×

ประธาน Fed ส่งสาส์นอะไรในถ้อยแถลง ทำไมทรัมป์ต้องโกรธเป็นฟืนเป็นไฟ

24.08.2019
  • LOADING...
Jerome Powell

เจอโรม พาวเวลล์ ประธานคณะผู้ว่าการธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed)​ ส่งสาส์นถึงตลาดการเงินว่า Fed มีขีดความสามารถในขอบเขตที่จำกัดในการลดผลกระทบจากนโยบายการค้าของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ที่สร้างความไม่แน่นอนและเพิ่มความเสี่ยงต่อแนวโน้มเศรษฐกิจ แต่ Fed พร้อมดำเนินมาตรการทางการเงินอย่างเหมาะสมตามสถานการณ์ ซึ่งถ้อยแถลงนี้ถูกนำไปตีความว่า Fed อาจเปิดทางลดดอกเบี้ยอีกในอนาคต

 

ในระหว่างปาฐกถาในที่ประขุมสัมมนานโยบายเศรษฐกิจประจำปีที่แจ็กสันโฮล รัฐไวโอมิง พาวเวลล์ซึ่งกำลังถูกทรัมป์กดดันให้ลดดอกเบี้ยเพิ่ม ยืนยันว่า เศรษฐกิจสหรัฐฯ ยังอยู่ในตำแหน่งที่ดี ท่ามกลางกระแสคาดการณ์ของนักลงทุนก่อนหน้านี้ว่า Fed อาจลดดอกเบี้ยในการประชุมคณะกรรมการกำหนดนโยบายการเงินในเดือนกันยายนนี้ เนื่องจากมีสัญญาณเตือนจากตลาดพันธบัตรที่บ่งชี้ถึงความกังวลเกี่ยวกับภาวะเศรษฐกิจถดถอย

 

ตลาดมองว่าถ้อยแถลงของพาวเวลล์ไม่มีอะไรใหม่นัก แต่ก็สร้างความสบายใจให้กับนักลงทุนในระดับหนึ่งว่า Fed เต็มใจลดดอกเบี้ยอีก แม้ไม่ได้ส่งสัญญาณชัดเจนถึงการผ่อนคลายนโยบายดอกเบี้ยตามที่ตลาดคาดหวังก็ตาม 

 

แต่กระนั้น การที่เขายอมรับว่า Fed อาจไม่สามารถรับมือกับความไม่แน่นอนที่เกิดขึ้นจากสงครามการค้าที่ก่อโดยทรัมป์นั้น สร้างความโกรธเคืองให้กับทรัมป์อย่างมาก ถึงขนาดที่ทำให้เขาออกมาตราหน้าพาวเวลล์ว่าเป็นศัตรูของชาติ เหมือนกับประธานาธิบดีสีจิ้นผิงของจีน 

 

ความไม่ลงรอยระหว่างประธาน Fed กับทรัมป์มีมาพักใหญ่แล้ว หลังทรัมป์กดดันให้ Fed ลดดอกเบี้ยอย่างต่อเนื่อง เพราะเขาเห็นว่าดอกเบี้ยนโยบายควรลดลงอีก 1% เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจให้มากขึ้น

 

ตอนหนึ่งในถ้อยแถลง พาวเวลล์ระบุว่า “ถึงแม้นโยบายการเงินจะเป็นเครื่องมือทรงพลังที่สามารถส่งเสริมการใช้จ่ายของผู้บริโภค ตลอดจนการลงทุนในธุรกิจ และสร้างความเชื่อมั่นให้กับสาธารณะ แต่มันไม่สามารถแก้ปัญหาการค้าระหว่างประเทศได้

 

“ความท้าทายของเราในตอนนี้คือการดำเนินนโยบายการเงินเท่าที่จะทำได้เพื่อประคับประคองเศรษฐกิจให้ขยายตัวต่อ จนกว่าจะบรรลุเป้าหมายของ Fed ในเรื่องอัตราว่างงานต่ำและระดับเงินเฟ้อที่มีเสถียรภาพ”

 

คำพูดของพาวเวลล์มีนัยแฝงว่า Fed ยังคงเต็มใจลดอัตราดอกเบี้ยอีกครั้งเพื่อช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ถึงแม้เขาเคยกล่าวภายหลังการประชุม FOMC เมื่อเดือนกรกฎาคมว่า การตัดสินใจลดดอกเบี้ยลง 0.25% เมื่อเดือนที่แล้ว ซึ่งถือเป็นครั้งแรกในรอบ 11 ปี หรือตั้งแต่เกิดวิกฤตการเงินในปี 2008 เป็นเพียงการปรับนโยบายกลางวัฏจักร หรือ Midcycle Adjustment เท่านั้น ไม่ใช่การเริ่มต้นวงจรการปรับลดดอกเบี้ยอย่างต่อเนื่องตามที่หลายคนเข้าใจแต่อย่างใด

 

อย่างไรก็ดี สิ่งที่นักลงทุนอยากรู้แต่ยังไม่ได้คำตอบคือ กรอบเวลาและขนาดในการลดดอกเบี้ยของ Fed ซึ่งพาวเวลล์ยังไม่สามารถระบุเจาะจงได้ เนื่องจากตลาดแรงงานและการใช้จ่ายของผู้บริโภคยังแข็งแกร่ง แต่ปัญหาความขัดแย้งทางการค้าของทรัมป์ได้สร้างความไม่แน่นอน ซึ่งส่งผลกระทบต่อภาคการผลิต

 

“ดูเหมือนว่าความไม่แน่นอนจากนโยบายการค้าเป็นปัจจัยที่ฉุดรั้งเศรษฐกิจโลกให้ชะลอตัว ตลอดจนทำให้ภาคการผลิตและการใช้จ่ายในสหรัฐฯ อ่อนแอลง” ประธาน Fed กล่าว

 

การประชุมสัมมนาเศรษฐกิจจัดขึ้นที่เมืองรีสอร์ตตากอากาศอย่างแจ็กสันโฮล แต่กลับคุกรุ่นไปด้วยบรรยากาศของสงครามการค้าระหว่างมหาอำนาจเศรษฐกิจเบอร์ 1 และ 2 ของโลก ซึ่งในช่วงเวลาไล่เลี่ยกับที่พาวเวลล์กล่าว กระทรวงการคลังจีนได้ประกาศตั้งกำแพงภาษีกับสินค้านำเข้าสหรัฐฯ มูลค่า 7.5 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ ที่อัตรา 5-10% เริ่มตั้งแต่วันที่ 1 กันยายนนี้ พร้อมแผนเก็บภาษีรถยนต์และชิ้นส่วนยานยนต์เพิ่มเติมในเดือนธันวาคม ซึ่งเติมเชื้อไฟให้เทรดวอร์ร้อนระอุขึ้นอีกครั้ง

 

ขณะที่ทรัมป์ตอบโต้ด้วยการสั่งขึ้นภาษีอากรขาเข้ากับสินค้าจีนมูลค่า 2 แสนล้านดอลลาร์ จากอัตรา 25% เป็น 30% ตั้งแต่เดือนตุลาคมเป็นต้นไป พร้อมขยายกรอบกำแพงภาษีครอบคลุมสินค้ามูลค่า 3 แสนล้านดอลลาร์ จากอัตรา 10% เป็น 15% เริ่ม 1 กันยายนนี้

 

ในที่ประชุมสัมมนาดังกล่าว มาร์ก คาร์นีย์ ผู้ว่าการธนาคารกลางอังกฤษ (BoE)​ เตือนว่า เศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัวลงสะท้อนความไม่แน่นอนในด้านนโยบายเศรษฐกิจและความเสี่ยงจากมาตรการกีดกันทางการค้าที่เพิ่มขึ้น ซึ่งสร้างความเสียหายรุนแรงกว่าที่คาดการณ์ไว้ ขณะที่แบงก์ชาติของประเทศต่างๆ มีเครื่องมือนโยบายการเงินที่ใช้ได้น้อยลง

 

ส่วนพาวเวลล์ระบุว่า บรรดาผู้กำหนดนโยบายกำลังเฝ้าจับตาสถานการณ์อย่างระมัดระวัง ขณะเดียวกันก็ประเมินแนวโน้มเศรษฐกิจและนโยบายการเงิน เพื่อให้สามารถดำเนินการอย่างเหมาะสมในการสนับสนุนการเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน

 

พาวเวลล์เตือนด้วยว่า เวลานี้การบริหารจัดการความเสี่ยงเป็นหนึ่งในกระบวนการตัดสินใจกำหนดนโยบายของ Fed เนื่องจากมีความไม่แน่นอนเกี่ยวกับผลกระทบจากสถานการณ์ที่เป็นอยู่ และความไม่แน่นอนที่เรากำลังเผชิญเกี่ยวกับมิติโครงสร้างเศรษฐกิจ

 

 

พิสูจน์อักษร: พรนภัส ชำนาญค้า

อ้างอิง: 

 

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising