วันนี้ (31 มีนาคม) ที่สถาบันเหล็กและเหล็กกล้าแห่งประเทศไทย เวลา 19.15 น. ฐิติภัสร์ โชติเดชาชัยนันต์ คณะทำงานรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมฯ พร้อมด้วย เอกนิติ รมยานนท์ ผู้ตรวจราชการกระทรวงอุตสาหกรรม, วิโรจน์ โรจน์วัฒนชัย ผู้อำนวยการสถาบันเหล็กและเหล็กกล้าแห่งประเทศไทย, ณัฐพล สุทธิธรรม กรรมการกลางวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย (วสท.), นนทิชัย ลิขิตาภรณ์ ผู้อำนวยการกองตรวจการมาตรฐาน 1 สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) และตัวแทนศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ (MTEC) ซึ่งเป็นหน่วยงานของ สวทช. ที่เป็นตัวกลางและเป็นพยานในการทดสอบเหล็กเส้น อาคาร สตง. ร่วมกันแถลงผลการทดสอบ ภายหลังมีการทดสอบด้วยการตรวจค่าทางเคมีและค่าทางกล โดยใช้เวลาประมาณ 4 ชั่วโมง
สำหรับเหล็กที่มีการนำมาตรวจสอบ มีจำนวน 28 เส้น 7 ประเภท ซึ่งมาจาก 3 บริษัท ประกอบด้วย
- เหล็กเส้นกลม 9 มิลลิเมตร จำนวน 2 เส้น
- เหล็กข้ออ้อย 12 มิลลิเมตร 3 เส้น
- เหล็กข้ออ้อย 16 มิลลิเมตร 3 เส้น
- เหล็กข้ออ้อย 20 มิลลิเมตร 6 เส้น
- เหล็กข้ออ้อย 25 มิลลิเมตร 2 เส้น
- เหล็กข้ออ้อย 32 มิลลิเมตร 7 เส้น
- ลวดสลิง 15.2 มิลลิเมตร 5 เส้น
เอกนิติกล่าวว่า ตัวอย่างที่นำมาตรวจสอบเป็นการนำมาเบื้องต้นเท่านั้น จากนี้จะมีการเก็บมาตรวจสอบเพิ่มเติมอีก ซึ่งการตรวจสอบครั้งนี้เป็นการตรวจสอบเบื้องต้นเพื่อให้รู้ว่าคุณภาพของเหล็กเป็นอย่างไร ยืนยันการทดสอบเป็นไปด้วยความโปร่งใส และตอนเก็บตัวอย่างไม่ได้สนใจว่าจะเป็นเหล็กของแบรนด์ไหนเพราะไม่อยากให้เกิด Bias
จากนั้นนนทิชัยสรุปผลการทดสอบ ระบุว่า มีทั้งเป็นไปตามมาตรฐานและไม่เป็นไปตามมาตรฐาน ส่วนรายละเอียดเป็นเหล็กประเภทใดและไซส์ไหนนั้นยังไม่ขอลงลึกในรายละเอียด เพราะอาจส่งผลให้หน้างานมีการเปลี่ยนแปลงสภาพในบางเรื่อง ยิ่งเราให้รายละเอียดมากเท่าไร ดังนั้นขอสงวนตรงนี้ไว้เพื่อให้ผลการพิสูจน์สะท้อนข้อเท็จจริง โดยไม่มีการเปลี่ยนแปลงสภาพใดที่หน้างาน
ขณะที่ผู้ตรวจราชการกระทรวงอุตสาหกรรมเสริมว่า ให้ลองคิดดูนะว่า สมมติหากบอกไปว่าขนาดเบอร์ 8 แล้วจะเกิดอะไรขึ้น อาจทำให้การสืบค้นผิดเพี้ยน ซึ่งเป็นประเด็นข้อกังวลของเจ้าหน้าที่
