วันนี้ (25 สิงหาคม) พล.อ. ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และรักษาราชการแทนนายกรัฐมนตรี ได้เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการบริหารระบบการเตือนภัยพิบัติแห่งชาติ (กภช.) ครั้งที่ 1/2565 ณ ห้องประชุม มูลนิธิอนุรักษ์ป่ารอยต่อ 5 จังหวัด ผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์
ที่ประชุมได้รับทราบแนวทางการถ่ายโอนศูนย์เตือนภัยพิบัติแห่งชาติจากกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม มาสังกัดกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กระทรวงมหาดไทย ตั้งแต่วันที่ 15 กันยายน 2559 ทั้งนี้ ศูนย์เตือนภัยจะปฏิบัติงานร่วมกับหน่วยงานอื่นๆ ทั้งในภาวะปกติ ภาวะที่มีความเสี่ยง และภาวะที่มีการเกิดภัยพิบัติ พร้อมทั้งได้รับทราบความคืบหน้าระบบการเฝ้าระวังและช่องทางการแจ้งเตือน โดยมีการแจ้งเตือนภัยล่วงหน้าเพื่อให้มีการรับมือและอพยพผ่านอุปกรณ์การเตือนภัย ประกอบด้วย หอเตือนภัย จำนวน 338 หอ, เครื่องรับสัญญาณดาวเทียม จำนวน 163 แห่ง ติดตั้ง ณ ศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยเขตทั้ง 18 เขต 70 จังหวัด และสถานีวิทยุกระจายเสียงประจำจังหวัด จำนวน 285 แห่ง รับข้อมูลผ่านสัญญาณดาวเทียมและกระจายการแจ้งเตือนด้วยระบบคลื่นวิทยุ ไปยังหอเตือนภัยขนาดเล็กจำนวน 674 แห่ง และส่งถึงหอกระจายข่าวภายในชุมชนและหมู่บ้านต่อไป
จากนั้นที่ประชุมได้เห็นชอบ (ร่าง) แผนยุทธศาสตร์การบริหารระบบการเตือนภัยพิบัติแห่งชาติ พ.ศ. 2566-2570 ภายใต้วิสัยทัศน์ ‘เป็นผู้นำในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ด้านการบริหารการเตือนภัย ด้วยดิจิทัลแบบบูรณาการที่มีมาตรฐานสากล’ ประกอบด้วย 4 ยุทธศาสตร์หลัก และสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี และเห็นชอบการดำเนินการแจ้งเตือนภัยโดยใช้ระบบ Cell Broadcast ด้วยการแจ้งเตือนภัยไปยังโทรศัพท์เคลื่อนที่ และสามารถระบุพื้นที่ที่จะทำการแจ้งเตือนไปยังอุปกรณ์สื่อสารจำนวนมากในการส่งเพียงครั้งเดียว ทั้งนี้จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการแจ้งเตือนภัยให้มากยิ่งขึ้น ซึ่งการดำเนินการจำเป็นต้องได้รับความร่วมมือจากหน่วยงานภาครัฐและเอกชน เช่น สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.), กรมอุตุนิยมวิทยา, กรมชลประทาน, สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) และผู้ให้บริการเครือข่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่
พล.อ. ประวิตรได้กำชับกระทรวงมหาดไทย โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย รวมทั้งทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องตามแผนงาน จะต้องบูรณาการทำงานร่วมกันอย่างมีเอกภาพ เพื่อยกระดับการแจ้งเตือนสู่ระดับที่สูงขึ้น สามารถเพิ่มประสิทธิภาพและปฏิบัติงานได้จริง เพื่อลดความเสี่ยง ความเสียหายที่อาจจะเกิดขึ้นได้อย่างมหาศาลจากภัยพิบัติทางธรรมชาติ เช่นเดียวกับที่เคยเกิดขึ้นมาแล้ว เช่น น้ำท่วมฉับพลัน, ไฟป่า, แผ่นดินไหว หรือสึนามิ