วันนี้ (2 เมษายน) พล.อ. ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กในหัวข้อ ‘ดีเบต’ หรือ ‘ไม่ดีเบต’ โดยมีใจความดังนี้
“ผมขอบคุณทุกท่านที่ให้เกียรติและปรารถนาดีกับผมด้วยการเชิญไปร่วมตอบคำถาม หรือดีเบตในเวทีต่างๆ ในฐานะที่ผมเป็นหัวหน้าพรรค ปาร์ตี้ลิสต์อันดับ 1 และแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีของพรรค ผมเข้าใจในความปรารถนาดีและให้โอกาสที่ดีเช่นนั้นกับผม เพียงแต่ขอให้ทุกท่านโปรดช่วยเข้าใจผมสักหน่อยเช่นกันครับ
“ผมยอมรับว่าประเทศควรจะมีผู้นำที่มีความรู้ ความสามารถที่สุด เพื่อให้เป็นผู้นำที่มีประสิทธิภาพที่สุดในการนำพาประเทศสู่การพัฒนาให้เจริญรุ่งเรือง บริหารจัดการให้ประชาชนมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดี ประเด็นที่ผมคิดว่าน่าจะนำมาแลกเปลี่ยนกันคือ ผู้นำที่มีประสิทธิภาพความหมายดังกล่าววัดด้วยอะไร
“วัฒนธรรม ความเป็นอยู่ของประชาชนในแต่ละประเทศที่แตกต่างกัน การกำหนดเครื่องชี้วัดประสิทธิภาพผู้นำจะต้องแตกต่างกันด้วยหรือไม่ ความรู้ ความสามารถ ความมีประสิทธิภาพของผู้นำ ประชาชนสัมผัสได้ด้วยอะไร ด้วยวิธีไหน
“จริงอยู่การพูดเป็นวิธีหนึ่งที่ใช้โชว์ความรอบรู้ให้ประชาชนได้รับทราบถึงประสิทธิภาพผู้นำ แต่การพูดไม่ใช่วิธีเดียวที่จะทำให้ประชาชนรับรู้ถึงความสามารถ
“ความมีประสิทธิภาพของผู้นำ ในความเป็นจริงคือ ระหว่างความคิด คำพูด และการกระทำ อันเป็นสิ่งที่มนุษย์ใช้สื่อสารกับคนอื่น กับสังคม กับโลกภายนอกนั้น
“คำพูดเป็นเครื่องมือสื่อสารที่สะท้อนความเป็นจริงของความรู้ ความสามารถได้น้อยที่สุด เพราะคนพูดเก่งสามารถพูดในสิ่งที่ตัวเองไม่ได้เป็น แม้กระทั่งไม่เคยคิด ได้ง่ายๆ เพียงแค่คิดขึ้นเฉพาะหน้าว่าพูดอย่างไรจะเป็นประโยชน์กับตัวเอง แล้วใช้ศิลปะพูดโน้มน้าวให้คนฟังเชื่อในสิ่งที่แม้แต่ตัวเองไม่เคยเชื่อก็ได้
“การยืนยันความรู้ ความสามารถด้วยการพูด ว่าไปแล้วเป็นเรื่องที่เชื่อได้น้อยที่สุด เพียงแต่การแข่งขันทางการเมือง โดยเฉพาะในประเทศตะวันตก ความเป็นผู้นำที่ดีหรือไม่ นิยมใช้โวหาร วาทกรรมเป็นเครื่องวัด
“การดีเบตในความหมายของการโต้วาทีแสดงโวหารจึงเป็นเรื่องสำคัญ ประกอบกับเป็นวัฒนธรรมสังคมที่สื่อมวลชนมีบทบาท มีอิทธิพลต่อการชี้นำความคิดของประชาชน และการดีเบตเป็นวิธีที่สื่อมวลชนแสดงบทบาทได้โดดเด่น เป็นการสมประโยชน์ของทุกฝ่าย
“นักการเมืองได้แสดงตัวตน สื่อได้แสดงบทบาท ประชาชนได้ฟังการโต้วาทีถกเถียงกันของคนมีชื่อเสียง ทั้งที่การดีเบตไม่ได้เป็นอะไรมากกว่าการแสดงให้เห็นว่านักการเมืองคนไหนพูดเก่ง มีไหวพริบในการตอบโต้ได้ดี ซึ่งอาจไม่เกี่ยวกับความรู้ ความสามารถที่เป็นจริงของนักการเมืองคนนั้นเลยก็ได้
“เช่นกัน ผู้นำที่พูดไม่เก่ง ดีเบตไม่ดี อาจจะมีความรู้ ความสามารถเหมาะสมกับความเป็นไปของประเทศในปัจจุบันมากกว่าก็เป็นได้ ตัวอย่างของประเทศไทยในอดีตคือ ฯพณฯ พลเอก เปรม ติณสูลานนท์ หรือหากมองให้กว้างออกไป ผู้นำที่ทำให้ประเทศจีนเจริญรุ่งเรืองก้าวขึ้นสู่มหาอำนาจ อย่างท่านประธานาธิบดีสีจิ้นผิง ก็ไม่ต้องแสดงความสามารถที่เหนือกว่าด้วยการดีเบตกับใคร
“อาจจะเพราะด้วยเหตุที่การพูดไม่ใช่การแสดงที่ดีที่สุดว่าใครมีความรู้ ความสามารถ มีประสิทธิภาพกว่าใคร ทำให้ผู้นำในหลายประเทศไม่ว่าจะเป็นประเทศที่ยิ่งใหญ่หรือเล็กลงมาไม่จำเป็นต้องวัดประสิทธิภาพผู้นำด้วยการดีเบต
“ยิ่งในยุคสมัยที่ทุกคนมีช่องทางสื่อถึงประชาชนได้มากมาย การสื่อสารความคิด คำพูด การกระทำ เพื่อแสดงความรู้ ความสามารถ และประสิทธิภาพ สามารถทำได้ตามช่องทางที่เหมาะสมกับความถนัดของผู้อาสามาเป็นผู้นำของแต่ละคน โดยไม่จำเป็นต้องแข่งขันเอาชนะกันว่าเป็นผู้มีความสามารถในการโต้เถียงเก่งกว่า
“ยิ่งไปกว่านั้นคือผู้นำที่มีวุฒิภาวะย่อมรู้ว่าในสังคม ในวัฒนธรรมของประเทศที่แตกต่างกันนั้นมีมากมายหลายเรื่องหากนำมาเป็นประเด็นโต้เถียงกัน ยิ่งสร้างปัญหาเพิ่ม หรือขยายปัญหาให้บานปลายไปไม่รู้จบ
“ผู้นำที่ตระหนักถึงการแสดงออกที่เหมาะควรกับความเป็นไปของประเทศ ควรแสดงออกในการกระตุ้นให้ทุกฝ่ายมีสติในการนำสังคมไปอยู่กับการเอาชนะคะคานกันด้วยการโต้เถียง
“ในช่วงหาเสียงเลือกตั้งที่เข้มข้นมากขึ้นเรื่อยๆ นี้ ผมได้ทราบข่าวมาว่ามีพิธีกรรายการทีวีชื่อดังระดับประเทศท่านหนึ่งได้ประกาศเชิญชวนผมกลางอากาศให้ผมไปออกดีเบต ผมรู้สึกปลาบปลื้มเป็นเกียรติอย่างยิ่งสำหรับความปรารถนาดีที่ท่านส่งมาถึงผม
“แต่อย่างที่บอกแล้ว ผมเลือกที่จะสื่อสารกับทุกท่านด้วยวิธีที่ผมคิดว่าผมสามารถทำได้อย่างมีประสิทธิภาพที่สุด ผมยินดีอย่างยิ่งที่จะพบปะกับทุกท่านเพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูล ความคิดความเห็นกัน แต่ขอเป็นแบบพูดคุยส่วนตัว
“ผมพร้อมเสมอสำหรับทุกท่านครับ ก่อนหน้านี้ผมได้แลกเปลี่ยน พูดคุยกับสื่อมวลชนที่ติดต่อมาบางท่านแล้ว สำหรับท่านอื่นๆ ผมรอเวลาที่ท่านว่างอยู่เช่นกันครับ ขอบคุณที่ระลึกถึงครับ”