×

พปชร. ย้ำจุดยืนยกเลิก MOU 44 ทำฉบับใหม่ให้ถูกต้องตามกฎหมายสากล ชี้เอกสารแนบท้ายมีข้อบกพร่องเยอะ ทำไทยเสียเปรียบ เสี่ยงเสียพื้นที่ทางทะเล

โดย THE STANDARD TEAM
08.11.2024
  • LOADING...
พปชร.

วันนี้ (8 พฤศจิกายน) ที่พรรคพลังประชารัฐ สนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รองหัวหน้าพรรค ในฐานะประธานกรรมการด้านการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ พร้อมด้วย ธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล ประธานกรรมการด้านวิชาการ และ ม.ล.กรกสิวัฒน์ เกษมศรี กรรมการบริหารพรรคพลังประชารัฐ ร่วมกันแถลงในหัวข้อ ‘MOU 2544 ภาคต่อ EP.2’ 

 

สนธิรัตน์กล่าวว่า จากการแถลงของรัฐบาลและกระทรวงการต่างประเทศ เกี่ยวกับบันทึกความเข้าใจระหว่างราชอาณาจักรไทย-กัมพูชาเกี่ยวกับการอ้างสิทธิทับซ้อนทางทะเลในอ่าวไทย พ.ศ. 2544 (MOU 2544) พรรคพลังประชารัฐเห็นว่าการแถลงครั้งนั้นมีเนื้อหาไม่ครบถ้วน และมีความคิดเห็นที่ไม่เห็นตรงเกี่ยวกับการเจรจาพื้นที่ทับซ้อนของประเทศและประเทศกัมพูชา โดยเฉพาะผลประโยชน์เพื่อความมั่นคงด้านพลังงานที่ใช้ประโยชน์ร่วมกัน พร้อมยืนยันว่าพรรคพลังประชารัฐไม่ได้มีเจตนาการคัดค้าน แต่มุ่งหวังที่จะเสนอแนะนำให้การเจรจามีผลสัมฤทธิ์ที่ดี 

 

ทั้งนี้ พรรคพลังประชารัฐยืนยันว่า เกาะกูดเป็นของประเทศไทยแน่นอน เราไม่ได้มีปัญหาเรื่องเกาะกูด เราไม่ได้เสียเกาะกูด แต่เรากำลังพูดเรื่องอาณาเขตทางทะเลรอบเกาะกูดถูกละเมิดจาก MOU 2544 บนหลักกฎหมายสากลจากการลากเส้นอาณาเขตทางทะเล กินพื้นที่อาณาเขตทางทะเลของเกาะกูด ผิดหลักกฎหมายสากลเจนีวา 1982 หรืออนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยกฎหมายทางทะเล ค.ศ. 1982 และเป็นจุดเริ่มของการเกิดพื้นที่ทับซ้อนที่เป็นข้อโต้แย้งในการเจรจา

 

ทั้งนี้ พรรคพลังประชารัฐเสนอให้ยกเลิก MOU 2544 เพราะเป็นอุปสรรคต่อการเจรจาที่จะบรรลุข้อตกลงเพื่อความมั่นคงทางพลังงาน ทั้งนี้ เพราะ MOU 2544 มีปัญหาพื้นที่ทับซ้อนมีขนาดใหญ่เกินจริงที่ไม่ได้อยู่บนหลักเจรจาอาณาเขตทางทะเลด้วยกฎหมายเจนีวา 1982 

 

ดังนั้นการเจรจาบนเส้นอาณาเขตที่ไม่เป็นไปตามข้อตกลงบนหลักกฎหมายสากลดังกล่าว หากมีข้อยุติและเกิดการลงนามระหว่างสองประเทศจะมีผลระยะสั้นคือจะทำให้ประเทศเสียเปรียบการแบ่งปันผลประโยชน์ด้านพลังงานในพื้นที่อันอาจเป็นอาณาเขตของไทย ในระยะยาวจะเป็นหลักฐานทางการยอมรับในประวัติศาสตร์ และหากมีข้อพิพาทในอนาคตก็จะสุ่มเสี่ยงต่อการเสียพื้นที่อาณาเขตทางทะเลที่ไม่อาจแก้ไขได้อีก นอกจากนั้น MOU 2544 พบว่าด้วยความเร่งรีบในการดำเนินการเมื่อปี 2544 พบข้อบกพร่องของเอกสารสำคัญแนบท้ายด้วย

 

ขณะที่ ม.ล.กรกสิวัฒน์ เกษมศรี ที่ปรึกษาศูนย์นโยบายและวิชาการ กล่าวชี้แจงตอบนายกรัฐมนตรี เรื่อง MOU 2544 ไทยเสียเปรียบและเป็นบันไดนำไปสู่การเสียดินแดนจากความตกลงนี้

 

  1. พรรคพลังประชารัฐตรวจพบว่า รัฐบาลให้สิทธิพิเศษในการเจรจากับกัมพูชาเหนือกว่าประเทศอื่นในการแบ่งเขตไหล่ทวีป ไม่ว่าจะเป็น เวียดนาม, มาเลเซีย, อินโดนีเซีย, เมียนมา และอินเดีย ล้วนต้องปฏิบัติตามกฎหมายทะเลสากล เหตุใดกัมพูชาเป็นคู่เจรจาที่ไม่ต้องปฏิบัติตามกฎหมายทะเลสากล ที่สำคัญคือ ขัดกับวรรคท้ายของพระบรมราชโองการที่ระบุว่า การกำหนดไหล่ทวีปกับประเทศใกล้เคียงให้ตกลงกันโดยยึดถือบทบัญญัติอนุสัญญาเจนีวา 1958

 

  1. MOU 2544 ลดสถานะของเส้นเขตแดนตามประกาศพระบรมราชโองการที่ทำตามกฎหมายสากล ให้มีค่าเท่ากับเส้นที่ลากเส้นเขตแดนที่ไม่มีกฎหมายสากลรองรับ กินพื้นที่พระราชอาณาเขตของราชอาณาจักรไทยไปถึง 26,000 ตารางกิโลเมตร MOU 2544 ทำให้ไทยที่ทำตามกฎหมายสากลกลายเป็นฝ่ายเสียเปรียบ เพราะอีกฝ่ายทำนอกกฎหมายสากลได้ และเรื่องการไม่ปฏิบัติตามกฎหมายสากลของกัมพูชานี้เป็นที่ทราบดีในวงวิชาการ กระทรวงการต่างประเทศ และกองทัพ

 

  1. การลากเส้นเขตแดนทางทะเลเกินสิทธิ์ของกัมพูชาทับน่านน้ำภายในของจังหวัดตราด ทับทะเลอาณาเขตชิดเกาะกูด และทับเขตเศรษฐกิจจำเพาะกลางอ่าวไทย ดังปรากฏตามแผนที่แนบท้าย MOU 2544 เท่ากับรัฐบาลไทยรับรู้ว่า ทะเลตราดและทะเลเกาะกูดอยู่ในเขตของฝ่ายกัมพูชา และถูกนำเข้ามาอยู่ในกรอบการเจรจา ไทยจึงเป็นฝ่ายเสียเปรียบตั้งแต่ยังไม่เริ่มเจรจา

 

  1. รัฐบาลอธิบายว่า MOU 2544 ไม่ปรากฏข้อความว่า ไทยยอมรับเส้นของกัมพูชา แต่เส้นดังกล่าวไปปรากฏในแผนที่แนบท้าย แม้ไม่ได้เขียนตรงๆ ว่ายอมรับ แต่แผนที่คือเอกสารราชการที่แสดงการรับรู้รับทราบว่าเส้นของกัมพูชาเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ไทย เพราะไม่เคยปรากฏบนเอกสารราชการไทยมาก่อนปี 2544 เลย การรับรู้เส้นเขตแดนที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายในเอกสารราชการไทยก็ทำให้ฝ่ายกัมพูชาได้ประโยชน์ ถือว่าทำให้ไทยเสียหาย

 

  1. เทียบกรณีไทย-มาเลเซีย พบว่า กรณีกัมพูชามีการดำเนินการก็เร่งรีบผิดปกติโดยใช้เวลาเจรจาเพียง 44 วัน จนระบุเส้นละติจูดผิด โดยเขียน 9E 10E 11E ที่ถูกต้องเขียน 9N 10N 11N เทียบกรณีมาเลเซียที่ใช้เวลา 7 ปีจึงเกิด MOU พื้นที่ทับซ้อนไทย-กัมพูชาขนาดใหญ่โตกว่า 4 เท่า วิธีดำเนินการก็แตกต่าง เทียบกับกรณีไทย-มาเลเซีย จะตั้งคณะเจรจาให้เหลือพื้นที่ทับซ้อนเล็กที่สุดเสียก่อน เมื่อตกลงกันได้จึงค่อยทำ MOU แสดงให้เห็นความรีบร้อน ไม่รัดกุม อาจนำประเทศไปสู่ความสุ่มเสี่ยงในอนาคต

 

  1. หากยอมให้มีการขุดปิโตรเลียมและมีการแบ่งผลประโยชน์กัน 50% ระหว่างไทยและกัมพูชาเมื่อใด จะเป็นหลักฐานสำคัญว่า ไทยยอมรับสิทธิอธิปไตยของกัมพูชาในพื้นที่ดังกล่าว และมีความเสี่ยงที่จะถูกนำขึ้นสู่ศาลโลกเพื่อแบ่งพื้นที่ให้กัมพูชา 13,000 ตารางกิโลเมตร ต่อไปในอนาคต 

 

