×

ฝ่ายค้านแถลงการณ์ ชี้ประยุทธ์มีเจตนาสืบทอดอำนาจ ขอประชาชนให้บทเรียนในสนามเลือกตั้ง เตรียมใช้กลไกสภายื่นอภิปรายทั่วไป

โดย THE STANDARD TEAM
30.09.2022
  • LOADING...
ประยุทธ์ จันทร์โอชา

วันนี้ (30 กันยายน) ที่ห้องประชุมวิปฝ่ายค้าน สภาผู้แทนราษฎร อาคารรัฐสภา ตลอดการฟังคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญต่อกรณีการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของ พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผู้นำฝ่ายค้านจากพรรคต่างๆ ฟังคำตัดสินด้วยสีหน้าเคร่งเครียด ต่างจากช่วงแรกที่มีท่าทีผ่อนคลาย

 

โดยทันทีที่ศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยให้ พล.อ. ประยุทธ์ ไม่พ้นจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี พรรคร่วมฝ่ายค้านได้หารือกันถึงการออกคำแถลงการณ์ต่อการวินิจฉัยของศาล ใช้เวลาประมาณครึ่งชั่วโมง 

 

นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว หัวหน้าพรรคเพื่อไทย ในฐานะผู้นำฝ่ายค้าน กล่าวระหว่างการหารือกันว่า “ไม่พ้นเราก็ยิ้มได้ เราก็ทำหน้าที่ตรวจสอบของเราต่อไป และเราจะทำหน้าที่ให้ดีที่สุด” หลังจากนั้น พรรคร่วมฝ่ายค้านได้อ่านคำแถลง ใจความระบุว่า 

 

ในนามของพรรคร่วมฝ่ายค้าน ยอมรับคำวินิจฉัยและน้อมรับคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ซึ่งตามที่ศาลรัฐธรรมนูญได้มีคำวินิจฉัยว่าความเป็นนายกรัฐมนตรีของ พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา ยังไม่สิ้นสุดลงตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา 170 วรรคสอง ประกอบมาตรา 158 วรรคสี่ จากกรณี พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้ดำรงตำแหน่งมาแล้วครบ 8 ปี ในวันที่ 24 สิงหาคม 2565 โดยให้เหตุผลสรุปว่า การดำรงตำแหน่งของ พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา ให้เริ่มนับตั้งแต่วันที่ 6 เมษายน 2560 ซึ่งเป็นวันที่รัฐธรรมนูญ 2560 มีผลใช้บังคับนั้น 

 

พรรคร่วมฝ่ายค้านยอมรับคำวินิจฉัยของศาล และขอแถลงการณ์พรรคร่วมฝ่ายค้านเห็นพ้องต้องกันว่า คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญน่าจะมีความคลาดเคลื่อนในข้อกฎหมายอันเป็นสาระสำคัญ ไม่สอดคล้องกับเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญและมีปัญหาความชอบด้วยรัฐธรรมนูญด้วยเหตุผล ดังนี้

 

  1. การพิจารณาถึงเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญนั้น นอกจากจะต้องหาความหมายจากถ้อยคำตามลายลักษณ์อักษรแล้ว ต้องพิจารณาจากเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญด้วย โดยต้องพิจารณาในขณะเมื่อจัดทำรัฐธรรมนูญของคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญว่าได้มีการพิจารณาถึงสาระสำคัญหรือเหตุผลเบื้องหลังของแต่ละมาตราไว้อย่างไร เจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญจึงไม่อาจเปลี่ยนแปลงไปตามความเห็นของกรรมการร่างรัฐธรรมนูญที่เปลี่ยนแปลงไปตามความคิดและความรู้สึกของกรรมการร่างรัฐธรรมนูญในแต่ละช่วงเวลาได้

 

เมื่อในชั้นร่างรัฐธรรมนูญ มาตรา 158 วรรคสี่ ที่ห้ามการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีเกิน 8 ปี โดยมิได้บัญญัติข้อยกเว้นใดๆ ไว้ ได้มีความเห็นของกรรมการร่างรัฐธรรมนูญและประธานกรรมการร่างรัฐธรรมนูญปรากฏชัดในบันทึกการประชุม อันเป็นหลักฐานที่ชัดเจนถึงเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญว่า ให้นับรวมระยะเวลาการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีที่ดำรงอยู่ก่อนประกาศใช้รัฐธรรมนูญปี 2560 ด้วย และมาตรา 264 ให้นับความเป็นนายกรัฐมนตรีต่อเนื่อง จึงไม่อาจแปลความเป็นอย่างอื่นได้เลยว่า การนับระยะเวลาการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของ พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นั้นต้องเริ่มนับตั้งแต่วันที่ 24 สิงหาคม 2557 เป็นต้นไปเท่านั้น

 

  1. การวินิจฉัยให้เริ่มนับระยะเวลาการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของ พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา ตั้งแต่วันที่ 6 เมษายน 2560 อันเป็นวันที่รัฐธรรมนูญฉบับปี 2560 มีผลใช้บังคับนั้น จะทำให้ พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา ยังมีสิทธิดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีหลังครบวาระในครั้งนี้แล้วอีก 2 ปี จนถึงปี 2568 นั้น น่าจะเป็นการตีความที่ขัดหรือแย้งกับรัฐธรรมนูญตามที่ประชาชนเข้าใจเป็นอย่างดีแล้ว เพราะจะส่งผลให้ พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา สามารถดำรงตำแหน่งได้รวมซึ่งเกินกว่า 4 ปี และเกินกว่า 2 วาระ ปกติของการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี อันผิดไปจากเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญปี 2560 และรัฐธรรมนูญฉบับก่อนหน้าที่ต้องการจำกัดวาระและระยะเวลาการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีมิให้เกิน 2 วาระ หรือเกินกว่า 8 ปี และยังขัดต่อการรับรู้ทั่วไปของประชาชนและขัดต่อข้อเท็จจริงว่า พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นั้นได้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีมาตั้งแต่วันที่ 24 สิงหาคม 2557 ซึ่งการตีความในลักษณะนี้จะมีผลแปลกประหลาดคือ พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีอยู่ในวันที่ 6 เมษายน 2560 ที่รัฐธรรมนูญ 2560 ประกาศใช้ ระยะเวลา 8 ปี ก่อนวันที่ 6 เมษายน 2560 กลับไม่นำมานับ แต่หลังจากวันที่ 6 เมษายน 2560 กลับนำมานับ ทั้งๆ ที่มีประกาศพระบรมราชโองการแต่งตั้งนายกรัฐมนตรีฉบับเดียวกัน

 

ในชั้นเริ่มต้นของการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของ พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา เมื่อปี 2557 แม้ พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา จะไม่ได้เข้าสู่ตำแหน่งนายกรัฐมนตรีจากความเห็นชอบของสภาผู้แทนราษฎรตามมาตรา 158 วรรคสอง ของรัฐธรรมนูญปี 2560 ตามแต่รัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวปี 2557 ได้บัญญัติให้สภานิติบัญญัติแห่งชาติ ทำหน้าที่สภาผู้แทนราษฎร ซึ่งสภานิติบัญญัติแห่งชาติก็ได้ให้ความเห็นชอบให้ พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี กรณีนี้จึงถือว่า พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา ย่อมเป็นนายกรัฐมนตรี ตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญนี้ ซึ่งสอดคล้องกับรัฐธรรมนูญปี 2560 มาตรา 264

 

  1. เมื่อรัฐธรรมนูญปี 2560 ถูกอ้างความชอบธรรมจากผู้มีอำนาจบ่อยครั้งว่าเป็นรัฐธรรมนูญฉบับปราบโกงและผ่านการลงประชามติของประชาชน การตีความให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้อยู่ในตำแหน่งเป็น 8 ปีได้ นอกจากขัดต่อเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญแล้วยังขัดต่อเจตนารมณ์ของประชาชนซึ่งเป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตยด้วย อันถือเป็นการทำลายรากฐานของระบอบประชาธิปไตยอย่างมีนัยสำคัญเพราะเป็นการเปิดโอกาสให้มีการผูกขาดการใช้อำนาจ

 

  1. เมื่อศาลรัฐธรรมนูญมีอำนาจหน้าที่ในการพิทักษ์รัฐธรรมนูญ แต่การวินิจฉัยที่ส่อว่าขัดต่อเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญเสียเอง ย่อมเป็นการทำลายคุณค่าความเป็นกฎหมายสูงสุดของรัฐธรรมนูญ แม้ผลคำวินิจฉัยจะทำให้ พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้ประโยชน์ แต่ก็จะเป็นการทำลายบรรทัดฐานทางกฎหมายและอาจนำมาซึ่งปัญหาความขัดแย้งที่ใหญ่หลวงในสังคม และเกิดการไม่ยอมรับในผลของคำวินิจฉัยได้

 

  1. พรรคร่วมฝ่ายค้านเห็นว่า ถึงเวลาที่ประเทศไทยควรมีการปฏิรูปกระบวนการทำหน้าที่ของศาลรัฐธรรมนูญเสียใหม่ ให้เกิดการตรวจสอบถ่วงดุลอำนาจที่เหมาะสม เพื่อมิให้มีการอาศัยผลของคำวินิจฉัยที่ผูกพันทุกองค์กรไปใช้ในทางที่ไม่เหมาะสมและไม่คำนึงถึงบรรทัดฐานทางกฎหมายที่ถูกต้องได้ พรรคร่วมฝ่ายค้านเห็นว่าแม้ผลของคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญจะทำให้ พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา มีสิทธิดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีต่อไปได้ แต่คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญคงมิใช่เป็นการฟอกขาวให้แก่ พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา โดยประการใดๆ 

 

พรรคร่วมฝ่ายค้านเห็นว่าภาพจำของประชาชนที่มีต่อตัวนายกรัฐมนตรีคือ ผู้ที่พยายามจะสืบทอดอำนาจทุกวิถีทางเท่าที่จะหาวิธีทำให้ได้ ผู้ที่ผิดสัญญากับประชาชนมาตั้งแต่ต้นที่ทำรัฐประหารว่าจะอยู่ไม่นาน ผู้ที่ผิดสัญญากับประชาชนในการปฏิรูปประเทศในด้านต่างๆ จนทำให้ประเทศไทยตกขบวนลดชั้นลงไปจากผู้นำในอาเซียน การที่จะอ้างคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญเพื่อให้อยู่ในอำนาจได้ต่อไป จึงมีแต่ความว่างเปล่าในสายตาของประชาชน และขอให้พี่น้องประชาชนได้ให้บทเรียนกับ พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา และองคาพยพของ พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา ในการเลือกตั้งครั้งต่อไปด้วย

 

แนวทางหลังจากนี้ พรรคร่วมฝ่ายค้านจะมีบทบาทมุ่งทำหน้าที่ที่เหลืออยู่ของสภาให้ดีที่สุด ส่วนการให้ข้อเสนอแนะหรือข้อท้วงติงต่างๆ ฝ่ายค้านมีวาระในการประชุมร่วมกันอยู่แล้วทุกสัปดาห์ ก็จะนำประเด็นต่างๆ มาปรึกษาหารือและเสนอไปยังรัฐบาล โดยใช้กลไกของฝ่ายค้าน ที่สำคัญช่วงนี้ฝ่ายค้านมีการหารือกันว่าจะขอญัตติเปิดอภิปรายทั่วไปแบบไม่ลงมติ เป็นการเสนอปัญหาและข้อเท็จจริงต่อคณะรัฐมนตรีในช่วงเปิดสมัยประชุม

 

นพ.ชลน่านยังประเมินว่าสถานการณ์หลังจากนี้น่าเป็นห่วง เนื่องจากสิ่งที่พรรคร่วมฝ่ายค้านให้เหตุผลในคำร้องต่อการสิ้นสุดลงของตำแหน่งนายกรัฐมนตรี 8 ปีของ พล.อ. ประยุทธ์ เป็นเพราะคิดว่าเป็นไปตามรัฐธรรมนูญ แต่สิ่งที่เกิดขึ้นตอนนี้เปรียบเสมือนพายุโนรูเข้าประเทศไทยที่ไม่มีทางออก

 

“พายุไม่มี Rule ก็คือโนรูเข้า แต่ประเทศเราไร้ทางออกนะครับ No Rule เช่นกันครับ R-U-L-E ซึ่งตรงนี้เองก็จะเป็นสิ่งที่เรามีข้อห่วงใยและข้อกังวลมากนะครับ เท่าที่ฟังเสียงส่วนใหญ่พี่น้องประชาชนมีข้อวินิจฉัยส่วนตัวกันไว้หมดแล้ว ว่าออกแนวนี้ เขาจะมีข้อเรียกร้อง ข้อเสนออย่างไร อยากให้ฝ่ายบริหาร พล.อ. ประยุทธ์รับฟังข้อเรียกร้องของพี่น้องประชาชน ภายใต้การดูแลความสงบเรียบร้อยที่ไม่ละเมิดสิทธิเสรีภาพของพี่น้องประชาชน” นพ.ชลน่านกล่าวในที่สุด

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X