×

ทีมเศรษฐกิจ พปชร. วิจารณ์นโยบายดิจิทัลวอลเล็ตมีจุดบกพร่องเยอะ ชี้ไม่ใช่พายุหมุน แต่เป็นฝนหลงฤดู ไม่สมเป็นนโยบายเรือธง เป็นแค่เรือล่มปากอ่าว

โดย THE STANDARD TEAM
18.09.2024
  • LOADING...
ดิจิทัลวอลเล็ต

วานนี้ (17 กันยายน) ที่พรรคพลังประชารัฐ ทีมเศรษฐกิจพรรคพลังประชารัฐ​ ประกอบด้วย ดร.อุตตม สาวนายน อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง, สนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน, ธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง และ พล.ต.ท. ปิยะ ต๊ะวิชัย โฆษกพรรคพลังประชารัฐ ร่วมกันแถลงข่าวตรวจสอบนโยบายรัฐบาลแพทองธารที่แถลงต่อรัฐสภา

 

อุตตมกล่าวว่า ตนเห็นด้วยกับรัฐบาลที่กำหนดการแก้หนี้เป็นนโยบายเร่งด่วนลำดับแรกของคณะรัฐมนตรี อย่างไรก็ตาม มีข้อเสนอแนะว่า การแก้หนี้ให้บรรลุผลนั้นต้องทำครบวงจร เช่น รัฐบาลต้องผนึกธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และสถาบันการเงินเอกชนและรัฐ เพื่อแก้ปัญหาได้อย่างยั่งยืนในทุกมิติที่เกี่ยวข้อง เพื่อบรรเทาความเดือดร้อน เติมกำลังให้ประชาชนและเศรษฐกิจ สร้างอนาคตประเทศ ทั้งนี้โครงการที่ทำต้องเข้าถึงประชาชนฐานรากทั่วทั้งประเทศ บริการเสมอภาค เป็นธรรม พร้อมทั้งมีการนำเทคโนโลยีมาร่วมขับเคลื่อน

 

อุตตมกล่าวถึงมาตรการที่ใช้ขับเคลื่อนว่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังควรหารือกับ ธปท. ถึงแนวทางการลดเงินที่เก็บเข้ากองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน (FIDF) เหลือ 0.23% ต่อ 6 เดือน ชั่วคราว 5 ปี เพื่อนำเงินที่ประหยัดได้ไปลดยอดหนี้ (Hair Cut) สำหรับลูกหนี้ที่มีรายได้ไม่เกิน 30,000 บาทต่อเดือน และต้องเจรจาให้ธนาคารต้องนำกำไรสะสมมารวมด้วยไม่น้อยกว่า 25% ของหนี้ที่ลดให้แก่ลูกหนี้ อันเป็นการร่วมมือกันแก้ปัญหาระหว่างรัฐกับเอกชน

 

ขณะที่สนธิรัตน์ได้กล่าวถึง 3 ประเด็นที่อยากจะให้รัฐบาลได้รับทราบถึงการทำงานของพรรคพลังประชารัฐว่า

 

  1. ดิจิทัลวอลเล็ตถือว่าเป็นโครงการเรือธงของรัฐบาล และเป็นโครงการที่รัฐบาลใช้หาเสียง ซึ่งพรรคพลังประชารัฐไม่สบายใจ เพราะโครงการนี้เดินบนความไม่แน่นอน ตลอดเวลากว่า 1 ปีของรัฐบาลที่มีพรรคเพื่อไทยเป็นแกนนำ การเปลี่ยนแปลงในเนื้อหาสาระของโครงการคือสิ่งที่เราตั้งข้อสังเกตมาโดยตลอด ตั้งแต่รูปแบบเงินดิจิทัลที่หลายฝ่ายตั้งคำถามมากมาย รวมทั้งทีมวิชาการของพรรคได้ตั้งคำถามว่า เงินดิจิทัลจะใช้สกุลอะไร ไทม์ไลน์ กลุ่มเป้าหมาย วิธีการใช้จ่าย ก็เปลี่ยนแปลงตลอดเวลา จนเดือนสิงหาคมที่ผ่านมาได้ข้อยุติเป็นครั้งแรกว่า จะใช้เงินสดเป็นตัวดำเนินนโยบาย จึงได้ตั้งข้อสังเกตว่า การใช้เงินสดจากการหาเสียงมีความตรงกันหรือไม่

 

แต่พรรคพลังประชารัฐดีใจที่รัฐบาลจะนำเงินออกมากระตุ้นเศรษฐกิจตามความตั้งใจ เอาเงินมาช่วยประชาชนกลุ่มเปราะบางที่มีความจำเป็นที่ต้องได้รับการเยียวยาจากรัฐบาล กลุ่มที่จะได้รับ 14.5 ล้านคน เป็นผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐและผู้พิการ ซึ่งชัดเจนว่าโครงการบัตรสวัสดิการแห่งรัฐกลายเป็นโครงสร้างหลักของการดำเนินนโยบายของรัฐบาล ไม่ว่าจะเป็นการแจกเงินสดผูกกับบัตรประชาชน และใช้กลไกพร้อมเพย์ หวังว่าจะยังให้ความสำคัญกับร้านธงฟ้าประชารัฐ ซึ่งเป็นกลไกที่อุ้มให้ร้านค้าของประชาชนจาก 0 ร้าน เป็น 84,000 ร้าน

 

  1. ผลกระทบที่รัฐบาลหวังว่าจะเป็นพายุหมุนทางเศรษฐกิจที่คาดว่าจะทำให้เกิดการกระตุ้นต่อ GDP เราจะติดตามผลกระทบของพายุหมุนเศรษฐกิจครั้งนี้ จะเป็นพายุหมุนสมกับเม็ดเงินงบประมาณที่รัฐบาลใช้ หรือเป็นเพียงแค่ฝนหลงฤดูของรัฐบาล

 

  1. งบประมาณ 1.4 แสนล้านบาท เราจะตรวจสอบว่ากระทบต่อ GDP ถึง 0.35% หรือไม่ งบดังกล่าวนำมาใช้ในโครงการดิจิทัลวอลเล็ตและลดการเติบโตด้านอื่นหรือไม่ ทำให้เกิดผลกระทบต่อการที่รัฐบาลจะใช้เงินก้อนนี้ในการทำโครงสร้างพื้นฐานหรือประโยชน์สาธารณะอย่างไร ซึ่งการดึงงบประมาณเหล่านี้จะมีผลกระทบที่อาจเกิดขึ้น เราจะต้องติดตามกันอย่างใกล้ชิด

 

สนธิรัตน์กล่าวอีกว่า ส่วนผู้ลงทะเบียนดิจิทัลวอลเล็ตจำนวน 36 ล้านคน รัฐบาลได้แถลงว่า จะดำเนินการแน่นอนในส่วนของผู้ที่ลงทะเบียน แต่ก็มีคำถามว่า จะทำเมื่อไร อย่างไร วิธีไหน งบประมาณจะมาจากไหน นี่คือจุดใหญ่ที่พรรคพลังประชารัฐอยากเห็นโครงการเรือธงของรัฐบาลเป็นโครงการที่สามารถแก้ปัญหาเศรษฐกิจได้จริง “ไม่อยากเห็นโครงการเรือธงกลายเป็นโครงการเรือล่ม ออกสตาร์ทแค่ปากอ่าวแล้วไปได้ไม่ไกล”

 

ด้านธีระชัยกล่าวว่า การขับเคลื่อนนโยบายของรัฐที่นำเอากองทุนรวมวายุภักษ์เพื่อระดมทุนนั้นเป็นการใช้นโยบายอุ้มคนมีเงิน สร้างความไม่เป็นธรรมในสังคม และมีความเสี่ยงผิดกฎหมาย ตนขอเตือนว่า การระดมเงินแล้วไปเก็งกำไรทั้งในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) และนอก ตลท. ทั้งทองคำ น้ำมันดิบ สินค้าโภคภัณฑ์ หุ้นกู้เครดิตต่ำ (Junk Bond) ฯลฯ ที่ไม่ใช่กิจหน้าที่ของกระทรวงการคลัง เป็นเรื่องไม่เหมาะสมและเสี่ยงผิดกฎหมาย

 

“ตนได้มีหนังสือ 4 ฉบับเสนอแนะให้นายกฯ ทบทวน เพราะมีปัญหา 2 ด้าน คือ ก่อปัญหาความไม่เป็นธรรมในสังคม เป็นการรอนสิทธิของประชาชนทั้งประเทศ สิทธิของข้าราชการ และสิทธิของผู้ใช้แรงงาน ไปให้แก่ผู้ถือหน่วยลงทุนประเภท ก. ซึ่งเป็นคนกลุ่มน้อย และยังอาจมีปัญหาคนต่างชาติใช้ชื่อคนไทยเป็นนอมินีเพื่อแสวงหาประโยชน์อีกด้วย นอกจากนี้มีความเสี่ยงผิดกฎหมาย กรณีหากมีผู้ใดฟ้องศาลให้ระงับเงื่อนไข ซึ่งทำให้ผู้ลงทุนรายใหม่ได้รับความเสียหาย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังอาจเข้าข่ายประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง“ ธีระชัยกล่าว

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising