วันนี้ (20 มิ.ย.) พล.ท. คงชีพ ตันตระวาณิชย์ โฆษกกระทรวงกลาโหม แถลงผลการประชุมคณะกรรมการขับเคลื่อนและปฏิรูปราชการแผ่นดิน คณะที่ 5 (กขป.5) ที่มี พล.อ. ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และ รมว. กลาโหม เป็นประธาน โดยได้สั่งการในการแก้ไขปัญหาสำหรับมาตรการเร่งด่วน กรณีการนำเข้าขยะอิเล็กทรอนิกส์ ขยะสารพิษ หรือพลาสติก 3 มาตรการ ได้แก่
1. ระงับการนำเข้าขยะแบบไม่ถูกต้อง ตามอนุสัญญาบรัสเซลส์
2. หากตรวจสอบพบว่าสำแดงเท็จ ให้ผลักดันออกนอกประเทศไปยังประเทศ ต้นทาง หรือประเทศที่ส่งออกโดยเคร่งครัด
3. ดำเนินคดีกับผู้ที่กระทำความผิด ขยะอิเล็กทรอนิกส์ สารพิษ ที่ถูกนำเข้าไปยังโรงงานไม่ถูกต้องตามใบอนุญาต ให้ส่งกลับไปยังโรงงานที่ได้รับอนุญาตหรือนำไปกำจัดให้ถูกต้องและให้ดำเนินคดีกับผู้ที่กระทำความผิดกฎหมาย
ขณะที่มาตรการระยะยาว ที่ประชุมได้เสนอมาตรการเพิ่มความเข้มงวดในการพิจารณาอนุญาตนำเข้าขยะอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งจะกำหนดให้มีวงเงินประกัน หากเกิดค่าเสียหายจากการแสดงข้อมูลเท็จหรือการปฏิบัติที่ไม่ถูกต้อง รวมถึงเพิ่มระบบกำกับการขนส่งขยะจากท่าเรือไปยังโรงงาน
พร้อมทั้งสั่งการให้กระทรวงอุตสาหกรรม เพิ่มความเข้มงวดในการตรวจสอบ โรงงานรับกำจัดขยะอิเล็กทรอนิกส์ และเพิ่มบทลงโทษผู้ที่กระทำความผิด
นอกจากนี้ที่ประชุมยังเสนอให้มีการยกเลิกการนำเข้าการนำเข้าขยะอิเล็กทรอนิกส์ทั้งหมด
โดย พล.อ. ประวิตร ได้สั่งการในที่ประชุมให้จัดตั้งคณะกรรมการขึ้นมาหนึ่งชุดบูรณาการหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งหมด ทั้งกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กระทรวงมหาดไทย กระทรวงอุตสาหกรรม กรมควบคุมมลพิษ กรมศุลกากร และสำนักงานตำรวจแห่งชาติรวมทั้ง กอ.รมน. จัดตั้งเป็นคณะทำงานและพิจารณาเร่งด่วน ใน 2 ประเด็น คือ
1. พิจารณาห้ามขยะสารพิษเข้าประเทศให้มีผลตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป
2. หากดำเนินการตามกรอบกฎหมายที่มีอยู่ไม่ได้จะต้องใช้มาตรา 44 ก็จำเป็นต้องใช้
สำหรับข้อมูลที่ใช้พิจารณาในที่ประชุมระบุว่า โรงงานคัดแยกขยะในประเทศไทยมีทั้งหมด 148 โรงงาน แต่ดำเนินการไม่ถูกต้องตามวิธีการคัดแยกขยะถึงร้อยละ 90
และพบว่าโรงงานกำจัดขยะและรีไซเคิลมี 7 โรงงาน ทำไม่ถูกต้อง 5 โรงงาน ดำเนินการถูกต้องเพียง 2 โรงงาน ซึ่งทั้ง 7 โรงงานเป็นของผู้ประกอบการชาวจีน
โฆษกกลาโหมเปิดเผยด้วยว่า พล.อ. ประวิตร ได้ตำหนิที่ให้มีการนำเข้าขยะพิษมาประเทศไทย พร้อมสั่งหาผู้ที่รู้เห็นเป็นใจในการสำแดงเท็จ โดยให้กรมศุลกากรไปตรวจสอบ เพราะต้องหาคนรับผิดชอบ