วันนี้ (17 กุมภาพันธ์) พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กระบุว่า “พี่น้องประชาชนที่เคารพครับ จากญัตติขอเปิดอภิปรายทั่วไปเพื่อซักถามข้อเท็จจริงหรือเสนอแนะปัญหาต่อคณะรัฐมนตรีของพรรคฝ่ายค้านนั้น มีข้อมูลหลายส่วนที่คลาดเคลื่อน ไม่ตรงกับข้อเท็จจริงของทางราชการ อาจสร้างผลกระทบต่อการบริหารราชการแผ่นดิน”
พล.อ. ประยุทธ์ ระบุต่อว่า ผมได้ใช้โอกาสนี้ในการชี้แจงให้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและพี่น้องประชาชนได้รับรู้ผ่านการถ่ายทอดสดแล้วเมื่อช่วงเช้า และขอใช้ช่องทางนี้ในการสรุปประเด็นสำคัญๆ เพื่อสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องอีกครั้ง
ในปัจจุบันทั่วโลกรวมทั้งประเทศไทยกำลังเผชิญกับมหาวิกฤตโควิด ที่ทำให้เศรษฐกิจของโลกถดถอยอย่างรุนแรงที่สุดนับตั้งแต่สิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่ 2 ยิ่งกว่าวิกฤตต้มยำกุ้ง ปี 2540 และวิกฤตแฮมเบอร์เกอร์ ปี 2549 แต่รัฐบาลและ ศบค. ก็สามารถบริหารสถานการณ์ด้วยหลักการรักษาความสมดุลทางด้านสาธารณสุขและเศรษฐกิจจนเป็นผลสำเร็จ นานาชาติให้การยอมรับและชื่นชมประเทศไทยให้เป็นหนึ่งในประเทศที่รับมือกับสถานการณ์โควิดได้ที่ดีที่สุด
โดยล่าสุดไทยได้รับการจัดอันดับให้มีความมั่นคงทางสุขภาพ (Global Health Security Index: GHS) เป็นที่ 5 ของโลก และเป็นที่ 1 ของเอเชีย จากการประเมินความพร้อมในการรับมือการแพร่ระบาดโรคติดต่อปี 2564 โดยมหาวิทยาลัยจอห์นส์ฮอปกินส์ และเป็นประเทศที่ฟื้นตัวจากโควิดได้ดีอันดับ 2 ของโลก และอันดับ 1 ของเอเชีย จากข้อมูลดัชนีโควิดระดับโลก (Global COVID-19 Index: GCI) จัดอันดับโดยสถาบัน PEMANDU
นอกจากนี้ประเทศไทยสามารถจัดหาและฉีดวัคซีนได้มากกว่า 100 ล้านโดส เร็วกว่าแผนที่กำหนดไว้ก่อนสิ้นปี 2564 อีกทั้งสามารถเปิดประเทศไทยได้ในเดือนพฤศจิกายน 2564 ตามที่ได้ประกาศไว้ สร้างความเชื่อมั่นต่อทุกภาคส่วนของไทยและชาวโลกอีกด้วย
จากความสำเร็จดังกล่าว ส่งผลดีสืบเนื่องในอีกหลายด้าน ได้แก่
- เศรษฐกิจไทยใน 9 เดือนแรกของปี 2564 พลิกกลับมาเป็นบวกได้ที่ร้อยละ 1.3 ต่อปี เกินกว่าที่หลายฝ่ายคาดหมาย
- จำนวนลูกหนี้ที่ต้องการขอพักชำระเงินต้นและดอกเบี้ยลดลงมากกว่าครึ่ง จาก 12.5 ล้านบัญชี เหลือ 6 ล้านบัญชี
- การจ้างงานมีมากขึ้น ผู้ตกงานน้อยลง โดยจำนวนผู้มีงานทำ 37.9 ล้านคน ปรับตัวดีขึ้นจากไตรมาส 3/64 ที่มีจำนวน 37.7 ล้านคน
- นักศึกษาจบใหม่ปี 2563-2564 มีงานทำทั้งในภาครัฐและภาคเอกชน รวมกว่า 80%
- การลงทุนภาคเอกชนขยายตัว มีบริษัทที่เปิดกิจการใหม่ในปี 2564 มากกว่าบริษัทที่ปิดกิจการกว่า 4 เท่าตัว
- ความเชื่อมั่นทางเศรษฐกิจสูงขึ้น โดยมียอดขอรับการส่งเสริมการลงทุนมากกว่า 6 แสนล้านบาท และดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง
- การส่งออกทั้งปี 2564 ดีขึ้นอย่างมาก โดยมีมูลค่ารวมเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปี 2563 ร้อยละ 18.91
- การจัดอันดับความน่าเชื่อถือทางการเงินการคลังของไทย โดย 3 สถาบันการจัดอันดับโลก ได้แก่ S&P, Fitch Ratings และ Moody’s ยังคงไม่เปลี่ยนแปลงที่ BBB+ และอยู่ในระดับ ‘มีเสถียรภาพ’ (Stable Outlook) สะท้อนได้ว่าภาคการเงินการคลังของไทยยังเข้มแข็งและมีความน่าเชื่อถือในระดับสูง
อย่างไรก็ตาม ท่ามกลางวิกฤตโควิดที่ยังไม่รู้วันสิ้นสุดนั้น รัฐบาลไม่เคยหยุดคิดเรื่องการพัฒนาและการลงทุนเพื่ออนาคตของประเทศอย่างต่อเนื่อง โดยพร้อมที่จะพลิกโฉมประเทศด้วยการกำหนดอุตสาหกรรมเป้าหมาย เช่น ยานยนต์สมัยใหม่ อิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ การเกษตรและเทคโนโลยีชีวภาพ การแปรรูปอาหาร การบินและโลจิสติกส์ เชื้อเพลิงชีวภาพและเคมีชีวภาพ ธุรกิจดิจิทัล รวมทั้งการแพทย์ครบวงจร
ซึ่งล่าสุดก็มีการขอรับการส่งเสริมการลงทุนในอุตสาหกรรมเป้าหมายเหล่านั้น 2,000 กว่าโครงการ มูลค่าเงินลงทุน 7.7 แสนล้านบาท ที่จะเป็นทั้งโอกาสงาน สร้างอาชีพ การถ่ายทอดเทคโนโลยีและองค์ความรู้ อีกทั้งการใช้จ่ายในห่วงโซ่อุปทานในประเทศอีกมากมายตามมา กระจายไปทุกภูมิภาคทั่วประเทศ การดำเนินการต่างๆ ไม่ได้เป็นเพียงการแก้ปัญหาเฉพาะหน้าเท่านั้น แต่เป็นการดำเนินการตามแผนแม่บทยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี เพื่อการพัฒนาในระยะยาว สอดคล้องกับทิศทางของโลก
รวมทั้งเป้าหมายสำคัญในการนำเศรษฐกิจชีวภาพ-เศรษฐกิจหมุนเวียน-เศรษฐกิจสีเขียว (BCG) พร้อมด้วยนโยบายการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกและเข้าสู่สังคมคาร์บอนต่ำ (Carbon Neutrality และ Net Zero) มาใช้อย่างกว้างขวางและจริงจัง โดยสิ่งต่างๆ เหล่านี้จะช่วยให้เรารอดพ้นจากวิกฤตได้อย่างยั่งยืน และพร้อมที่จะฟื้นฟูประเทศไปสู่การเป็นประเทศชั้นนำของโลกได้ในอนาคต