื่นเต้นแล้วสำหรับแฟนฟุตบอลทุกคน และเป็นเรื่องน่าตื่นเต้นสำหรับวงการฟุตบอลที่กำลังจะถึงจุดเปลี่ยนที่สำคัญอีกครั้ง

 

พิสูจน์อักษร: ลักษณ์นารา พักตร์เพียงจันทร์

อ้างอิง:

 

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X