เมื่อถามว่าสัดส่วนใดมากกว่ากันระหว่างได้มาตรฐานกับไม่ได้มาตรฐาน นนทิชัยกล่าวว่า “ที่เป็นไปตามมาตรฐานมีจำนวนมาก ซึ่งมีอัตราส่วนมากกว่าเยอะ”
เมื่อถามย้ำว่าจากที่ทดสอบ 28 เส้น ได้มาตรฐานหรือไม่ได้มาตรฐานกี่เส้น หรือกี่ % ประเด็นนี้ฝั่ง สมอ. ไม่อยากลงรายละเอียด ทำให้เอกนิติ ผู้ตรวจราชการกระทรวงอุตสาหกรรมแต้วกับสื่อว่า 2-3 ชิ้น
ช่วงหนึ่งผู้สื่อข่าวยังคงพยามสอบถามย้ำว่าที่ตกมาตรฐานมีประเภทใดบ้าง ผู้ตรวจราชการกระทรวงอุตสาหกรรมปรึกษาคณะฯ ต่อหน้าสื่อมวลชนพร้อมแจ้งว่า เอ่ยชื่อประเภทที่ตกมาตรฐานได้หรือไม่
ท้ายที่สุดเอกนิติกล่าวว่า ที่เราเจอตกมาตรฐานคือมวลต่อเมตร ตามหลักวิชาการเรียกว่าเหล็กเบา ก่อนฝั่ง วสท. จะขยายความเพิ่มว่า หมายถึงว่าปกติแล้วจะมีการระบุไว้ว่าน้ำหนักควรหนักเท่าไรต่อ 1 เมตร แต่ปรากฏว่าเหล็กที่ต่ำกว่ามาตรฐานจากการตรวจสอบครั้งนี้มันหายไป
ส่วนอีกคุณสมบัติที่ทำให้ตกมาตรฐานคือสมบัติของวัสดุ โดยมีค่า 3 ค่าที่เราสนใจ ได้แก่ ความเค้นและจุดคราก ความเค้นสูงสุดหรือความต้านทานแรงดึงสูงสุด และการบ่งชี้ความยืดตัวของวัสดุ
เมื่อถามอีกว่าสำหรับเหล็กที่ไม่ได้มาตรฐาน องค์ประกอบทางเคมีเป็นอย่างไรบ้าง เอกนิติยืนยันว่า “ตัวอย่างที่พบโอเคหมด ในส่วนของโบรอนก็โอเค”
ผู้สื่อข่าวถามต่อว่า เข้าใจว่าตัวอย่างที่เก็บมาอาจมีหลายบริษัท แต่อยากทราบว่าเส้นที่มีปัญหาเป็นของบริษัทที่เป็นประเด็นที่ถูกปิดไปแล้วหรือไม่ นนทิชัยบอกว่า “ไซส์ 32 มิลลิเมตร มีอยู่ 1 ตัวอย่างที่ไม่เป็นไปตามมาตรฐานความต้านแรงดึงที่จุดคราก ส่วนไซส์อื่นคือไซส์ 20 มิลลิเมตร ที่ไม่เป็นไปตามมาตรฐานรายการมวลต่อเมตร”
เมื่อถามย้ำอีกว่าใช่บริษัทเดียวกันกับที่ถูกปิดไปก่อนหน้าหรือไม่ ผู้ตรวจราชการกระทรวงอุตสาหกรรมบอกว่า “ขออนุญาตยังไม่พูดบริษัทดีกว่า”
เมื่อถามย้ำอีกว่าไซส์ 20 กับ 32 ที่มีปัญหาเจ้าเดียวกันหรือไม่ เอกนิติยังย้ำว่า “ยังไม่อยากลงลึก ขอให้รอตอนที่มีกรรมการมาตรวจสอบ”
