×

‘ประสาร’ แนะตลาดทุนไทยปรับตัวรับ 5 ความท้าทายที่เป็นทั้งโอกาสและความเสี่ยง สร้างการเติบโตยั่งยืน

27.04.2022
  • LOADING...
ประสาร ไตรรัตน์วรกุล

ประธานบอร์ดตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยเปิด 5 ความท้าทายที่เป็นทั้งโอกาสและความเสี่ยงต่อตลาดทุนไทย พร้อมแนะตลาดทุนปรับตัวรับความเสี่ยงเพื่อสร้างโอกาสสร้างการเติบโตต่อตลาดทุนไทยอย่างยั่งยืน ด้าน FETCO แนะปรับกฎเกณฑ์ต่างๆ เพื่อดึงเทคสตาร์ทอัพเข้ามีส่วนร่วมในตลาด สู้ศึกตลาดทุนไร้พรมแดน

 

ประสาร ไตรรัตน์วรกุล ประธานกรรมการ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย กล่าวปาฐกถาพิเศษเรื่อง บทบาทตลาดเงิน ตลาดทุน สู่จุดเปลี่ยนเศรษฐกิจไทย – Towards the Future of Thai Economy ในงานสัมมนา ‘SET ก้าวสู่ปีที่ 48 ขับเคลื่อนตลาดทุนแห่งอนาคต – Make it Work for Future’ ว่า ตลอด 47 ปีที่ผ่านมา ตลาดทุนไทยได้มีการเติบโตขึ้นมาก ทั้งในด้านการเป็นช่องทางการระดมทุนและเป็นแหล่งลงทุน ซึ่งตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาตลาดหลักทรัพย์ฯ ได้ส่งเสริมความคล่องตัวให้ภาคธุรกิจผ่านการพัฒนาบริการและโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ และสนับสนุนความยั่งยืนให้กับผู้มีส่วนได้เสียต่างๆ อย่างไรก็ตาม เมื่อมองไปข้างหน้า จะพบว่ามีโอกาสและความท้าทายในตลาดทุนไทย ซึ่งตลาดทุนจะต้องปรับตัวรับการเปลี่ยนแปลง ประกอบด้วย

 

  1. พัฒนาการทางด้านภูมิรัฐศาสตร์ 
  2. ความท้าทายจากสถานการณ์โควิด 
  3. กระบวนการ Digitalization
  4. พัฒนาการด้านสินทรัพย์ดิจิทัล
  5. ความยั่งยืนกับการพัฒนาตลาดทุนไทย 

 

ประการแรกคือ เรื่องพัฒนาการทางด้านภูมิรัฐศาสตร์ เนื่องจากความขัดแย้งหรือสงครามต่างๆ สามารถกระจายความเสี่ยงไปได้ทั่วโลกและทวีความรุนแรงยิ่งขึ้นเรื่อยๆ โดยในช่วงที่ผ่านมาความเสี่ยงด้าน Geopolitics มีมากขึ้น ครอบคลุมทั้งเหตุการณ์การเมือง ความสัมพันธ์ ปัญหาสังคม และความขัดแย้งทั้งในและต่างประเทศ มีการกระจายตัวไปทั่วโลกและทวีความรุนแรงยิ่งขึ้นเรื่อยๆ มีผลเชื่อมโยงต่อตลาดทุนโลกและตลาดทุนไทยทั้งทางตรงและทางอ้อมในหลายๆ ด้าน เช่น ความผันผวนของราคาพลังงาน และอัตราเงินเฟ้อที่กระทบต่อผู้คนในสังคมจำนวนมาก 

 

ยกตัวอย่างเรื่องความตึงเครียดด้านเศรษฐกิจการค้าของสหรัฐฯ-จีน หรือความขัดแย้งระหว่างยูเครน-รัสเซีย ที่กำลังเกิดขึ้นที่อาจเกิดฉากทัศน์และพัฒนาการของความขัดแย้งได้หลายรูปแบบ ซึ่งแต่ละฉากทัศน์ก็อาจมีเครื่องมือหรือมาตรการในการขับเคลื่อนที่แตกต่างกัน ทั้งมาตรการด้านเศรษฐกิจและด้านการเมือง

 

ประการที่สอง เรื่องความท้าทายจากสถานการณ์โควิด โดยตั้งแต่การแพร่ระบาดของโรคโควิด ทั้งโลกต่างได้รับผลกระทบ โดยเฉพาะปัญหาด้านเศรษฐกิจ ขณะที่เศรษฐกิจไทยตอนนี้เริ่มฟื้นตัวจากสถานการณ์โควิด แต่ในด้านเศรษฐกิจและตลาดทุนยังคงได้รับผลกระทบและฟื้นตัวได้แตกต่างกันไป 

 

การฟื้นตัวแบบ K-Shape คือกลุ่มที่ฟื้นตัวได้เร็ว หรือ K ขาบน เป็นกลุ่มอุตสาหกรรมที่ได้รับประโยชน์จากสถานการณ์โควิด โดยมีการเติบโตทิศทางเดียวกับการฟื้นตัวของกลุ่มประเทศเศรษฐกิจชั้นนำของโลก เช่น กลุ่มอุตสาหกรรมส่งออก ในขณะที่บางกลุ่มอาจต้องใช้เวลาในการฟื้นตัว หรือเป็น K ขาล่าง เป็นกลุ่มที่ได้รับผลกระทบค่อนข้างมากจากสถานการณ์โควิด เช่น ภาคการท่องเที่ยวและบริการยังต้องอาศัยแรงสนับสนุนจากภาครัฐ  

 

ประสารกล่าวว่า ตลาดหลักทรัพย์ฯ ได้ผลักดันและพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่จะช่วยให้ธุรกิจ SMEs และสตาร์ทอัพสามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้ดียิ่งขึ้นผ่าน LiVE Platform ซึ่งทำหน้าที่เป็นทั้งแหล่งความรู้ให้กับธุรกิจเตรียมความพร้อมในการเข้าสู่ตลาดทุน และเปิดกระดานซื้อขายในตลาดรองผ่าน LiVE Exchange ที่จะเปิดให้บริการในปี 2565 

 

ประการที่สาม เรื่องการปรับตัวและกระบวนการ Digitalization โดยกระแส Digital Disruption ได้เข้ามามีบทบาทและส่งผลกระทบต่อภาคธุรกิจ เศรษฐกิจ และตลาดทุนเป็นอย่างมาก ทั้งด้านโอกาสและความท้าทายในการดำเนินงานของหลายองค์กร เริ่มมีการปรับตัวโดยนำ Digital Technology เข้ามาใช้

 

ตลาดทุนได้ผลักดันด้าน Digitalization เพื่อส่งเสริมความคล่องตัวให้กับภาคธุรกิจผ่านการพัฒนาบริการและโครงสร้างพื้นฐานด้วยเช่นกัน นอกจากนี้กระบวนการ Digitalization ในตลาดทุนยังครอบคลุมถึงฝั่งผู้ลงทุนมีแนวโน้มในการใช้ Digital Technology เพื่อเข้าถึงการลงทุนที่เปิดกว้างมากขึ้นในช่วงที่ผ่านมา ไม่ว่าจะเป็นการเปิดบัญชีออนไลน์ การพิสูจน์และยืนยันตัวตน หรือการเสริมความรู้ในการลงทุนอย่างมีประสิทธิภาพที่ E-Learning Platform 

 

อย่างไรก็ตาม องค์กรในตลาดทุนควรให้ความสำคัญกับเรื่อง Cybersecurity ด้วย เพราะกระบวนการ Digitalization ที่เข้ามา อาจเป็นช่องทางให้ผู้ไม่ประสงค์ดีก่อให้เกิดความเสียหายต่อองค์กร ทั้งทางการเงินและชื่อเสียงได้

 

ประการที่สี่ เรื่องพัฒนาการด้านสินทรัพย์ดิจิทัล โดย Digital Technology เข้ามามีบทบาทในภาคการเงิน โดยเฉพาะ Distributed Ledger Technology (DLT) หรือ Blockchain ที่ถูกนำมาใช้ในภาคการเงินอย่างกว้างขวาง และเป็นพื้นฐานของ Cryptocurrency ซึ่งเป็นสินทรัพย์ดิจิทัลประเภทหนึ่งที่กำลังได้รับความสนใจจากผู้คนทั่วโลก เทคโนโลยียุคดิจิทัลสมัยใหม่ช่วยให้ผู้คนเข้าถึงตลาดทุนได้ง่ายขึ้น แต่ก็มีกฎระเบียบที่ต้องพัฒนาอย่างต่อเนื่อง 

 

การลงทุนในสินทรัพย์ดิจิทัลเป็นทั้งโอกาสด้านนวัตกรรมและความเสี่ยง ควรมีการพัฒนา กำกับดูแลให้มีความสมดุลระหว่างความเสี่ยงและการสนับสนุนการพัฒนานวัตกรรม

 

สำหรับประเทศไทยนั้น ภายใต้โครงสร้างการกำกับดูแลในปัจจุบัน สินทรัพย์ดิจิทัลแบ่งได้ 3 ประเภทหลักๆ คือ Cryptocurrency, Investment Token และ Utility Token โดยภาคธุรกิจและกิจการต่างๆ อาจเลือกระดมทุนด้วยการออก Investment Token และ Utility Token  

 

ทั้งนี้ ตลาดหลักทรัพย์ฯ ได้เตรียมพร้อมแพลตฟอร์มที่มีลักษณะเป็น Open Architecture ซึ่งอยู่ระหว่างขออนุญาตทำธุรกิจ Digital Asset Exchange ที่พร้อมเชื่อมต่อและให้บริการร่วมกับพาร์ตเนอร์ต่างๆ เพื่อให้บริการการลงทุน การระดมทุน และบริการที่เกี่ยวเนื่องในตลาดสินทรัพย์ดิจิทัล โดยจะเน้นให้บริการด้าน Digital Tokens ทั้ง Investment Token และ Utility Token

 

ประการสุดท้าย ความยั่งยืนกับการพัฒนาตลาดทุน เนื่องจาก ESG (Environmental, Social and Governance) ไม่ใช่ทางเลือก แต่คือทางรอดของธุรกิจในอนาคต โดยการดำเนินธุรกิจให้ประสบความสำเร็จอย่างยั่งยืนนั้นต้องมีการขยายแนวคิดให้กว้างขวางขึ้น โดยคำนึงถึงผู้มีส่วนได้เสียต่างๆ สังคมและสิ่งแวดล้อม หรือปัจจัยด้าน ESG 

 

“หลักธรรมาภิบาล หรือ Governance ถือเป็นโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและปฏิรูปประเทศในด้านต่างๆ ได้อย่างยั่งยืน” ประสารกล่าว 

 

การที่องค์กรให้ความสำคัญกับการเติบโตทางเศรษฐกิจ โดยมีนโยบายบริหารจัดการความเสี่ยงที่มีความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม ย่อมมีผลตอบแทนที่ดีให้แก่ผู้ถือหุ้น ตลาดทุนไทยจะมีบทบาทในการผลักดันให้องค์กรมีการเปิดเผยข้อมูล ESG พร้อมกับการพัฒนาระบบนิเวศธุรกิจที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม 

 

การเปิดเผยข้อมูลและรายงานด้านความยั่งยืนแก่ผู้ลงทุน นับเป็นกระบวนการสำคัญที่ช่วยให้ผู้ลงทุนและผู้ใช้ข้อมูลได้เห็นถึงมุมมองการดำเนินธุรกิจในมิติที่กว้างกว่าข้อมูลทางการเงิน ส่งผลให้เกิดความเชื่อมั่นต่อองค์กร  

 

นอกจากจะส่งเสริมการนำหลัก ESG มาพัฒนาการดำเนินงานตามลักษณะการประกอบการของธุรกิจแล้ว ตลาดหลักทรัพย์ฯ ยังได้ส่งเสริมเรื่อง ESG ให้กับทุก Stakeholders ในตลาดทุนผ่านโครงการต่างๆ เช่น การลดปริมาณก๊าซเรือนกระจก การจัดการขยะ การปลูกป่า และเตรียมพัฒนา ESG Data Platform เพื่อการนำข้อมูลด้าน ESG ไปใช้ในการลงทุนอย่างมีประสิทธิภาพ

 

ต่อจากนี้ตลาดทุนไทยจะเป็นอย่างไร

 

ประสารกล่าวส่งท้ายว่า ตลาดทุนไทยเติบโตขึ้นมาก ทั้งในแง่การเป็นแหล่งเงินทุนและช่องทางการลงทุน ส่งเสริมความคล่องตัวให้กับภาคธุรกิจผ่านการพัฒนาบริการและโครงสร้างพื้นฐาน พร้อมสนับสนุนเรื่องความยั่งยืนให้กับผู้มีส่วนได้เสีย และเมื่อมองไปข้างหน้า เราน่าจะได้เห็นความเปลี่ยนแปลงอย่างต่อเนื่อง

 

ก้าวต่อไปของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย

 

“เราพร้อมรับทั้งโอกาสและความท้าทายที่จะเกิดขึ้น สิ่งสำคัญคือต้อง Rethink และ Redesign เพื่อปรับตัวและใช้ประโยชน์จากสถานการณ์ต่างๆ ที่เปลี่ยนแปลงไป ไม่หยุดที่จะพัฒนาตลาดทุนให้เป็นกลไกที่ช่วยขับเคลื่อนการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศต่อไป” ประสารกล่าว 

 

‘FETCO’ วาง 4 โจทย์หลักส่งเสริมตลาดทุนไทย

 

ไพบูลย์ นลินทรางกูร ประธานกรรมการ สภาธุรกิจตลาดทุนไทย กล่าวในงานเสวนา SET ก้าวสู่ปีที่ 48 ขับเคลื่อนตลาดทุนแห่งอนาคต – Wealth Driver for Fruitful Growth ว่าสภาธุรกิจตลาดทุนไทยให้ 4 โจทย์ใหญ่กับโอกาสและความท้าทายของตลาดทุนในอนาคต ประกอบด้วย 

 

  1. ตลาดทุนไทยพร้อมหรือไม่สำหรับการเป็นแหล่งลงทุนสำหรับธุรกิจ New Economy และเทคสตาร์ทอัพ เนื่องจากจากนี้ไปจะมีธุรกิจสตาร์ทอัพที่เป็นเทคโนโลยีเข้ามาระดมทุนมากขึ้น และตลาดทุนมีความจำเป็นที่จะต้องสร้างความเข้มแข็งให้กับธุรกิจเหล่านี้ เพื่อยกระดับเศรษฐกิจที่ขับเคลื่อนด้วยเทคโนโลยี ดังนั้นความท้าทายของตลาดหลักทรัพย์ฯ คือการปรับปรุงหลักเกณฑ์ รวมถึงสร้างกระดานใหม่ขึ้นมา การทำงานร่วมกันกับสำนักงาน ก.ล.ต. เพื่อสร้างกฎเกณฑ์ใหม่ รวมถึงการมีตราสารประเภทใหม่ๆ เพื่อรองรับธุรกิจเหล่านี้

 

  1. การออกกฎเกณฑ์รองรับธุรกิจ SMEs เพื่อส่งเสริมให้ SMEs เข้ามาระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์ฯ โดยที่ผ่านมาตลาดทุนไทยขับเคลื่อนด้วยบริษัทขนาดใหญ่ ดังนั้นการสนับสนุนและเปิดช่องทางการระดมทุนให้กับธุรกิจขนาดเล็กอย่าง SMEs จึงเป็นอีกโจทย์ใหญ่ของตลาดทุนที่จะต้องสร้างกฎเกณฑ์ให้เอื้อกับธุรกิจ SMEs ให้ได้ 

 

  1. จากพฤติกรรมของนักลงทุน ตลาดหลักทรัพย์ฯ พร้อมหรือไม่ในการสร้างความน่าสนใจใหม่ๆ เพื่อดึงดูดนักลงทุนรุ่นใหม่ โดยนับตั้งแต่การแพร่ระบาดของโควิดเกิดขึ้น นักลงทุนเริ่มคุ้นเคยกับการลงทุนในต่างประเทศ สินทรัพย์ในตลาดต่างประเทศได้รับความนิยมอย่างมาก โดยเฉพาะหุ้นเทคโนโลยี โจทย์ของตลาดหลักทรัพย์ฯ คือ ทำอย่างไรให้ผู้ลงทุนมาลงทุนในตลาดหลักทรัพย์ไทยแทนที่จะไปลงทุนในตลาดหลักทรัพย์ต่างประเทศ โดยเฉพาะนักลงทุนรุ่นใหม่ 

 

“ตลาดหลักทรัพย์ฯ จะทำอย่างไรให้เงินไม่ไหลออกไปต่างประเทศ การสร้างตราสารต่างๆ ขึ้นมา อาจช่วยกักเก็บเงินให้อยู่ในตลาดหลักทรัพย์ไทยได้” ไพบูลย์กล่าว 

 

  1. Digital Transformation ตลาดหลักทรัพย์ฯ พร้อมจะเป็นแหล่งระดมทุนและแหล่งลงทุนในรูปแบบดิจิทัลหรือยัง ทั้งนี้ Digital Transformation อาจไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่สำหรับตลาดทุนนั้นเพิ่งเกิดขึ้นได้ไม่นาน ดังนั้นโจทย์ที่ท้าทายข้อสุดท้ายคือ ทำอย่างไรถึงจะทรานส์ฟอร์มให้สามารถรองรับการระดมทุนในรูปแบบของดิจิทัลได้

 

ไพบูลย์กล่าวส่งท้ายว่า ในอีก 5 ปีข้างหน้า หากตลาดหลักทรัพย์ไทยสามารถทำได้ทั้ง 4 โจทย์ใหญ่นี้ ก็มั่นใจได้ว่าตลาดหลักทรัพย์ฯ จะสามารถรักษาตำแหน่งผู้นำตลาดทุนของอาเซียนได้อย่างแน่นอน

 

ทางด้าน ณภัทร จาตุศรีพิทักษ์ Managing Director สถาบันอนาคตไทยศึกษา กล่าวในงานเสวนาเดียวกันว่า ปัจจุบันนี้พฤติกรรมการลงทุนของนักลงทุนที่เปลี่ยนไป ตลาดทุนก็ควรปรับตามด้วยเช่นกัน โดยมี 6 พัฒนาการที่อยากเห็นจากตลาดหลักทรัพย์ฯ ดังนี้ 

 

  1. New & Rekindled Interest in Investing เนื่องจากคนรุ่นใหม่บางกลุ่มที่เริ่มต้นลงทุนครั้งแรกผ่านสินทรัพย์ดิจิทัล กลุ่มคนเหล่านี้แม้ไม่ได้มีกำลังซื้อที่ใหญ่ แต่เปิดรับโอกาสการลงทุนใหม่ๆ และถือเป็นกำลังสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจในอนาคต ดังนั้นสิ่งที่ควรทำคือการสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์และบริการที่ดึงดูดความสนใจของคนกลุ่มนี้

 

  1. Speed, Convenience, Flexibility เนื่องจากการเข้าถึงที่ง่ายขึ้น สะดวก และยืดหยุ่น ล้วนเป็นสิ่งที่นักลงทุนทุกรุ่นต้องการ ควรสร้างบริการและสินค้าใหม่รองรับ แต่ต้องไม่ทิ้งสินค้าเดิม เพราะสินค้าใหม่ แม้จะมีการเติบโตสูง แต่ก็มีความเสี่ยงสูงเช่นกัน ดังนั้นตลาดหลักทรัพย์ฯ ควรสร้างประสบการณ์ใหม่ๆ และผลิตภัณฑ์ลงทุนใหม่ๆ ที่เติบโตสูงให้มากขึ้น

 

  1. Being Early โดยทั้งการระดมทุนและเข้าถึงนักลงทุนควรเร็วกว่าเดิม ในขณะเดียวกันภาคธุรกิจก็ต้องการโอกาสที่จะเข้าถึงดีลที่ดีได้เร็วกว่าเดิม ทั้งนี้สิ่งที่ตลาดหลักทรัพย์ฯ ควรทำคือการเปิดโอกาสให้นักลงทุนค้นหาบริษัทที่เป็น Blue Chip ได้เร็วขึ้น และบริษัทที่เป็น Blue Chip ใหม่ๆ เข้าถึงการระดมทุนได้ง่ายและรวดเร็ว

 

  1. Approachability หมายถึงการสร้างการเข้าถึง รู้จัก และเข้าใจผลิตภัณฑ์ลงทุนได้ง่าย สิ่งที่ควรทำคือการทำให้ตัวตนทางโซเชียลมีเดียของตลาดหลักทรัพย์ฯ มีความสนุกและเป็นทางการได้ในเวลาเดียวกัน 

 

  1. Collectivity หรือการมีส่วนร่วม โดยหลายๆ ครั้งที่นักลงทุนได้มีส่วนร่วมในการขับเคลื่อนธุรกิจ จึงเป็นเรื่องที่ตลาดหลักทรัพย์ฯ ควรเชื่อมให้ใกล้ขึ้น ซึ่งสามารถทำได้ทั้งในเรื่องการบริหารจัดการ (Management) ธรรมาภิบาล (Governance) ความโปร่งใส (Transparency) ไปจนถึงความยั่งยืน (Sustainability)

 

ปัจจัยนี้สามารถพัฒนาให้ดีขึ้นด้วยการทำให้เกิดความเชื่อมต่อกับบริษัท ผลิตภัณฑ์ กับนักลงทุนได้ โดยไม่จำเป็นต้องทำให้เป็นทางการเสมอไป

 

  1. Investor Education เทรนด์นี้จะเปลี่ยนจากกูรูที่แนะนำการลงทุนสู่ Community Investing มากยิ่งขึ้น สิ่งที่ตลาดหลักทรัพย์ฯ ควรทำคือ ส่งเสริมให้นักลงทุนค้นหาข้อมูลด้วยตนเอง ขณะที่ตลาดหลักทรัพย์ฯ สร้างสมดุลในการกำกับดูแล

 

TDRI แนะจับเทรนด์ ESG ยกระดับสู่สากล 

 

กิริฎา เภาพิจิตร ผู้อำนวยการโครงการวิเคราะห์เศรษฐกิจเชิงลึก สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) กล่าวว่า อีกเทรนด์สำคัญสำหรับโลกและการลงทุนในอนาคต คือ ความยั่งยืน (Sustainability) โดยจากผลสำรวจของ BlackRock พบว่า ครึ่งหนึ่งของนักลงทุนสนใจลงทุนในบริษัทที่มี ESG เพราะเชื่อว่าเป็นสิ่งที่ต้องทำ และอีกครึ่งสนใจเพราะเป็นบริษัทที่มีการบริหารจัดการความเสี่ยงได้ดีกว่าบริษัทที่ไม่มี ESG ซึ่งสะท้อนว่านักลงทุนต่างประเทศให้ความสำคัญกับ ESG มาก 

 

“ในประเทศไทยเอง กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (กบข.) ก็จะดู ESG Rating ของบริษัทต่างๆ และนำไปเปรียบเทียบว่าจะลงทุนในบริษัทไหนดี จึงอยากเสนอให้ตลาดหลักทรัพย์ฯ จัดทำ ESG Rating เพื่อให้นักลงทุนสามารถหาข้อมูลได้ง่าย ไม่ต้องเข้าไปอ่านทุกบริษัทเอง” กิริฎากล่าว 

 

ด้านคนรุ่นใหม่ซึ่งเป็นทั้งลูกค้าและแรงงานก็ให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อมค่อนข้างมาก อย่าง Climate Change สิทธิ ความเท่าเทียม ความหลากหลาย ความสัมพันธ์ของบริษัทกับการเมือง ขณะที่คนรุ่นเก่าให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อมและการขยายตัวทางเศรษฐกิจพอๆ กัน จึงอยากให้บริษัทและนักลงทุนให้ความสำคัญกับ ESG เพราะในอนาคตจะกระทบกับความยั่งยืนทั้งธุรกิจและเศรษฐกิจแน่นอน เชื่อมั่นว่าตลาดหลักทรัพย์ฯ จะเป็นตัวกลางในการสื่อสารและช่วยส่งเสริม ESG ให้กับทั้งธุรกิจและนักลงทุนได้ดียิ่งขึ้น

 

ตลาดทุนไทยมุ่งยกระดับบริการสู้ศึกตลาดทุนไร้พรมแดน

 

ภากร ปีตธวัชชัย กรรมการและผู้จัดการ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย กล่าวว่า ปัจจุบันตลาดทุนไทยมีจุดแข็ง 4 เรื่อง คือ สภาพคล่องดีขึ้นมาก โดยมีการซื้อขายวันละเกือบแสนล้านบาท, การเข้าจดทะเบียนมีทั้งบริษัทขนาดใหญ่และกลาง อยู่ในธุรกิจที่ไทยมีจุดแข็ง เช่น อุตสาหกรรมอาหารและท่องเที่ยว, สินค้าส่วนใหญ่เป็นสินค้าในประเทศที่เชื่อมโยงกับธุรกิจดั้งเดิมของประเทศที่แข็งแกร่ง และฐานนักลงทุนที่เติบโตขึ้นต่อเนื่อง ปัจจุบันมีกว่า 5 ล้านบัญชี 

 

ทั้งนี้เมื่อพิจารณาโจทย์ใหญ่ 4 ด้านที่ผู้ร่วมเสวนาทั้ง 3 ท่านชี้จุดสำคัญกับการพัฒนาตลาดทุนไทยที่ต้องเผชิญกับทั้งความท้าทายและโอกาส ตลาดหลักทรัพย์ฯ จะมุ่งมั่นทำงานร่วมกับพันธมิตรเพื่อปรับปรุงและส่งเสริมให้ดียิ่งขึ้น ดังนี้

 

  1. การลงทุนแบบไร้พรมแดน โดยตลาดหลักทรัพย์ฯ จะสร้าง Online Application ที่สามารถเปิดบัญชีแบบ E-Open Account ให้ลงทุนได้สะดวกตลอดเวลา ปลอดภัย เชื่อมต่อกับต่างประเทศได้ พร้อมทั้งเสนอผลิตภัณฑ์ต่างประเทศ Fractional DR ที่ลงทุนได้เหมือนกับสินทรัพย์ดิจิทัลในปัจจุบัน และสามารถซื้อขายได้ตามทุนทรัพย์ 

 

  1. การเติบโตของธุรกิจนวัตกรรม ตลาดหลักทรัพย์ฯ จะสนับสนุนการเข้าถึงตลาดทุนไทยของ SMEs และสตาร์ทอัพผ่าน LiVE Platform ในรูปแบบ Partnership Platform ด้วยความร่วมมือกับทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคการศึกษา เตรียมความพร้อมบริษัทเหล่านี้ และบริษัทที่มีศักยภาพในการเติบโต ให้สามารถเข้าระดมทุนได้ใน LiVE Exchange รวมถึงการออกกฎระเบียบให้กับภาคธุรกิจ New S-Curve และธุรกิจเทคโนโลยีให้เข้ามาระดมทุนได้ง่ายขึ้นด้วย

 

  1. กระบวนการบริการแบบดิจิทัล และการเติบโตของตลาดสินทรัพย์ดิจิทัล ในอนาคต Streaming จะเป็น Super App ในรูปแบบ One Stop Service ที่สามารถลงทุนได้ทั้งสินทรัพย์ดิจิทัล อย่าง Investment Token และ Utility Token ร่วมกับสินทรัพย์ดั้งเดิม รวมถึงลงทุนในหุ้นต่างประเทศได้ผ่าน Fractional DR ด้วยเงินบาท

 

  1. การลงทุนยั่งยืน ตั้งแต่ผ่านพ้นวิกฤตต้มยำกุ้งปี 2540 ตลาดหลักทรัพย์ฯ มองว่าการส่งเสริมธรรมาภิบาลเป็นเรื่องสำคัญ จึงมีการจัดตั้งสถาบันกรรมการบริษัทไทย (IOD) และ CG Center ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และพัฒนาต่อยอดมาจนถึง CSR, ESG และการทำธุรกิจยั่งยืนในปัจจุบัน ผลที่ได้รับดีมาก บริษัทจดทะเบียนไทยได้รับการยกย่องทั้งในระดับภูมิภาคและระดับโลก 

 

“ตลาดหลักทรัพย์ฯ กำลังพัฒนาการต่อเชื่อมข้อมูล ESG ของบริษัทจดทะเบียน นำมาสร้างเป็นฐานข้อมูลผ่าน ESG Data Platform และส่งต่อให้กับผู้ต้องการใช้อย่างสะดวก มีมาตรฐาน มีความเหมาะสมกับธุรกิจ รวมถึงส่งเสริมให้นักวิเคราะห์สนใจวิเคราะห์ข้อมูลมากขึ้น มีผลิตภัณฑ์ ESG ให้กับนักลงทุน เช่น กองทุนรวม และ Index เหล่านี้คือกระบวนการในการสนับสนุนให้การทำธุรกิจอย่างยั่งยืนมีความหมายและได้ผลอย่างแท้จริง” 

 

ภากรกล่าวส่งท้ายว่า ในอนาคตตลาดทุนไทยต้องเจอความท้าทายอีกมาก แต่ความท้าทายนั้นก็มาพร้อมกับโอกาสใหม่ด้วยเช่นกัน ตลาดหลักทรัพย์ฯ จะไม่หยุดพัฒนาตัวเอง และเดินหน้าร่วมกับพันธมิตรเชื่อมโยงโอกาสสู่ตลาดทุนแห่งอนาคต

 


 

ช่องทางติดตาม THE STANDARD WEALTH

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X