×

PQS มุ่งสู่ Net Zero ภายในปี 2570 ผนึกภาคีเกษตรกรและชุมชน สร้างความยั่งยืนภาคเกษตรกรรมผ่านโครงการ Eco Park

02.02.2025
  • LOADING...
pqs-net-zero-2570

จังหวัดมุกดาหารเป็น 1 ใน 5 ของจังหวัดที่มีมูลค่าเศรษฐกิจน้อยที่สุดของประเทศไทย แม้ว่าจะเป็นจังหวัดท่องเที่ยวสำคัญของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เพราะมีภูมิประเทศติดกับแม่น้ำโขง อีกทั้งยังเป็น ‘ประตูสู่อินโดจีน’ ด้วยก็ตาม 

 

อย่างไรก็ตาม ในการปลุกชีพจรเศรษฐกิจท้องถิ่น หน่วยงานรัฐไม่สามารถทำได้เพียงลำพัง ความร่วมมือจากภาคเอกชนจึงเป็นโซลูชันทางลัดที่สามารถช่วยเสริมแรงให้กับหน่วยงานภาครัฐได้ ซึ่งหนึ่งในแรงสนับสนุนและสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับจังหวัดมุกดาหารก็คือบริษัท พรีเมียร์ควอลิตี้สตาร์ช จำกัด (มหาชน) หรือ PQS

 

 

โดย PQS เป็นผู้ดำเนินธุรกิจผลิตและจำหน่ายแป้งมันสำปะหลังและแป้งดัดแปร โดยมีโรงงานผลิต 3 แห่ง ตั้งอยู่ใน 3 จังหวัด คือ จังหวัดมุกดาหาร สกลนคร และกาฬสินธุ์ โดยแต่ละแห่งมีกำลังการผลิต 100,000 ตันต่อปี ส่วนกำลังการผลิตแป้งมันสำปะหลังดัดแปร 150 ตันต่อวัน หรือประมาณ 30,000-40,000 ตันต่อปี

 

และล่าสุดเมื่อปี 2566 ได้ริเริ่มแนวคิดในการพัฒนาใช้ประโยชน์พื้นที่ Secure Supply เพาะปลูกมันสำปะหลังเพื่อส่งเข้าโรงงานของบริษัท ซึ่งมีพื้นที่ขนาด 250 ไร่ ด้วยการสร้างต้นแบบความยั่งยืนของพื้นที่ปลูกมันสำปะหลังภายใต้แนวคิด ‘PQS Eco Park’ ซึ่งเน้นการพัฒนาร่วมกับชุมชนในด้านการอนุรักษ์ดินและน้ำ การปลูกต้นไม้เพื่อให้เป็นแหล่งอาหารตามธรรมชาติ และเพื่อสร้างระบบนิเวศ (Eco System) ให้กลับมาสมบูรณ์

 

นอกจากนี้ PQS ยังส่งเสริมให้พื้นที่แห่งนี้เป็นแหล่งเรียนรู้เกี่ยวกับระบบนิเวศเกษตร โดยให้เกษตรกรจากชุมชนเข้ามามีส่วนร่วมในการพัฒนาอาชีพและเสริมสร้างความเข้มแข็งของชุมชนอีกด้วย โครงการนี้ไม่เพียงช่วยพัฒนาเศรษฐกิจชุมชนเท่านั้น แต่ยังมุ่งเน้นในการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน ลดผลกระทบจากการดำเนินธุรกิจด้านการผลิต และมุ่งเน้นสร้างผลกระทบเชิงบวกด้วย การนำผลพลอยได้จากอุตสาหกรรมแป้งมันสำปะหลังกลับมาใช้ประโยชน์ในแบบ ‘Waste to Value’ เป็นการหมุนเวียนการใช้ทรัพยากรที่ก่อให้เกิดคุณประโยชน์อย่างมาก

 

“การพัฒนาที่ยั่งยืนไม่ใช่ทางเลือกเพียงเพื่อตัวเราเองอีกต่อไป แต่เป็นมรดกที่ทิ้งไว้ให้กับคนรุ่นหลัง เราทุกคนจึงต้องร่วมแรงร่วมใจเพื่อสร้างอนาคตที่ดีกว่าปัจจุบัน” รัฐวิรุฬห์ ชาญจึงถาวร ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท พรีเมียร์ควอลิตี้สตาร์ช จำกัด (มหาชน) กล่าว

 

รัฐวิรุฬ

 

ส่วนโครงการธนาคารต้นไม้ของ PQS เป็นการสร้างต้นแบบความยั่งยืนของพื้นที่ปลูกมันสำปะหลังและส่งเสริมความยั่งยืนในระบบเกษตรกรรมและชุมชน บริษัทมีการปลูกต้นไม้ในพื้นที่ โดยเน้นการฟื้นฟูและเพิ่มพื้นที่ป่า ซึ่งเป็นการช่วยอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมและสร้างแหล่งอาหารตามธรรมชาติให้กับชุมชน นอกจากนี้การปลูกต้นไม้ยังช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกและช่วยลดผลกระทบจากสภาพอากาศรุนแรง (Climate Change) ช่วยให้พืชไร่สามารถทนต่อสภาพอากาศได้ 

 

โดยปัจจุบันเริ่มมีเกษตรกรให้ความสนใจเข้าร่วมเป็นสมาชิกในพื้นที่บริเวณที่เป็นที่ตั้งของโรงงานเป็นเฟสแรก ซึ่งเริ่มมีการปลูกป่าเพื่อเป็นแหล่งเงินออม สร้างแหล่งอาหารตามธรรมชาติ จะช่วยลดการพึ่งพิงจากแหล่งอาหารภายนอกและส่งเสริมการดำรงชีวิตอย่างยั่งยืนในชุมชน รวมทั้งเตรียมจัดตั้ง Social Enterprise ร่วมกับสมาชิกกลุ่มธนาคารต้นไม้ 

 

“โครงการปลูกต้นไม้ให้แผ่นดินเพื่อสร้างความยั่งยืน และบริษัทมีเป้าหมายลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน หรือ Net Zero Carbon ภายในปี 2570” รัฐวิรุฬห์กล่าว 

 

โครงการปลูกต้นไม้ให้แผ่นดิน

 

นอกจากนี้ PQS ยังสร้างความยั่งยืนให้วัตถุดิบของบริษัทและสร้างมูลค่าเพิ่มให้เกษตร โดยร่วมกับโรงเรียนคำป่าหลายสรรพวิทย์เป็นโครงการนำร่อง เปิดหลักสูตรวิชาปลูกมันสำปะหลัง เพื่อปลูกฝังเยาวชนรุ่นหลังให้รู้วิธีแก้ไขปัญหาการเพาะปลูก และการทำการเกษตรที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม อีกทั้งยังเป็นการส่งเสริมอาชีพให้กับเยาวชนอีกด้วย 

 

ตั้งเป้ารายได้ปี 2568 โตกว่า 40% 

 

สำหรับแนวโน้มผลการดำเนินงานปี 2568 PQS คาดการณ์ว่ารายได้รวมจะเติบโตไม่น้อยกว่า 40% มาจากกำลังการผลิตใหม่ที่เพิ่มขึ้นราว 30% จากโรงงานผลิตแป้งมันสำปะหลัง (Native Starch) แห่งใหม่ที่จังหวัดกาฬสินธุ์ นอกจากนี้คาดว่าจะมีรายได้เพิ่มจากแป้งมันสำปะหลังดัดแปร (Modify Starch) ที่ทำรายได้และอัตรากำไรดีกว่าแป้งมันปะหลัง

 

“ธุรกิจแป้งมันเติบโตได้ต่อเนื่องตามกลุ่มลูกค้าหลักคือกลุ่มอุตสาหกรรมอาหารที่ยังมีแนวโน้มเติบโตเฉลี่ยปีละ 2-3% ขณะเดียวกันยังต้องติดตามค่าเงินบาทที่จะมีผลต่อผลประกอบการ” รัฐวิรุฬห์กล่าว

 

อย่างไรก็ตาม บริษัทยอมรับว่าตลาดจีนซึ่งเป็นตลาดหลัก อาจได้รับผลกระทบบ้างจากนโยบายกีดกันการค้าของ โดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา ดังนั้นบริษัทจึงวางแผนกระจายตลาดส่งออกใหม่ๆ มากขึ้นเพื่อลดความเสี่ยง เช่น มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ และประเทศในกลุ่มอาเซียน ซึ่งเป็นกลุ่มที่มีศักยภาพในการเติบโต

 

ปัจจุบัน PQS มีสัดส่วนรายได้หลักจากแป้งมันสำปะหลัง 70-80% ส่วนที่เหลือมาจากผลพลอยได้ ได้แก่ กากมันสำปะหลัง รายได้จากไฟฟ้าชีวมวล แต่ภาพในช่วง 3-5 ปี บริษัทจะเพิ่มรายได้จากแป้ง Modify มากขึ้นกว่า 50% ไม่ว่าจะเป็นการเพิ่มกำลังการผลิตหรือจากการเข้าซื้อกิจการ (M&A)

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising