×

“ประเทศชาติต้องมาก่อน” ความคาดหวัง ‘ครูประทีป’ ต่อ สว. ชุดใหม่

25.06.2024
  • LOADING...
ประทีป อึ้งทรงธรรม ฮาตะ

‘ชุมชน’ คำง่ายๆ ที่เป็นแรงผลักดันให้ ‘ประทีป อึ้งทรงธรรม ฮาตะ’ ต้องตัดสินใจครั้งสำคัญในชีวิตอีกครั้ง ด้วยการสมัครรับเลือกเป็นสมาชิกวุฒิสภา (สว.) ในกลุ่ม 17 ภาคประชาสังคม ภายใต้กติกาอันสลับซับซ้อนที่สุดเท่าที่เคยมี

 

“เราอยากให้รัฐบาลลดช่องว่างความเหลื่อมล้ำในสังคมอย่างเป็นรูปธรรม”

 

ในฐานะผู้ขับเคลื่อนสิทธิชุมชนคลองเตยมาตลอดชีวิต รวมถึงเป็นอดีต สว. จากการเลือกตั้งในปี 2543 ‘ครูประทีป’ ได้ผ่านเข้ารอบไปสู่ระดับจังหวัด แต่คะแนนเสียงของเธอยังไม่เพียงพอให้เข้าสู่รอบสุดท้าย คือการเลือก สว. ระดับประเทศในวันที่ 26 มิถุนายนที่จะถึงนี้

 

ภาพ: ศวิตา พูลเสถียร

 

ก่อนวันเลือก สว. 200 คนสุดท้ายจะมาถึง THE STANDARD เดินทางไปยังมูลนิธิดวงประทีป ชุมชนคลองเตย ท่ามกลางศูนย์การศึกษาและเลี้ยงดูเด็กๆ กว่าร้อยชีวิต เด็กๆ วิ่งกรูเข้ามาโอบกอด ‘แม่ครู’ ด้วยความดีใจ กระทั่งผู้อาศัยในชุมชนทุกช่วงวัย ทุกอาชีพ ต่างส่งยิ้มและไหว้ทักทายเมื่อเธอเดินผ่าน

 

เราเริ่มสนทนากับเธอ ตั้งแต่ประสบการณ์ในสนาม สว. 2567 ไปจนถึงความท้าทายของที่ดินชุมชนคลองเตย อีกสนามที่ยังรอเธออยู่

 

โจทย์ที่ไม่จบ: ปัญหาที่ดินชุมชนคลองเตย

 

ครูประทีปเริ่มต้นด้วยการเล่าถึงสถานการณ์ที่ชุมชนคลองเตยกำลังเผชิญอีกครั้ง สืบเนื่องมาจากแผนการพัฒนาพื้นที่ท่าเรือกรุงเทพฯ โดยการท่าเรือแห่งประเทศไทย (กทท.) สังกัดกระทรวงคมนาคม ขานรับนโยบายของ เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ที่มีแนวคิดจะย้ายท่าเรือกรุงเทพฯ ออกบางส่วน และปรับปรุงพัฒนาพื้นที่ให้มีประโยชน์ใช้สอยมากขึ้น

 

เหลือเวลาอีกราว 5 เดือน กระบวนการพัฒนาพื้นที่ก็จะต้องเริ่มต้นอย่างจริงจัง แต่ข้อกังวลของครูประทีปคือ โครงการดังกล่าวจำเป็นต้องกระทบกับทั้ง 31 ชุมชน และ 13,000 ครัวเรือน อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ โดยเฉพาะแผนแม่บทที่เตรียมสร้างเป็นอาคารสูง 25 ชั้น 4 อาคาร หรือ Smart Community

 

“ปัญหาคือมีผลวิจัยที่ชี้ว่า หากสร้างอาคารสูงเกิน 5 ชั้น ค่าใช้จ่ายต่างๆ จะสูงขึ้นจนชาวบ้านอยู่ไม่ได้” ครูประทีปเล่า “ทั้งค่าน้ำ ค่าไฟ จะเพิ่มเป็น 2 เท่า”

 

ภาพ: ศวิตา พูลเสถียร

 

จากการฟังเสียงของชาวชุมชน ครูประทีปกังวลว่าเมื่อเวลามาถึงจะต้องเกิดการรื้อย้าย หากชุมชนไม่ยินยอม ความขัดแย้ง สูญเสีย อาจเกิดขึ้นเหมือนในอดีต ซึ่งเป็นเรื่องที่เธอไม่ปรารถนา

 

“เราอยากให้เป็นลักษณะวิน-วิน เจรจากันอย่างมีเหตุมีผล” เธอบอก

 

ครูประทีปมองว่าพื้นที่บริเวณโรงฟอกหนังเก่าที่มีการเวนคืนกันมาเมื่อ 80 กว่าปีก่อน เพื่อใช้ในกิจการขนส่งของ กทท. เวลานี้มีการเปลี่ยนแปลงนโยบายและวัตถุประสงค์ จึงควรคืนพื้นที่ให้ชาวบ้าน

 

“คนจนเหล่านี้ก็ถือเป็นผู้สร้างความเจริญ เราอยากขอแบ่งพื้นที่ 20% ของที่ดิน จะได้ประมาณ 400 ไร่ มาทำเป็นเมืองคนจนที่มีคุณภาพ มีการพัฒนาศักยภาพที่ดี มีโรงเรียน โรงพยาบาล ศูนย์ฟื้นฟูสำหรับผู้สูงอายุ”

 

ภาพ: ศวิตา พูลเสถียร

 

ถึงกระนั้น การจะเจรจาต่อรองกับภาครัฐไม่เคยเป็นเรื่องง่าย แม้มูลนิธิในชุมชนคลองเตยของเธอจะเป็นที่รู้จักระดับประเทศ นายกรัฐมนตรีของแทบทุกรัฐบาลต้องรู้จัก หรือลงพื้นที่มาพบเธอ แต่ ‘ครูประทีป’ บทบาทเดียว ยังไม่เพียงพอต่อการผลักดันปัญหา

 

นำมาสู่สาเหตุที่เธอตัดสินใจลงแข่งขันในกติกาที่สลับซับซ้อนนี้

 

ความคิดที่จะลงสมัคร สว. เริ่มตั้งแต่เมื่อไร

 

เราก็ใคร่ครวญมา เพราะปัญหาเรื่องที่ดินก็มีมาต่อเนื่องยาวนาน ความจริงแล้วในปี 2562 ตอนนั้นรัฐบาลก็ถือให้ปีนั้นเป็นเส้นตายของการรื้อย้าย แต่พอดีว่ามีปัญหา ประกอบกับสถานการณ์โควิดจึงมีการชะลอมา แต่พอรัฐบาลใหม่มาก็จะมารื้ออีก

 

ส่วนตัวก็ทราบมาตั้งแต่ต้นปีว่า สว. ชุดปัจจุบันกำลังจะหมดวาระไป และกำลังจะมีการรับสมัครกันใหม่ แต่วิธีการเลือกก็ยังสับสน กว่าจะมารู้เรื่องกันก็ประมาณเดือนเมษายน-พฤษภาคม

 

ตัดสินใจนานหรือไม่กับการลงสมัครในกติกาแบบนี้

 

ตอนแรกก็ยังไม่อยากจะเข้าไปยุ่ง เราจะไหวไหม จะต้องเตรียมการอะไรบ้าง แต่ในที่สุดจากปัญหาที่เราเห็นว่าจะต้องเผชิญกับอะไรบ้าง เราอยากแก้ปัญหาเกี่ยวกับที่อยู่อาศัยของคน มีคนนอนข้างถนน เด็กเล็กๆ แม่อุ้มกระเตงโดยไม่ได้รับการดูแล เราไม่มีที่อยู่ให้ คนแก่ก็มานอนข้างๆ ตอนนี้ถ้าหากคุณออกไปดูที่ใต้ทางด่วนก็จะยังเห็นว่ามีคนนอนอยู่

 

เราคิดว่าภาพแบบนี้ควรจะได้รับการแก้ไข เป็นโครงการใหญ่เพื่อลดช่องว่างทางสังคมให้เห็นอย่างเด่นชัด เพราะที่ผ่านมารัฐบาลหรือผู้มีอำนาจ มาสัญญาว่าจะแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำทางสังคม เขาก็พูดๆ แต่ก็ไม่เห็นเป็นรูปธรรม

 

เราอยากให้รัฐบาลลดช่องว่างให้สังคมอย่างเป็นรูปธรรม พร้อมกันนี้ เราก็มองเป็นโอกาสที่การท่าเรือแห่งประเทศไทยเองจะมีแผนงาน เพราะตอนนี้งานส่วนใหญ่จะไปที่ท่าเรือน้ำลึกแหลมฉบัง ท่าเรือในกรุงเทพฯ ก็จะลดปริมาณการขนส่งลง

 

ประทีป อึ้งทรงธรรม ฮาตะ

ภาพ: ศวิตา พูลเสถียร

 

อาจารย์ชัชชาติ สิทธิพันธ์ุ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (ผู้ว่าฯ กทม.) เอง ก็พูดไว้เมื่อปีเศษแล้วว่า ตอนนี้มีปัญหาถนนทรุด การจราจรติดขัด และปัญหาฝุ่น PM2.5 หากมีการลดปริมาณการขนถ่ายสินค้าในท่าเรือคลองเตยลง ก็จะทำให้ปริมาณฝุ่นลดลง ถนนไม่ทรุดไม่เสีย รถติดน้อยลง กรุงเทพฯ ก็ไม่ทรุดด้วย ท่านอยากทำให้เมืองยังอยู่ได้และน่าอยู่ ท่านก็ตั้งคณะกรรมการขับเคลื่อนการพัฒนาเขตทั้ง 50 เขต ครูประทีปเองก็ได้ไปเป็นส่วนหนึ่งในคณะกรรมการของการพัฒนาเขตคลองเตย

 

เรามองภาพใหญ่ว่าน่าจะถึงเวลาที่เราต้องนำเสนอโครงการเพื่อลดความเหลื่อมล้ำเป็นรูปธรรม และแก้ปัญหาในองค์รวมแบบ Holistic Approach ให้กับรัฐบาล ในรูปแบบของเมืองสุขภาวะ ที่ทุกคนช่วยกันดูแลสิ่งแวดล้อม ดูแลชีวิต มีอาสาสมัครมาช่วยกันดูแลผู้คนในระดับรากหญ้า จนถึงต่อยอดให้เยาวชนมีการศึกษาที่สูงขึ้น หรือถึงในระดับต่างประเทศ เพื่อลดความเหลื่อมล้ำทางภาษา

 

ตอนนี้สังคมไทยรู้จัก ‘ครูประทีป’ ในฐานะภาคประชาสังคมที่โดดเด่นคนหนึ่ง ทำไมบทบาท สว. จึงยังจำเป็น

 

ถ้าเราเป็นครูประทีปอย่างเดียว เวลาเราจะไปพบนายกรัฐมนตรี ไปพบรัฐมนตรี หรือข้าราชการ ไม่ใช่เรื่องง่าย เราไปพูดกับเขาก็ใช่ว่าเขาจะฟัง เพราะเขาถือว่าเราไม่ได้มีหน้าที่ เป็นประชาชนคนหนึ่ง

 

แต่ถ้าเราเป็น สว. อำนาจของ สว. คือการตรวจสอบงานของรัฐบาล มีอำนาจในการแต่งตั้งบุคคลเข้าไปอยู่ในองค์กรอิสระและกลั่นกรองกฎหมาย ถึงแม้ว่าตอนนี้อำนาจของการเลือกนายกฯ จะหมดไป แต่อำนาจทั้ง 3 นี้ก็ยังมีเพียงพอในการที่จะเรียกนายกฯ หรือรัฐมนตรีเข้ามาตอบคำถามในสภา

 

เราสามารถนำเสนอปัญหาที่เราพบ และถามรัฐบาลว่าจะตอบสนองอย่างไร จะทำอะไรบ้าง โครงการต่างๆ ที่ดำเนินการอยู่เคยได้ถามชาวบ้านหรือไม่ เกิดผลกระทบอะไรกับพวกเขา แล้วเราจะได้คำตอบ อำนาจจะมีเบ็ดเสร็จอยู่ในตำแหน่งนั้น

 

เป็นความตั้งใจของเราเองว่าเราอยากลงสมัคร ในช่วง 2-3 สัปดาห์แรกก็เครียดมากในการเลือกระดับเขต พอผ่านแล้วก็โล่งไป แต่อีกสัปดาห์หนึ่งก็ต้องเลือกระดับจังหวัดแล้ว เวลาผ่านไปรวดเร็วมาก เราก็ไม่รู้จะไปติดต่อใคร หรือจะร่อนไปรษณียบัตรติดต่อเขา เราก็ไม่อยากทำอย่างนั้น เราจึงพยายามไปประชุมเพื่อทำความรู้จักคน

