วันนี้ (24 สิงหาคม) รศ.ดร.ปริญญา เทวานฤมิตรกุล อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ให้สัมภาษณ์กับ THE STANDARD ถึงกรณีที่คณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญมีมติเป็นเอกฉันท์ 9 ต่อ 0 รับคำร้อง ส.ส. พรรคร่วมฝ่ายค้าน เพื่อขอส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยวาระการดำรงตำแหน่ง 8 ปีของ พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ว่าสิ้นสุดลงของตำแหน่งตามรัฐธรรมนูญมาตรา 170 วรรคสอง และมาตรา 158 วรรคสี่ หรือไม่ พร้อมมีมติเสียงข้างมาก 5 ต่อ 4 เสียง ให้ พล.อ. ประยุทธ์ หยุดปฏิบัติหน้าที่ตั้งแต่วันนี้จนกว่าศาลรัฐธรรมนูญจะมีคำวินิจฉัย ส่งผลให้ พล.อ. ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี จะทำหน้าที่รักษาการนายกรัฐมนตรีโดยอัตโนมัติ ส่วนคณะรัฐมนตรีก็ยังคงทำหน้าที่ตามปกติ
ทั้งนี้ รศ.ดร.ปริญญา กล่าวว่า พล.อ. ประวิตรจะเป็น ‘รักษาราชการแทนนายกรัฐมนตรี’ ตาม พ.ร.บ.ระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ. 2534 มาตรา 48 ระบุว่า ‘ให้ผู้รักษาราชการแทนมีอำนาจเท่ากับผู้ซึ่งตนทำหน้าที่แทน’ แต่อย่างไรก็ตาม อำนาจของ พล.อ. ประวิตร ยังมีข้อจำกัดอยู่ ตามคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรีที่ 237/2563 ที่ระบุช่วงท้ายว่า ‘ในระหว่างการรักษาราชการแทนนายกรัฐมนตรี ผู้รักษาราชการแทนข้างต้น จะสั่งการใดเกี่ยวกับการบริหารงานบุคคลและการอนุมัติเงินงบประมาณ อันอยู่ในอำนาจของนายกรัฐมนตรีได้ ต้องได้รับความเห็นชอบจากนายกรัฐมนตรีเสียก่อน’
ดังนั้น พล.อ. ประวิตร มีอำนาจยุบสภาได้ เพราะไม่ได้มีข้อจำกัดทางกฎหมาย รวมถึงรัฐธรรมนูญ มาตรา 103 ที่บัญญัติเรื่องยุบสภา ไม่ได้บัญญัติเจาะจงไปที่ตำแหน่งนายกรัฐมนตรี แต่ถือเป็นอำนาจทั่วไปที่จะต้องมีรัฐมนตรีทูลเกล้าฯ และเป็นผู้รับสนองพระบรมราชโองการหากมีการยุบสภา
ขณะที่ วิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายกฎหมาย ให้สัมภาษณ์ว่า รักษาการนายกรัฐมนตรียังมีอำนาจที่จะประกาศยุบสภาได้ แต่ก็เชื่อว่าคงไม่ทำแบบนั้น อย่างไรก็ตาม ส่วนตัวยังไม่ได้คุยกับ พล.อ. ประยุทธ์ แต่ก็ยินดีให้คำแนะนำหากต้องการความเห็น ซึ่งเมื่อวานนี้ได้แจ้งแนวปฏิบัติตามข้อกฎหมายให้คณะรัฐมนตรีได้รับทราบแล้ว
ขณะที่ พล.อ. ประวิตร ในฐานะรักษาการ ก็มีอำนาจนำกฎหมายสำคัญ เช่น ร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. ขึ้นทูลเกล้าฯ ได้ เพราะมีอำนาจเต็ม แต่ร่างกฎหมายดังกล่าวก็ต้องใช้เวลา เพราะศาลรัฐธรรมนูญอาจมีคำวินิจฉัยก่อน
ภาพ: แฟ้มภาพ