วันนี้ (31 พฤษภาคม) เมื่อเวลา 17.00 น. ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร อิทธิพล คุณปลี้ม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม เป็นประธานในพิธีบวงสรวงต้อนรับทับหลังปราสาทหนองหงส์ จังหวัดบุรีรัมย์ และทับหลังปราสาทเขาโล้น จังหวัดสระแก้ว กลับสู่ประเทศไทย โดยมี ประทีป เพ็งตะโก อธิบดีกรมศิลปากร พร้อมด้วยคณะกรรมการติดตามโบราณวัตถุของไทยในต่างประเทศกลับคืนสู่ประเทศไทย ผู้บริหารกระทรวงวัฒนธรรม ผู้บริหาร ข้าราชการ และเจ้าหน้าที่กรมศิลปากร เข้าร่วมในพิธี
อิทธิพลกล่าวว่า รัฐบาลไทยได้รับมอบทับหลังปราสาทหนองหงส์ จังหวัดบุรีรัมย์ และทับหลังปราสาทเขาโล้น จังหวัดสระแก้ว จากรัฐบาลสหรัฐอเมริกา โดยมีพิธีส่งมอบโบราณวัตถุเมื่อวันที่ 25 พฤษภาคม ณ นครลอสแอนเจลิส ระหว่างสำนักงานสืบสวนความมั่นคงแห่งมาตุภูมิ สหรัฐอเมริกา (Homeland Security Investigations: HSI) ผู้ส่งมอบ และกงสุลใหญ่ ณ นครลอสแอนเจลิส ผู้รับมอบแทนกรมศิลปากรในนามราชอาณาจักรไทย พร้อมทั้งดูแลในการส่งทับหลังทั้งสองรายการออกจากท่าอากาศยานนครลอสแอนเจลิสถึงท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ เมื่อวันที่ 28 พฤษภาคม และเคลื่อนย้ายออกจากท่าอากาศยานสุวรรณภูมิมายังพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร
หลังจากพิธีบวงสรวงจะดำเนินการตรวจสอบโบราณวัตถุ และนำทับหลังทั้งสองรายการจัดแสดงในนิทรรศการเพื่อให้ความรู้แก่ประชาชน
ทั้งนี้จะเชิญ พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เป็นประธานในพิธีรับมอบโบราณวัตถุอย่างเป็นทางการ พร้อมเปิดให้ชมนิทรรศการ ‘ทับหลังปราสาทหนองหงส์ และปราสาทเขาโล้น กลับคืนสู่ประเทศไทย’ ให้ประชาชนเข้าชมเป็นเวลา 3 เดือน ณ พระที่นั่งอิศราวินิจฉัย พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร
ทั้งนี้ ทับหลังปราสาทหนองหงส์ จังหวัดบุรีรัมย์ และทับหลังปราสาทเขาโล้น จังหวัดสระแก้ว ได้สูญหายไปจากที่ตั้งในช่วงราว พ.ศ. 2509-2511 แต่ไม่ปรากฏรายงานหรือบันทึกเกี่ยวกับการสูญหาย
ต่อมาได้ปรากฏทับหลังสองรายการนี้อยู่ในฐานข้อมูลโบราณวัตถุของพิพิธภัณฑ์ศิลปะเอเชีย (Asian Art Museum) เมืองซานฟรานซิสโก รัฐแคลิฟอร์เนีย สหรัฐอเมริกา
อย่างไรก็ตาม การติดตามทับหลังทั้ง 2 รายการ เริ่มขึ้นเมื่อนายกรัฐมนตรีลงนามแต่งตั้งคณะกรรมการติดตามโบราณวัตถุของไทยในต่างประเทศกลับคืนสู่ประเทศไทย สืบเนื่องมาจากการสืบค้นข้อมูลโบราณวัตถุของไทยที่อยู่ในต่างประเทศของกรมศิลปากร รวมทั้งกระแสเรียกร้องของนักวิชาการและประชาชนให้ติดตามโบราณวัตถุของไทยในพิพิธภัณฑ์ต่างๆ ทั่วโลกกลับคืนมา ซึ่งมีมาก่อนหน้านั้นเป็นระยะ ที่ประชุมคณะกรรมการฯ มีมติให้ติดตามทับหลังทั้ง 2 รายการ โดยมอบหมายให้กรมศิลปากรเป็นผู้จัดทำข้อมูล
กระทั่งวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2561 กรมศิลปากรจึงได้ส่งข้อมูลให้กรมสารนิเทศ กระทรวงการต่างประเทศ เป็นผู้ประสานกับหน่วยงานในสหรัฐอเมริกาผ่านสถานเอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงวอชิงตัน และสถานกงสุลใหญ่ ณ นครลอสแอนเจลิส ซึ่งหน่วยงานฝ่ายสหรัฐอเมริกาที่รับผิดชอบในคดี คือ สำนักงานสืบสวนความมั่นคงแห่งมาตุภูมิ (HSI) กระทั่งมีการนำขึ้นพิจารณาในชั้นศาล จนในที่สุดพิพิธภัณฑ์ศิลปะเอเชียยอมรับว่าทับหลังทั้งสองรายการเป็นกรรมสิทธิ์ของไทย และยินยอมให้ยึดทับหลังเพื่อส่งกลับคืนประเทศไทย
อย่างไรก็ดี การส่งมอบโบราณวัตถุที่มีความสำคัญต่อประวัติศาสตร์ โบราณคดี และวัฒนธรรมในครั้งนี้ นับเป็นความร่วมมืออันสำคัญยิ่งระหว่างประเทศไทยและสหรัฐอเมริกา ทั้งภาครัฐและภาคประชาชน แสดงถึงความสัมพันธ์และมิตรภาพอันดีและยาวนานระหว่างสองประเทศ
พิสูจน์อักษร: วรรษมล สิงหโกมล