×

สภาอุตสาหกรรมฯ ตั้งเป้า 5 ปี นำขยะหมุนเวียนกลับมาใช้ทั้งหมด ลดขยะพลาสติกลงทะเล 50%

โดย THE STANDARD TEAM
26.08.2019
  • LOADING...
ขยะพลาสติก

จากสถานการณ์ขยะพลาสติกในประเทศไทยที่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสัตว์น้ำที่ผ่านมา จนมีการจัดอันดับให้ประเทศไทยเป็นประเทศที่ทิ้งขยะลงสู่ทะเลมากที่สุดเป็นอันดับ 6 ของโลก 

 

ล่าสุด กลุ่มอุตสาหกรรมพลาสติก สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ร่วมกับองค์กรธุรกิจเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน สถาบันพลาสติก และองค์กรอื่นๆ อีก 15 องค์กร ทั้งภาครัฐ ภาคธุรกิจ และภาคประชาสังคม จัดตั้ง ‘โครงการความร่วมมือภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคม เพื่อแก้ไขปัญหาขยะและพลาสติกอย่างยั่งยืน’ หรือ ‘PPP Plastic’ โดยมีเป้าหมายคือ การเปลี่ยนขยะพลาสติกให้กลับมาเป็นทรัพยากรและนำกลับมาใช้ใหม่ได้ทั้งหมด ตามแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียน รวมถึงให้ความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับวิธีใช้พลาสติกและการจัดการหลังการใช้ เพื่อที่จะไม่ให้มีขยะจากพลาสติกหลุดไปสู่สิ่งแวดล้อม และสามารถลดขยะพลาสติกในทะเลไทยได้ไม่ต่ำกว่า 50% ในปี 2570

 

โดยโครงการ PPP Plastics มีหลักในการดำเนินการ 6 เสาหลัก ดังนี้ 


 

เสาหลักที่หนึ่ง: ด้านการจัดการขยะและสร้างโมเดลเศรษฐกิจหมุนเวียนพลาสติก เน้นการค้นหารูปแบบโครงสร้างพื้นฐานที่เหมาะสมสำหรับการจัดการขยะของชุมชนเมืองและต่างจังหวัดในรูปแบบที่แตกต่างกัน (Infra-Structure) สำหรับเขตในเมืองจะดำเนินงานในเขตคลองเตย โดยมีการทำกรณีศึกษาในพื้นที่ 7 แห่งในเขตคลองเตย คือ 1. อาคารมาลีนนท์ ทาวเวอร์ (บริษัท บีอีซี เวิลด์ จำกัด (มหาชน) 2. อาคารบริษัท เชลล์แห่งประเทศไทย จำกัด 3. อาคารไวท์ กรุ๊ป 4. แมริออท เอ็กเซ็กคิวทีฟ อพาร์ทเมนท์ 5. ห้างสรรพสินค้าดิ เอ็มโพเรียม 6. โรงแรมโอ๊ควู้ด เรสซิเดนซ์ สุขุมวิท 24 กทม. และ 7. การยาสูบแห่งประเทศไทย มีการจัดเก็บรวบรวมข้อมูลตัวเลขที่เกี่ยวข้องกับปริมาณขยะที่เกิดขึ้น การคัดแยก และการกำจัด จัดให้มีการแลกเปลี่ยนประสบการณ์เรียนรู้ซึ่งกันและกัน เพื่อสร้างระบบที่ดีที่สุดสำหรับแต่ละองค์กร คาดว่าจะแล้วเสร็จภายในกลางปี 2563 


 

