×

นายกฯ แจงผลงานปราบแก๊งคอลเซ็นเตอร์ อายัดบัญชีม้า เพิ่มแนวทางป้องกันตั้งแต่ต้นเหตุ ย้ำประชาชนต้องรู้เท่าทันกลโกง

โดย THE STANDARD TEAM
15.11.2022
  • LOADING...

วันนี้ (15 พฤศจิกายน) พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม โพสต์ข้อความผ่าน Facebook ระบุว่า การประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ในวันนี้ มุ่งเน้นไปที่ร่างกรอบการเจรจาต่างๆ สำหรับการประชุมผู้นำ APEC ที่กำลังจะเกิดขึ้น ทั้งในรูปแบบของพหุภาคีและทวิภาคี ที่ล้วนแล้วแต่จะออกดอกออกผล ต่อยอดให้เกิดการประกอบอาชีพ รายได้ และคุณภาพชีวิตของพี่น้องประชาชน ทั้งเกษตรกร ผู้ประกอบการ SMEs/สตาร์ทอัพ การค้า การลงทุน การท่องเที่ยว การศึกษาวิจัย และอื่นๆ อีกมาก ซึ่งพี่น้องประชาชนจะสามารถรับทราบข้อมูลและประโยชน์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นจากการประชุม APEC ครั้งนี้ จากข่าวสารประชาสัมพันธ์ของหน่วยงานภาครัฐต่อจากนี้แน่นอน และก็จะนำมารายงานให้พี่น้องได้รับรู้ทาง Facebook นี้อย่างต่อเนื่อง

 

นอกจากประเด็นเรื่อง APEC แล้ว อีกหนึ่งประเด็นสำคัญของการประชุม ครม. ในวันนี้ คือนโยบายและความคืบหน้าการแก้ไขปัญหาการฉ้อโกงประชาชนผ่านช่องทางสื่อสังคมออนไลน์ที่กำลังระบาดและเป็นปัญหาในสังคมไทยในปัจจุบัน โดยมีผลการดำเนินงานแบ่งตามประเภทของการกระทำความผิดได้ดังนี้ 

 

  1. แก๊งคอลเซ็นเตอร์: ได้รับแจ้งความ 7,629 คดี รวมความเสียหาย 1.8 พันล้านบาท สามารถปิดกั้นการส่ง SMS 33,216 ครั้ง และระงับเบอร์โทรแก๊งมิจฉาชีพ 42,929 หมายเลข รวมทั้งจับกุมผู้กระทำผิดได้ 166 ราย

 

  1. บัญชีม้า: ทำการอายัดบัญชี 40,198 บัญชี และเตรียมอายัดทรัพย์สินที่เกี่ยวข้องกับการทำความผิดอีก 4,375 ล้านบาท (อายัดแล้ว 305.4 ล้านบาท) รวมทั้งปิดกลุ่ม Facebook ซื้อขายบัญชีม้าอีก 6 กลุ่ม

 

  1. การหลอกลวงลงทุน-ระดมทุนออนไลน์ และการหลอกลวงทางการเงิน: ได้รับการร้องเรียน/แจ้งความ 57,833 คดี รวมความเสียหาย 1.1 หมื่นล้านบาท ปัจจุบันสามารถดำเนินคดีแล้ว 653 คดี มีผู้ต้องหา 747 ราย

 

  1. การพนันออนไลน์: ดำเนินการปิดกั้น 1,507 เว็บไซต์ พร้อมดำเนินคดีแล้ว 312 คดี มีผู้ต้องหา 403 ราย ซึ่งสร้างความเสียหาย 625 ล้านบาท

 

  1. การหลอกลวงซื้อขายสินค้า/บริการออนไลน์: จากการแจ้งความ 42,638 คดี ก่อความเสียหาย 510 ล้านบาท ปัจจุบันสามารถดำเนินคดีแล้ว 469 คดี มีผู้ต้องหา 490 ราย

 

“ครอบคลุมคดีสำคัญที่สังคมให้ความสนใจ ได้แก่ คดี Forex-3D ที่มีผู้เสียหายเกือบหมื่นราย สร้างความเสียหายราว 2,500 ล้านบาท และคดีฟาร์มเห็ด ที่มีผู้เสียหายกว่า 2,700 ราย มูลค่าความเสียหายกว่า 1,600 ล้านบาท ซึ่งปัจจุบันอยู่ระหว่างการดำเนินคดีในกระบวนการยุติธรรมทั้งหมดครับ”

 

อย่างไรก็ตาม แนวทางของรัฐบาลในการแก้ไขปัญหานี้ มิได้เน้นเพียงการจับกุมที่เป็นปลายเหตุ แต่ต้องป้องกันและแก้ไขปัญหาตั้งแต่ต้นเหตุ ดังนี้

 

  1. บูรณาการหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง ทั้งภาครัฐ องค์กรอิสระ เช่น ธปท., ก.ล.ต., ปปง. และ กสทช. ตลอดจนร่วมกับประเทศเพื่อนบ้าน เพื่อแก้ปัญหาอย่างครบวงจร โดยมีเป้าหมายคือการถอนรากถอนโคนและทำลายเครือข่ายอาชญากรรมต่างๆ

 

  1. เร่งรัดการแก้ไข/ปรับปรุงกฎหมายให้ทันสมัย และบังคับใช้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ หลายประการด้วยกัน เช่น 
  • ออก พ.ร.ก. เพื่อยับยั้งบัญชีม้าและธุรกรรมต้องสงสัย 
  • แก้ไขประมวลกฎหมายอาญาและวิอาญา เพื่อให้การดำเนินคดีสอดรับกับรูปแบบอาชญากรรมทางเทคโนโลยี 
  • ขยายผลประกาศกระทรวงดิจิทัลฯ เรื่องขั้นตอนการแจ้งเตือน การระงับการทำให้แพร่หลายของข้อมูลคอมพิวเตอร์ฯ (มีผลบังคับใช้ 25 ธันวาคม 2565) 
  • ยกร่าง พ.ร.ฎ. กำหนดลักษณะกิจการหรือหน่วยงานที่ยกเว้นมิให้นำ PDPA มาใช้บังคับ ซึ่ง ครม. เห็นชอบในหลักการแล้ว 

 

  1. การเพิ่มประสิทธิภาพในการตัดวงจรอาชญากรรมออนไลน์ดังกล่าว โดย 
  • การใช้เทคโนโลยีดิจิทัล เช่น การจัดทำฐานข้อมูลขนาดใหญ่ (Big Data) ที่เชื่อมโยงกันและแลกเปลี่ยน/ตรวจสอบข้อมูลข้ามหน่วยงานได้ และ Social Listening/Monitoring 
  • การเพิ่มเติมทรัพยากรให้หน่วยปฏิบัติ ทั้งบุคลากร เครื่องมือ และงบประมาณ เป็นต้น

 

“อย่างไรก็ตาม สิ่งสำคัญที่สุดในการป้องกันการหลอกลวงและกลโกงต่างๆ คือ การสร้างภูมิคุ้มกันในตนเองให้กับพี่น้องประชาชน ให้มีความตระหนักและรู้เท่าทันภัย ที่เป็นด้านมืดของเทคโนโลยีดิจิทัล ดังนั้นพวกเราทุกคน จึงต้องมีสติ รู้เท่าทัน รวมถึงช่วยกันเป็นหูเป็นตา แจ้งเบาะแส และติดตามข่าวสาร การแจ้งเตือนภัยรูปแบบต่างๆ ทั้งจากภาครัฐและจากสื่อมวลชน ก็จะช่วยป้องกันการเสียหายก่อนที่จะมาถึงตัวและคนในครอบครัวของเรานะครับ” พล.อ. ประยุทธ์ระบุทิ้งท้าย

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X