×

เปรมชัย กรรณสูต คือใคร?

06.02.2018
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

6 Mins. Read
  • วินาทีนี้ไม่มีเรื่องไหนร้อนไปกว่าประเด็นของ ‘เปรมชัย กรรณสูต’ ผู้บริหารใหญ่ของ บมจ. อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ อีกแล้ว

ย้อนกลับไปวันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2561 นักธุรกิจใหญ่นามสกุลดังรายนี้ถูกจับกุมพร้อมคณะที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวรพร้อมปืน 3 กระบอก ซึ่งไม่ใช่อุปกรณ์จำเป็นสำหรับการชมทัศนียภาพของป่าเขาและซากสัตว์จำนวนหนึ่ง 

 

คำถามดังขึ้นตลอดเช้าวันนั้นว่า เปรมชัย กรรณสูต คือใคร?

 

 

เบอร์หนึ่งของอิตาเลียนไทย

เปรมชัยเป็นบุตรชายคนสุดท้องของ น.พ.ชัยยุทธ และ ม.ร.ว.พรรณจิตร กรรณสูต (เอกชัย, พิไลจิตร, นิจพร, อรเอม และเปรมชัย) ปัจจุบันดำรงตำแหน่งประธานบริหารของอิตาเลียนไทย ถือหุ้นในสัดส่วนสูงสุด

 

พ่อของเขา น.พ.ชัยยุทธ กรรณสูต เป็นผู้ก่อตั้งอิตาเลียนไทยร่วมกับ จิออร์จิโอ แบร์ลิงเจียรี หุ้นส่วนคนสำคัญในยุคจอมพลสฤษดิ์เมื่อ 60 ปีก่อน เดิมตั้งใจจะให้ลูกชายคนโตคือ เอกชัย สืบทอดตำแหน่งต่อ แต่เคราะห์ร้ายเมื่อทายาทคนสำคัญเสียชีวิตด้วยอุบัติเหตุในวัย 32 ปีเท่านั้น เมื่อพ.ศ. 2522 เปรมชัยในฐานะลูกชายคนสุดท้องจึงต้องรับหน้าที่สำคัญในการบริหารธุรกิจต่อจากพ่อภายใต้แรงกดดันและความคาดหวังจากในและนอกองค์กร

 

เปรมชัยจบการศึกษาจากโรงเรียนจิตรลดา จากนั้นเรียนต่อด้านวิศวกรรมเหมืองแร่ และจบปริญญาโทบริหารธุรกิจ (MBA) จาก University of Southern California เริ่มทำงานที่อิตาเลียนไทยด้วยตำแหน่งกรรมการผู้จัดการตั้งแต่อายุยังไม่ถึง 30 ปี นักข่าวสายเศรษฐกิจรุ่นเก๋าจะรู้ดีว่า เดิมหมอชัยยุทธไม่เห็นด้วยกับการนำอิตาเลียนไทยเข้าระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์ และต้องการให้ธุรกิจยังเป็นของครอบครัวกรรณสูตอย่างเบ็ดเสร็จ แต่เมื่อเปรมชัยมีบทบาทและอำนาจ ประกอบกับเห็นโอกาสทางธุรกิจที่จะเกิดขึ้น สุดท้ายเขาก็พาอิตาเลียนไทย (ITD) เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์เมื่อปี 2537 ในที่สุด

 

สิ่งที่เป็นทั้งสีสันและวิบากทางธุรกิจของอิตาเลียนไทยหนีไม่พ้นข่าวเกี่ยวกับการดำเนินธุรกิจครอบครัวกรรณสูต ที่เคยมีประเด็นเรื่องความเห็นต่างของแนวทางในการดำเนินธุรกิจของคนในครอบครัว จนนำไปสู่การลาออกของกรรมการบริษัทบางคน และเป็นเรื่องที่เล่ามาจนถึงทุกวันนี้

 

ปัจจุบันอิตาเลียนไทยเป็นบริษัทยักษ์ใหญ่รายสำคัญของวงการก่อสร้าง และมีโปรเจกต์ขนาดมหึมาทั้งภาครัฐและเอกชนในมือจำนวนมาก มีทรัพย์สินมากกว่า 8 หมื่นล้านบาท มีรายได้ 4-5 หมื่นล้านบาทต่อปี แต่ยังมีตัวเลขกำไรไม่มาก รายงานผลประกอบการไตรมาส 3/2560 ที่ผ่านมามีกำไรประมาณ 246 ล้านบาท ซึ่งถือว่าดีกว่าปีก่อนที่ขาดทุนนับร้อยล้านบาท

 

ปี 2560 ที่ผ่านมาถือเป็นปีที่ดีของอิตาเลียนไทย โดยมีโครงการขนาดใหญ่มูลค่ารวม 1.3 แสนล้านบาท ซึ่งรวมถึงโรงไฟฟ้าแม่เมาะมูลค่า 3.5 หมื่นล้านบาท คาดว่าจะรับรู้รายได้ปีที่ผ่านมาได้ถึง 6 หมื่นล้านบาท และจะแตะ 1 แสนล้านบาทในปี 2561 นี้ ซึ่งสอดคล้องกับการเร่งผลักดันโครงการขนาดใหญ่ของรัฐบาล ซึ่งปัจจุบันอิตาเลียนไทยมีโครงการก่อสร้างหลายโปรเจกต์

 

 

นอกจากนี้อิตาเลียนไทยยังมีโครงการต่างประเทศที่เมืองดักการ์ บังกลาเทศ ได้แก่ ทางด่วนยกระดับและรถไฟฟ้ายกระดับด้วย และเตรียมเข้าประมูลโครงการก่อสร้างสนามบินขนาดใหญ่ มอเตอร์เวย์ รถไฟใต้ดิน และโรงบำบัดน้ำเสียอีกด้วย

 

ช่วงที่ผ่านมาโครงการของอิตาเลียนไทยเป็นข่าวใหญ่อยู่หลายครั้ง ทั้งกรณีที่ถูกศาลปกครองกลางสั่งชะลอโครงการบริหารจัดการน้ำมูลค่า 3.5 แสนล้านเมื่อปี 2556 และต่อมาทางคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ก็ยังเคยเรียกเปรมชัยเข้าพบเพื่อปรึกษาเรื่องนี้มาแล้วในปี 2557 นอกจากนี้ยังมีกรณี ‘หุ้นปริศนา’ ที่ปรากฏชื่อของเขาถือหุ้นในบริษัท วอเตอร์เกท โฮเต็ล จำกัด เครือข่ายของ ‘สันติ พร้อมพัฒน์’ อดีตนักการเมืองคนสำคัญของพรรคเพื่อไทย ที่มีประเด็นเรื่องที่ดินริมแม่น้ำเจ้าพระยา และชื่อของเปรมชัยก็หายไปอย่างไร้ร่องรอยในปี 2555

 

ส่วนโครงการที่ถูกจับตาอย่างมากคือโครงการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษทวาย ประเทศเมียนมา ซึ่งอิตาเลียนไทยร่วมลงทุนกับ บมจ.สวนอุตสาหกรรมโรจนะ ด้วยเงินลงทุนมหาศาลสำหรับพัฒนานิคมอุตสาหกรรมบนพื้นที่ขาย 13,000 ไร่ หากแต่โครงการกลับไม่เดินหน้าเท่าที่ควรและชะงักตั้งแต่ปี 2559 และอิตาเลียนไทยพยายามผลักดันโครงการนี้อย่างเต็มตัว และปัจจุบันเป็นความรับผิดชอบของนิติบุคคลเฉพาะกิจ (Special Purpose Vehicle: SPV) ซึ่งประกอบด้วย 3 ฝ่ายจาก 2 ประเทศ คือ ไทยและเมียนมา เป็นเจ้าของเรื่องในการดำเนินโครงการ

 

ล่าสุดมีเอกสารของอิตาเลียนไทยแจ้งต่อตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยวันที่ 24 มกราคม 2561 เรื่องการปิดบริษัทย่อยทางอ้อมถึง 13 แห่งดังนี้

     1. บริษัท ไทย โร้ด ลิงค์ ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด
     
2. บริษัท ไทย พาวเวอร์ ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด
     
3. บริษัท ไทย พอร์ท ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด
     
4. บริษัท ไทย เทเลคอม ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด
     
5. บริษัท ไทย วอเตอร์ ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด
     
6. บริษัท ไทย อินเตอร์เนชั่นแนล อินดัสเตรียล เอสเตท ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด
     
7. บริษัท ทวาย อินเตอร์เนชั่นแนล อินดัสเตรียล เอสเตท โฮลดิ้ง จำกัด
     
8. บริษัท ทวายแอลเอ็นจี เทอร์มินัล โฮลดิ้ง จำกัด
     
9. บริษัท ทวาย พาวเวอร์ โฮลดิ้ง จำกัด
     
10. บริษัท ทวาย พอร์ท โฮลดิ้ง จำกัด
     
11. บริษัท ทวาย เทเลคอม โฮลดิ้ง จำกัด
     
12. บริษัท ทวาย วอเตอร์ โฮลดิ้ง จำกัด
     
13. บริษัท ทวาย โร้ด ลิงค์ โฮลดิ้ง จำกัด

 

ทางอิตาเลียนไทยยืนยันว่า การปิดบริษัทดังกล่าวไม่มีผลต่อการดำเนินการของบริษัทแต่อย่างใด

 

สำหรับโครงสร้างผู้ถือหุ้นของอิตาเลียนไทยพบว่า สัดส่วนการถือหุ้นของนายเปรมชัยค่อยๆ ลดลง โดยปี 2556 อยู่ที่ 19.56% ต่อมาปี 2557 อยู่ที่ 18.44% ปี 2558 อยู่ที่ 16.60% ปี 2559 ถือหุ้น 15.66% ซึ่งช่วงกลางปี 2559 กลายเป็นข่าวฮือฮา เมื่อเปรมชัยขายหุ้นและใบสำคัญแสดงสิทธิที่จะซื้อหุ้นเป็นมูลค่า 640 ล้านบาท โดยมีข้อมูลว่านำไปชำระหนี้ส่วนตัว ซึ่งตัวเขาไม่ได้ออกมายืนยันเรื่องนี้แต่อย่างใด

 

วันนี้ชื่อของ เปรมชัย กรรณสูต เป็นที่รู้จักในวงที่กว้างกว่าโลกธุรกิจไปแล้ว สิ่งที่ชัดเจนคือนักธุรกิจระดับบิ๊กคนนี้มีบทบาทพอสมควรกับการพัฒนาโครงการของภาครัฐ ด้วยที่มาที่ไปที่ ‘ไม่ธรรมดา’ ของเขา 

 

 

 

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X