×

ประจักษ์ ก้องกีรติ: สังคมไทยจะไปต่ออย่างไร และทหารจะอยู่อีกนานแค่ไหน

04.01.2018
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

14 Mins. Read
  • เมื่อถามว่าทหารจะอยู่ไปอีกนานแค่ไหน มีสองส่วนที่ ดร.ประจักษ์ ชวนมองคือความเป็นจริงและความปรารถนา แม้ยากจะฟันธงในเงื่อนไขความเป็นจริง แต่หากมองจากแรงปรารถนาแล้ว แทบไม่ต้องสงสัยว่า ‘อยากอยู่ยาว’
  • ความกลัวกลายเป็นแรงขับดันสำคัญที่ทำให้ผู้มีอำนาจต้องการควบคุมความคิดและการเคลื่อนไหวของประชาชน เพราะเมื่อ ‘กลัว’ จึงต้องสร้างความกลัวขึ้นมาควบคุมอีกชั้นหนึ่ง
  • ความพยายามในการสืบทอดอำนาจของคณะรัฐประหารที่นำโดยทหาร ดร.ประจักษ์ บอกว่า บทเรียนหนึ่งที่ทหารไม่ค่อยเรียนรู้ก็คือคนส่วนหนึ่งอาจเชียร์ให้ทหารทำการรัฐประหารเพื่อความสงบเรียบร้อย แต่คนไทยไม่ค่อยชอบให้ทหารสืบทอดอำนาจตัวเองด้วยการมาเป็นพรรคการเมือง เพราะเมื่อทำเช่นนั้นก็ไม่ต่างอะไรกับนักการเมือง
  • ดร.ประจักษ์ พูดถึงความหวังเฉพาะหน้าในปีนี้ว่าควรเลิกความคิด ‘อยู่เป็น’ และปีนี้ควรจะเป็นปีที่สังคมไทยใช้เป็นโอกาสของการเดินหน้าเพื่อสร้างภาพอนาคตร่วมกันใหม่ อย่าปล่อยให้ใครต้องลุกขึ้นสู้เพียงลำพังอีกต่อไป

ข้อเท็จจริงที่ปฏิเสธไม่ได้ก็คือ ในปี 2561 เรายังอยู่ภายใต้การบริหารประเทศของคณะบุคคลที่เรียกตัวเองว่า คณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ หรือ คสช. พร้อมๆ กับการย่างเข้าสู่ขวบปีที่ 4 ของ คสช. ซึ่งนำโดย พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผู้สวมหมวกสองใบใหญ่คือ นายกรัฐมนตรี และหัวหน้า คสช.

 

ทิศทางของประเทศถูกขีดเส้นให้เดินไปตาม ‘โรดแมป’ แต่ก็มีเหตุให้ต้องยืดแผนดังกล่าวออกไปอยู่ตลอด คำถามที่มากกว่าปีหน้าประเทศไทยจะไปต่ออย่างไรก็คือ คณะบุคคลที่มีผู้นำมาจาก ‘ทหาร’ จะอยู่ในอำนาจไปอีกยาวนานแค่ไหน

 

 

THE STANDARD สนทนากับ ผศ.ดร.ประจักษ์ ก้องกีรติ อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ถึงอนาคตบนฐานความจริงที่เป็นไปได้ แม้นี่ไม่ใช่ครั้งแรกของการมี ‘ทหาร’ ปกครองบ้านเมือง แต่จำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องมองหาอนาคตที่เรียกว่า ‘ประชาธิปไตย’ โดยเร็วเช่นกัน

ถ้าเรื่องความปรารถนาทางการเมืองหรือเป้าหมายทางการเมืองว่าอยากอยู่ยาวไหม ในเรื่องนี้ผมคิดว่าชัดเจนแล้ว ไม่ต้องสงสัย ผมคิดว่าแม้แต่ประชาชนทั่วไปที่ติดตามข้อมูลข่าวสารก็เห็น

 

ขอถามเข้าประเด็นเลยว่า ‘ทหาร’ จะอยู่กับเราไปอีกนานแค่ไหน เมื่อไร คสช. จะคืนอำนาจให้กับประชาชน

เรื่องนี้จะต้องแยกออกเป็นสองส่วนคือ ความปรารถนา และความเป็นจริง ซึ่งบางครั้งสองสิ่งนี้มันก็ไม่มาบรรจบกัน หากดูจากร่างรัฐธรรมนูญหรือแผนพัฒนาต่างๆ คสช. ต้องการที่จะอยู่ยาวกว่า 4 ปีแน่นอน ไม่ใช่จะกลับกรมกองอะไรในปีนี้ เพราะต้องการจะอยู่ยาวกว่านั้น

 

สิ่งที่จะต้องวิเคราะห์คือ ในความเป็นจริง แผนที่ต้องการจะอยู่ยาวกว่า 4 ปีนี้มันทำได้ไหม สภาพเงื่อนไขทางการเมือง รวมถึงเศรษฐกิจ มันเอื้อให้ คสช. สามารถสืบทอดอำนาจได้นานกว่า 4 ปีไหม สิ่งนี้คือประเด็น

 

แต่ถ้าเรื่องความปรารถนาทางการเมืองหรือเป้าหมายทางการเมืองว่าอยากอยู่ยาวไหม ในเรื่องนี้ผมคิดว่าชัดเจนแล้ว ไม่ต้องสงสัย ผมคิดว่าแม้แต่ประชาชนทั่วไปที่ติดตามข้อมูลข่าวสารก็เห็น คือมันต่างจากรัฐประหาร ปี 2549 แน่ มันเป็นคนละโมเดลกันแล้ว ในตอนนั้น คมช. เข้ามาปีเดียวมีรัฐธรรมนูญ ปี 2550 เราก็ได้เลือกตั้งแล้ว แต่คราวนี้ไม่ ในคราวนั้น คมช. เข้ามาเพียงเพื่อจัดระเบียบอะไรบางอย่าง แต่ คสช. นี้เข้ามาเพื่อจัดระเบียบ และต้องการที่จะอยู่ต่อด้วย โดยใช้อำนาจจากระเบียบที่ตัวเองได้วางไว้

 

 

เหตุผลที่ทำให้ ‘ทหาร’ มีความต้องการที่จะเข้ามามีอำนาจแบบนี้ และต้องการมีอำนาจต่อไปคืออะไร

การรัฐประหารในเมืองไทยเกิดขึ้นด้วยเหตุผลหลักประการสำคัญคือ เมื่อชนชั้นนำฝ่ายข้าราชการ ซึ่งนำโดยกองทัพรู้สึกสูญเสียอำนาจในการนำ ในการควบคุมสังคม รู้สึกว่าผลประโยชน์และสถานะที่ตัวเองเคยมีอยู่โดนคุกคาม ในสมัยหนึ่งอาจโดนคุกคามโดยกลุ่มการเมืองใหม่ ในอีกสมัยหนึ่งอาจเป็นกลุ่มนักเลือกตั้ง บางยุคอาจจะเป็นการเคลื่อนไหวของภาคประชาชน นิสิต นักศึกษา คือสมัย 14 ตุลา และ 6 ตุลา คือมีการเปลี่ยนแปลงทางสังคมที่ทำให้กองทัพรู้สึกไม่มั่นคงหรือสูญเสียอำนาจ พวกเขาจึงทำรัฐประหาร

 

หากเราย้อนไปดูการรัฐประหารแต่ละครั้ง จริงๆ แล้วทหารก็มีความคิดที่จะสืบทอดอำนาจทั้งนั้น ยาวบ้าง สั้นบ้าง ต่างกันไปตามแต่ละชุด แล้วแต่ความทะเยอทะยานทางการเมืองของแต่ละชุด แต่ที่แน่นอนคือล้วนคิดอยากจะสืบทอดอำนาจทั้งสิ้น ถ้าไม่เช่นนั้นก็ไม่จำเป็นจะต้องมีการฉีกรัฐธรรมนูญฉบับเก่าแล้วร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ เพราะรัฐธรรมนูญคือตัวกำหนดความสัมพันธ์ทางอำนาจ พูดภาษาชาวบ้านคือมันคือกระดาษที่บอกว่าใครใหญ่กว่าใครในบ้านเมืองนี้ เขาก็สามารถเขียนรัฐธรรมนูญให้ตัวเองกลับมาใหญ่ได้ ฉะนั้นทุกครั้งที่มีการรัฐประหารก็จะมีการร่างรัฐธรรมนูญใหม่ จำนวนครั้งของการรัฐประหารกับจำนวนของรัฐธรรมนูญจึงใกล้เคียงกัน

 

ดังนั้นจึงตอบได้ว่าความพยายามในการสืบทอดอำนาจนั้นมีอยู่ในทุกยุคทุกสมัย แต่จะทำสำเร็จหรือไม่นั้นอีกเรื่องหนึ่ง แต่ถ้าย้อนไปดูจากประวัติศาสตร์ที่ผ่านมา เราจะเห็นว่าส่วนมากจะล้มเหลว บอกได้ว่ารัฐประหารนั้นเป็นเรื่องไม่ยากสำหรับทหารไทย คือทหารไทยมี know-how มีชุดทักษะที่สั่งสมกันมารุ่นสู่รุ่นในการทำรัฐประหาร จาก 19 ครั้ง สำเร็จ 13 ครั้ง นับได้ว่าเกิน 50% ถือว่าเก่งกว่ากองทัพอื่นๆ ในโลก เพียงแต่ว่าทักษะที่กองทัพไทยจะขาดเสมอมาก็คือ หลังยึดอำนาจเสร็จแล้วจะบริหารอำนาจอย่างไร หลังได้อำนาจมาแล้วจะเห็นได้ว่ามีความทุลักทุเลอยู่เกือบทุกชุด แล้วยิ่งจะสืบทอดอำนาจต่ออย่างไรนี่คือเรื่องยาก มีความต้องการให้คณะบุคคลหรือกลุ่มของตนเองที่เข้ามาสู่อำนาจนี้ยังสามารถที่จะรักษาอำนาจต่อไปได้ คือการยึดอำนาจนี้ไม่ใช่เรื่องยาก แต่ยากที่จะรักษาอำนาจต่อไปได้

สิ่งหนึ่งที่เกิดขึ้นในกองทัพคือเกิดการกระชับอำนาจโดยขั้วเดียว คือกลุ่มที่ยึดกุมอำนาจรัฐไทยในปัจจุบัน คือผู้นำ คสช. เขาได้จัดระเบียบในกองทัพหมดแล้วจนกลุ่มย่อยอื่นๆ ที่มีแนวคิดที่แตกต่างหลากหลายนั้นได้หายไปหมด

 

มีเรื่องอะไรที่ทำให้เขาจำเป็นต้องมีอำนาจต่อไป

การรัฐประหารครั้งนี้เกิดขึ้นในบริบทที่ใหม่ ไม่เหมือนกับการรัฐประหารครั้งอื่นๆ คือมันเกิดขึ้นในยุคเปลี่ยนผ่าน และในยุคเปลี่ยนผ่านทางการเมืองครั้งใหญ่นี้ ทหารกลัวสุญญากาศทางการเมืองที่จะเกิดขึ้น เพราะฉะนั้นคำถามอาจจะไม่ใช่แค่ว่ามีอะไรต้องปิดบังหรือซ่อนเร้นเอาไว้

 

ผมคิดว่าการรัฐประหารครั้งนี้ แรงขับดันที่สำคัญเกิดขึ้นจากความรู้สึกกลัว จริงๆ แล้วไม่ใช่ทำเพราะความเชื่อมั่นและมั่นใจ แต่เนื่องมาจากความกลัว เพราะมองเห็นได้ว่ามันอาจเกิดสุญญากาศและความสับสนวุ่นวายในช่วงระยะเปลี่ยนผ่านนี้ แล้วทหารคิดว่าเขาสามารถที่จะเข้ามาจัดระเบียบในช่วงเปลี่ยนผ่านนี้ได้ดีที่สุด ราบรื่นที่สุด เหมือนเขามองว่านี่คือภารกิจของเขา เพราะหากปล่อยให้สุญญากาศนี้เกิดขึ้น ชนชั้นนำเก่าทั้งหมดจะได้รับผลกระทบ คือหากการเปลี่ยนผ่านนี้ไม่ราบรื่น สถานะ อำนาจ ผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจก็จะได้รับผลกระทบหมด ซึ่งทหารก็เป็นส่วนหนึ่งของกลุ่มชนชั้นนำเก่านี้

 

 

การที่ทหารคิดว่าเขาคือผู้พิทักษ์ ดูแล ปกป้อง หรือเป็นคนที่เข้ามาแก้ไขปัญหาความขัดแย้งอยู่ตลอดเวลา ความคิดที่ไม่ใช่แค่ทำหน้าที่รั้วของชาติมันสะท้อนอะไร

มันมีภาพความต่อเนื่องมาตลอดของทหารกับอุดมการณ์ชาตินิยม ตั้งแต่สมัยจอมพล ป. พิบูลสงคราม แต่บริบทในตอนนั้นคือเรื่องของสงครามอินโด-จีน และสงครามโลกครั้งที่ 2 แต่หากเราตัดตอนมา ที่น่าสนใจก็คือว่าผู้นำ คสช. ชุดปัจจุบันอาจเป็นนายทหารรุ่นสุดท้ายที่โตมาทันยุคสงครามเย็น

 

คือเขาโตมากับช่วงที่มีภัยคุกคามจากคอมมิวนิสต์ หากเราดูตามอายุ พลเอก ประยุทธ์ และพลเอก อนุพงษ์ ก็คือรุ่นราวคราวเดียวกับนักศึกษา 14 ตุลา เป็นยุคที่นายทหารรุ่นนี้เติบโตมาพร้อมกับการเห็นภัยคุกคาม ความปั่นป่วนวุ่นวาย ความไม่มั่นคงของชาติ แนวคิดที่ว่าชาติอาจจะสูญสลาย ถูกกลืนกินไปได้ และโตมาพร้อมกับการที่ประชาชนตื่นตัวลุกฮือขึ้นมา มีการเมืองภาคประชาชน มีขบวนการนิสิตนักศึกษา กลุ่มชาวนากรรมกรอะไรเช่นนี้ และตรงนี้ก็คือความรู้สึกที่สถาบันต่างๆ ของชาติกำลังถูกกระทบอย่างรุนแรง

 

ผมว่าพลเอก ประยุทธ์ และผู้นำ คสช. รุ่นนี้เป็นรุ่นสุดท้ายแล้วที่โตมาทันเห็นบรรยากาศตรงนั้น ในรุ่นหลังยังอาจไม่ต้องพูดถึงเด็กรุ่นนี้ ผมคิดว่าความคิดมันจะเปลี่ยนแล้วไปสู่เจเนอเรชันใหม่ แต่เราไม่รู้หรอกว่ามันจะเปลี่ยนไปอย่างไร แต่เฉพาะผู้นำกองทัพยุคนี้เขายังโตมากับสงครามเย็น การต่อสู้ทางอุดมการณ์ การต่อสู้กับคอมมิวนิสต์ ฉะนั้นเขาจึงรู้สึกว่าเขาคือผู้พิทักษ์ชาติจากภัยคุกคามภายนอก

ชนชั้นนำไทย โดยเฉพาะชนชั้นนำเก่าหวาดกลัวการเมืองมวลชนมาโดยตลอด เพราะว่าเขาคุมไม่ได้โดยเบ็ดเสร็จ

 

แสดงว่าฝ่ายที่ก้าวหน้าในกองทัพยังมีอยู่ แต่ไม่มีโอกาสขึ้นมานำ

ผมเกรงว่าปัจจุบันมันอาจแทบไม่เหลือแล้ว ในยุคของพลเอก เปรม หลัง 6 ตุลา มันมีกลุ่มเล็กกลุ่มหนึ่งก่อตัวขึ้นมาในกองทัพ กลุ่มทหารประชาธิปไตยที่มีแนวคิดทางการเมืองที่ก้าวหน้า เป็นนายทหารที่ยอมรับระบอบรัฐสภา เป็นนายทหารที่มองว่าทหารควรมีบทบาทอยู่ภายนอก ประคับประคอง ไม่ควรเข้าไปแทรกแซงโดยตรง และที่สำคัญก็คือระบบรัฐสภานั้นเป็นระบอบที่ดีแล้วสำหรับสังคมไทย ทหารต้องช่วยประคับประคองให้มันอยู่รอด

 

แต่แนวคิดแบบนี้ก็ไม่เคยขึ้นมาเป็นแนวคิดหลักในกองทัพ ยิ่งมาถึงปัจจุบัน ผมคิดว่าไม่มีแล้ว หรือถ้ามี มันก็ถูกทำให้ล้มหายตายจากไปหมดแล้ว เพราะเราอย่าลืมว่าวิกฤตการเมืองตั้งแต่ปี 2548 เป็นต้นมา สิ่งหนึ่งที่เกิดขึ้นในกองทัพคือเกิดการกระชับอำนาจโดยขั้วเดียว คือกลุ่มที่ยึดกุมอำนาจรัฐไทยในปัจจุบัน คือผู้นำ คสช. เขาได้จัดระเบียบในกองทัพหมดแล้วจนกลุ่มย่อยอื่นๆ ที่มีแนวคิดที่แตกต่างหลากหลายนั้นได้หายไปหมด

 

 

แล้วอนาคตมันจะสามารถกลับมาสู่จุดสมดุลแบบไหนได้ ในเมื่อภาพกองทัพถูกแบ่งเป็นสองขั้ว สำหรับความรู้สึกประชาชนคือเป็นทั้งฮีโร่และไม่ใช่

ตรงนี้เป็นประเด็นที่สำคัญ ภาวะแบ่งขั้วเช่นนี้มีคำภาษาอังกฤษเรียกว่า Deep polarization คือแตกออกเป็นสองขั้วอย่างรุนแรง คำที่เราใช้คือสงครามเสื้อสี หรือการเมืองเสื้อสี ที่มันยังคงดำรงสืบเนื่องมาถึงปัจจุบัน

 

ถามว่าใครได้ผลประโยชน์มากที่สุดจากภาวะที่เกิดการแตกขั้ว ฝ่ายที่ได้ผลประโยชน์มากที่สุดก็คือกองทัพ เพราะว่าท้ายสุดที่ภาวะเช่นนี้ดำรงอยู่ ภาคประชาชนหรือภาคการเมืองเองก็จะคุยกันไม่ได้ หาจุดประสานไม่ได้ ไม่สามารถประนีประนอม ไม่เหลือพื้นที่ตรงกลางที่จะมาทำงานทางการเมืองอะไรร่วมกันได้สักอย่าง กติกาที่จะตกลงยอมรับร่วมกันก็ไม่มี หรือชุดคุณค่าที่มีอยู่ตรงกลางเพื่อที่จะแชร์ร่วมกันก็ไม่มีสักอย่าง ระหว่างเหลือง-แดง เพื่อไทย-ประชาธิปัตย์ สุดท้ายคนที่ได้ผลประโยชน์มากที่สุดเมื่อประชาชนแตกคอกันเองก็คือทหาร ทหารก็จะบอกว่าถ้าคุณตกลงกันเองไม่ได้ มีประชาธิปไตยแล้วก็เดือดร้อน ตีกัน ถ้างั้นผมก็จะเข้ามาเป็นผู้คุมกฎ

 

หรือกลายเป็นภาวะ ‘ชินชา’ สำหรับประชาชนไปแล้ว

ผมคิดว่าชินชาก็ส่วนหนึ่ง แต่ปัญหาใหญ่ก็คือความกลัว ต้องอย่าลืมว่าคณะรัฐประหารชุดนี้เป็นคณะรัฐประหารที่ใช้อำนาจเข้มข้นที่สุดแล้วในการควบคุมสังคม ครั้งสุดท้ายที่เราเห็นภาวะที่ใกล้เคียงที่สุดก็คือยุคจอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ หรือก็คือกว่า 60 ปีแล้ว เราไม่เห็นระบอบรัฐประหารที่ใช้อำนาจเข้มข้นขนาดนี้

 

เพราะ ‘กลัว’ จึงต้องสร้างความกลัวเพื่อควบคุม?

ใช่ ด้วยเหตุนี้จึงต้องใช้อำนาจเข้มข้น ถ้าดูอย่าง คมช. ตอนนั้นก็จะจับกุม เพ่งเล็งนักการเมืองเป็นหลัก แต่ก็จะไม่มีการจับนักศึกษา สื่อ นักวิชาการมาเข้าค่ายปรับทัศนคติ เขาจะไม่มีเรื่องนี้ สิ่งเหล่านี้เป็นเรื่องใหม่ทั้งสิ้น ก็คือปฏิบัติกับประชาชนราวกับเป็นคอมมิวนิสต์ในสมัยจอมพล สฤษดิ์ หรือจอมพล ถนอม


ผมคิดว่าความกลัวเป็นด้านหลักของระบอบนี้ คสช. ใช้วิธีเขียนเสือให้วัวกลัว คือจัดการเป็นรายๆ ใครที่ออกมาเคลื่อนไหวและมีบทบาทเด่นก็จะโดน คนอื่นก็รู้สึกว่าต้นทุนมันสูงมากที่จะออกมาเคลื่อนไหวภายใต้รัฐบาลนี้

เราสามารถมีประชาธิปไตยที่ดีกว่าเดิมได้ ให้ทุกคนมาร่วมกันสร้าง แต่อำนาจนิยมของทหารในแบบที่เป็นอยู่นี้มันไม่ใช่คำตอบของการแก้ไขปัญหาประชาธิปไตยบกพร่อง


ช่วยขยายความเรื่องความกลัวหน่อย

ชนชั้นนำกลัวมากกับสิ่งที่เรียกว่าการเมืองมวลชน เราต้องเข้าใจว่าสิ่งที่มาพร้อมกับวิกฤตทางการเมืองครั้งนี้นั้นเริ่มมาจากการเมืองมวลชนเหลือง-แดง จนมาถึง กปปส. ยุคสิบปีที่ผ่านมานี้เป็นยุคที่มีการตื่นตัว การลุกขึ้นสู้ของการเมืองมวลชนที่เข้มข้นที่สุดแล้วในประวัติศาสตร์ไทย มากกว่าช่วง 14 ตุลา หรือ 6 ตุลาด้วยซ้ำ ฉะนั้นทหารเห็นตรงนี้


ชนชั้นนำไทย โดยเฉพาะชนชั้นนำเก่าหวาดกลัวการเมืองมวลชนมาโดยตลอด เพราะว่าเขาคุมไม่ได้โดยเบ็ดเสร็จ เราต้องเข้าใจว่าการเมืองมวลชนเหลือง-แดง และ กปปส. นั้นไม่เหมือนนวพล, กระทิงแดง หรือลูกเสือชาวบ้าน อันนั้นคือรัฐจัดตั้งเอง กอ.รมน. จัดตั้ง ทหารจัดตั้ง พอหมดภารกิจเขาก็ยุบเลิกไป เพราะทหารเป็นคนหล่อเลี้ยงให้เงิน แต่การเมืองมวลชนทั้ง 3 ขบวนการนี้เป็นการเมืองมวลชนที่มีอิสระเป็นของตนเอง แม้ว่ามันจะอิงแอบ มีสายสัมพันธ์ มีคอนเน็กชันกับชนชั้นนำ แต่กองทัพก็ไม่สามารถไปสั่งซ้ายหันขวาหันได้ ตรงนี้ผมคิดว่ามันมีความหวาดกลัว เพราะถึงที่สุดก็ไม่รู้ว่าผู้นำการเมืองมวลชนจะนำพามวลชนไปในทิศทางไหน


ทหารนั้นถนัดการเมืองแบบชนชั้นนำ มาอยู่ในห้องประชุมกัน 20 คน มีนายทหาร มีเจ้าสัว มีปลัดกระทรวง คุยตกลงกันบนโต๊ะหูฉลาม จบดีล อย่างนี้มันง่าย แต่พอเริ่มมีม็อบ มีการประท้วง มันลำบากแล้ว เพราะมันควบคุมไม่ได้ และไม่สามารถรู้ได้ว่าวันหนึ่งม็อบเหล่านี้จะลุกขึ้นมาต่อต้านตัวเองหรือเปล่า เพราะมันไม่ใช่มวลชนของทหารล้วนๆ ทีนี้พอมันมาประกอบกับอีกสองตัวที่ทำไมทหารหรือชนชั้นนำเก่าต้องมาควบคุมอำนาจในช่วงนี้ เพราะการเมืองมวลชนได้เติบโตอย่างไม่เคยเป็นมาก่อน พรรคการเมืองก็เติบโต และมันไม่ใช่พรรคเบี้ยหัวแตกแบบสมัยพลเอก เปรม ที่แต่ละพรรคได้เสียงกันมาคนละนิดคนละหน่อย แต่ก่อนไม่เคยมีใครได้เสียงเกิน 50% เวลาเลือกตั้ง มากที่สุด 30% ก็เก่งแล้ว พอเป็นเช่นนี้ทหารก็คุมง่าย เพราะมันต้องมีการรวมกันหลายพรรคเพื่อจัดตั้งรัฐบาลภายใต้การนำของกองทัพ เพราะพรรคการเมืองตกลงกันเองไม่ได้


แต่พอมีรัฐธรรมนูญ ปี 2540 มีพรรคไทยรักไทย มีทักษิณ มันได้เปลี่ยนทุกอย่าง การเติบโตของพรรคการเมืองที่เป็นพรรคขนาดใหญ่ แล้วมีฐานเข้ามาเชื่อมกับมวลชนอีก ยิ่งเป็นภาพน่ากลัวที่คุกคามชนชั้นนำเก่า บวกกับจิ๊กซอว์อีกตัวหนึ่ง พอมันมาประกอบกับการเมืองช่วงเปลี่ยนผ่านที่ระเบียบอำนาจเดิมในหมู่ชนชั้นนำมันเปลี่ยนแล้ว มันต้องจัดระเบียบอำนาจกันใหม่ในหมู่ชนชั้นนำ มันก็มีการแย่งชิงการนำกันเองในหมู่ชนชั้นนำในยุคเปลี่ยนผ่าน

 

 

แต่พื้นที่ทางการเมืองมวลชนปัจจุบันมันมากกว่าท้องถนน โซเชียลมีเดียกลายเป็นเรื่องที่มีความพยายามจะควบคุมด้วย

แน่นอนว่าการคุมการเมืองบนท้องถนนนี้มันไม่ยาก แม้แต่รัฐที่มีความเป็นเผด็จการมากกว่า มีทรัพยากรมากกว่า ก็ยังต้องปวดหัวกับการเมืองบนโลกออนไลน์ เช่น จีน รัสเซีย เพราะมันไม่ใช่พื้นที่ที่จะมีใครสามารถเข้ามาคุมได้อย่างเบ็ดเสร็จเด็ดขาด


การเมืองบนท้องถนนนี้คุณยังสามารถใช้ตำรวจ ใช้ทหารเข้ามาคุมได้ คนออกมาเคลื่อนไหวคุณก็จับ เพราะมันมีตัวตน คุณสามารถจับได้ เท่านี้คนก็กลัวแล้ว แต่ว่าการเมืองบนโลกออนไลน์มันเป็นพื้นที่ที่ทุกคนสามารถมีบทบาทได้ แล้วคุณจะไล่จับอย่างไร มันไม่ต้องเปิดเผยตัวก็ได้ หรือเคลื่อนไหวมาจากต่างประเทศก็ยังได้ ไม่ต้องมีพื้นที่ที่เป็นกายภาพอยู่ในประเทศด้วยซ้ำ มันจึงเป็นพื้นที่ที่ยากต่อการควบคุม


ต้องเข้าใจว่าชนชั้นนำเก่าของไทยที่เขาครองอำนาจอย่างยาวนาน เครื่องมือที่มีประสิทธิภาพมากก็คือการควบคุมความคิด มันผ่านการกล่อมเกลาทางความคิด ผ่านการกล่อมเกลาทางประวัติศาสตร์ ผ่านละคร ผ่านทุกสิ่งทุกอย่างจนคนเชื่อ


ดังนั้นย้อนกลับมาตอบคำถามที่ว่า ทำไมพื้นที่ทางอินเทอร์เน็ตจึงน่ากลัว ประการที่หนึ่ง มันมาทำให้การควบคุมทางความคิดยากยิ่งขึ้น การประท้วงนั้นยังไม่ใช่สิ่งน่ากลัว แต่เมื่อใดที่การควบคุมทางความคิดนั้นไม่สามารถทำได้อีกต่อไป เมื่อนั้นพวกเขาก็สูญเสียอำนาจในทันที ถ้าคนเลิกเชื่อในมายาคตินี้ว่าทหารเป็นผู้พิทักษ์และทำทุกอย่างเพื่อผลประโยชน์ส่วนรวม


ถ้าทุกคนเริ่มตั้งคำถามกับมายาคตินี้ วาทกรรมนี้ แล้วบอกว่า “เฮ้ย คุณใช้อำนาจ ยึดอำนาจเพื่อพวกพ้องนี่” ไม่เกี่ยวอะไรกับชาติ ไม่เกี่ยวอะไรกับผลประโยชน์ส่วนรวม นาฬิกานั้นมาจากไหน คำถามเหล่านี้มันกัดกร่อนภาพมายาคติของทหารที่ว่ามันต่างจากนักการเมือง เป็นคนที่คิดแต่ผลประโยชน์ส่วนรวม ไม่โกงกิน ทำเพื่อชาติ ตรงนี้การควบคุมทางความคิดจึงสำคัญ พื้นที่อินเทอร์เน็ตจึงต้องถูกควบคุม

 

 

ท่าทีของ ‘โลก’ สร้างแรงกระทบอะไรได้บ้างไหม

อย่างที่บอก พื้นที่ทางอินเทอร์เน็ตไม่ใช่แค่คนในประเทศใช้ได้ ข้อมูลข่าวสารปัจจุบันไหลเวียน สำนักข่าวต่างประเทศรายงาน องค์กรต่างประเทศรายงาน คนไทยถูกควบคุม ขยับอะไรไม่ได้ NGO ไทยขยับอะไรไม่ได้ แต่ยังมีองค์กรสิทธิมนุษย์ชนต่างประเทศมากมาย ฮิวแมนไรท์ วอช, องค์กรแอมเนสตี้ หรือกระทั่งยูเอ็น เขาก็คอยจับตาอยู่ตลอด


ฉะนั้นมันก็เป็นพื้นที่ที่ทหารหวาดกลัวแน่นอน เพราะการทำรัฐประหารในยุคปัจจุบันหรือยุคหลังสงครามเย็นนั้นมันไม่มีความชอบธรรมอยู่แล้ว มันเป็นการเมืองที่ล้าสมัยไปแล้ว ในโลกนี้ก็เหลือเพียงไม่กี่ประเทศแล้วที่ยังมีการทำรัฐประหารอยู่ ตั้งแต่สิ้นสุดสงครามเย็น ส่วนใหญ่เป็นประเทศที่ล้าหลัง ด้อยพัฒนา คนไทยยังแทบไม่รู้จักด้วยซ้ำ ประเทศเหล่านี้เป็นประเทศด้อยพัฒนาล้าหลัง หมายความว่าอย่างไร หมายความว่า ต้นทุนในการทำรัฐประหารเขาต่ำ มันไม่ต้องแคร์มาก มันไม่มีอะไรจะเสียแล้ว โลกจะบอยคอตก็ไม่เป็นไร เคยถูกต่อต้าน ถูกกีดกัน หรือเป็นประเทศที่ฝืนระเบียบโลกอยู่ก่อนหน้านี้แล้ว


แต่ประเทศอื่นๆ ที่เป็นประเทศที่พัฒนาแล้วในระดับใกล้เคียงกับไทยนั้นยากที่จะทำรัฐประหาร เพราะทำแล้วต้นทุนมันสูง เศรษฐกิจโลกาภิวัตน์ ประเทศไทยเปิดประเทศมาโดยตลอด ไม่เคยปิดประเทศ การโดนบอยคอตจากต่างชาตินั้นเป็นเรื่องใหญ่ มันทำให้ทุกอย่างชะงักงันหมด การโดนตัดความสัมพันธ์ทางการทูต โดนตัดความช่วยเหลือทางการทหาร มันเป็นเรื่องใหญ่


พูดง่ายๆ ก็คือยิ่งประเทศคุณพัฒนาแล้วมากเท่าไร ต้นทุนที่คุณจะต้องจ่ายยิ่งสูงมากขึ้น ถ้าเทียบประเทศไทยกับประเทศที่ยังมีการรัฐประหารตั้งแต่สิ้นสุดสงครามเย็น เราเป็นประเทศที่มีระดับการพัฒนาเศรษฐกิจสูงที่สุดแล้ว ฉะนั้นแสดงว่าชนชั้นนำจะต้องรู้สึกไม่มั่นคงเป็นอย่างมาก ยอมจ่ายราคาที่แพงขนาดนี้ในการทำรัฐประหาร ที่สำคัญคือเรามีการรัฐประหารมาแล้วถึง 2 ครั้งในรอบ 10 ปี คือเขารู้ ไม่ใช่ไม่รู้ว่าต้นทุนคืออะไร

 

ยอมจ่ายเพื่อที่จะควบคุมความกลัว?

แน่นอน ผมจะเล่าให้ฟังนิดหนึ่ง ก่อนการรัฐประหาร ปี 2549 กลุ่มนายทหารที่จะทำรัฐประหารได้ถามนักวิชาการจำนวนหนึ่ง ขอความคิดเห็นเลยว่าหากทำรัฐประหารแล้วโลกจะบอยคอตไหม ต่างชาติจะมีปฏิกิริยาอย่างไร นักวิชาการที่เขาไปถามมีมากกว่าหนึ่งคน นักวิชาการต่างก็ตอบเป็นเสียงเดียวกันว่า หากทำ โลกรับไม่ได้แน่ โลกมีปฏิกิริยาแน่


ดังนั้นหมายความว่าทหารนั้นทำโดยรู้ว่าต้นทุนนั้นคืออะไร ไม่ใช่ไม่รู้ แต่เขาก็เลือกที่จะทำ เพราะเดิมพันภายในประเทศ ปัจจัยภายในประเทศนั้นสูงกว่า เขากลัวว่าอำนาจต่างๆ นั้นจะหลุดลอยไปจากมือ การรัฐประหาร ปี 2557 นั้นก็เช่นเดียวกัน

ประเทศหนึ่งนั้นตั้งอยู่ไม่ได้เพียงเพราะว่ามีความสงบอย่างเดียว ประเทศจะต้องมีการพัฒนาด้วย มันจะต้องตอบได้ว่าคนจะอยู่กันอย่างมีคุณภาพชีวิตที่ดีด้วย

 

ในมุมกลับ ทหารก็สร้างคุณูปการให้กับประเทศเหมือนกัน คือการหยุดยั้งไม่ให้ประชาชนต้องปะทะกัน

สิ่งที่กล่าวมานี้คือจุดขายของ คสช. หากถามว่าอะไรคือฐานความชอบธรรมที่สำคัญที่สุดของ คสช. ก็คือการรักษาความสงบ ซึ่งสิ่งนี้มันคือจุดแข็งของระบอบอำนาจนิยมทั่วโลกอยู่แล้ว


ถามว่าอะไรคือแบรนด์ของอำนาจนิยม ถามว่าหากมันมีสินค้าวางอยู่บนชั้น และอำนาจนิยมเป็นสินค้าตัวหนึ่งในแง่ทางการเมือง ทำไมคนถึงจะมาเลือกซื้อสินค้าตัวนี้ แทนที่จะเลือกประชาธิปไตยหรือเลือกตัวอื่นๆ อำนาจนิยมขายอะไร สิ่งนั้นคือการควบคุมความสงบ ความมั่นคง แต่ว่าในขณะเดียวกันก็หมายความว่าอย่างอื่นนั้นไม่ใช่จุดแข็งของเขา


คุณจะไปถามหาจุดแข็งอย่างอื่นจากสินค้าตัวนี้ จากระบอบนี้ไม่ได้ ถามว่ากองทัพเก่งอะไรที่สุด ก็คือการรักษาความสงบมั่นคงในประเทศ เพราะนั่นคือหน้าที่หลัก แต่พอเสร็จแล้ว ทหารเข้ามารักษาความสงบแล้ว เมื่อคนคาดหวังมากกว่านั้น เศรษฐกิจต้องดีด้วย ปรองดองความขัดแย้งให้ได้ด้วย ต้องพัฒนาคุณภาพชีวิตคนด้วย ต้องห่วงใยเรื่องสิ่งแวดล้อมด้วย ปากท้องของชุมชนด้วย สิ่งทั้งหลายเหล่านี้ไม่ใช่โจทย์ของ คสช. และไม่ใช่จุดแข็งของเขา


ฉะนั้นถามว่าจุดแข็งมีไหม มีแน่นอน แต่ประเทศหนึ่งนั้นตั้งอยู่ไม่ได้เพียงเพราะว่ามีความสงบอย่างเดียว ประเทศจะต้องมีการพัฒนาด้วย มันจะต้องตอบได้ว่าคนจะอยู่กันอย่างมีคุณภาพชีวิตที่ดีด้วย ในโลกที่มีความท้าทาย ประเทศจะก้าวไปข้างหน้าอย่างไร ถ้าจะสงบเพียงอย่างเดียว


ผ่านมา 3 ปีแล้ว คสช. ยังไม่สามารถหาจุดแข็งอย่างอื่นได้ และบอกว่านี่คือจุดแข็งของเรา คือการให้ความสงบ เท่านั้นไม่พอแล้ว ในปีแรกนั้นอาจจะพอ แต่ตอนนี้ไม่พอแล้ว คนต้องการมากกว่านั้น

 

มีบางคนบอกว่าภารกิจของเขาคือยุติความขัดแย้ง ขณะที่บางส่วนก็บอกว่าเขากลายเป็นคู่ขัดแย้งขึ้นมาเสียเอง

นี่คือสิ่งที่ผมคิดว่าจะกลายเป็นจุดที่อันตราย เมื่อประชาชนแตกเป็นสองขั้ว และทหารได้ใช้ประโยชน์โดยบอกว่าเข้ามาเพื่อรักษาความสงบ แต่ตอนนี้หลายเรื่องทหารไปเป็นคู่ขัดแย้งกับชาวบ้านเสียเอง เช่น กรณีโรงไฟฟ้าเทพา กรณีชุมชนชาวบ้านในที่ต่างๆ ที่จะมีเหมืองมาลง


ก่อนหน้านี้ชาวบ้านเหล่านี้ขัดแย้งกับใคร เขาอาจเคยสนับสนุนทหารด้วยซ้ำ แต่ตอนนี้ทหารกลับกลายมาเป็นคู่ขัดแย้งของเขา เขาไม่ได้ขัดแย้งกับเสื้อเหลือง-เสื้อแดง กลายเป็นว่าทหารกลายเป็นคู่ขัดแย้งกับชาวบ้าน และรู้สึกว่าทหารเอากลุ่มทุนมากกว่าจะปกป้องผลประโยชน์ของชาวบ้าน และผลปรากฏว่าชาวบ้านโดนดำเนินคดี โดนจับ กลายเป็นว่าความสงบนี้เป็นความสงบที่มาพร้อมกับต้นทุน สงบเพราะว่าทหารปิดพื้นที่ทางการเมืองทุกอย่าง ไม่ให้กลุ่มไหนแสดงออกได้เลย คนเริ่มเห็นราคาที่ต้องจ่ายให้กับความสงบนี้

 

 

กลับสู่อำนาจอีกครั้งด้วยการเป็น ‘นายกฯ คนนอก’ เป็นไปได้แค่ไหน

เส้นทางไปสู่นายกฯ คนนอก จริงๆ ไม่ได้ง่ายอย่างที่นักวิเคราะห์หลายคนวิเคราะห์กัน จริงๆ มันยากหากเราดูรัฐธรรมนูญแล้ว โดยต้องอาศัยเสียงโหวตจากทั้งสองสภาร่วมกันคือ ส.ส. และ ส.ว. รวมกัน 750 ครึ่งหนึ่งคือ 375 ตอนนี้มี ส.ว. แต่งตั้งแล้วทั้งหมด 250 คน โดยเราจะยังไม่พูดถึงว่าจะสามารถควบคุมได้ทั้งหมดหรือไม่ แต่สมมติว่าพรรคทหารแต่งตั้งแล้วทั้งหมด 250 ก็ยังต้องการอีก 125 เสียง เพื่อที่จะได้นายกฯ คนนอก 125 เสียงนี้ไม่ใช่จำนวนที่น้อย เพราะอย่าลืมว่าการเลือกตั้งที่ผ่านมาทุกครั้งตั้งแต่หลังปี 2540 เพื่อไทยและประชาธิปัตย์รวมกันนั้นก็เกิน 80% ของสภาแล้ว พูดง่ายๆ 500 ในสภาที่ผ่านมาสองพรรคนี้รวมกัน ได้ 400 กว่าที่นั่งขึ้นไป เหลือเศษแบ่งให้พรรคเล็กพรรคน้อยไม่เท่าไร ดังนั้นมันจึงไม่ง่าย เพราะว่าภูมิทัศน์ทางการเมืองและพฤติกรรมการเลือกตั้งของคนไทยเปลี่ยนไปแล้ว คือคนไทยเลือกแค่สองพรรคใหญ่นี้ ไม่เพื่อไทยก็ประชาธิปัตย์


หากเราย้อนไปดูประวัติศาสตร์จริงๆ แล้ว พรรคทหารไม่เคยประสบความสำเร็จ ขนาดกุมอำนาจรัฐทุกอย่างอยู่ในมือ ไม่มี กกต. กระทรวงมหาดไทยก็จัดการเลือกตั้ง รัฐกุมทุกอย่าง กุมหน่วยการเลือกตั้ง ยุคจอมพล ป. พิบูลสงคราม โกงการเลือกตั้งเอง ขนาดใช้ทุกวิถีทางก็ยังไม่ได้คะแนนเสียงแบบถล่มถลาย ปัญหาสำคัญก็คือชาวบ้านไม่เลือก ถ้าไปดูพรรคสหประชาไทยก็ได้คะแนนเสียงไม่ถึงครึ่ง ไปดูพรรคสามัคคีธรรม สมัยพลเอก สุจินดา คราประยูร ก็ชนะด้วยคะแนนไม่ถึงครึ่ง และชนะอันดับสอง อันดับสาม เพียงนิดเดียว ขนาดใช้กลไกรัฐทุกอย่าง เพราะถึงเวลาเลือกตั้ง เข้าคูหา คุณคุมประชาชนไม่ได้แล้ว ถึงเวลานั้นคุณจะจับมือประชาชนกาเหรอ


ที่ผ่านมาพรรคทหารใช้อิทธิพลเป็นหลัก ไม่ค่อยมีนโยบายและไม่มีความแตกต่าง พรรคทหารคืออะไร ก็คือเอานักการเมืองมารวมกัน คนก็แยกไม่ออกว่าต่างจากพรรคอื่นๆ อย่างไร เพราะต่างก็เป็นหน้าเก่าๆ ทั้งสิ้น นำมาเขย่าขวดโหลใหม่ พอขึ้นชื่อว่าเป็นนอมินีให้ทหาร คนยิ่งไม่ชอบอีก


ผมว่าบทเรียนหนึ่งที่ทหารไม่ค่อยเรียนรู้ก็คือ คนส่วนหนึ่งอาจเชียร์ให้ทหารทำการรัฐประหารเพื่อความสงบเรียบร้อย แต่คนไทยไม่ค่อยชอบให้ทหารสืบทอดอำนาจตัวเองด้วยการมาเป็นพรรคการเมือง เพราะถ้าคุณทำอย่างนั้น คุณเองก็กลายเป็นนักการเมือง คุณเองก็ไม่ต่างอะไรกับนักการเมือง และยิ่งคุณไปจับมือกับนักการเมือง นำนักการเมืองหน้าเดิมมา คนไทยก็ไม่เห็นว่านี่คือพรรคการเมืองทางเลือกอย่างไร ผมว่าในขณะนี้คนไทยต้องการพรรคการเมืองทางเลือก ต้องการทางเลือกใหม่ๆ พรรคการเมืองน้ำดี นโยบายใหม่ๆ แต่ไม่ใช่พรรคทหาร ถ้าเป็นพรรคทหารเพื่อมาสืบทอดอำนาจ ผมคิดว่าคนไทยจะปฏิเสธ

 

ภาพของ ‘นักการเมือง’ กำลังซ้อนทับพวกเขาอยู่โดยไม่รู้ตัว

ตอนนี้นี่คือสิ่งที่คนเริ่มเห็นกันมากขึ้นเรื่อยๆ วาทกรรมที่ว่าตนเองไม่เล่นการเมือง ไม่ได้ยึดอำนาจเพื่อตัวเอง และจะไม่สืบทอดอำนาจ มันตรงกันข้ามเกือบทั้งหมดแล้ว ตอนนี้วาทกรรมเหล่านี้เริ่มหมดความศักดิ์สิทธิ์แล้ว

 

 

ปรองดองจะเกิดขึ้นไหม หรือแท้จริงแล้วยังไม่เกิดขึ้นเลยแต่แรก

จริงๆ มันไม่เกิดขึ้นแต่แรกอยู่แล้ว และที่จริงใน 3 ปีที่ผ่านมามันไม่เคยเป็นวาระหลักของรัฐบาลชุดนี้ คือความปรองดอง 3 ปีที่ผ่านมาเราได้อะไรมา เราได้ตุ๊กตาน้องเกี่ยวก้อย นี่คือรูปธรรมของความปรองดองใช่ไหม เพราะอย่างอื่นมันไม่เห็น เพราะคนยังรู้ว่าคนไทยยังแตกแยกร้าวลึก ถ้าจริงจังแบบปรองดองจริง สิ่งที่เราทำนั้นไม่มีอะไรเข้าข่ายเลยที่จะนำไปสู่ความปรองดอง เราชอบไปอ้างแบบเนลสัน แมนเดลา โมเดลแอฟริกาใต้ นั่นเขาทำจริงจัง


การปรองดองต้องมีเวทีให้คู่ขัดแย้งได้มาคุยกันอย่างเปิดอก มีการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม คุณจะจัดการอย่างไรกับนักโทษการเมือง กับความบาดเจ็บสูญเสีย มันต้องเยียวยา มันมีกลไกมากมายที่ต้องทำเพื่อการปรองดอง และมันไม่ใช่งานง่าย เราไม่มีกลไกเหล่านี้เลย ไม่มีกระบวนการมีส่วนร่วมใดทั้งสิ้น


ถ้ามันแก้ได้ด้วยตุ๊กตา มันก็แสดงว่าเราไม่ได้ขัดแย้งกันจริง ถ้าสังคมหนึ่งสามารถสร้างความปรองดองกันได้ด้วยตุ๊กตาเกี่ยวก้อย แสดงว่ามันไม่ได้ซีเรียส แต่ผมว่ามันสะท้อนภาวะหลายๆ อย่างที่เราเผชิญอยู่ ภาษาอังกฤษเรียกมันว่า out of touch คือตุ๊กตาเกี่ยวก้อยนี้เป็นสัญลักษณ์ที่แสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่าผู้ที่กุมอำนาจอยู่ในตอนนี้ไม่ได้เข้าใจความซับซ้อนและความลึกซึ้งของปัญหาที่ดำรงอยู่ นึกว่าจะสามารถแก้ไขปัญหาได้ง่ายๆ ด้วยการไม่ต้องทำอะไร บอกให้คนมาจับมือกัน มารักกัน


แต่ถ้าเราไปดูปัญหาทั้งหมด ปฏิรูปกับปรองดองคือสองเรื่องใหญ่ที่ คสช. สัญญาว่าจะทำ แต่ว่าสองเรื่องใหญ่นี้มันไม่มีทางทำสำเร็จ ถ้าไม่ดึงภาคสังคมเข้ามามีส่วนร่วม เพราะการปฏิรูปและการปรองดองที่ประชาชนไม่มีส่วนร่วม ท้ายสุดเขาก็จะไม่มีความรู้สึกว่าเขาเป็นเจ้าของ ท้ายสุดมันก็เป็นการปฏิรูปของชนชั้นนำกลุ่มเล็ก เป็นการปรองดองจากท็อปดาวน์ จากบนสู่ล่าง แต่ความขัดแย้งมันเกี่ยวข้องกับคนทั้งสังคม มันจะปรองดองจากท็อปดาวน์ได้อย่างไร มันมีคนเกี่ยวข้องเป็นล้านๆ คนจากทั้งสองฝ่าย หรือกระทั่งจะมีฝ่ายที่สามด้วย เมื่อไม่มีพื้นที่การมีส่วนร่วม ทั้งปฏิรูปและปรองดองจะล้มเหลว ดังที่ตอนนี้คนเริ่มออกมาพูดแล้วถึงความล้มเหลว เพราะมันมองไม่เห็นอะไรเลยที่เป็นรูปธรรม ทั้งการปฏิรูปและปรองดอง

 

 

แล้ว 3 ปีที่ผ่านมา คุณมองว่าอะไรคือภารกิจหลัก

ก็คือความสงบ ซึ่งรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งปกติ กลไกของรัฐอย่างทหารก็สามารถทำสิ่งนี้ได้อยู่แล้ว เพราะนี่คือหน้าที่หลักของกองทัพ ถ้ากองทัพทำหน้าที่นี้ตั้งแต่ต้น ความสงบมันก็มีได้


แต่ตอนนี้นอกจากทหารจะเข้ามาเก็บกวาดบ้านแล้ว เริ่มที่จะตั้งโต๊ะ จัดสำรับอาหาร และคนที่ถูกเชิญขึ้นมากินบนโต๊ะนั้นกลับเป็นเจ้าสัว ไม่ใช่คนธรรมดา พรรคพวก พวกพ้องในกองทัพ คนเริ่มเห็นว่าการจัดระเบียบครั้งนี้ที่บอกว่ามันสงบ ประชาชนนั้นอยู่นอกห้อง ไม่ได้ถูกเชิญเข้ามาในห้องที่กำลังตั้งสำรับอาหารเพื่อแบ่งกันกินใหม่


ผมว่ามันผ่านมา 3 ปี คสช. กลับโดดเดี่ยวตัวเองมากขึ้นกว่าเมื่อตอนที่ยึดอำนาจช่วงแรกๆ ทั้งผลักมวลชนที่อาจเคยสนับสนุนตัวเองให้กลายไปเป็นคู่ตรงข้าม คู่ขัดแย้ง ชุมชน ชาวบ้าน NGO จำนวนหนึ่ง ผลักพรรคการเมืองจำนวนหนึ่งซึ่งอาจเคยเป็นพวกเดียวกันให้กลายเป็นคู่ตรงข้าม ซึ่งผมว่าเมื่อคุณเริ่มโดดเดี่ยวตัวเองมากๆ เรื่องใหญ่ๆ ก็ยากที่จะสำเร็จ งานใหญ่ๆ ทั้งนั้นที่บอกว่าจะทำ ทั้งปฏิรูป ปรองดอง ฟื้นฟูการเมืองให้มีคุณภาพมากกว่าเดิม ตอนนี้ภาพที่คนเห็นคือแม่น้ำห้าสายมันมีเพียงสายเดียว คืองอกออกมาจาก คสช. ซึ่งรวบอำนาจทุกอย่าง เพราะพื้นที่ทางการเมืองถูกปิดหมด เสียงประชาชนไม่ว่ากลุ่มไหนทั้งสิ้นต่างก็ส่งไปไม่ถึง

 

 

คนรุ่นใหม่ที่เราฝากความหวังไว้นี้มีพื้นที่ มีความหวังดังที่เราเชื่อว่ามันจะมีอยู่จริงไหม

การเมืองควรเป็นเรื่องของคนรุ่นใหม่ อย่าลืมว่าเราอยู่ในโลกที่มีผู้นำบางประเทศอายุ 31 ปี แต่ของเราไม่มีเลย ทั้งที่ทิศทางการเมืองทั่วโลก หากเราไปดู เป็นทิศทางที่คนรุ่นใหม่มีบทบาทมากขึ้นในทางสังคม ในทางการเมือง ในทางเศรษฐกิจด้วย ทั้งผู้ประกอบการรุ่นใหม่ คนรุ่นใหม่ที่เข้ามาในวงการเศรษฐกิจ อายุน้อยมาก เข้ามาบุกเบิก เป็นยุคของ Disruption ทุกอย่างมัน Disrupt หมด เจ้าสัว เศรษฐีเก่าๆ อยู่ดีๆ มันเจอคนรุ่นใหม่ที่มาพร้อมกับเทคโนโลยี มาพร้อมกับไอเดียใหม่ๆ ขึ้นมาเป็นบิลเลียนแนร์ในเวลาไม่กี่ปีในทุกวงการ ทั้งในแวดวงสังคม เศรษฐกิจ ศิลปะ


ความเปลี่ยนแปลงมันมาเร็ว มันไม่ต้องรอให้คุณอายุ 50 คุณถึงจะประสบความสำเร็จ คุณถึงจะค้นพบอะไรใหม่ๆ ตอนนี้คน 20 กว่าๆ ก็สามารถถางทางให้กับตัวเองได้


ที่จริงบ้านเราก็จะได้เห็นปรากฏการณ์บางอย่างในแง่บวก เช่น ซีไรต์ปีนี้ คนที่ได้รับรางวัลอายุ 25 ปี ในยุคปัจจุบันที่ความเปลี่ยนแปลงมันเร็ว และแลนด์สเคปมันเปิดกว้างให้กับทุกคน คุณมีไอเดียดีๆ ไหม หากคุณมีไอเดียดีๆ ที่สดใหม่ คุณผงาดขึ้นมาได้ ไม่ว่าจะในวงการไหน มันเป็นเหตุที่ทำไมบางประเทศถึงได้มีผู้นำอายุ 30 กว่า 40 กว่านี่เริ่มแก่แล้ว อย่างมาครงก็อายุน้อยที่สุดหลังนโปเลียนเป็นต้นมา เพราะว่าคนต้องการทางเลือกใหม่ๆ และคนรู้สึกว่าอายุไม่ใช่ดัชนีในการบอกว่าคุณเก่งเสมอไป ประสบการณ์ไม่ใช่จุดขายแล้วในโลกปัจจุบัน คุณมีไอเดียสดใหม่ คุณสามารถสร้างแรงบันดาลใจให้กับคนได้หรือเปล่า คุณรวมพลังคนได้ไหม


แต่สังคมไทยนี้มันย้อนแย้ง สิ่งที่เราทำอยู่ทุกวันนี้ตรงข้ามกับเทรนด์ของโลก เพราะสิ่งที่เราทำคือเอาอำนาจไปไว้กับคนแก่ทั้งหมดเลย ลองไปดูว่าแม่น้ำห้าสายนี้เป็นแม่น้ำของคนแก่เลยนะ แล้วรัฐธรรมนูญฉบับนี้ รวมถึงแผนยุทธศาสตร์ 20 ปี ผมมองว่ามันคือพินัยกรรมของคนแก่ที่จะออกแบบเพื่อตรึงสังคมไว้ เพื่อให้เป็นสังคมที่คนแก่อยากจะอยู่ เขากลัวโลกที่มีความเปลี่ยนแปลง ผันผวนรวดเร็ว เขาอยากจะหยุดเวลาไว้ เป็นสังคมที่เขาใฝ่ฝันว่าสิ่งนี้เป็นสิ่งที่ดีที่สุด แต่มันดีสำหรับคนแก่ คนรุ่น 50-90 และสตัฟฟ์สังคมไว้ ซึ่งผมคิดว่ามันไม่แฟร์มากๆ ที่จะให้คนรุ่นหลังต้องมารับมรดกตกทอดพินัยกรรมอันนี้ อีก 20 ปีต้องอยู่กับยุทธศาสตร์นี้ที่ว่าไว้โดยคนแก่ ไม่ต้องพูดถึงเรื่องพื้นที่ทางการเมืองที่ตอนนี้มันถูกปิดกั้นไว้ทั้งหมด และเป็นยุคที่น่าแปลกใจที่ผู้นำสูงอายุหวาดกลัวคนหนุ่มสาวขนาดนี้

ประวัติศาสตร์เป็นเรื่องมือสำคัญมากในการควบคุมคนในสังคมไทย แต่คนเริ่มตั้งคำถามกับประวัติศาสตร์ที่เป็นทางการ มันเริ่มค้นหาความรู้ใหม่ๆ ว่าที่เรียนมานั้นผิดหมดเลย

 

หรือเขามองประวัติศาสตร์ว่าคนเหล่านี้สามารถล้มยักษ์ได้ เปลี่ยนแปลงอะไรบางอย่างได้หรือเปล่า

ผมคิดว่าเขากลัวการสูญเสียอำนาจในการควบคุมทางความคิด ซึ่งผมได้บอกไว้ว่ามันคือเครื่องมือที่สำคัญที่สุดในการควบคุมคนในสังคมไทย คือคุณตรึงคนเอาไว้กับมายาคติชุดหนึ่ง ถ้าคุณตรึงได้สำเร็จ คุณก็สามารถตรึงสังคมไทยเอาไว้ได้ในแบบที่คุณต้องการ แต่คนรุ่นใหม่นั้นเริ่มตั้งคำถาม


เอาแค่มิติเดียว เรื่องประวัติศาสตร์ ประวัติศาสตร์เป็นเครื่องมือสำคัญมากในการควบคุมคนในสังคมไทย แต่คนเริ่มตั้งคำถามกับประวัติศาสตร์ที่เป็นทางการ มันเริ่มค้นหาความรู้ใหม่ๆ ว่าที่เรียนมานั้นผิดหมดเลย ประวัติศาสตร์ไทยไม่ได้เป็นแบบนี้ เริ่มตั้งคำถามว่าทหารรักชาติจริงหรือเปล่า และการรัฐประหารแต่ละครั้ง สุดท้ายผลประโยชน์ตกอยู่ที่ใคร คอร์รัปชันจริงไหม ทำไมจอมพล สฤษดิ์ หรือจอมพล ถนอม รัฐประหารเสร็จแล้วร่ำรวยขึ้นหลายพันล้าน แต่โดนยึดทรัพย์ในเวลาต่อมา


คนเริ่มหาความรู้ด้วยตัวเองในโลกที่ปิดกั้นไม่ได้แล้วตอนนี้ ประวัติศาสตร์นั้นอยู่ทุกหนทุกแห่ง ละคร ศรีอโยธยา มีการถกเกียง มีการดีเบตกันอย่างเผ็ดร้อนในโลกออนไลน์ คนเริ่มตั้งคำถามกับนิทานเหล่านี้แล้ว รัฐไทยควบคุมคนผ่านนิทานชุดหนึ่ง คนรู้สึกไม่เชื่อนิทานนี้แล้ว เพราะมันไม่สอดคล้องกับความเป็นจริง

 

 

ระบบทหารจะหมดไปจากวงจรการเมืองได้อย่างไร

มีสองประเด็นในการตอบคำถามนี้ อันแรกเราต้องยอมรับก่อน ตั้งต้นจากจุดที่ว่าประชาธิปไตยที่อยู่ในสังคมไทยนั้นก็ยังไม่ใช่ประชาธิปไตยในอุดมคติมันยังมีข้อบกพร่อง ดังนั้นผมจะบอกใครต่อใครเสมอ รวมถึงนักศึกษาว่าตอนนี้มันถึงเวลาที่เราจะต้องมาสร้างภาพฝันใหม่ร่วมกันเกี่ยวสังคมไทยว่าเราต้องการที่จะก้าวพ้นไปจากอำนาจนิยมนี้ ไม่ใช่ว่าจะกลับไปเป็นประชาธิปไตยแบบเดิมเป๊ะๆ นะ เพราะผมคิดว่าเราก็เห็นว่าประชาธิปไตยแบบเดิมที่มีอยู่นี้ก็มีปัญหาไม่ใช่น้อย ซึ่งยังต้องการการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงอยู่ เพราะถ้าไม่ปรับปรุงเปลี่ยนแปลงให้ดีขึ้น คนก็จะถวิลหาอำนาจนิยมอีก มันก็จะวนลูปอยู่อย่างนี้ เพราะคนก็รู้สึกว่านักการเมืองมันห่วย การเลือกตั้งไม่ใช่คำตอบ


มันมีคนอยู่จำนวนหนึ่ง โดยเฉพาะชนชั้นกลางในเมืองที่สูญเสียศรัทธาไปแล้วกับระบอบประชาธิปไตย และเขาไม่รู้จะหันหน้าไปทางไหนแล้ว เขาจึงไปคว้าเอาอำนาจนิยมไว้ เราจึงมาค้างเติ่งอยู่ในปัจจุบันนี้


ถ้าจะถามว่าเมื่อไรจะออกไปจากภาวะวนลูปนี้ได้ เราต้องสร้างทางเลือกใหม่ขึ้นมา ต้องมองให้เห็นว่าสังคมไทยไม่ได้มีตัวเลือกแค่ขาว-ดำ ระหว่างประชาธิปไตยที่นักการเมืองมาโกง ปัญหาคอร์รัปชัน ถ้าไม่ชอบอันนี้ก็กระโดดไปหาอำนาจนิยมแบบเผด็จการทหารไปเลย ถ้ามีเพียงทางเลือกสองทางนี้ ผมว่าสังคมไทยอับจนแล้ว หมดอนาคตแล้ว ตอนนี้คนที่ห่วงใยต่อชาติบ้านเมือง มีความหวังดีต่อชาติบ้านเมืองจะรุ่นเก่ารุ่นใหม่ก็ได้ ต้องมารวมกันและร่วมกันเสนอทางเลือกใหม่ขึ้นมาให้กับสังคมไทย และบอกว่าเราไม่ได้มีแค่สองทางเลือกนี้


พูดง่ายๆ คือเราสามารถมีประชาธิปไตยที่ดีกว่าเดิมได้ ให้ทุกคนมาร่วมกันสร้าง แต่อำนาจนิยมของทหารในแบบที่เป็นอยู่นี้มันไม่ใช่คำตอบของการแก้ไขปัญหาประชาธิปไตยบกพร่อง เพราะเราเห็นแล้วว่าสิ่งที่เราทำอยู่นี้มันกลับไปซ้ำรอย ไม่ได้ต่างจากนักการเมือง คอร์รัปชันก็ยังมี พื้นที่การมีส่วนร่วมก็ยังถูกปิด แถมทหารยังจะมาสืบทอดอำนาจต่ออีก มันไม่มีอะไรต่างไปจากเดิม ตอนนี้มันเป็นช่วงวิกฤต แต่นี่ก็คือบททดสอบของสังคมไทยที่ว่าเราจะสามารถนำเอาวิกฤตนี้มาใช้ในการสร้างอนาคตที่ดีกว่าเดิมได้หรือเปล่า

 

 

เอาเฉพาะปีนี้ ปี 2561 เราจะอยู่กับสภาพนี้แบบมีความหวังได้อย่างไร

ผมคิดว่าคำหนึ่งที่ผมอยากจะให้คนไทยเปลี่ยนวิธีคิดคือคำว่า ‘อยู่เป็น’ ตอนนี้มันเหมือนเป็นคำของยุคสมัย อยู่เป็นก็คืออยู่ๆ กันไปในสภาพแบบนี้ ถ้าทุกคนอยู่เป็นหมด สังคมมันก็หยุดนิ่ง ไม่ขยับไปไหน ไม่มีแรงขับเคลื่อนต่อไปข้างหน้า ผมไม่ได้หมายความว่าให้ทุกคนไปทำอะไรที่ต้องลุกออกมาเสี่ยงภัยหรือเป็นอันตรายต่อตัวเอง แต่ทุกคนต้องขยับออกมาจากจุดที่อยู่ในปัจจุบันนี้ ไม่ใช่ให้ทุกคนเอาตัวรอดต่อไปง่ายๆ สังคมจะเป็นอย่างไรก็ช่างมัน


ผมคิดว่ามันถึงเวลาที่จะต้องมีการรวมกลุ่มกัน จะเป็นในแวดวงไหนก็ได้ ให้มาพูดคุยกัน คุณจะเป็นผู้ประกอบการ คุณจะเป็นนักธุรกิจ คุณจะเป็นศิลปิน ผมว่าเราค่อยๆ สร้างฟอรัมของตัวเองได้ ไม่ต้องรอรัฐ ไม่ต้องรอใคร เรามีเครื่องมือสื่อสาร มีแพลตฟอร์มตั้งเยอะแยะ ถ้ารัฐไม่คืนพื้นที่การมีส่วนร่วมให้ คนก็ต้องลุกขึ้นมาสร้างพื้นที่ให้ตัวเอง


ผมคิดว่าปีนี้ควรจะเป็นปีที่สังคมไทยใช้เป็นโอกาสของการเดินหน้าเพื่อสร้างภาพอนาคตร่วมกันใหม่ สิ่งนี้เป็นสิ่งที่สำคัญกว่าการเลือกตั้งด้วยซ้ำ เพราะว่าปีนี้จะมีการเลือกตั้งหรือไม่นั้น ไม่ใช่สิ่งที่ประชาชนเป็นคนกำหนดด้วยซ้ำ ไม่ใช่เรื่องที่อยู่ในมือประชาชน เรื่องที่สำคัญกว่าคือการที่ประชาชนลุกขึ้นมาทวงคืนสิทธิเสรีภาพของตนเอง เรียกร้องอะไรบางอย่างกับรัฐ แทนที่จะอยู่อย่างที่ ‘อยู่เป็น’


ผมเปรียบง่ายๆ ใช้อุปมาอุปไมยเรือแป๊ะ ตอนนี้สังคมไทยมาถึงจุดที่เรือลำนี้ลอยอยู่กลางมหาสมุทรแบบไร้ทิศทาง ลอยค้างเติ่งอยู่ในมหาสมุทร จะกลับเข้าฝั่งก็กลับไม่ได้ จะไปต่อข้างหน้าก็ไม่รู้จะไปไหน และคนก็เริ่มตั้งคำถามแล้วว่ากัปตันเรือนี้จะพาเราไปไหน ผมว่านี่คือความรู้สึกที่เราแชร์ร่วมกันในสังคม ไม่ว่าจะไปคุยกับคนกลุ่มไหนก็ตาม เป็นความรู้สึกที่วิตกกังวล ไม่แน่ใจกับอนาคตของสังคมตนเอง ไปคุยกับใครก็มีแต่เสียงบ่น ไม่มีใครสามารถมองภาพอนาคตแล้วบอกว่ามันสดใส มีแต่คนถามว่าเราจะไปอย่างไรต่อ


เมื่อเรามาอยู่ ณ จุดนี้ สังคมเราต่างก็ต้องโทษตัวเองที่เรานิ่งดูดาย มองว่าบ้านเมืองไม่ใช่ธุระของเรา แล้วเราก็ให้กัปตันกุมบังเหียนของเรืออยู่คนเดียว จนมาถึงจุดที่เรือลอยเคว้งคว้างอยู่กลางมหาสมุทร ไม่รู้จะไปไหนต่อ มองไม่เห็นฝั่งข้างหน้า ข้างหลังเราก็ไม่อยากกลับไป ผมก็ไม่อยากกลับไปสู่ความขัดแย้งนั้น แต่ข้างหน้าเราก็ควรมีทิศทางที่ดีกว่าเดิม


เพราะฉะนั้นมันก็ถึงเวลาที่ว่าทุกคนจะต้องลุกขึ้นมาส่งเสียงมากขึ้น และบอกว่าเรือลำนี้มันเป็นของพวกเราทุกคน เพราะถ้าคุณไม่ทำเช่นนั้น คนที่ลุกขึ้นมาก็จะโดดเดี่ยว ใครจะยืนขึ้นมาคนเดียว มันไม่มีพลัง กัปตันก็จับโยนลงใต้ท้องเรือ ไปปรับทัศนคติที่ใต้ท้องเรือ แต่ถ้าทุกคนเริ่มออกมาแล้วบอกว่ามันคือสมบัติของพวกเรา พวกเราทั้งหมดมีความหวัง เมื่อคนไม่นิ่งดูดายและเห็นว่าชะตาชีวิตของประเทศหรือเรือลำนี้มันไม่ควรถูกกำหนดโดยใครคนใดคนหนึ่ง หรือคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง แต่มันคือชะตาชีวิตร่วมกันของเราทั้งสังคม เราก็เป็นส่วนหนึ่งของสังคม

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X