พล.อ. ประวิตร วงษ์สุวรรณ (ป้อม) เกิดเมื่อวันที่ 11 สิงหาคม 2488 เป็นบุตรของ พล.ต. ประเสริฐ วงษ์สุวรรณ และ นางสายสนี วงษ์สุวรรณ
มีพี่น้องร่วมกัน 5 คน ได้แก่
พล.อ. ประวิตร วงษ์สุวรรณ
พล.ร.อ. ศิษฐวัชร วงษ์สุวรรณ
พล.ต.อ. พัชรวาท วงษ์สุวรรณ
นายพงษ์พันธุ์ วงษ์สุวรรณ
นายพันธุ์พงษ์ วงษ์สุวรรณ
พล.อ. ประวิตร เข้าเรียนมัธยมที่โรงเรียนเซนต์คาเบรียล เป็นเพื่อนร่วมรุ่นกับ พล.อ. สนธิ บุญยรัตกลิน, ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล และ นายปัฐวาท สุขศรีวงศ์ นักธุรกิจเจ้าสัวคอม-ลิงค์ (เจ้าของนาฬิกาหรู)
เป็นที่มาของฉายา ‘เซนต์คาเบรียลคอนเน็กชัน’ โดยในยุค ครม. ประยุทธ์ 1 สื่อมวลชนตั้งข้อสังเกตว่ามีเซนต์คาเบรียลคอนเน็กชันเรียงแถวนั่งเก้าอี้สำคัญกันหลายท่าน เช่น ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล อดีตรองนายกรัฐมนตรี, ศ.ดร.ยงยุทธ ยุทธวงศ์ ที่ปรึกษา คสช., นายกล้านรงค์ จันทิก สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) รวมถึง นายอำพน กิตติอำพน อดีตเลขาธิการคณะรัฐมนตรี
จากรั้วเซนต์คาเบรียล พล.อ. ประวิตร ก้าวเข้าสู่รั้วเตรียมทหาร (ตท.6) พร้อมกับ พล.อ. สนธิ โดย (นตท.) ประวิตร เป็นนักเรียนที่โดดเด่นของรุ่น ได้รับความไว้วางใจเป็นหัวหน้าหมวดที่เพื่อนๆ และรุ่นน้องเคารพรัก
จากเตรียมทหารเข้าสู่โรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า รุ่นที่ 17 (จปร.17) โดย จปร.17 เรียกตัวเองว่า ‘รุ่นฝนแรก’ เนื่องจากเป็นรุ่นที่ถูกซ่อมครั้งแรกตอนฝนตก และช่วงฝึกภาคสนามเดือนเมษายนฝนก็ตกลงมาอีกทั้งที่ไม่ใช่ฤดูฝน ประกอบกับภาพยนตร์ชื่อดังในเวลานั้นมีชื่อเรื่องว่า ฝนแรก
พล.อ. ประวิตร เป็นนายทหารดาวรุ่งในกองทัพบกยุคนั้น โดยช่วงปี 2524 เขาเติบโตในกรมทหารราบที่ 2 รักษาพระองค์ จนเป็นผู้บังคับการ และว่ากันว่าช่วงนี้เองที่ พล.อ. ประวิตร มีโอกาสใกล้ชิดสนิทสนมกับ นายเสนาะ เทียนทอง เจ้าพ่อการเมืองสระแก้ว
พล.อ. ประวิตร เป็นดาวรุ่งพุ่งแรงของกองทัพบกที่เติบโตมาตามไลน์ แต่ต้องมาเสียจังหวะในยุคศิษย์เก่าเซนต์คาเบรียลที่ พล.อ. สุรยุทธ์ จุลานนท์ เป็นผู้บัญชาการทหารบก (ผบ.ทบ.) โดยถูกย้ายไปดองในตำแหน่งผู้ทรงคุณวุฒิและผู้ช่วยเสนาธิการทหารบก
อย่างไรก็ตาม ต่อมาในยุค พล.อ. สมทัต อัตตะนันทน์ เป็น ผบ.ทบ. (ศิษย์เก่าเซนต์คาเบรียล) พล.อ. ประวิตร ก็โดดมาเข้าไลน์ 5 เสือ ทบ. ได้สำเร็จ โดยได้เป็นแม่ทัพภาคที่ 1 และผู้ช่วย ผบ.ทบ. ก่อนจะผงาดขึ้นเป็น ผบ.ทบ. ในยุครัฐบาลทักษิณ
การผงาดขึ้นสู่ตำแหน่ง ผบ.ทบ. ของ พล.อ. ประวิตร ได้สร้างประวัติศาสตร์เป็นนายทหารที่ดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการกองพลทหารราบที่ 2 รักษาพระองค์คนแรกที่ได้รับการแต่งตั้งเป็นผู้บัญชาการทหารบก
เปิดฉากตำนานบูรพาพยัคฆ์ ซึ่งเป็นฉายาของกรมทหารราบท่ี 2 รักษาพระองค์ จังหวัดปราจีนบุรี รวมถึงกรมทหารราบท่ี 12 รักษาพระองค์, กรมทหารราบท่ี 21 รักษาพระองค์ (ทหารเสือราชินี) และกรมทหารปืนใหญ่ท่ี 2 รักษาพระองค์ ซึ่งหน่วยทั้งหมดน้ีข้ึนตรงกับกองพลทหารราบท่ี 2 รักษาพระองค์ จึงถูกเรียกเหมารวมจากสื่อมวลชนว่าเป็น ‘บูรพาพยัคฆ์’
โดยหลัง พล.อ. ประวิตร เกษียณในตำแหน่ง ผบ.ทบ. แล้วก็มีนายทหารจากบูรพาพยัคฆ์ก้าวขึ้นสู่ตำแหน่ง ผบ.ทบ. ถึง 3 คน คือ พล.อ. อนุพงษ์ เผ่าจินดา, พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา และ พล.อ. อุดมเดช สีตบุตร
ส่วน พล.อ. ประวิตร เข้าสู่เส้นทางการเมืองอย่างเป็นทางการในสมัยรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ โดยได้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เมื่อวันที่ 20 ธันวาคม 2551 ถึง 9 สิงหาคม 2554
เมื่อ พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา ทำการรัฐประหารเมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 พร้อมนั่งเก้าอี้นายกรัฐมนตรีบริหารประเทศ
พล.อ. ประวิตร จึงมีชื่อดำรงตำแหน่งทางการเมืองอีกครั้ง โดยเป็นทั้งรองหัวหน้า คสช., รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เช่นเดียวกับอดีต ผบ.ทบ. สายบูรพาพยัคฆ์ก็มีชื่ออยู่ในรัฐบาลประยุทธ์ ทั้ง พล.อ. อนุพงษ์ และ พล.อ. อุดมเดช ซึ่งรายหลังถูกแรงกดดันจากกรณีอุทยานราชภักดิ์จนถูกปรับออกจาก ครม.
ในเวลาต่อมา พล.อ. ประวิตร มีบทบาทสำคัญในการเป็นหัวเรือใหญ่คุมเกมทางการเมือง ก่อนเปลี่ยนผ่านสู่การเลือกตั้งใหญ่ในปี 2562 เป็นที่รู้กันดีว่า บ้านป่ารอยต่อฯ ล้วนได้ต้อนรับนักการเมืองหลากหลาย รวมถึงเป็นฐานบัญชาการในการแก้ปัญหาต่างๆ มาโดยตลอด
หลังเลือกตั้งปี 2562 พล.อ. ประยุทธ์ ได้เป็นนายกฯ ต่อ จากฐานการเมืองสำคัญที่เสนอชื่อให้นั่งนายกฯ คือพรรคพลังประชารัฐ โดยมีสมาชิกวุฒิสภาโหวตให้เป็นนายกฯ แบบเสียงไม่ตกหล่น เปิดศักราชเป็นนายกฯ คนที่ 29 สมัยที่สอง หลังสมัยแรกมาจากการโหวตโดยสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ หรือ สนช. เริ่มทำหน้าที่เมื่อ 24 สิงหาคม 2557
พล.อ. ประวิตร ยังคงเป็นพี่ใหญ่ ‘3 ป.’ ร่วมรัฐบาล พล.อ. ประยุทธ์ ต่อ โดยนั่งเก้าอี้รองนายกฯ ก่อนที่จะสไลด์ไปเปิดตัวทางการเมืองแบบยิ่งใหญ่ ด้วยการขยับขึ้นเป็นหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ มี ร.อ. ธรรมนัส พรหมเผ่า เป็นมือขวาคนสำคัญ
แม้จะมีข่าวว่าพี่น้อง ‘3 ป.’ ระหองระแหงกันอยู่บ้างตามที่ปรากฏหน้าสื่อ แต่ทุกครั้งก็มักมีภาพ 3 พี่น้องพบปะโชว์สัมพันธ์แน่นแฟ้นให้สื่อเห็นอยู่เสมอ
หลายครั้งที่เกิดคลื่นทางการเมืองที่กระทบไปถึง พล.อ. ประยุทธ์ มักจะเห็นพี่ใหญ่อย่าง พล.อ. ประวิตร เป็นคนออกโรงสยบปัญหาและนั่งหัวโต๊ะเคลียร์ให้จบเป็นประจำ
พล.อ. ประวิตร ได้รับความไว้วางใจจาก พล.อ. ประยุทธ์ ให้รักษาการนายกฯ ในช่วงที่ต้องไปปฏิบัติภารกิจต่างประเทศมาแล้ว แต่นั่นก็เป็นเสมือนการทำหน้าที่ตามลำดับชั้นการบังคับบัญชา
แต่ทว่าปี 2565 เมื่อมีปัญหาวาระการดำรงตำแหน่งนายกฯ ของ พล.อ. ประยุทธ์ ว่าครบ 8 ปี จะนับที่จุดเริ่มต้นไหนกันแน่ ก่อนที่วันนี้ (24 สิงหาคม) ศาลรัฐธรรมนูญจะมีมติเอกฉันท์สั่งรับคำร้องของฝ่ายค้านไว้พิจารณา ตามมาด้วยมีมติเสียงข้างมากให้หยุดปฏิบัติหน้าที่นายกฯ จนกว่าจะมีคำวินิจฉัย ส่งผลให้ พล.อ. ประวิตร ขยับขึ้นสูงทางการเมือง เข้ามานั่ง ‘รักษาการนายกฯ’ ที่ต้องบริหารงานแบบเต็มมือในห้วงที่ พล.อ. ประยุทธ์ ต้องรอการชี้ขาดจากศาล และแน่นอนว่าอำนาจของ พล.อ. ประวิตร มีเกือบจะเทียบเท่านายกฯ และยังเป็นหัวหน้าพรรคที่คุมเสียงฟากรัฐบาล
ทั้งหมดนี้คือประวัติชีวิตของ พล.อ. ประวิตร โดยสังเขป