 

ภาพ: ศวิตา พูลเสถียร

 

มีการตั้งข้อสังเกตว่า ในกติกาแบบนี้ ‘คนดี เด่น ดัง’ แต่ไม่มีพวกมักจะตกรอบ จากประสบการณ์ลงสมัครเห็นว่าจริงหรือไม่

 

จริงค่ะ จริงมากเลย เวลาไปเจอผู้สมัคร สว. คนอื่นก็เข้ามาสวัสดีเรา เรียกชื่อเรามาตั้งแต่ไกล บอกว่าจำได้ แต่ไม่ลงคะแนนให้เรา (หัวเราะ) ทั้งๆ ที่ในกลุ่ม 17 เวลาไปถึงก็ทักทายกัน แต่เขามีคนที่เขาตั้งใจมาเลือกไว้แล้ว

 

ในกลุ่มผู้สมัคร สว. มีเรื่องของการพูดคุยตกลงแลกคะแนนกัน หรือสัญญาว่าจะเลือกกันและกันหรือไม่

 

มีค่ะ และมีมาตั้งแต่ก่อนหน้านั้นแล้ว ตั้งแต่ระดับอำเภอ รวมถึงการพูดคุยกันนอกรอบ แต่เราเองไม่กล้าไปทำ ไม่กล้าแลกคะแนนกับใคร เพราะรู้สึกว่าหลายคนก็มีคุณสมบัติที่ดีมาก จากที่เราอ่านเอกสารของแต่ละคน เราก็อยากเลือกทั้งนั้นเลย และลึกๆ ความจริงแล้วเราก็รู้ว่า ถ้าเราแลกคะแนนกันเราก็ไปไม่รอด

 

เราจึงเฉยๆ ทักทายกันเท่านั้นเอง ไม่มีการไปขอแลกคะแนน หรือขอให้ช่วยเลือกตัวเองหน่อย ไม่มีอย่างนั้นเลย

 

ประทีป อึ้งทรงธรรม ฮาตะ

ภาพ: ศวิตา พูลเสถียร

 

คิดเยอะหรือไม่ในการลงคะแนนแต่ละครั้ง

 

ก็คิดเยอะอยู่ แต่ก็ตั้งใจไว้ตั้งแต่แรกว่าเราจะเลือกคนที่มีศักยภาพ คนที่เรารู้จัก แล้วเราก็ทำตามนั้น เขาจะไม่ให้คะแนนเรา เราก็ไม่ว่า เพราะเราเชื่อแล้วว่าคนนี้เหมาะสม

 

ช่วงที่นั่งฟังคะแนนก็ค่อนข้างเครียด แต่ก็คิดว่าได้หรือไม่ได้ก็ไม่เป็นไร แต่พอเราไม่ได้ก็รู้สึกโล่งนะ ไม่ได้ก็ไม่ได้ เราก็กลับมาทำงานเหมือนเดิม

 

ถึงอย่างนั้นก็มีความเสียดายปนกัน ว่าถ้าเราไปเจ๊าะแจ๊ะ ขอคะแนน ก็อาจได้นะ แต่เราไม่ทำ เราไม่เดินไปขอเลย

 

ในขณะเดียวกัน คนที่เขามาทักทายเรา เขาก็ไม่ได้บอกว่าเขาจะเลือกเรา รวมถึงก็ไม่มีใครมาขอคะแนนจากเราเหมือนกัน เขาอาจมองหน้าเราแล้วก็รู้สึกว่าไม่ใช่ ขอไปก็คงไม่ได้

 

พอไม่ได้ตำแหน่งแล้วก็นึกเสียว่าสิ่งศักดิ์สิทธิ์เขาคงไม่อยากให้เราไปทำ เมื่อคิดบวกแล้วก็สบายใจ

 

ผู้ผ่านเข้ารอบจากกรุงเทพฯ 2 ท่าน

 

แสงศิริ ตรีมรรคา กับ อังคณา นีละไพจิตร ทั้งสองคนนี้เราคิดว่าเป็นสายประชาธิปไตย และต่อสู้เพื่อความเป็นธรรม เรายินดีกับเขาทั้งสองคน และเรายังบอกกับเขาตอนที่ผลคะแนนออกมาว่ายินดีด้วย ให้ไปต่อและขอให้ได้ เรารู้สึกโล่งใจเพราะเขาเป็นฝ่ายที่สู้เพื่อประชาชนมาโดยตลอด

 

ภาพ: ศวิตา พูลเสถียร

 

คาดคะเนผลการเลือก สว. ระดับประเทศไว้อย่างไรบ้าง

 

คิดว่าผู้สมัคร สว. สายที่มาจากพรรคการเมืองน่าจะมากกว่า ส่วนกลุ่มผู้สมัคร สว. แบบอิสระอาจฟลุกเหลือมานิดเดียว คิดว่าทุกกลุ่มคงต่อสู้กันเยอะ สายที่เป็นอิสระจริงๆ อาจเข้าไปได้น้อยมาก

 

ประเมินการทำงานของ สว. ชุดใหม่อย่างไร

 

ถ้าเป็น สว. สายพรรคการเมือง เขาก็จะพูดถึงเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญ แต่ก็อยู่ที่ว่าเขาจะแก้ไปถึงขั้นไหน เพราะบางสายก็บอกว่าจะแก้ทั้งฉบับเลย แต่บางสายก็บอกว่า ขอเว้นหมวด 1 กับหมวด 2 ไว้

 

แต่ในความคิดของครู มองว่าหากเว้นหมวด 1 หมวด 2 ไว้น่าจะเหมาะสมกับสถานการณ์ปัจจุบัน ถ้าเราจะไปแก้ทั้งหมดทหารออกมาปฏิวัติแน่

 

ดังนั้นควรให้ประเทศเราแข็งแรงกว่านี้ เพราะตอนนี้เราบอบช้ำมาก โดยเฉพาะเศรษฐกิจ ประเทศเราถอยหลังลงไปเยอะ มีการทุจริตคอร์รัปชันต่างๆ เน่าเฟะหมดแล้ว พลอยทำให้ภาพการลงทุนเสียไปด้วย ประเทศถูกกัดกินไปมาก ความเสื่อมทรุดของประเทศเป็นแบบต้องไม่ให้เกิดการปฏิวัติ หรือเป็นกลียุคขึ้นมาอีก ต้องค่อยๆ ประคับประคองไป

 

ครูเคยอธิบายว่า ครูเลือกแก้ไขรัฐธรรมนูญโดยเว้นหมวด 1 และหมวด 2 ซึ่งความจริงแล้วเราก็อยากให้เป็นประชาธิปไตยสมบูรณ์แบบ แต่เรากินข้าวก็ต้องกินทีละคำ ดื่มน้ำก็ต้องดื่มทีละอึก

 

เราประมวลสถานการณ์ดูแล้วต้องค่อยเป็นค่อยไป เราไม่ได้เป็นอนุรักษนิยม แต่เรามองภาพรวมแล้วว่าแบบนี้อาจทำให้การพัฒนาของประเทศต่อเนื่องได้ นี่ถือว่าเราถอยมาเยอะมาก

 

ด้วยกติกาแบบนี้ สว. ชุดใหม่ก็จะมีหลากหลายที่มา จุดยืนอาจแตกต่างกันอย่างมาก จะเกิดความวุ่นวายในการทำงานหรือไม่

 

ช่วงแรกๆ คงจะเกิดความวุ่นวายบ้าง แต่หลังจากนั้นแน่นอนว่ามนุษย์เป็นสัตว์สังคม อย่างไรก็ต้องมีกลุ่ม มีพวก คอนเน็กชันเป็นเรื่องสำคัญ แต่กลุ่มนั้นต้องไม่ใช่กลุ่มแสวงหาประโยชน์ให้กับตัวเอง ต้องเป็นประโยชน์ให้ประเทศชาติและประชาชนเป็นหลัก

 

ผู้สมัคร สว. บางคนมองว่าระบบการเลือก สว. แบบนี้ไม่ควรจะมีอีกแล้วในประเทศไทย เห็นด้วยหรือไม่

 

เห็นด้วยว่าระบบแบบนี้ไม่ควรจะมีแล้ว เพราะเรามีเวลารู้จักคนน้อยมาก บางคนก็โนเนมจริง ไม่ได้เป็นที่รู้จัก เรามีเวลาอ่าน 5 บรรทัดของเขานิดเดียว แล้ววันเลือก สว. ระดับประเทศ ที่ 26 มิถุนายนนี้ คนตั้ง 3,000 คน สายหนึ่งก็อาจมี 2-3 ร้อยคน จะมีเวลารู้หรือไม่ว่าข้อมูลเหล่านั้นเป็นข้อมูลจริงหรือเท็จ

 

ในทางกลับกัน ถ้าเป็นระบบการเลือกตั้งประชาชนก็จะรู้ เพราะประชาชนที่อยู่ในพื้นที่เขาจะสามารถรู้ได้ว่าข้อมูลเหล่านั้นจริงหรือไม่จริง แต่ระบบนี้เราไม่รู้เลย เขาอาจแค่เขียนๆ มาให้เราอ่าน ส่วนคนที่เซ็นรับรองก็ใครไม่รู้เหมือนกัน จึงค่อนข้างเสี่ยงสำหรับการเอาประเทศชาติมาอยู่ในระบบนี้

 

อีกทั้งไม่สามารถจะบอกได้ว่า ในรัฐธรรมนูญที่กำหนดให้ สว. เป็นตัวแทนปวงชนชาวไทย แต่เราบอกไม่ได้เลยว่าเป็นตัวแทนได้จริงหรือไม่ด้วยระบบนี้ เพราะประชาชนแค่ 48,000 กว่าคนที่มาเลือกกันเอง จะมาเป็นตัวแทนของ 70 กว่าล้านคนได้อย่างไร จึงไม่น่าจะสามารถตอบโจทย์ได้ว่า สว. เป็นตัวแทนของปวงชาวไทยจริงหรือไม่

 

ประทีป อึ้งทรงธรรม ฮาตะ

ภาพ: ศวิตา พูลเสถียร

 

ความเสี่ยงที่ผู้มีอำนาจจะล้มกระดานให้การเลือก สว. เป็นโมฆะ

 

ครูคิดว่ามีโอกาสเป็นไปได้ แต่อยากให้ฝ่ายผู้มีอำนาจใจกว้างหน่อย เพราะอย่างไรกระบวนการเลือกกันมาระดับหนึ่งแล้ว และเสียเงินไปเป็นพันล้านแล้ว ก็ลองทำดู

 

เพราะใครๆ ก็อยากจะถามอาจารย์มีชัย ฤชุพันธุ์ ว่าร่างกติกาออกมาแบบนี้เพื่ออะไร

 

ฝ่ายอนุรักษนิยมเองนั่นแหละเป็นคนร่างกติกานี้ขึ้นมา แต่คนเล่นในกติกาเขาเก่งไง ต้องถามดูว่าเขียนกติกาออกมาแบบนี้เพื่ออะไร และตอบโจทย์การพัฒนาประเทศหรือไม่

 

อย่างไรก็ตาม เมื่อเดินหน้ามาแล้วก็ควรเดินต่อ ให้ระบบทำงานต่อไป แล้วประชาชนก็ช่วยกันส่งเสียง ให้มีความเข้ารูปเข้ารอยและเดินไปในทางที่ถูกต้อง สอดคล้องกับการพัฒนาประเทศในมิติต่างๆ ที่ควรจะเป็น เดินหน้าเถิด อย่าไปดึงกลับเลย

 

ภาพ: ศวิตา พูลเสถียร

 

ขอให้ครูประทีปฝากความคาดหวังต่อการเลือก สว. ระดับประเทศที่จะถึงนี้

 

มหาตมะ คานธี เคยพูดไว้ว่า ถ้าเราจะเล่นการเมือง เราต้องมีอุดมการณ์ มีจิตสำนึกต่อประเทศชาติและประชาชน

 

เราจะเลือกตัวเองก็ดี หรือจะไปเลือกคนอื่นก็ดี หรือเราได้รับเลือกไปแล้ว ไปเป็นตัวแทน 1 ใน 200 คน เราก็ควรรู้ว่าหน้าที่ของเรามาเพื่อทำประโยชน์ให้กับประเทศชาติและประชาชนให้มีความเจริญรุ่งเรือง ไม่ใช่ทำเพื่ออามิสสินจ้าง หรือลาภยศสรรเสริญ

 

อยากฝากให้ทุกคนตระหนักในจิตใจว่า เรามีหน้าที่อะไร ประเทศชาติต้องมาก่อน ไม่ใช่ส่วนตัวมาก่อน

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X