×

อดีตของปัจจุบัน ‘ประยุทธ์ จันทร์โอชา’ กับ 13 ปี ในวงอำนาจประเทศไทย

โดย THE STANDARD TEAM
20.02.2023
  • LOADING...
ประยุทธ์ จันทร์โอชา

ต้นปี 2553 หรือ 4 ปีก่อนหน้าการรัฐประหาร 22 พฤษภาคม 2557 จะเกิดขึ้น ตามหน้าสื่อสิ่งพิมพ์ประเมินกันแล้วว่า หัวหน้าคณะรัฐประหารในวันข้างหน้านั้นไม่ใช่ พล.อ. อนุพงษ์ เผ่าจินดา ผู้บัญชาการทหารบกในเวลานั้น แต่คือ พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา รองผู้บัญชาการทหารบกในเวลานั้น 

 

ประยุทธ์ จันทร์โอชา

 

หัวหน้าคณะรัฐประหารคนต่อไป

 

พี่น้อง 3 ป. อยู่ในวงอำนาจเดียวกันแบบครบทุกระนาบในรัฐบาลของ อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ในเวลานั้น พล.อ. ประวิตร วงษ์สุวรรณ เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม – พล.อ. อนุพงษ์ เผ่าจินดา เป็นผู้บัญชาการกองทัพบก และ พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นรองผู้บัญชาการทหารบก 

 


 

บทความที่เกี่ยวข้อง 

 


 

ปลายเดือนมกราคม 2553 มีการประกาศนัดหมายชุมนุมครั้งใหญ่ของกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) ในช่วงเดือนกุมภาพันธ์-มีนาคม 2553 เวลานั้น จตุพร พรหมพันธุ์ เปิดประเด็นว่า ผู้บัญชาการเหล่าทัพได้จัดประชุมที่กองทัพอากาศ เพื่อ ‘วางแผนปฏิวัติ’ ให้หลังจากกระแสข่าวนั้น พล.อ. ประยุทธ์ รองผู้บัญชาการทหารบกได้ออกมาปฏิเสธทันที “ไม่มีใครปฏิวัติ ขอให้บ้านเมืองเรียบร้อยดีกว่า รับรองว่าไม่มีอะไรทั้งสิ้น” 

 

ในสัปดาห์เดียวกันนั้น มติชนสุดสัปดาห์ เลือกภาพ พล.อ. ประยุทธ์เป็นภาพปก พร้อมพาดหัวว่า ‘ประยุทธ์ จันทร์โอชา รายต่อไป?’ นัยหนึ่งคือการเปิดประเด็นว่า พล.อ. ประยุทธ์จะเป็นหัวหน้าคณะรัฐประหารคนต่อไป พร้อมข้อความจาก มติชนสุดสัปดาห์ ที่วิเคราะห์ว่า 

 

ในวันนี้ ข่าวลือเรื่องรัฐประหารไม่ใช่เรื่องแปลก แต่ที่แปลกก็คือ คนที่ได้รับการกล่าวขวัญว่าจะเป็นหัวหน้าคณะรัฐประหารไม่ใช่ พล.อ. อนุพงษ์ ทั้งที่เขาเป็นผู้บัญชาการทหารบก แต่กลับเป็น พล.อ. ประยุทธ์ รองผู้บัญชาการทหารบก

 

พล.อ. ประยุทธ์เป็นนายทหารที่ได้รับความเอ็นดูเป็นพิเศษจาก พล.อ. เปรม ประธานองคมนตรี มีการส่งสัญญาณชัด-ชัด ให้ทุกฝ่ายได้รับรู้ในวันที่ทุกเหล่าทัพตบเท้าอวยพรปีใหม่ พล.อ. เปรม

 

พล.อ. เปรมบอกว่า เขารู้จัก พล.อ. ประยุทธ์มา 20 กว่าปีแล้ว และเข้าใจดีว่า พล.อ. ประยุทธ์ทำหน้าที่อะไรมาบ้าง โดยเฉพาะการถวายการรักษาความปลอดภัยต่อสถาบันพระมหากษัตริย์

 

“หากน้องๆ ในกองทัพภาคที่ 1 ทำตามที่ พล.อ. ประยุทธ์ทำ จะเป็นประโยชน์ต่อสถาบันที่เรารักและศรัทธาด้วยชีวิตของเรา ในกองทัพมีตัวอย่างคือ รอง ผบ.ทบ. ที่แสดงให้เห็นว่า ทหารที่ได้ถวายสัตย์ปฏิญาณ และปฏิญาณตนต่อธงชัยเฉลิมพลจะต้องทำอะไรที่ดีต่อชาติบ้านเมือง”

 

ประยุทธ์ จันทร์โอชา

(Ed Wray / Getty Images)

 

ผู้บัญชาการทหารบก คนที่ 37 

 

ในวันที่ 2 กันยายน 2553 มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ พล.อ. ประยุทธ์เป็นผู้บัญชาการทหารบก คนที่ 37 

 

ในวันที่ 1 ตุลาคม 2553 กองทัพบกได้จัดพิธีอำลา และส่งมอบหน้าที่ระหว่างสองผู้บัญชาการทหารบก

 

พล.อ. อนุพงษ์กล่าวในวันนั้นว่า “ผมมีความเชื่อมั่นเป็นอย่างยิ่งว่า ผบ.ทบ. ท่านใหม่ จะพัฒนากองทัพ นำความเจริญก้าวหน้า ดำรงไว้ซึ่งการเป็นสถาบันหลัก ด้านความมั่นคงที่มีเกียรติ มีศักดิ์ศรี รวมทั้งมีความพร้อมที่จะปฏิบัติภารกิจ ตามปณิธานที่ยึดถือไว้อย่างต่อเนื่องในการพิทักษ์ รักษาเอกราช อธิปไตยของชาติ ทำนุบำรุงศาสนา เทิดทูนปกป้องสถาบันพระมหากษัตริย์ ​และสร้างความสุขให้เกิดแก่ประชาชนอย่างยั่งยืนตลอดไป”

 

ในวาระเดียวกันนี้ พล.อ. ประยุทธ์ได้กล่าวแสดงความชื่นชมต่อ พล.อ. อนุพงษ์ ผู้ที่ในเวลาต่อมาเดินเคียงข้างกับ พล.อ. ประยุทธ์ในตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยยาวนานกว่า 8 ปีจนถึงปัจจุบัน  

 

“ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา ได้แสดงให้เห็นถึงความเป็นทหารอาชีพที่เปี่ยมด้วยอุดมการณ์อันแน่วแน่ ในการทุ่มเทและเสียสละเพื่อความสงบสุข และความมั่นคงของชาติบ้านเมืองอย่างแท้จริง ตลอดจนให้ความสำคัญสูงสุดต่อการแสดงความจงรักภักดี และการปกป้องสถาบันพระมหากษัตริย์อันเป็นที่เคารพยิ่งของปวงชน 

 

“สิ่งที่ปฏิบัติมาตลอดชีวิตรับราชการ และในขณะดำรงตำแหน่ง ผบ.ทบ. เป็นการยืนยันถึงการทำหน้าที่ของความรับผิดชอบ ซื่อสัตย์ สุจริต มีคุณธรรม พร้อมทั้งดำรงตำแหน่งเยี่ยงชายชาติทหารที่มีเกียรติและศักดิ์ศรี” 

 

ประยุทธ์ จันทร์โอชา

 

“มันมีเส้นหนึ่งที่เราจะต้องยกทุกอย่างไว้เหนือเส้นนั้น”

 

เมื่อ พล.อ. ประยุทธ์เป็นรองผู้บัญชาการทหารบก เขาต้องรับมือกับการชุมนุมของกลุ่มคนเสื้อแดง โดยเฉพาะในช่วงกลางเดือนมีนาคม 2553 จนถึงวันสลายการชุมนุมในวันที่ 19 พฤษภาคม 2553 ตามด้วยปรากฏการณ์ ‘ตาสว่าง’ ที่เกิดขึ้นเป็นวงกว้าง

 

เมื่อ พล.อ. ประยุทธ์เป็นผู้บัญชาการทหารบก เขาประกาศจุดยืนชัดเจนในการปกป้องสถาบันพระมหากษัตริย์ 

 

“อยากบอกกับประชาชนทั่วไปให้ได้รับทราบ ตนใช้เกียรติยศของตนพูดตรงนี้ว่า พระองค์ท่านไม่เคยลงมาเกี่ยวข้องในเรื่องใดทั้งสิ้น 

 

“สิ่งแรกที่จะนำไปสู่การปรองดองสามัคคีได้ ตนว่าคือเลิกยุ่งเกี่ยวกับสถาบันทั้งสิ้น ยกพระองค์ท่าน ยกสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ ไว้เหนือเส้นที่ตนเคยบอกว่า มันมีเส้นหนึ่งที่เราจะต้องยกทุกอย่างไว้เหนือเส้นนั้น” (22 ตุลาคม 2553)

 

ประยุทธ์ จันทร์โอชา

 

เปิดสัมพันธ์ ‘พล.อ. ประยุทธ์-พล.อ. ประวิตร’

 

ถึงที่สุดการเมืองวิกฤติหนัก นายกฯ อภิสิทธิ์ประกาศยุบสภาเมื่อวันที่ 10 พฤษภาคม 2554 เพื่อให้มีการเลือกตั้งทั่วไปในวันที่ 3 กรกฎาคม 2554 ผลปรากฏว่าพรรคเพื่อไทยชนะการเลือกตั้ง เป็นแรงหนุนให้ ‘ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร’ สมาชิกตระกูลชินวัตรคนที่ 3 ก้าวขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรี

 

เมื่อ พล.อ. ประวิตรก้าวลงจากตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมในเดือนกรกฎาคม 2554 เขายังคงอยู่ในวงอำนาจเสมอมาในนามมูลนิธิอนุรักษ์ป่ารอยต่อ 5 จังหวัด ซึ่งเป็นศูนย์รวมเด็กปั้นของพี่ป้อมจากหลายวงการ

 

ทุกวันปีใหม่ ‘บ้านป่ารอยต่อ’ เปิดให้ผู้นำระดับสูงในแวดวงต่างๆ ทั้งการทหาร-การเมือง-ธุรกิจ ตบเท้าเข้าคารวะประมุขของบ้าน 

 

เมื่อวันที่ 26 ธันวาคม 2556 หรือ 5 เดือนก่อนการรัฐประหารจะเริ่มขึ้น พล.อ. ประยุทธ์ ผู้บัญชาการทหารบก นำคณะนายทหารระดับ 5 เสือกองทัพบก เข้าบ้านป่ารอยต่อ เพื่อเยี่ยมคารวะและขอพรจาก พล.อ. ประวิตร อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เนื่องในโอกาสเทศกาลวันปีใหม่ 

 

ประยุทธ์ จันทร์โอชา

 

ในวันนั้น พล.อ. ประยุทธ์ย้ำว่า “พล.อ. ประวิตรเปรียบเสมือนผู้นำที่ได้สร้างเกียรติภูมิและผลงานไว้ให้คนรุ่นหลังได้ปฏิบัติตาม ในการสร้างความเป็นปึกแผ่นและความปรองดองในชาติ อีกทั้งทำหน้าที่ปกป้องสถาบันพระมหากษัตริย์อย่างเต็มความสามารถ”

 

ขณะที่ พล.อ. ประวิตรตอบกลับว่า “ขอบคุณ พล.อ. ประยุทธ์ที่ทำหน้าที่ ผบ.ทบ. ดูแลกองทัพได้เป็นอย่างดี ซึ่ง ผบ.ทบ. ทุกคนที่ผ่านมาต่างดำเนินรอยตามกัน ทำงานด้วยแนวทางที่ดีมาโดยตลอด อย่างไรก็ตาม ท่ามกลางสถานการณ์ทางการเมืองที่ต้องการความรัก ความสามัคคี จึงอยากให้ทุกคนช่วยกันนำพาประเทศให้สามารถเดินหน้าต่อไปได้”

 

‘บ้านป่ารอยต่อ’ หลังนี้เอง ที่ได้กลายเป็นศูนย์กลางของวงอำนาจประเทศไทย นับตั้งแต่ปี 2557 เป็นต้นมา 

 

ประยุทธ์ จันทร์โอชา

 

13 ปีในวงอำนาจประเทศไทย

 

เส้นทางชีวิตของ พล.อ. ประยุทธ์ ก่อนก้าวขึ้นเป็นผู้บัญชาการทหารบก จึงเป็นเส้นทางการเติบโตที่ถูกจัดวางมาอย่างดี เป็นผลจากความเกื้อกูล และการสนับสนุนจากผู้ใหญ่ในบ้านเมืองอย่างน้อย 3 คน เขาได้รับคำชื่นชมเป็นอย่างยิ่งจาก พล.อ. เปรม เขาได้รับความไว้วางใจและเป็นหนึ่งเดียวอย่างยิ่งจาก พล.อ. ประวิตร และ พล.อ. อนุพงษ์ 

 

4 ปีหลังจากมีการเปิดประเด็นว่า พล.อ. ประยุทธ์คือหัวหน้าคณะรัฐประหารคนต่อไป เขาก่อการรัฐประหารเพื่อยึดอำนาจจากรัฐบาลยิ่งลักษณ์ในวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 และได้มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรี ในวันที่ 24 สิงหาคม 2557 

 

เมื่อก้าวขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรี พล.อ. ประยุทธ์นำพี่ใหญ่ 2 ป. กลับสู่วงอำนาจประเทศไทยอย่างเป็นทางการอีกครั้ง จัดวาง พล.อ. ประวิตรในตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม จัดวาง พล.อ. อนุพงษ์ในตำแหน่ง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย 

 

จากผู้บัญชาการทหารบกในปี 2553 ก้าวขึ้นเป็นหัวคณะรัฐประหารในปี 2557 พร้อมก้าวขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรีถึง 2 สมัย นับตั้งแต่ปี 2557 จนถึงปัจจุบัน นับรวมเป็นระยะเวลา 8 ปี 170 วัน ยาวนานกว่าที่ พล.อ. เปรม ติณสูลานนท์ ประธานองคมนตรีและรัฐบุรุษ ได้สร้างสถิติไว้ ทั้งประกาศลงชิงเป็นนายกรัฐมนตรีสมัยที่ 3 ท่ามกลางกระแสข่าวว่า ความสัมพันธ์ 3 ป. ไม่ได้เป็นหนึ่งเดียวดังเดิม

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

X
Close Advertising