×

‘ประสาร ไตรรัตน์วรกุล’ ย้ำคริปโตฯ คือสินทรัพย์เก็งกำไร-ยังโปร่งใสไม่พอ เสี่ยงเงินไหลกลับสินทรัพย์ดั้งเดิม

15.03.2021
  • LOADING...
‘ประสาร ไตรรัตน์วรกุล’ ย้ำคริปโตฯ คือสินทรัพย์เก็งกำไร-ยังโปร่งใสไม่พอ เสี่ยงเงินไหลกลับสินทรัพย์ดั้งเดิม

ประสาร ไตรรัตนวรกุล ประธานกรรมการ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) กล่าวในการสัมมนา ของ บล.กสิกรไทย ว่า สถานการณ์การลงทุนในระยะข้างหน้ายังต้องรอดูสัญญาณจากธนาคารกลางประเทศหลักๆ เช่น ธนาคารกลางสหรัฐ (Fed) ว่าจะหยุดการทำมาตรการผ่อนคลายทางการเงินเชิงปริมาณ (QE) เมื่อไร เพราะจะมีผลต่อการลงทุนที่เกี่ยวเนื่องกับอัตราดอกเบี้ยนโยบาย ทั้งการลงทุนทางตรง คือผู้ที่ลงทุนในตราสารหนี้ และทางอ้อมในส่วนสินทรัพย์เก็งกำไร เช่น กรณี GameStop ในบางส่วน, คริปโตเคอร์เรนซี (สกุลเงินดิจิทัล)

 

“หากผลตอบแทนของการลงทุนดั้งเดิม (ตราสารหนี้ ฯลฯ) ปรับตัวเข้าสู่ปกติ แน่นอนจะเห็นเงินไหลกลับเยอะมาก กลับจากสินทรัพย์เก็งกำไรมาเป็นสินทรัพย์ดั้งเดิม เพราะเป็นฐานที่คนสบายใจกว่า เราพูดถึงเวลาแล้วเมื่อไร ความยากคือตลาดไม่รอ ตลาดอยากทำก่อนคนอื่น ต้องมีความระมัดระวัง”

 

ทั้งนี้ มองว่าคริปโตเคอร์เรนซีสามารถมองได้ใน 2 ส่วน 

  1. เทคโนโลยีที่อยู่เบื้องหลังคริปโตเคอร์เรนซีอย่าง Distributed Ledger Technology (DLT) มีศักยภาพในการทำธุรกรรมหลายอย่าง
  2. ผลิตภัณฑ์ที่เกิดจาก DLT เช่น คริปโตเคอร์เรนซีของภาคเอกชนหรือทางการที่เกิดขึ้นและมีอยู่ตอนนี้คือผลิตภัณฑ์รูปแบบหนึ่ง

 

“(คริปโตเคอร์เรนซี) ที่เอกชนทำอยู่เวลานี้ โดยรวมมันกลายเป็นสินทรัพย์ลงทุน แต่ในสายตาผมคิดว่าเป็นสินทรัพย์เก็งกำไร เพราะเมื่อเราทำตัวเป็นเคอร์เรนซี (อัตราแลกเปลี่ยน) มันต้องมีคุณสมบัติสำคัญคือ 

  1. เป็น Unit Account (หน่วยวัดมูลค่า) 
  2. ต้องเป็นสื่อกลางในการแลกเปลี่ยนสินค้า บริการ หรือของมีค่าได้
  3. ต้องเก็บรักษาได้ 

 

ผมคิดว่าคริปโตเคอร์เรนซีที่ออกมาปรากฏในระยะนี้ มันไม่ได้มีคุณสมบัติครบทั้ง 3 อันนี้”

 