โมเดลต้นแบบในการจัดการปัญหาขยะพลาสติกในต่างจังหวัด (จังหวัดระยอง) ณ ตอนนี้มีการลงนามความร่วมมือจัดการขยะมูลฝอยขององค์การบริหารตำบล 18 แห่ง ณ วันที่ 18 ธันวาคม 2561 มีองค์กรต่างๆ ที่สำคัญ เช่น โรงเรียนและชุมชนในจังหวัดระยองรวมทั้งหมด 48 ชุมชน โดยตั้งเป้าหมายปัจจุบันของโมเดลนี้คือ จะต้องสามารถนำขยะพลาสติกกลับไปใช้ประโยชน์ได้ทั้งหมดและไม่มีขยะหลุดไปยัง Land Fill ภายใน 5 ปี โดยเริ่มจากการปลูกฝังให้มีการคัดแยกขยะพลาสติก โดยเฉพาะขยะจำพวกถุงพลาสติก ซึ่งมีน้ำหนักเบาและมูลค่าน้อย ส่งเสริมวิสาหกิจชุมชนให้มีการรับซื้อเศษพลาสติกและคัดแยก เพื่อจำหน่ายให้กับโรงงาน เป็นการสร้างรายได้ให้กับชุมชน มีกิจกรรมให้นักเรียนนำขยะพลาสติกมาจากบ้าน เพื่อคัดแยกและจำหน่าย และนำเงินที่ได้เป็นสวัสดิการของนักเรียน เช่น ค่าอาหารกลางวัน เป็นต้น 

 

ในส่วนขององค์การบริหารส่วนจังหวัดระยองนั้นมีบ่อขยะขนาดใหญ่ ซึ่งเป็นแบบ Sanitary Landfill มีโรงงานคัดแยกขยะที่สามารถรีไซเคิลได้ และภายในปี 2563 จะมีการก่อสร้างโรงไฟฟ้าพลังงานจากขยะ ซึ่งจะเป็นวิธีการสุดท้ายที่สามารถกำจัดขยะพลาสติกที่ไม่สามารถรีไซเคิลได้อีกแล้ว

 


เสาหลักที่สอง: ด้านการพัฒนานวัตกรรมในอุตสาหกรรม ปัจจุบันมีการดำเนินการนำเศษขยะพลาสติกที่ไม่สามารถนำไปรีไซเคิลได้ มาผสมกับยางมะตอยในการเพิ่มความแข็งแรงให้กับถนนราดยาง ผลการทดลองพบว่า ถนนมีความแข็งแรงเพิ่มขึ้น 15-33% โดยที่ไม่เพิ่มต้นทุนในการทำถนนแต่อย่างใด ซึ่งขยะพลาสติกที่นำมาใช้มีทั้งพลาสติกประเภท PET, PE, PP, PS อีกทั้งจะทดลองในพลาสติกหลายชั้น เช่น ซองบรรจุน้ำยาซักผ้า น้ำยาล้างจาน เป็นต้น 

 

ปัจจุบันได้ทดลองเทราดในหลายพื้นที่แล้ว เช่น บริเวณนิคมอุตสาหกรรม RIL นิคมอุตสาหกรรมอมตะนคร ถนนภายในโครงการ Grand Boulevard ของ SC Asset พื้นที่จอดรถของร้านสะดวกซื้อ 7-11 ขนาดใหญ่ในหลายสาขา นอกจากนี้คณะทำงานยังได้ร่วมมือกับบริษัทเอกชนรายหนึ่งพัฒนาไม้เทียมที่มีส่วนผสมของขยะพลาสติก เพื่อนำมาใช้เป็นไม้เทียมที่มีคุณสมบัติเหนือกว่าไม้จริง และมีความสวยงามเหมือนไม้จริง ในขณะนี้ได้ผลิตไม้ออกมาเป็นผลสำเร็จแล้ว

เสาหลักที่สาม: กิจกรรมสื่อสารประชาสัมพันธ์ มีวัตถุประสงค์เพื่อต้องการสื่อสารให้เกิดการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมในการคัดแยกขยะพลาสติก และสร้างวัฒนธรรมการแยกขยะให้กับคนรุ่นใหม่

 

เสาหลักที่สี่: ด้านการทำงานร่วมกับภาครัฐ เพื่อพัฒนานโยบายและกฎหมายต่างๆ โดยคณะทำงานได้เข้าร่วมกับคณะทำงานด้านการพัฒนากลไกทางกฎหมายและข้อกำหนด ซึ่งลงนามแต่งตั้งโดยปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยในรอบปีที่ผ่านมา คณะนี้ได้มีส่วนร่วมในการร่างแผนที่นำทาง (Road Map) การจัดการขยะพลาสติกของประเทศไทย ปี 2561-2573 และกำหนดเป้าหมายการลดการใช้พลาสติกประเภทที่หลุดไปในสิ่งแวดล้อมมาก และร่วมแสดงความเห็นในร่างกฎระเบียบต่างๆ ที่ภาครัฐจะออกประกาศบังคับใช้ในอนาคต


 

เสาหลักที่ห้า: ด้านการจัดทำฐานข้อมูลขยะพลาสติก มีวัตถุประสงค์เพื่อใช้เป็นตัวชี้วัดความสำเร็จของโครงการในการนำขยะกลับมาใช้ใหม่ และวัดผลขยะทะเลที่ต้องลดลงตามเป้าหมาย สำหรับฐานข้อมูลในปี 2561 ได้ดำเนินการเสร็จสิ้นแล้ว โดยสถาบันพลาสติกได้ว่าจ้างที่ปรึกษาจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยศึกษาสถานการณ์ขยะพลาสติกของประเทศไทย โดยใช้แนวคิด Material Flow Analysis ของปี 2560 จากผลการศึกษาพบว่า ประเทศไทยสร้างขยะจากผลิตภัณฑ์เป้าหมายประเภทใช้ครั้งเดียวทิ้ง 1.93 ล้านตันต่อปี สามารถจัดการได้ 1.9 ล้านตัน แต่มีเพียง 3.9 แสนตัน ที่สามารถนำกลับมารีไซเคิลได้ ขยะที่เหลือยังคงอยู่ในหลุมฝังกลบถึง 1.51 ล้านตันต่อปี และมีขยะที่ยังไม่ได้รับการจัดการที่เหมาะสมถึง 30,000-50,000 ตันต่อปี โดยขยะเหล่านี้ได้หลุดไปสู่สิ่งแวดล้อมบนบก และคาดว่ามีการปนเปื้อนลงสู่ทะเล 10,000-30,000 ตันต่อปี 

 

อย่างไรก็ตาม ในปี 2562 กรมควบคุมมลพิษได้ว่าจ้างจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยศึกษาข้อมูลอย่างต่อเนื่องจากฐานของข้อมูลปี 2561 โดยจะเพิ่มเติมพื้นที่ศึกษา, ผลกระทบจากมาตรการลดและเลิกใช้สินค้าพลาสติกบางชนิดและแนวทางการลดผลกระทบของผู้ประกอบการต่อไป

เสาหลักที่หก: ด้านการจัดหาเงินทุนและงบประมาณ ปัจจุบันได้รับเงินบริจาคจำนวน 5.2 ล้านบาท มีแผนใช้งบประมาณในปี 2562 แล้วจำนวน 5.2 ล้านบาท ตามแผนการดำเนินงาน 5 ปี ต้องการใช้เงินทุนทั้งสิ้นจำนวน 50 ล้านบาท โครงการยังต้องการเงินทุนสนับสนุนการดำเนินงานอีกมาก แผนโครงการ PPP Plastics มีแผนดำเนินงาน 5 ปี โดยดำเนินงานทั้ง 6 เสาหลักอย่างต่อเนื่อง คณะทำงานมุ่งหวังว่า เมื่อเสร็จสิ้นโครงการแล้วจะสามารถนำขยะพลาสติกกลับมาใช้ประโยชน์ได้ทั้งหมด โดยใช้แนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียน และสามารถลดปัญหาขยะพลาสติกลงทะเลได้ไม่ต่ำกว่า 50%

 

พิสูจน์อักษร: ภาวิกา ขันติศรีสกุล

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X