วันนี้ (28 พฤษภาคม) ธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่ากระทรวงกลาโหม ย้ำความสำเร็จภายหลังการเข้าร่วมประชุม International Conference on the Future of Asia หรือ Nikkei Forum ครั้งที่ 27 เมื่อวันที่ 26-27 พฤษภาคม 2565 ณ กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น ซึ่งในการเดินทางครั้งนี้ได้มีโอกาสหารือร่วมกับ ฟูมิโอะ คิชิดะ นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น, ทาดาชิ มาเอดะ ผู้ว่าการธนาคารเพื่อความร่วมมือระหว่างประเทศแห่งญี่ปุ่น (JBIC) และ โทคุระ มาซาคาสึ ประธานสมาพันธ์ธุรกิจญี่ปุ่น (เคดันเรน) ซึ่งเป็นองค์กรภาคเอกชนที่สำคัญที่สุดของญี่ปุ่น โดยการเยือนฯ ครั้งนี้ นายกฯ ได้แสดงวิสัยทัศน์และเน้นย้ำความร่วมมือของไทยกับทุกฝ่าย เพื่อขับเคลื่อนผลประโยชน์ร่วมกัน โดยมีผลลัพธ์เป็นที่น่าพอใจและเป็นประโยชน์ต่อประชาชนไทยในหลายประเด็น ดังนี้
- การเข้าร่วมการประชุม Nikkei Forum ครั้งที่ 27 นายกฯ ได้ย้ำว่า ภายใต้สถานการณ์ความท้าทายและความชะงักงันในภูมิภาคและในโลก เอเชียควรต้องยืดหยุ่นต่อการปรับตัว สนับสนุนความยั่งยืน รวมทั้งสร้างสังคมที่ครอบคลุมมากขึ้น นายกฯ เชื่อว่าการฟื้นฟูทางเศรษฐกิจจำเป็นต้องเดินหน้าควบคู่ไปกับการสร้างความสมดุลของทุกสรรพสิ่งและการก้าวไปสู่ความยั่งยืน โดยเสนอ 3 ประเด็นหลักที่ไทยเชื่อว่าประเทศในภูมิภาคเอเชียจะร่วมมือกัน เพื่อก้าวข้ามความท้าทาย ได้แก่
- การกระตุ้นการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ
- การสนับสนุนระบบพหุภาคี
- การฟื้นฟูทางเศรษฐกิจจะต้องเกิดควบคู่กับความยั่งยืน
ซึ่งแนวคิด BCG ของไทยจะมีส่วนช่วยส่งเสริมแนวทางนี้ได้
- การพบหารือกับนายกฯ ญี่ปุ่น ทั้งสองฝ่ายให้ความสำคัญกับการขับเคลื่อนประเด็นต่างๆ ที่ได้หารือกันไว้ที่กรุงเทพฯ เมื่อวันที่ 2 พฤษภาคมที่ผ่านมา ให้มีความคืบหน้าและเกิดผลเป็นรูปธรรม ได้แก่
- การยกระดับความสัมพันธ์ไทย-ญี่ปุ่นเป็น ‘หุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์อย่างรอบด้าน (Comprehensive Strategic Partnership)’ โดยตั้งเป้าหมายที่จะประกาศเรื่องการยกระดับความสัมพันธ์ร่วมกันครั้งต่อไปในห้วงการเข้าร่วมการประชุมผู้นำ APEC
- เห็นพ้องร่วมกันที่จะให้ไทยและญี่ปุ่นประกาศใช้แผนยุทธศาสตร์ร่วมด้านเศรษฐกิจในการพัฒนาความเป็นหุ้นส่วนระหว่างไทยกับญี่ปุ่นในระยะ 5 ปี ในห้วงการประชุมคณะกรรมาธิการร่วมระดับสูงไทย-ญี่ปุ่น (HLJC) ครั้งที่ 6 ที่กรุงโตเกียว รวมทั้งได้หารือด้านการขยายการลงทุนจากญี่ปุ่นในอุตสาหกรรมเป้าหมายแห่งอนาคตของไทย ซึ่งมีบริษัทญี่ปุ่นหลายแห่งที่แสดงความสนใจและเริ่มเข้ามาลงทุนในไทย เช่น สาขายานยนต์ไฟฟ้า (EV) และเคมีภัณฑ์ สาขาเศรษฐกิจ BCG การแพทย์ ดิจิทัล และเกษตรอัจฉริยะ
- นายกฯ ได้ขอบคุณรัฐบาลญี่ปุ่นที่เลือกไทยเป็น 1 ใน 4 ประเทศเป้าหมายที่จะทดลองเปิดรับนักท่องเที่ยวกลุ่มเล็กเดินทางเข้าญี่ปุ่น จึงได้เชิญชวนให้ชาวญี่ปุ่นเดินทางมาท่องเที่ยวไทยเพิ่มขึ้นด้วย
- ความร่วมมือในกรอบพหุภาคีและความร่วมมือในประเด็นสถานการณ์ในภูมิภาค โดยนายกฯ ญี่ปุ่น สนับสนุนไทยในการเป็นเจ้าภาพการประชุม APEC ในปีนี้ และการเดินทางมาไทยเพื่อเข้าร่วมการประชุมฯ ทั้งนี้ นายกฯ พร้อมที่จะหารือกับสหรัฐฯ ญี่ปุ่น และประเทศต่างๆ ในกรอบความร่วมมือ Indo-Pacific Economic Framework (IPEF) ในการดำเนินสาขาความร่วมมือต่างๆ เพื่อประโยชน์กับไทย
- การพบหารือกับ ทาดาชิ มาเอดะ ผู้ว่าการธนาคารเพื่อความร่วมมือระหว่างประเทศแห่งญี่ปุ่น (JBIC) นายกฯ หวังจะร่วมมือกับญี่ปุ่นเรื่องการกระจายรายได้และการสร้างความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ ทั้งนี้ JBIC ได้แจ้งเป้าหมายของรัฐบาลญี่ปุ่นในการบรรลุความเป็นกลางทางคาร์บอนที่สอดคล้องกับนโยบายเศรษฐกิจ BCG ของไทย ทั้งสองฝ่ายเชื่อมั่นในความเป็นพันธมิตรที่สำคัญของกันและกัน ไทยหวังว่าญี่ปุ่นจะสนับสนุนในสาขาความร่วมมือต่างๆ โดยความเข้มแข็งของไทยซึ่งมีที่ตั้งอยู่ศูนย์กลางอาเซียน จะสร้างความเติบโตและเข้มแข็งในอาเซียนได้
- การพบหารือกับ โทคุระ มาซาคาสึ ประธานสมาพันธ์ธุรกิจญี่ปุ่น (เคดันเรน) และ โยชิฮิสะ ซูซูกิ ประธานคณะกรรมการการค้าและเศรษฐกิจไทย-ญี่ปุ่นของเคดันเรน นายกฯ มั่นใจว่าไทยจะดูแลและสร้างสภาพแวดล้อมในการดำเนินธุรกิจแก่นักลงทุนญี่ปุ่นในไทย และผลักดันเชิญชวนให้เอกชนญี่ปุ่นทั้งบริษัทขนาดใหญ่ SMEs และสตาร์ทอัพ มาดำเนินธุรกิจในไทย และใช้ไทยให้เป็นประโยชน์ในฐานะศูนย์กลางการดำเนินธุรกิจของญี่ปุ่นในอนุภูมิภาคและภูมิภาคต่อไป โดยเพิ่มการลงทุนในอุตสาหกรรมแห่งอนาคต เช่น EV อิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ ยาและเครื่องมือแพทย์ Data 5G และกลุ่ม BCG โดยพิจารณาลงทุนในพื้นที่ EEC เป็นกรณีพิเศษ ซึ่งประธานเคดันเรนย้ำถึงความสำคัญของไทยในฐานะศูนย์กลางการผลิตของเอกชนญี่ปุ่นในหลากหลายอุตสาหกรรม และในปีนี้คณะกรรมการการค้าและเศรษฐกิจไทย-ญี่ปุ่นของเคดันเรน มีแผนที่จะเยือนไทยเพื่อฟื้นฟูกลไกการประชุมระหว่างเคดันเรนกับคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) ของไทยต่อไป
- การศึกษาดูงานที่ Haneda Innovation City นายกฯ และคณะ ได้เรียนรู้การบริหารจัดการโครงการเมืองอัจฉริยะตามนโยบายแห่งชาติของญี่ปุ่น โดย Haneda Innovation City เป็นแหล่งรวบรวมศูนย์วิจัยและการทดลองเทคโนโลยีล้ำสมัยด้านการเดินทางและขนส่งอัจฉริยะ เทคโนโลยีหุ่นยนต์อัจฉริยะ เทคโนโลยีทางการแพทย์ สถานีไฮโดรเจน และแหล่งรวมของร้านค้า โรงแรม สำนักงาน และศูนย์จัดการประชุมที่มีความทันสมัยและลงตัว ซึ่งนายกฯ ได้สั่งการให้ฝ่ายต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง นำตัวอย่างความสำเร็จนี้ไปใช้ในการพัฒนาเมืองอัจฉริยะในประเทศไทย
“นายกฯ ได้เน้นย้ำว่า ในทุกการเดินทางของนายกฯ คำนึงถึงผลประโยชน์ของประเทศและประชาชนเป็นหลัก ซึ่งในครั้งนี้ก็เช่นเดียวกัน ไทยได้สร้างความเชื่อมั่นและแสดงความพร้อมที่จะร่วมมือกับญี่ปุ่นในทุกมิติที่มีศักยภาพร่วมกัน ทั้งระหว่างภาครัฐและเอกชน โดยเฉพาะด้านความร่วมมือทางเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน เพื่อจะต่อยอดฟื้นฟู พัฒนาฐานการค้าการลงทุนระหว่างกัน และมั่นใจว่าจะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งต่อเศรษฐกิจและสังคมระหว่างทั้งสองประเทศ รวมทั้งส่งผลสำคัญอย่างเป็นรูปธรรมถึงอนุภูมิภาคและภูมิภาค” ธนกรกล่าว