เมื่อวันที่ 29 มีนาคม 2561 นายกอบศักดิ์ ภูตระกูล รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้า คสช. ต้องการให้มีช่องทางสำหรับประชาชนที่มีเรื่องเดือดร้อนหรือข้อเสนอใดๆ ในการแก้ไขปัญหาความเป็นอยู่ของประชาชนได้สื่อสารถึงนายกฯ หรือรัฐบาลโดยตรง โดยให้มีทั้งโทรศัพท์สายด่วน และเพจในเฟซบุ๊ก ซึ่งจะเป็นช่องทางเข้าถึงนายกฯ ง่ายขึ้น โดยนายกฯ จะเปิดตัว สายด่วนไทยนิยมอย่างเป็นทางการในวันที่ 3 เมษายนนี้ ที่ตึกบัญชาการทำเนียบรัฐบาลก่อนประชุม ครม.
นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่รัฐบาลลุงตู่ ดำริให้เปิดเพจเฟซบุ๊กสื่อสารกับประชาชน
แต่ดูเหมือนว่ารัฐบาลจะไม่ค่อยถูกโฉลกกับโซเชียลมีเดียเท่าไรนัก โดย พลเอก ประยุทธ์ เคยบ่นน้อยใจระหว่างเป็นประธานการประชุมคณะกรรมการสานพลังประชารัฐ เมื่อวันที่ 18 เมษายน 2559 ว่าการเปิดเพจของรัฐบาลมีคนเข้ามาดูน้อยกว่าเพจ เน วัดดาว เสียอีก
ขณะที่ย้อนไปก่อนหน้านี้ เมื่อเดือนตุลาคม 2558 พลเอก ประยุทธ์ ยืนยันเสียงแข็งว่าจะไม่เปิดเฟซบุ๊กแฟนเพจ
“รักผมที่ตัวจริงดีกว่า จะมาเฟซบุ๊กอะไร ไม่ใช่”
ย้อนชมผลงานเพจรัฐบาลจากดำริลุงตู่ 2 เพจ
เพจเฟซบุ๊กเชียร์รัฐบาลลุงตู่ มีอยู่มากมายหลายเพจ แต่หากนับเฉพาะเพจเฟซบุ๊กที่เป็นดำริจากปากพลเอก ประยุทธ์ เมื่อตรวจสอบย้อนไปพบว่า มีอยู่ 2 เพจที่พลเอก ประยุทธ์ เคยประกาศอย่างเป็นทางการ
ย้อนไปช่วงวันที่ 14 กรกฎาคม 2560 พลเอก ประยุทธ์ กล่าวผ่านรายการคืนวันสุข ว่า รัฐบาลเปิดให้บริการเฟซบุ๊กชื่อ ‘PAGE IR’ เพื่อนำคำตอบการไขข้อข้องใจ และรับฟังเสียงสะท้อนจากประชาชนโดยตรงโดยหวังให้เป็นแหล่งข้อมูลให้สื่อโซเชียล สามารถนำไปใช้อ้างอิง ขยายผล และลดความเข้าใจผิด
เมื่อตรวจสอบล่าสุดพบว่า PAGE IR ได้เปลี่ยนชื่อเป็น ‘แจงสี่เบี้ย’ มียอดถูกใจ 16,394 มียอดติดตาม 16,886 (ข้อมูลวันที่ 30 มีนาคม 2561)
ความเคลื่อนไหวของเพจนี้ยังคงมีต่อเนื่อง เน้นการสื่อสารนโยบายจากภาครัฐ มีอินโฟกราฟิก และคลิปวิดีโอที่เน้นเอาจากส่วนงานราชการต่างๆ มาเผยแพร่ซ้ำ โดยโพสต์แต่ละอันมียอดไลก์และแชร์เฉลี่ยหลักสิบ
ขณะที่อีกเพจหนึ่งซึ่งพลเอก ประยุทธ์ ออกโรงประชาสัมพันธ์ให้ คือเพจ ‘ปรองดองเป็นของประชาชน’ โดยหวังเป็นช่องทางชี้แจงความคืบหน้าภารกิจของคณะกรรมการเตรียมการเพื่อสร้างความสามัคคีปรองดอง (ปยป.)
ตรวจสอบล่าสุด พบว่ามียอดไลก์ 5,192 และยอดติดตาม 5,396 โดยเนื้อหาเพจค่อนข้างสับสน มีการแชร์ข่าวสำนักข่าวต่างๆ และมีการนำคำพูดของพลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม มาทำเป็นโควต
แต่ผลงานที่สร้างชื่อที่สุดของเพจนี้ คือการประชาสัมพันธ์น้องเกี่ยวก้อย มาสคอตประชาสัมพันธ์ด้านปรองดองของกระทรวงกลาโหม แต่ดูเหมือนว่าเสียงตอบรับที่ได้จะเป็นแง่วิจารณ์มากกว่าชื่นชม
นอกจากนี้ ยังมีเพจที่ชื่อว่า ‘Gen.Prayut Chan-o-cha ทีมงาน’ ซึ่งเป็นเพจที่นำเสนอภารกิจกิจวัตรของพลเอก ประยุทธ์ เริ่มโพสต์ข้อความและรูปภาพเกี่ยวกับการทำงานของนายกรัฐมนตรีตั้งแต่วันที่ 18 สิงหาคม 2560
เปิดเพจมาได้ 6 เดือน มียอดไลก์ 16,617 และยอดติดตาม 18,483 (ข้อมูลวันที่ 30 มีนาคม 61)
เพจ Gen.Prayut Chan-o-cha ทีมงาน ถือว่าประสบความสำเร็จในระดับหนึ่ง แม้ยอดติดตามอาจจะยังไม่สูง แต่การตอบรับในแต่ละโพสต์ทำได้ค่อนข้างดี
การรายงานภารกิจของพลเอก ประยุทธ์ ผ่านเพจนี้ทำแบบง่ายๆ นำเสนออิริยาบถพลเอก ประยุทธ์ ในมุมสบายๆ ไม่ดุดันตามสไตล์ทหารที่มักปรากฏในหน้าสื่อกระแสหลัก
อย่างไรก็ตาม ยังไม่มีหน่วยงานใดอ้างตัวอย่างเป็นทางการว่าเป็นเจ้าของเพจนี้
ดร.รัชดา ธนาดิเรก อดีตรองโฆษกพรรคประชาธิปัตย์ เคยให้สัมภาษณ์กับผู้จัดการออนไลน์ถึงเรื่องนี้ว่า เพจใดมีผู้ติดตามจำนวนมากก็จะสะท้อนให้เห็นถึงคะแนนนิยมที่มีต่อบุคคลนั้นๆ
โดยเทคนิคที่จะทำให้เพจเป็นที่สนใจ ต้องมีคอนเทนต์ที่ดี มีเป้าหมายที่ชัดเจน และมีทีมงานที่มีความเชี่ยวชาญในสื่อโซเชียล ซึ่งจะรู้ว่าจะเปิดประเด็นอย่างไรให้น่าสนใจ หัวข้อไหนถึงจะกลายเป็นกระแส
การตีปี๊บผลงานและภาพลักษณ์ของคนการเมืองผ่านโซเชียลมีเดียไม่ใช่เรื่องใหม่ หากหันไปดูนักการเมืองไทยที่มีชื่อเสียงหลายคน เช่น ยิ่งลักษณ์-ทักษิณ ชินวัตร, อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ, กรณ์ จาติกวณิช, ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ รวมถึงนักการเมืองหน้าใหม่อย่าง ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ล้วนมีเพจเฟซบุ๊กส่วนตัวที่มียอดผู้ติดตามสูงทั้งสิ้น
แต่สำหรับรัฐบาลทหาร ความพยายามที่จะปรับภาพลักษณ์ให้อ่อนโยนลง และเข้าถึงคนรุ่นใหม่ผ่านโซเชียลมีเดียให้มากขึ้น ดูจะเป็นเรื่องใหม่สำหรับรัฐบาลทหาร และยังต้องพยายามกันอยู่ต่อไป