ทั้งนี้ มีผู้ที่นำคริปโตเคอร์เรนซีไปเปรียบเทียบสกุลเงินตราต่างๆ (Fiat) เช่น ดอลลาร์สหรัฐ เงินบาท ฯลฯ ซึ่งจะมีการแบ็กอัป (ค้ำ) ด้วยของมีค่า โดยในอดีตอาจใช้ทองคำ หรือปัจจุบันใช้เครดิตของประเทศ ซึ่งในส่วนของคริปโตเคอร์เรนซีที่ไม่มีสินทรัพย์แบ็กอัปอยู่ต้องพูดถึง 

  1. Utility (การใช้ประโยชน์) 
  2. ใครจะเป็นผู้แบ็กอัป 
  3. โครงสร้างดีมานด์- ซัพพลาย, การเป็นเจ้าของ (Ownership) จะเป็นอย่างไร

 

“คริปโตเคอร์เรนซีที่ปรากฏออกมายังไม่โปร่งใส จะให้ผมรู้สึกเชื่อมั่น ก็คงไม่ มันจะต่างกับที่ทางการกำลังคิดเรื่องนี้อยู่ เช่น ธนาคารกลางบางประเทศกำลังคิดเรื่องนี้อยู่ ถ้าจะทำออกมาเพื่อให้คนเชื่อมั่นเขาก็ต้องทำให้โปร่งใส และอาจต้องแสดงเรื่องการแบ็กอัป”

 

ทั้งนี้ หากเปรียบเทียบกับ ‘ทองคำ’ ในแบบดั้งเดิม จะมีในรูปแบบกายภาพ มีกติกา รูปแบบ และการใช้ประโยชน์ในบางระดับ (เช่น การใช้เป็นเครื่องประดับ การค้ำประกัน ฯลฯ) ซึ่งความโปร่งใสจะมากกว่า เพราะเห็นที่เก็บ เห็นดีมานด์ ซัพพลาย ฯลฯ

 

ดังนั้นการลงทุนในคริปโตเคอร์เรนซีที่ปรากฏอยู่ตอนนี้ต้องระมัดระวังความเสี่ยง เพราะมองว่ามีลักษณะคล้ายกับ Speculative Stock (หุ้นที่มีการเก็งกำไรแม้ผลประกอบการไม่ได้ดีมาก) เพราะปัจจุบันผลตอบแทนของสินทรัพย์แบบดั้งเดิม เช่น ตราสารหนี้ หากฟื้นตัวขึ้นมา ความนิยมการเก็งกำไรใน Speculative Asset นี้จะได้รับผลกระทบอย่างแน่นอน

 

“ของธนาคารกลางมองว่าจะให้ความสำคัญกับนโยบายการเงินและเครื่องมือทางการเงิน ซึ่งคนที่มีสติหน่อย ไม่ไปรับความรับผิดชอบโดยไม่มีเครื่องมือที่จะทำงานตามความรับผิดชอบนั้นได้ ผมว่าในใจลึกๆ เขาคงไม่ชอบแน่ถ้าทำ Monitary Policy ไม่ได้”

 

และส่วนที่ธนาคารกลางต้องเข้ามาเกี่ยวกับคริปโตเคอร์เรนซีคือ ความชอบธรรม ความถูกต้องในระบบเศรษฐกิจสังคม เช่น หากมีเครื่องมือที่เอื้อต่อการฟอกเงินหรือทำอาชญากรรม จึงเป็นส่วนหนึ่งที่ทางการต้องไม่สนับสนุน หรือป้องกันและปราบปรามด้วย 

 

นอกจากนี้ ธนาคารกลางถือเป็นหน้าที่เรื่องเสถียรภาพในตลาดการเงิน โดยอาจจะติดตามดูว่ามีความเสี่ยงต่อระบบหรือไม่ และในประเทศเสรีอาจจะเปิดให้มีการลงทุนควบคู่กับการติดตามและความรู้ความเข้าใจ (Literacy) ในการลงทุน 

 

พิสูจน์อักษร: วรรษมล สิงหโกมล

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising