×

เปิดเอกสารประยุทธ์ แจงปมวาระ 8 ปีนายกฯ ระบุการดำรงตำแหน่งขาดตอน ต้องเริ่มนับตั้งแต่รัฐธรรมนูญปี 60 บังคับใช้

โดย THE STANDARD TEAM
07.09.2022
  • LOADING...
ประยุทธ์ จันทร์โอชา

วันนี้ (7 กันยายน) ได้มีการเผยแพร่เอกสารในโลกออนไลน์ อ้างว่าเป็นเอกสารชี้แจงข้อกล่าวหาของ พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ที่ส่งถึงศาลรัฐธรรมนูญ กรณีพิจารณาคำร้องวาระ 8 ปีนายกรัฐมนตรี โดยเอกสารดังกล่าวมีทั้งสิ้น 23 หน้า ชี้แจงรายละเอียดเป็นข้อๆ ทั้งสิ้น 8 ข้อ โดยสรุปดังนี้

 

  1. ยืนยันว่าการนับระยะเวลาการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี 8 ปี จากปี 2557 นั้นไม่ถูกต้อง เนื่องจากตนเป็นนายกรัฐมนตรี 2 ครั้ง ครั้งแรกดำรงตำแหน่งตามรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวปี 2557 ด้วย ซึ่งต่อมาเมื่อรัฐธรรมนูญปี 2560 บังคับใช้ ตนก็ยังคงดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีอยู่ ตามบทเฉพาะกาลของรัฐธรรมนูญปี 2560 จนมีการเลือกตั้งและได้รับเลือกเป็นนายกรัฐมนตรีครั้งที่ 2 มาจนถึงปัจจุบัน ซึ่งผู้ร้องไม่อาจนำระยะเวลาการเป็นนายกรัฐมนตรีครั้งแรกมานับรวมได้ เพราะรัฐธรรมนูญชั่วคราวปี 2557 สิ้นผลบังคับใช้ไปแล้ว ตั้งแต่วันที่รัฐธรรมนูญปี 2560 บังคับใช้ 

 

และการประกาศใช้รัฐธรรมนูญปี 2560 ทำให้ความเป็นนายกรัฐมนตรีของตนตามพระบรมราชโองการ เมื่อวันที่ 24 สิงหาคม 2557 เป็นอันสิ้นสุดลงนับตั้งแต่วันที่ 6 เมษายน 2560 ด้วยเช่นกัน การสิ้นสุดดังกล่าวส่งผลให้ความเป็นนายกรัฐมนตรีของตนครั้งแรกจึงขาดตอน จากวันที่รัฐธรรมนูญปี 2560 บังคับใช้ คือวันที่ 6 เมษายน 2560 จึงไม่อาจนับรวมระยะเวลาการเป็นนายกรัฐมนตรีครั้งแรก กับการเป็นนายกรัฐมนตรีหลังรัฐธรรมนูญบังคับใช้ได้

 

ส่วนการดำรงตำแหน่งตั้งแต่วันที่ 6 เมษายน 2560 หลังรัฐธรรมนูญบังคับใช้นั้น เป็นการดำรงตำแหน่งตามบทเฉพาะกาลของรัฐธรรมนูญ จนกว่าจะมีคณะรัฐมนตรีที่ตั้งขึ้นใหม่หลังการเลือกตั้งในปี 2562 ดังนั้น การเป็นนายกรัฐมนตรีหลังรัฐธรรมนูญบังคับใช้จึงเป็นการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีใหม่ตามบทเฉพาะกาล และได้ขาดตอนจากการเป็นนายกรัฐมนตรีครั้งแรกไปแล้ว

 

  1. การกำหนดระยะเวลา 8 ปีตามรัฐธรรมนูญปี 2560 มาตรา 158 (4) เป็นการกำจัดสิทธิทางกฎหมาย ซึ่งรัฐธรรมนูญไม่ได้บัญญัติโดยชัดแจ้งว่า หมายรวมถึงความเป็นนายกรัฐมนตรีตามรัฐธรรมนูญอื่น และโดยหลักตีความทางกฎหมายแล้ว หากรัฐธรรมนูญไม่ได้บัญญัติไว้ชัดเจน จะตีความในทางจำกัดสิทธิบุคคลไม่ได้ ซึ่งตรงกับแนวทางของคณะกรรมการกฤษฎีกา คณะพิเศษ ที่ตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 17 มกราคม 2565 มาเพื่อพิจารณากรณีวาระ 8 ปี การดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ประกอบด้วยคณะกรรมการกฤษฎีกาที่มีตำแหน่งเป็นกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ 7 คน ได้แก่  

 

  • มีชัย ฤชุพันธุ์ 
  • นรชิต สิงหเสนี 
  • ธิติพันธุ์ เชื้อบุญชัย  
  • ประพันธ์ นัยโกวิท
  • ปกรณ์ นิลประพันธ์ 
  • อัชพร จารุจินดา
  • อุดม รัฐอมฤต

 

โดยคณะกรรมการกฤษฎีกาทั้ง 7 คนเห็นว่า บทบัญญัติกำหนดวาระ 8 ปี ดังกล่าว หมายถึงนายกรัฐมนตรีตามรัฐธรรมนูญปี 2560 เท่านั้น

 

  1. ศาลรัฐธรรมนูญเคยมีคำวินิจฉัยถึงสถานะความเป็นรัฐมนตรีเมื่อปี 2562 และ 2561 เกี่ยวกับความเป็นรัฐมนตรีว่า คณะรัฐมนตรีที่อยู่ก่อนรัฐธรรมนูญปี 2560 บังคับใช้ ถือเป็นรัฐมนตรีนับจากวันที่รัฐธรรมนูญปี 2560 ประกาศใช้ และต้องอยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญปี 2560 

 

  1. ยืนยันว่าการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของตนไม่ขัดกับหลักมาตรฐานสากล และเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ เพราะการจำกัดระยะเวลาการดำรงตำแหน่งของผู้นำประเทศตามมาตรฐานสากล เป็นส่วนหนึ่งของหลักนิติธรรม ไม่ปล่อยให้ผู้มีอำนาจอยู่แบบเบ็ดเสร็จเด็ดขาดยาวนานเกินไป ไม่ปล่อยให้คนทุจริตมีอำนาจทำการทุจริตได้อย่างไม่มีข้อจำกัด และข้อกำหนดนี้มิใช่ทำเพื่อบุคคลใดบุคคลหนึ่ง 

 

ทั้งนี้ เอกสารดังกล่าวยังระบุคำชี้แจงของ พล.อ. ประยุทธ์ว่า “ข้าพเจ้าสำนึกและปฏิบัติหน้าที่นายกรัฐมนตรีตลอดมาด้วยความซื่อสัตย์ สุจริต และด้วยความจงรักภักดี ด้วยสำนึกในหน้าที่และประโยชน์ของประเทศชาติและประชาชนสูงสุดเหนือสิ่งอื่นใด ข้าพเจ้าเชื่อว่า สำนึกในการปฏิบัติหน้าที่และดำรงไว้ซึ่งการปกครองในระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข อํานาจอธิปไตยของปวงชนชาวไทย อันเป็นหลักการและเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญทุกฉบับ ไม่ใช่เฉพาะแต่ฉบับปี 2560”

 

นอกจากนี้ยังระบุด้วยว่า “ข้าพเจ้าจะดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีเป็นระยะเวลาเท่าไร ตราบใดที่ข้าพเจ้าไม่ได้ประพฤติปฏิบัติตนในลักษณะที่เป็นเหตุให้เสียหายต่อประโยชน์ของประเทศ ประโยชน์สาธารณะของประชาชนแล้ว ระยะเวลาการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของข้าพเจ้าก็ไม่ได้ขัดต่อหลักมาตรฐานสากล และเจตนารมณ์ของบทบัญญัติตามรัฐธรรมนูญปี 2560 แต่อย่างใด

 

“ข้าพเจ้าเชื่อโดยสุจริต บนพื้นฐานของหลักกฎหมาย หลักนิติธรรม และมาตรฐานสากลว่า การดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของข้าพเจ้าในปัจจุบันยังไม่เกิน 8 ปี ตามที่รัฐธรรมนูญกำหนด เพราะไม่อาจนำระยะเวลาการเป็นนายกรัฐมนตรีครั้งแรกตามรัฐธรรมนูญปี 2557 ซึ่งสิ้นสุดลงไปแล้ว มานับรวมกับนายกรัฐมนตรีหลังรัฐธรรมนูญปี 2560 บังคับใช้ได้”

 

  1. บันทึกการประชุมของกรรมการร่างรัฐธรรมนูญครั้งที่ 500 เมื่อปี 2561 ที่ระบุความเห็นของ มีชัย ฤชุพันธ์ ประธานกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ ว่า สามารถนับรวมระยะเวลาก่อนรัฐธรรมนูญปี 2560 ได้นั้น พบว่าเอกสารดังกล่าวไม่ใช่บันทึกเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ เป็นเพียงบทสนทนาของมีชัยกับ สุพจน์ ไข่มุกด์ เท่านั้น 

 

  1. ข้ออ้างที่ระบุว่าข้าพเจ้าไม่เปิดเผยบัญชีทรัพย์สินและหนี้สิน โดยใช้สิทธิตามกฎหมาย ป.ป.ช. ว่าเป็นนายกรัฐมนตรีมาต่อเนื่องนั้น ไม่สามารถนำมาพิจารณาเป็นเรื่องเดียวกันได้ 

 

  1. ศาลรัฐธรรมนูญต้องตีความและใช้รัฐธรรมนูญวินิจฉัยคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามตามกฎหมาย ไม่ใช่ตามข้อเท็จจริงรับรู้โดยทั่วไปของประชาชน เพื่อคุ้มครองประโยชน์สาธารณะหรือเพื่อประโยชน์ของประเทศชาติเป็นสำคัญ เพราะการรับฟังข้อเท็จจริงที่รู้กันโดยทั่วไป เป็นหลักที่ใช้ในการฟังพยานหลักฐานของศาลเท่านั้น ไม่ใช่หลักกฎหมายที่ใช้ในการตีความกฎหมาย

 

  1. ขอกล่าวโดยสรุปว่า การกล่าวหาว่าตนดำรงตำแหน่งมาครบ 8 ปี ในวันที่ 24 สิงหาคม 2565 เกิดจากความเข้าใจที่ไม่ถูกต้องในข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายของผู้ร้อง และขอย้ำว่าการนับระยะเวลาการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ไม่อาจนับจากการเป็นนายกรัฐมนตรีครั้งแรกเมื่อปี 2557 ได้ เพราะความเป็นนายกรัฐมนตรีครั้งแรกของข้าพเจ้าได้สิ้นสุดลงและขาดตอนไปแล้ว นับจากวันที่ 6 เมษายน 2560 ซึ่งเป็นวันที่รัฐธรรมนูญปี 2560 ประกาศใช้ และการกำหนดระยะเวลาการดำรงตำแหน่งนายกไม่เกิน 8 ปีนั้น หมายถึงการดำรงตำแหน่งตามรัฐธรรมนูญปี 2560 เท่านั้น ไม่ได้หมายรวมถึงการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีตามรัฐธรรมนูญอื่น

 

ดังนั้น ข้อกล่าวหาของผู้ร้องยังไม่ถูกต้องตามหลักกฎหมายและเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ และตามหลักนิติธรรม จึงขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า การดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของข้าพเจ้ายังไม่สิ้นสุดลงตามรัฐธรรมนูญปี 2560 และตามข้อกล่าวหาของผู้ร้อง ขอยื่นแก้ข้อกล่าวหา

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X