×

‘บกพร่องโดยสุจริต’ ตำนานวลีดังการเมืองไทย ที่มาที่ไปจากการยื่นบัญชีทรัพย์สินเท็จ

06.12.2017
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

5 Mins. Read
  • แหวนและนาฬิกาหรูมูลค่าเกิน 200,000 บาท ของพลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ไม่ปรากฏในบัญชีทรัพย์สินที่เจ้าตัวยื่นต่อ ป.ป.ช. แม้เจ้าตัวจะบอกว่าเป็นของเก่า ไม่ใช่เพิ่งได้มา
  • กรณีนาฬิกาหรู ป.ป.ช. เคยดำเนินการตรวจสอบอดีตนายกฯ ยิ่งลักษณ์อย่างเข้มข้นมาแล้วโดยไม่ต้องรอให้มีกระแสข่าว แต่มาจากการสืบทราบของ ป.ป.ช. เอง
  • กรณียื่นบัญชีทรัพย์สินเท็จที่โด่งดังที่สุดคือ ‘คดีซุกหุ้นทักษิณ’ โดยตอนจบอดีตนายกฯ พ้นผิดพร้อมวลีดัง ‘บกพร่องโดยสุจริต’

ถือเป็นข่าวใหญ่ประเดิม ครม. ประยุทธ์ 5 เริ่มตั้งแต่วันแรกของการนัดถ่ายภาพหมู่ และวันประชุมคณะรัฐมนตรีชุดใหม่ครั้งแรก เมื่อวันที่ 4 ธันวาคมที่ผ่านมา

ตามธรรมเนียมที่คณะรัฐมนตรีจะต้องมายืนรอนายกรัฐมนตรีที่จุดถ่ายรูปท่ามกลางอากาศที่ร้อนและแสงแดดแยงตา ระหว่างนั้น ‘บิ๊กป้อม’ หรือพลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ยกมือขวาขึ้นปิดตาบังแสงแดดจ้า แหวนเพชรเม็ดงามกระทบแสงเป็นประกายระยิบระยับโดดเด่น เรียกเสียงหยอกล้อจากสื่อมวลชน


หลังถ่ายภาพเสร็จ คณะรัฐมนตรีต่างแยกย้ายเตรียมเข้าประชุม บิ๊กป้อมหน้าตาชื่นมื่นกับคำหยอกล้อ สื่อมวลชนหัวเราะครืน ทุกอย่างชื่นมื่น


การถ่ายภาพจบลงแล้ว แต่ ‘ภาพถ่าย’ เพิ่งเริ่มทำหน้าที่


เมื่อภาพถูกเผยแพร่ออกไป โลกออนไลน์มองเลยประกายแหวนเพชรไปเห็นของที่มีมูลค่าสูงกว่า


นาฬิกา Richard Mille นาฬิกาสวิสสุดหรูที่มักเห็นบนข้อมือของเซเลบระดับโลกก็ปรากฏอยู่บนข้อมือของรองนายกฯ บ้านเราอย่างไม่น้อยหน้า ราคาของ Richard Mille เริ่มต้นที่เฉียด 3 ล้านบาทไทยไปจนถึง 60 ล้านบาท ทำให้ชาวเน็ตสงสัยว่าท่านได้แต่ใดมา?

 

 

เมื่อตรวจสอบไปที่เอกสารบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินที่พลเอก ประวิตร ยื่นแสดงไว้ต่อคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เมื่อวันที่ 4 กันยายน 2557 ครั้งเข้ารับตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม กลับไม่ปรากฏเครื่องประดับใดๆ ไม่ว่าจะเป็นแหวนหรือนาฬิกา


ทั้งที่ตามกฎหมายนั้น หากมีทรัพย์สิน เช่น ทองคำ อัญมณี งาช้าง โบราณวัตถุ นาฬิกา รถโบราณ และอาวุธปืน มูลค่ารวมกันตั้งแต่ 200,000 บาทขึ้นไป ต้องถ่ายภาพสีพร้อมแสดงรายละเอียดและมูลค่าปัจจุบันของทรัพย์สินแต่ละรายการต่อ ป.ป.ช. เพื่อเปิดเผยให้สาธารณชนรับทราบ


ไฮไลต์สำคัญอยู่ตรงที่หากเพิ่งซื้อหรือได้มาหลังรับตำแหน่ง ยังไม่จำเป็นต้องยื่นแสดงก็ได้ แต่กฎหมายระบุให้ยื่นเมื่อพ้นตำแหน่งและหลังพ้นตำแหน่งไปแล้ว 1 ปี เพื่อตรวจสอบว่ามีทรัพย์สินเพิ่มขึ้นผิดปกติหรือไม่ ถ้าเพิ่มเติมเยอะก็ต้องชี้แจงให้ได้ว่าได้มาอย่างไร


ขณะที่พลเอก ประวิตร ตอบสื่อมวลชนเมื่อวันที่ 5 ธันวาคมที่ผ่านมาว่า ทั้งแหวนและนาฬิกาล้วนเป็นของเก่าเก็บ มีมานานแล้ว


คำถามที่เกิดขึ้นคือนานแค่ไหน นานก่อนวันรับตำแหน่งและยื่นบัญชีทรัพย์สินต่อ ป.ป.ช. เมื่อวันที่ 4 กันยายน 2557 หรือไม่?


วันต่อมา (6 ธ.ค.) พลเอก ประวิตร ก็ยังไม่ตอบคำถามนี้กับสังคม บอกเพียงว่าเดี๋ยวไปชี้แจงกับ ป.ป.ช. เอง!

 

 

ป.ป.ช. เคยลุยสอบ ‘ยิ่งลักษณ์’ ปมนาฬิกาหรู 2.5 ล้านบาท แต่ไม่โผล่ในบัญชีทรัพย์สิน

ตามกฎหมาย ป.ป.ช. สามารถตรวจสอบการถือครองทรัพย์สินของรัฐมนตรีได้ทันที หากสงสัย


ตัวอย่างที่เป็นรูปธรรมนั้นอ้างอิงจากสำนักข่าวอิศรา จะพบว่าเมื่อช่วงเดือนกุมภาพันธ์ 2557 คณะกรรมการ ป.ป.ช. ส่งหนังสือด่วนให้นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีในเวลานั้น มาชี้แจงเกี่ยวกับนาฬิกาข้อมือเรือนละ 2.5 ล้านบาท เนื่องจากสืบได้ว่านางสาวยิ่งลักษณ์เคยให้การต่อศาลฎีกาในการพิจารณาคดียึดทรัพย์ของพันตำรวจโท ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ว่าได้ให้เงินจำนวน 2.5 ล้านบาทแก่นางสาวพิณทองทา ชินวัตร หลานสาว ไปซื้อนาฬิกามาให้ แต่ในการแจ้งบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินต่อ ป.ป.ช. ช่วงรับตำแหน่งนายกรัฐมนตรี นางสาวยิ่งลักษณ์ระบุว่ามีนาฬิกาอยู่ในความครอบครองจำนวน 9 เรือน รวมมูลค่า 1.8 ล้านบาท ไม่ปรากฏนาฬิการาคาเรือนละ 2.5 ล้านบาทที่ว่านี้

 

โทษของการแจ้งบัญชีทรัพย์สินต่อ ป.ป.ช. ด้วยข้อมูลที่เป็นเท็จหรือไม่ครบสูงถึงขั้นถูกตัดสิทธิ์ทางการเมือง 5 ปี หากคณะกรรมการ ป.ป.ช. มีมติชี้มูลความผิดและส่งเรื่องให้ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองพิจารณา

 

 

ย้อนตำนานวลีดัง ‘บกพร่องโดยสุจริต’ กับคดีซุกหุ้นทักษิณ ภาค 1

สำนักข่าวอิศราเคยรวบรวมนักการเมืองและกรรมการรัฐวิสาหกิจที่ถูกศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองพิพากษาว่าจงใจซุกซ่อนบัญชีทรัพย์สินและยื่นทรัพย์สินอันเป็นเท็จตั้งแต่ช่วงปี 2555 ถึงวันที่ 24 มีนาคม 2560 เบ็ดเสร็จรวมกว่า 324 คดี ในจำนวนนี้มีกรณีแจ้งทรัพย์สินเท็จ 6 ราย


อย่างไรก็ตาม กรณีการยื่นบัญชีทรัพย์สินเท็จที่โด่งดังที่สุดของประวัติศาสตร์การเมืองไทยคือ ‘คดีทักษิณซุกหุ้น’ และเป็นที่มาของวลีดังการเมืองไทย ‘บกพร่องโดยสุจริต’


ทักษิณอาจไม่ใช่คนแรกที่ใช้คำนี้ แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่าคนไทยรู้จักคำนี้เพราะเขา เรื่องนี้ต้องย้อนตำนานคดีทักษิณซุกหุ้น ภาค 1 เมื่อปี 2544 ในเวลานั้นทักษิณถูก ป.ป.ช. ชี้มูลความผิดฐานจงใจยื่นบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินเป็นเท็จ จากกรณีซุกหุ้นไว้กับคนใช้และคนขับรถ คดีนี้ถูกส่งต่อไปให้ศาลรัฐธรรมนูญชี้ขาดตามมาตรา 295 ของรัฐธรรมนูญ ปี 2540 ซึ่งหากผิดจริง ทักษิณต้องหลุดจากเก้าอี้นายกฯ


คอลัมน์บทวิเคราะห์ของหนังสือพิมพ์ประชาชาติธุรกิจ ในเครือมติชน เคยวิเคราะห์ไว้ว่าพันตำรวจโท ทักษิณ ต่อสู้อย่างเต็มกำลัง ทั้งต่อสู้ทางกฎหมายที่ส่งมือกฎหมายชั้นนำและพยานเบิกความจำนวนมาก ขณะเดียวกันก็ใช้มวลชนต่อสู้นอกศาล ทำให้บรรยากาศวุ่นวายเป็นอย่างมาก


พันตำรวจโท ทักษิณ ใช้มวลชนร่วมกดดันศาลรัฐธรรมนูญ ทั้ง ส.ส. สมาชิกพรรคไทยรักไทย, ทหาร, ตำรวจ, เพื่อนนักเรียนเตรียมทหารรุ่นที่ 10, สื่อมวลชน, ชาวบ้าน รวมทั้งนักวิชาการและผู้นำทางความคิดออกมาเรียกร้องชี้นำให้ใช้หลักรัฐศาสตร์แทนหลักนิติศาสตร์ เช่น นายแพทย์เสม พริ้งพวงแก้ว, นายแพทย์ประเวศ วะสี ฯลฯ

 

ระหว่างการพิจารณาคดี ทักษิณให้การว่ามิได้จงใจยื่นบัญชีทรัพย์สินหนี้สินอันเป็นเท็จ แต่ผู้ช่วยหรือเลขานุการของตนเองเป็นผู้ดำเนินการแทน หากมีความผิดพลาดในการยื่นแสดงบัญชีทรัพย์สินหนี้สินที่ไม่ถูกต้องก็เป็นเพียงความบกพร่องของตนเอง โดยมิได้มีเจตนาทุจริตแต่อย่างใด สาเหตุเกิดขึ้นจากการ ‘บกพร่องโดยสุจริต’ ของตน ไม่ควรต้องถูกลงโทษตามรัฐธรรมนูญ

 

ในที่สุด ศาลรัฐธรรมนูญมีมติให้ทักษิณพ้นผิดด้วยคะแนนเสียง 8 ต่อ 7 ตามคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญที่ 20/2544 เมื่อวันที่ 3 สิงหาคม 2544

 

 

สื่อขุดภูมิหลัง ประธาน ป.ป.ช. ใกล้ชิดพลเอก ประวิตร

ตัดกลับมาที่กรณีของพลเอก ประวิตร ซึ่งควบตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมในรัฐบาลทหาร ขณะที่มีเสียงวิจารณ์การทำงานของ ป.ป.ช. ในยุครัฐบาลทหาร ซึ่งลดความตื่นตัวดุดันลงไปมากเมื่อเทียบกับรัฐบาลเลือกตั้งชุดที่ผ่านมา


นอกจากนี้ ประธาน ป.ป.ช. คนปัจจุบัน พลตำรวจเอก วัชรพล ประสารราชกิจ นั้นยังอาจมีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับพลเอก ประวิตร


โดยช่วงที่พลตำรวจเอก วัชรพล ได้รับการแต่งตั้งเป็นประธาน ป.ป.ช. ใหม่ๆ นั้น สื่อมวลชนหลายสำนักพร้อมใจกันขุดภูมิหลังของประธาน ป.ป.ช. เชื่อมโยงให้เห็นถึงความใกล้ชิดกับพลเอก ประวิตร ท่ามกลางกระแสข่าวว่าพลเอก ประวิตร ล็อบบี้ให้พลตำรวจเอก วัชรพล ได้เป็นประธาน ป.ป.ช. แม้ทั้งคู่จะปฏิเสธกระแสข่าวที่ว่านี้


ถึงเวลานี้ สังคมกำลังเฝ้าจับตาและรอคอยคำชี้แจงทั้งจากพลเอก ประวิตร ถึงที่มาของทรัพย์สิน รวมถึงการทำงานและการตรวจสอบของ ป.ป.ช. อย่างใจจดจ่อ


และเชื่อว่าทุกคนคงคาดหวังว่าจะไม่ได้เห็นวลีการเมืองไทยใหม่ๆ อื่นใดผุดออกมาอีกจากกรณีนี้

 

 

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising