×

รัฐบาลประยุทธ์ 1 อนุมัติลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน 1.47 ล้านล้านบาท

11.07.2019
  • LOADING...
รัฐบาลประยุทธ์ 1

การลงทุนโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมของรัฐบาลประยุทธ์ 1 ขับเคลื่อนโครงการตามแผนยุทธศาสตร์โครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งของประเทศ (พ.ศ. 2558-2565) วงเงิน 3 ล้านล้านบาท โดยเป็นการนำโครงการใน พ.ร.บ. เงินกู้ 2 ล้านล้านบาทของรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร มาปรับปรุงเพิ่มเติม

 

รัฐบาลประยุทธ์ 1

 

ทีดีอาร์ไอชี้ รัฐบาลประยุทธ์ 1 มีอำนาจเต็ม โครงการผ่านฉลุย

ดร.สุเมธ องกิตติกุล ผู้อำนวยการวิจัยด้านนโยบายขนส่งและโลจิสติสก์ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) กล่าวว่า ความสำเร็จของรัฐบาลประยุทธ์คือสามารถอนุมัติโครงการลงทุนขนาดใหญ่ๆ ได้จำนวนมาก โดยเฉพาะการลงทุนในระบบราง ซึ่งเป็นผลจากเสถียรภาพของรัฐบาลที่มีอำนาจเต็ม

 

สำหรับโครงการรถไฟทางคู่ของการรถไฟแห่งประเทศไทยได้อนุมัติไปแล้วหลายช่วง ซึ่งจะทำให้ระบบรถไฟระหว่างเมือง ซึ่งแต่เดิมเป็นทางเดี่ยว มีความจุและมีคุณภาพบริการที่ดีขึ้นในอนาคต และคาดว่าจะทำให้เกิดการลงทุนในการก่อสร้างในระบบกว่า 2 แสนล้านบาทต่อปีต่อเนื่องไปตลอด 3-4 ปีข้างหน้า

 

ขณะที่โครงการรถไฟฟ้าในเขตกรุงเทพฯ ซึ่งได้อนุมัติไปแล้ว 5 เส้นทาง เพิ่มเติมจากเส้นทางเดิมที่มีการก่อสร้างอยู่แล้ว ซึ่งจะมีผลให้สามารถเปิดรถไฟฟ้าสายใหม่ๆ อย่างน้อยปีละ 1 เส้นทาง ตั้งแต่ปีนี้เป็นต้นไปต่อเนื่องไปอีกหลายปี

 

มองรถไฟความเร็วสูงอาจมีหลายระบบ แต่ละเส้นใช้ด้วยกันไม่ได้

อย่างไรก็ตาม ดร.สุเมธ ตั้งข้อสังเกตว่า การให้เอกชนมาร่วมลงทุนรถไฟฟ้าในเมือง ซึ่งแม้จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการบริหารจัดการ และลดภาระงบประมาณของภาครัฐ แต่ก็ทำให้อัตราค่าโดยสารอยู่ในระดับสูง ซึ่งไม่จูงใจให้ผู้โดยสารใช้บริการเท่าที่ควร โดยเฉพาะเมื่อต้องเดินทางด้วยรถไฟฟ้าหลายสายต่อเนื่องกัน

 

ส่วนโครงการก่อสร้างรถไฟความเร็วสูง (ไทย-จีน) กรุงเทพฯ-นครราชสีมา และโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบินในอนาคต ขาดการวางแผนด้านการใช้เทคโนโลยี ทำให้ระบบรถไฟความเร็วสูงทั้ง 2 เส้นทาง รวมถึงเส้นทางอื่นๆ ที่จะเกิดขึ้นในอนาคตมีหลายระบบผสมกัน ซึ่งจะไม่เกิดการประหยัดจากขนาด (Economy of Scale) จากการใช้อะไหล่และการซ่อมบำรุงร่วมกัน

 

กรุงเทพฯ-โคราช โครงการทับซ้อน มีทั้งทางด่วน-รถไฟไฮสปีด

สุรเชษฐ์ ประวีณวงศ์วุฒิ ส.ส. บัญชีรายชื่อพรรคอนาคตใหม่ ในฐานะฝ่ายนโยบายด้านคมนาคมของพรรค ตั้งข้อสังเกตถึงโครงการรถไฟความเร็วสูงเส้นทางกรุงเทพฯ-นครราชสีมา มูลค่ากว่า 180,000 ล้านบาท เป็นโครงการที่ขัดกับตรรกะของการพัฒนาเป็นอย่างมาก 

 

เพราะเส้นทางดังกล่าวแม้มีความสำคัญจริง แต่การอนุมัติทั้งรถไฟทางคู่ มอเตอร์เวย์ และรถไฟความเร็วสูงอัดเข้าไปพร้อมๆ กันในพื้นที่เดียว จะเป็นการเพิ่ม Capacity ให้กับระบบอย่างซ้ำซ้อน แทนที่จะกระจายออกไปในทางอื่นๆ หรือปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานในเมือง หรือระบบขนส่งในด้านอื่นๆ ให้เพียงพอก่อน เช่น รถไฟทางคู่ หรือระบบรถเมล์ในเมืองโคราช ก่อนที่จะยกระดับสร้างรถไฟความเร็วสูงมารองรับผู้ที่มีรายได้สูงกว่า กลับมีการสร้างหลายโครงการพร้อมกันมาแย่งดีมานด์กันเองในเส้นทางเดียวกัน

 

เพราะฉะนั้นรถไฟความเร็วสูงเส้นทางนี้จะถูกใช้น้อยกว่าระบบอื่น และรัฐต้องเอางบประมาณไปสนับสนุนทุกปี โดยคาดว่าโครงการนี้จะขาดทุนยิ่งกว่ารถไฟฟ้าสายสีม่วงด้วยซ้ำ ที่สำคัญมีการไปประเคนโครงการนี้ให้จีนโดยไม่มีการประมูล เป็นการล็อกสเปกไปแล้วว่าจะต้องใช้ระบบการเดินรถจากประเทศจีนเท่านั้น

 

สุรเชษฐ์ระบุอีกว่า แม้โครงการนี้จะเบรกไม่ทันแล้ว แต่เราต้องไม่ผิดซ้ำสอง แผนแม่บทและการบูรณาการระหว่างหน่วยงานควรต้องได้รับการแก้ไข หลายโครงการขาดตรรกะ ใช้งบประมาณซ้ำซ้อนอย่างไม่คุ้มค่า เราไม่ได้ขัดขวางการพัฒนา แต่เราเห็นว่าการพัฒนาควรเป็นไปอย่างเป็นขั้นเป็นตอน

 

รัฐบาลประยุทธ์ 1

รัฐบาลประยุทธ์ 1

รัฐบาลประยุทธ์ 1

 

รัฐบาลประยุทธ์ 1 อนุมัติลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน 1.47 ล้านล้านบาท

สำหรับรัฐบาลประยุทธ์ 1 ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา อนุมัติโครงการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานไปแล้ว โดยมีมูลค่ารวมกว่า 1.47 ล้านบาท

 

แบ่งเป็นรถไฟฟ้าสายสีต่างๆ ในกรุงเทพฯ 9 โครงการ  411,861.97 ล้านบาท

 

รถไฟทางคู่ ขยายแอร์พอร์ต เรล ลิงก์ และรถไฟความเร็วสูง กรุงเทพฯ-นครราชสีมา 692,527.59 ล้านบาท

 

มอเตอร์เวย์ 3 โครงการ และขยายถนน 4 เลน รวม 224,149.47 ล้านบาท

 

พัฒนาท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ 100,048 ล้านบาท

 

รวม 1,473,406.03 ล้านบาท

 

เมกะโปรเจกต์ตกค้าง อาจอนุมัติไม่ง่ายดายเหมือนก่อน

ขณะที่โครงการระดับเมกะโปรเจกต์ที่ตกค้างรอการพิจารณาในรัฐบาลประยุทธ์ 2 อีก 6 โครงการ อาทิ

 

  • โครงการรถไฟความเร็วสูง 2.7 แสนล้านบาท ซึ่งอยู่ระหว่างการเซ็นสัญญากับบริษัทซีพี
  • โครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภา และเมืองการบินตะวันออก 2.9 แสนล้านบาท
  • จัดซื้อเครื่องบินการบินไทย 38 ลำ 1.5 แสนล้านบาท
  • รวมถึงการต่อสัญญาสัมปทานทางด่วนกับบริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (BEM) มูลค่า 424,756 ล้านบาท ออกไปอีก 30 ปี

 

โครงการระดับเมกะโปรเจกต์เหล่านี้คงไม่สามารถผ่านการอนุมัติไปได้อย่างง่ายดายเหมือนในอดีต เพราะต้องผ่านกลไกการตรวจสอบของรัฐสภา ซึ่งล่าสุดได้มีการยื่นญัตติด่วนเพื่อขอให้สภาฯ ตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษากรณีการต่อสัญญาสัมปทานทางด่วนกับ BEM ซึ่งพรรคฝ่ายค้านมองว่าเป็นการต่อสัญญาที่เอื้อต่อทุนใหญ่ โดยที่รัฐและประชาชนไม่ได้ประโยชน์ใดๆ

 

ภาพประกอบ: Karin Foxx

พิสูจน์อักษร: พรนภัส ชำนาญค้า

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising