วันที่ 5 มิถุนายน พ.ศ. 2562 เป็นวันที่ประวัติศาสตร์การเมืองไทยต้องจารึกไว้ เมื่อมีการนัดประชุมร่วมกันของรัฐสภา (ส.ส. และ ส.ว.) เพื่อโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีอย่างเป็นทางการ โดยผลปรากฏว่า ที่ประชุมรัฐสภาได้โหวตเลือก พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา ให้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีต่ออีกสมัย หลังจากครองเก้าอี้มาแล้วเป็นเวลา 5 ปีเต็ม
พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา ปัจจุบันอายุ 65 ปี ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีคนที่ 29 ของประเทศไทย เป็นแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีเพียงหนึ่งเดียวจากพรรคพลังประชารัฐ
พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา เกิดเมื่อวันที่ 21 มีนาคม พ.ศ. 2497 ที่จังหวัดนครราชสีมา ชื่อเล่นชื่อ ตู่ เป็นบุตรชายคนโตจากพี่น้องทั้งหมด 4 คน มีบิดาชื่อ พ.อ. ประพัฒน์ จันทร์โอชา ส่วนมารดาชื่อ เข็มเพชร จันทร์โอชา มีคู่สมรสคือ รศ.นราพร จันทร์โอชา และมีบุตรสาวฝาแฝดด้วยกัน 2 คนคือ ธัญญา จันทร์โอชา และ นิฏฐา จันทร์โอชา
ประวัติด้านการศึกษา
– มัธยมศึกษาปีที่ 3 โรงเรียนวัดนวลนรดิศ
– โรงเรียนเตรียมทหาร รุ่น 12
– โรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า (จปร.) รุ่น 23 เหล่าราบ
– หลักสูตรชั้นนายร้อย รุ่นที่ 51
– หลักสูตรชั้นนายพัน รุ่นที่ 34
– หลักสูตรเสนาธิการทหารบก ชุดที่ 63
– หลักสูตรวิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักรภาครัฐร่วมเอกชน รุ่นที่ 20
ทั้งนี้ ข้อมูลจากคอลัมน์ ‘เรียนดี’ นิตยสาร ชัยพฤกษ์ ของสำนักพิมพ์วัฒนาพานิช เมื่อปี 2512 มีการกล่าวถึง พล.อ. ประยุทธ์ ในวัยเด็ก พร้อมระบุว่า “ด.ช.ประยุทธ์ เป็นนักเรียนที่ใช้เวลาหมดไปกับหนังสือ ในวันหยุดจะไม่มีใครเห็นเขาวิ่งเล่นเช่นเด็กรุ่นเดียวกัน
“ในวันธรรมดา เขาใช้เวลาทบทวนวิชาเรียนตอนหลังอาหารเย็นไปจนถึงสี่ทุ่ม จึงจะเข้านอน วิชาที่ ด.ช.ประยุทธ์ ถนัดเป็นพิเศษ ได้แก่ คณิตศาสตร์ อังกฤษ และวิทยาศาสตร์”
ประวัติการรับราชการทหาร
– เริ่มต้นรับราชการครั้งแรกที่กรมทหารราบที่ 21 รักษาพระองค์ ค่ายนวมินทราชินี จังหวัดชลบุรี
– ผู้บังคับการกรมทหารราบที่ 21 รักษาพระองค์
– ผู้บัญชาการกองพลทหารราบที่ 2 รักษาพระองค์
– แม่ทัพภาคที่ 1
– รัชกาลที่ 9 มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งเป็นนายทหารราชองครักษ์พิเศษ
– เสนาธิการทหารบก
– รองผู้บัญชาการทหารบก
– ผู้บัญชาการทหารบก (เป็นตำแหน่งที่ดำรงมาถึงปัจจุบัน)
บทบาทสำคัญสู่เวทีการเมืองและที่มาตำแหน่งนายกฯ คนที่ 29 ของไทย
หลังจากวันที่ 20 พฤษภาคม พ.ศ. 2557 พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้ประกาศกฎอัยการศึกทั่วราชอาณาจักร ภายหลังการหารือของผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับความวุ่นวายทางการเมือง 7 ฝ่าย ไม่เป็นผลสำเร็จ ก่อนที่จะเกิดเหตุการณ์รัฐประหารในวันที่ 22 พฤษภาคม พ.ศ. 2557 พร้อมประโยคที่ว่า “หากเป็นแบบนี้ ผมขอโทษด้วยนะที่ต้องยึดอำนาจ”
ทั้งนี้ ข้อมูลจากหนังสือ ประชารัฐสร้างชาติ หน้า 43 ได้เผยคำพูดของ พล.อ. ประยุทธ์ ต่อการตัดสินใจเข้ายึดอำนาจจากเหตุการณ์ดังกล่าวว่า “เป็นการตัดสินใจยากที่สุดในชีวิต ผมใช้เวลากว่า 6 เดือน ครุ่นคิดก่อนตัดสินใจ ไม่ใช่ว่าคิดไว้ล่วงหน้าแล้ว ผมไม่สามารถปล่อยให้บ้านเมืองเสียหายมากกว่านี้ ขณะที่ผมตัดสินใจยึดอำนาจ มีผู้เสียชีวิตมากเกินไปแล้ว ผมพยายามทำอย่างสุดความสามารถที่จะแก้ปัญหา” พล.อ. ประยุทธ์ กล่าวเมื่อวันที่ 1 มิถุนายน พ.ศ. 2561
อย่างไรก็ตาม หลังจากเกิดรัฐประหารได้ 3 เดือน และเหตุการบ้านเมืองเริ่มกลับสู่ความสงบอีกครั้ง ในวันที่ 21 สิงหาคม พ.ศ. 2557 ที่ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) มีมติการโหวตเป็นเอกฉันท์ ด้วยคะแนนเสียง 191 จาก 194 เสียง โหวตยกให้ พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรีคนที่ 29 ของประเทศไทย ก่อนจะมีพิธีรับสนองพระบรมราชโองการแต่งตั้งในวันที่ 25 สิงหาคม พ.ศ. 2557 อย่างเป็นทางการ และยังคงดำรงตำแหน่งมาถึงปัจจุบันเป็นเวลาราว 4 ปีกว่าๆ
รวม 10 ผลงานเพลงจากปลายปากกาของ ‘ลุงตู่’
นอกจากผลงานทางการเมืองที่ปฏิบัติอย่างเข้มข้นมาตลอดเวลาร่วม 5 ปีที่ผ่านมา พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา หรือลุงตู่ ยังได้ใช้เวลาที่ว่างเว้นจากการปฏิบัติหน้าที่ทางการเมืองในการประพันธ์ผลงานเพลงมากกว่า 9 บทเพลง ดังนี้
- พ.ศ. 2557 คืนความสุขให้ประเทศไทย
- พ.ศ. 2558 เพราะเธอคือ…ประเทศไทย
- พ.ศ. 2559 ความหวังความศรัทธา
- พ.ศ. 2560 สะพาน
- พ.ศ. 2561 ใจเพชร
- พ.ศ. 2561 สู้เพื่อแผ่นดิน
- พ.ศ. 2562 ในความทรงจำ
- พ.ศ. 2562 วันใหม่
- พ.ศ. 2562 มิตรภาพ
- พ.ศ. 2562 มาร์ชไทยคือไทย
8 หนังสือน่าอ่าน แนะนำโดย พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา
สำหรับ พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นับว่าเป็นหนึ่งในนายกรัฐมนตรีที่รักการอ่านมากที่สุดคนหนึ่ง โดย พล.อ. ประยุทธ์ เคยเผยต่อสื่อมวลชนขณะประชุมคณะรัฐมนตรีนอกสถานที่ หรือ ครม. สัญจร เมื่อวันที่ 23 กรกฎาคม พ.ศ. 2561 ว่าตนเองอ่านหนังสือมากที่สุดถึง 800 บรรทัดต่อวัน
โดยตลอดระยะของการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา เคยได้แนะนำหนังสือน่าอ่านต่อประชาชนแล้วทั้งสิ้นจำนวน 8 เล่ม ดังนี้
1. พ.ศ. 2559 The Governance of China
2. พ.ศ. 2560 พูดอย่างไรไม่ให้พัง (Crucial Conversations)
3. พ.ศ. 2560 เปลี่ยนวิธีคิด ชีวิตเปลี่ยน (Influencer: The New Science of Leading Change)
4. พ.ศ. 2560 ชีวิตของประเทศ
5. พ.ศ. 2560 พลานุภาพแห่งความไว้วางใจ (The Speed of Trust)
6. พ.ศ. 2561 จินดามณี
7. พ.ศ. 2562 ชนะสิบทิศ: การบริหารท้องถิ่นสู่ความเป็นเลิศ
8. พ.ศ. 2562 Animal Farm ฉบับภาษาไทย
พิสูจน์อักษร: ภาวิกา ขันติศรีสกุล