ขณะที่ ณัฐพล สุทธิธรรม อนุกรรมการสาขาโครงสร้างเหล็กวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย กล่าวเพิ่มเติมว่า เหล็กที่ไม่ได้คุณภาพในไซส์ 32 คือกำลังคราก (Yield Strength) ที่กำลังยืดจะไม่กลับสู่สภาพเดิม ซึ่งวิศวกรเป็นผู้ออกแบบให้กำลังคราก หากไม่เป็นไปตามพฤติกรรมอาจจะทำให้รับแรงได้ไม่ถึงตามที่ออกแบบ ก็อาจจะทำให้พังลงได้ ซึ่งเหล็กจะยืดออกและจะไม่กลับมาที่เดิม หากเหล็กยืดและกลับมาที่เดิมก็เป็นไปตามที่คุณสมบัติที่วิศวกรได้ออกแบบ
เมื่อถามถึงผลในการทดสอบนั้น ณัฐพลกล่าวว่า ได้ทดสอบกำลังรับแรงดึงและทดสอบทางเคมี ซึ่งส่วนใหญ่ใช้ผลการทดสอบทางเคมี ผลการดึงที่ดูด้วยตานั้นมีสองตัวผ่านมาตรฐาน และมีหนึ่งตัวที่ไม่ถึงเกณฑ์ที่กำหนดไว้
หากใช้เหล็กที่ไม่ได้มาตรฐานก็จะทำให้เกิดความเสี่ยงที่จะมีปัญหาในอนาคต ซึ่งเรื่องนี้ขึ้นอยู่กับผู้ออกแบบด้วย หากผู้ออกแบบออกแบบเผื่อไว้มากก็ไม่มีปัญหา แต่หากผู้ออกแบบออกแบบเกือบพอดีก็จะทำให้มีความเสี่ยงที่อาจจะพังและมีความวิบัติได้
เมื่อผู้สื่อข่าวถามว่า วิศวกรออกแบบเผื่อหมายความว่าอะไร ณัฐพลกล่าวว่า หากวิศวกรออกแบบให้รับน้ำหนัก 100 แต่แรงที่เกิดขึ้นอยู่ที่ 80 แบบนี้เรียกเผื่อ กำลังห่างเยอะกว่าแรงที่เกิดขึ้นก็ปลอดภัย แต่หากออกแบบมาแล้วให้ปริ่ม เช่น รับแรงได้ 100 แต่แรงที่เกิดขึ้นนั้น 99 ก็จะทำให้เกิดความเสี่ยง แน่นอนว่ามีความเสี่ยงด้วยตัววัสดุ
ส่วนจะส่งผลต่อตึกหรือไม่นั้น ณัฐพลกล่าวว่าไม่สามารถตอบได้ เพราะมีหลายปัจจัย วัสดุ การก่อสร้าง เป็นหนึ่งในปัจจัยที่เกิดขึ้นในวันนี้เหล็กเป็นเพียงส่วนหนึ่ง ขณะเดียวกันเองก็ไม่ทราบว่าเหล็กดังกล่าวนี้ใช้เป็นองค์ประกอบส่วนไหน ซึ่งคาดว่าเป็นเสา เนื่องจากขนาด 32 มิลลิเมตร เป็นเหล็กเส้นใหญ่ ส่วนใหญ่นิยมทำเสาเอาไว้ยึดคอนกรีต ซึ่งเหล็กและปูนจะทำหน้าที่รับความเสี่ยงร่วมกัน
เมื่อผู้สื่อข่าวถามว่า คุณภาพปูนที่ใช้นั้นส่งผลหรือไม่ ณัฐพลกล่าวว่ามีผลอย่างแน่นอน จึงต้องเข้าไปตรวจสอบ ซึ่งวิธีการตรวจสอบนั้นก็จะต้องเก็บตัวอย่างปูนก่อทรงกระบอกและส่งไปตรวจสอบ
เมื่อผู้สื่อข่าวถามว่า ระหว่างเหล็กที่ผ่านการก่อสร้างและเหล็กที่อยู่ในโรงงาน ค่ามาตรมีมาตรฐานต่างกันหรือไม่ ณัฐพลกล่าวว่า หากยังไม่ครากก็ถือว่ายังมีคุณสมบัติเหมือนเดิม อะไรที่ไม่ตรงก็ไม่อยากที่จะเรียกตรวจสอบ เพราะเหล็กจะไม่กลับสู่สภาพเดิม