“หากกัมพูชายึดถือกฎหมายทะเลสากล เส้นไหล่ทวีประหว่างกันจะลากจากหลักเขตที่ 73 เฉียงลงทิศตะวันตกเฉียงใต้ ผ่านกึ่งกลางระหว่างเกาะกูดและเกาะกง พื้นที่ทับซ้อนจะเหลือประมาณ 7,000 ตารางกิโลเมตร เมื่อพัฒนาปิโตรเลียมเสร็จสิ้น แบ่งฝ่ายละครึ่ง ไทยจะเสียพื้นที่ไปเพียง 3,500 ตารางกิโลเมตรเท่านั้น ดังนั้นเพื่อประโยชน์ของคนไทยจึงควรยกเลิก MOU 2544 แล้วทำ MOU ฉบับใหม่กับกัมพูชา โดยยึดแนวทางที่ไทยเคยทำกับมาเลเซีย”

 

ส่วน ธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล ประธานร่วมศูนย์นโยบายและวิชาการ พรรคพลังประชารัฐ ตั้งข้อสงสัยว่า การทำงานของกระทรวงการต่างประเทศอาจเป็นต้นเหตุทำให้ทุกรัฐบาลที่ผ่านมาไม่ได้ตระหนักถึงปัญหา MOU 2544 โดยขอเรียกร้องให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ และอธิบดีกรมสนธิสัญญาและกฎหมาย กระทรวงการต่างประเทศ ผู้มีหน้าที่ปกป้องประเทศในเวทีกฎหมายสากล ชี้แจงต่อประชาชนว่า กระทรวงการต่างประเทศไปเสนอให้รัฐบาลทำ MOU ทั้งที่รู้ดีอยู่แล้วว่าเส้นเขตไหล่ทวีปของกัมพูชาที่ผ่านเกาะกูดนั้นขัดกับกติกาสากลใช่หรือไม่

 

ธีระชัยกล่าวต่อว่า เส้นดังกล่าวขัดกับกติกาสากล 3 ข้อคือ 

  • ขัดอนุสัญญาว่าด้วยทะเลอาณาเขตฯ เพราะรุกล้ำอาณาเขต 12 ไมล์ทะเลรอบเกาะกูด 
  • ขัดสนธิสัญญาสยาม-ฝรั่งเศสฯ เพราะอ้างจุดสูงสุดบนเขาเกาะกูดบิดเบือนเจตนารมณ์
  • ขัดอนุสัญญาว่าด้วยไหล่ทวีป เพราะอนุสัญญาฯ ไม่ได้อนุญาตเรื่องเหตุการณ์ประวัติศาสตร์ในสนธิสัญญาฯ และกระทรวงการต่างประเทศในฐานะผู้เชี่ยวชาญกฎหมายระหว่างประเทศย่อมจะรู้เรื่องนี้ดีอยู่แล้ว 

 

ธีระชัยยังกล่าวต่อว่า ตนจึงเรียกร้องให้กระทรวงการต่างประเทศตอบคำถามเหล่านี้

 

  1. กระทรวงการต่างประเทศมีหนังสือท้วงติงกัมพูชาหรือไม่ว่า เส้นดังกล่าวผิดกติกาสากล
  2. กระทรวงการต่างประเทศเคยแจ้งปัญหานี้ให้รัฐบาลไทยชุดใดรับทราบหรือไม่ 
  3. กระทรวงการต่างประเทศเสนอให้รัฐบาลทำ MOU โดยเอาเส้นของกัมพูชาที่กระทรวงการต่างประเทศรู้ดีอยู่แล้วว่าผิดกติกาสากลไปแสดงไว้ทำไม 
  4. MOU เป็นการที่รัฐบาลไทยสละสิทธิที่จะท้วงติงเรื่องเส้นผิดกติกาสากลใช่หรือไม่
    5. เส้นที่ผ่านเกาะกูดจะถูกต้องตามอนุสัญญาว่าด้วยไหล่ทวีปก็เฉพาะกรณีที่ไทยและกัมพูชาเป็นเจ้าของเกาะกูดกันคนละส่วนใช่หรือไม่

 

“หัวใจของ MOU ที่เป็นธรรมต้องเจรจาตกลงพื้นที่พัฒนาร่วมให้เสร็จก่อน แต่กระทรวงการต่างประเทศดำเนินการกลับทางโดยตราแผนที่พื้นที่พัฒนาร่วมที่ผิดกติกาสากลเพื่อรีบร้อนเจรจาส่วนแบ่ง การที่กระทรวงการต่างประเทศไม่ได้เปิดเผยต่อรัฐบาล เป็นเหตุให้ทุกรัฐบาลเดินหน้าเจรจาในกรอบที่ผิดกติกาสากลมาตลอด ทั้งที่ควรจะแจ้งรัฐบาลให้รู้ข้อเท็จจริงเพื่อยกเลิก MOU ใช่หรือไม่” ธีระชัยกล่าว

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X