×

พลเอก ประยุทธ์ เห็นชอบเร่งสร้างนักรบไซเบอร์ 1 พันคน เพื่อป้องกันภัยคุกคามโลกดิจิทัล

10.05.2018
  • LOADING...

เมื่อวานนี้ (9 พ.ค.) ที่ทำเนียบรัฐบาล พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการ Cyber Security ครั้งที่ 1/2561 เรียกว่าเป็นการประชุมคณะกรรมการชุดนี้เป็นครั้งแรกของปี

 

ภายหลังเลิกการประชุม ดร.พิเชฐ ดุรงคเวโรจน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม เปิดเผยว่าที่ประชุมได้พิจารณาและมีมติเห็นชอบ 4 เรื่องคือ กรอบแนวคิดนโยบายและแผนระดับชาติเพื่อปกป้อง รับมือ ป้องกัน และลดความเสี่ยงและความสอดคล้องไปในทิศทางเดียวกัน, แนวทางการกำหนดโครงสร้างพื้นฐานสำคัญทางสารสนเทศ (Critical Information Infrastructure: CII) ของประเทศ และแนวทางปฏิบัติเพื่อตอบสนองต่อสถานการณ์ฉุกเฉินทางความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ (Standard Operating Procedure: SOP), แนวทางการพัฒนาบุคลากรด้านความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ระยะเร่งด่วน และแนวทางการจัดตั้ง Cybersecurity Agency (CSA) ทำหน้าที่หน่วยประสานงานกลางและหน่วยงานเผชิญเหตุด้านความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ชั่วคราว เพื่อให้ความปลอดภัยมั่นคงไซเบอร์ของชาติอยู่ในระดับมาตรฐานสากล

 

พร้อมกันนี้ ที่ประชุมรับทราบอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการฯ ชุดนี้คือเตรียมการด้านการพัฒนาและการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ เพื่อให้ประเทศไทยมีความพร้อม สามารถปกป้อง ป้องกัน และรับมือกับสถานการณ์ด้านภัยคุกคามไซเบอร์ ตลอดจนเตรียมแผนปฏิบัติการและมาตรการตอบสนองด้านการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ตามระดับความรุนแรงของสถานการณ์ เพื่อให้สามารถแก้ไขสถานการณ์ที่เกิดขึ้นได้อย่างมีประสิทธิภาพ รวมทั้งมีการดูแลรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์อย่างต่อเนื่อง

 

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมกล่าวเพิ่มเติมว่า ภาพรวมของสถานการณ์ด้านความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ในขณะนี้เกิดจากหลากหลายปัจจัย ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของเทคโนโลยีที่มีการพัฒนาอย่างรวดเร็ว ใช้ง่าย และมีราคาถูก ทำให้คนทั่วโลกสามารถเข้าถึงข้อมูลข่าวสารได้อย่างไร้ขีดจำกัด และภัยคุกคามไซเบอร์ที่ตามมาอาจก่อให้เกิดผลกระทบร้ายแรง เช่น การรั่วไหลของข้อมูลที่สำคัญ หรือข้อมูลที่มีชั้นความลับอันอาจจะส่งผลกระทบต่อเสถียรภาพทางเศรษฐกิจและความมั่นคงของชาติ โดยสภาวะภัยคุกคามไซเบอร์ของไทยนั้น เหตุจูงใจไม่เฉพาะเพียงผลประโยชน์ทางการเงินเท่านั้น แต่ยังเกิดจากความหละหลวมในการให้ความใส่ใจต่อความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ของบุคลากรในองค์กรด้วย

 

นอกจากนี้ที่ประชุมได้พิจารณาและมีมติเห็นชอบการจัดกลุ่มโครงสร้างพื้นฐานสำคัญทางสารสนเทศของประเทศ (Critical Information Infrastructure: CII) 6 กลุ่มแรก ได้แก่ กลุ่มความมั่นคงและบริการภาครัฐ, กลุ่มการเงิน, กลุ่มเทคโนโลยีสารสนเทศและโทรคมนาคม, กลุ่มการขนส่งและโลจิสติกส์, กลุ่มพลังงานและสาธารณูปโภค และกลุ่มสาธารณสุข พร้อมยกระดับแผนการทำงานร่วมกัน เช่น ซ้อมรับมือภัยคุกคามทางไซเบอร์ รวมถึงจัดทำแผนปฏิบัติการรับมือไซเบอร์ (National Incident Handling Flow)

 

ทั้งนี้ ประเทศไทยยังมีความจำเป็นในการดำเนินโครงการเร่งรัดการพัฒนาบุคลากรด้านความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ โดยให้เตรียมการจัดอบรมให้กับบุคลากรด้านความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ หรือนักรบไซเบอร์ จำนวน 1,000 คน เพื่อให้เกิดความเชี่ยวชาญในการรับมือกับภัยคุกคามทางไซเบอร์ และกระทรวงดีอีตั้งเป้ายกระดับดัชนีความพร้อมด้านความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ให้ติดในอันดับที่ 20 ของประเทศที่มีความพร้อม จากเดิมที่ประเทศไทยอยู่ในอันดับที่ 22

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X