×

ประธาน Fed ย้ำ ‘ขึ้นดอกเบี้ยต่อ’ เป็นสิ่งจำเป็น เหตุตลาดงานยังแข็งแกร่ง เงินเฟ้ออาจลงยาก

08.02.2023
  • LOADING...
เจอโรม พาวเวลล์

เจอโรม พาวเวลล์ ประธาน Fed ย้ำว่า ตัวเลขการจ้างงานที่แข็งแกร่งแสดงให้เห็นว่า การสู้กับเงินเฟ้อน่าจะต้องใช้เวลา บ่งบอกว่า Fed อาจต้องขึ้นดอกเบี้ยต่อไป

 

เจอโรม พาวเวลล์ ประธานธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) ขึ้นแสดงวิสัยทัศน์ในงาน Economic Club of Washington ที่จัดขึ้นเมื่อวันที่ 7 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ตามเวลาท้องถิ่น โดยยังคงยึดมั่นจุดยืนที่ว่า อัตราดอกเบี้ยจำเป็นต้องเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง เพื่อกำราบอัตราเงินเฟ้อ

 

การแสดงวิสัยทัศน์ของพาวเวลล์ครั้งนี้นับเป็นครั้งแรกหลัง Fed ตัดสินใจขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.25% เมื่อต้นเดือนที่ผ่านมา และหลังจากการรายงานตัวเลขการจ้างงานเดือนมกราคมที่ยังร้อนระอุ

 

“เราคิดว่าเราจะต้องขึ้นอัตราดอกเบี้ยอีก เพราะตลาดแรงงานมีความแข็งแกร่งเป็นพิเศษ และหากสถานการณ์การจ้างงานยังคงร้อนระอุ เราอาจต้องทำอะไรมากกว่านี้” พาวเวลล์กล่าว

 

ข้อมูลจากรัฐบาลสหรัฐฯ เมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมาแสดงให้เห็นว่า นายจ้างยังคงจ้างคนงานเพิ่มอีก 517,000 คนในเดือนมกราคม ขณะที่อัตราการว่างงานลดลงเหลือ 3.4% ต่ำที่สุดนับตั้งแต่ปี 1969 ทำให้พาวเวลล์กล่าวในงานว่า “รายงานยังแสดงให้คุณเห็นว่า เหตุใดเราจึงคิดว่านี่จะเป็นกระบวนการที่ใช้ระยะเวลาอย่างมีนัยสำคัญ”

 

พันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ ถูกเทขายทันทีหลังประธาน Fed ส่งสัญญาณชัดเจนว่า พร้อมขึ้นอัตราดอกเบี้ยสูงขึ้นในปีนี้หากตลาดงานยังไม่เย็นลง หุ้นสหรัฐฯ ก็กลับตัวเช่นกัน แต่ปิดเซสชันบวกเล็กน้อย

 

คำพูดของพาวเวลล์ชี้ให้เห็นว่า การคาดการณ์อัตราดอกเบี้ยสูงสุดที่ 5.1% โดยเจ้าหน้าที่ในเดือนธันวาคมคือเพดานอ่อน (Soft Ceiling) เท่านั้น และอาจขึ้นสูงได้มากกว่านี้

 

ก่อนหน้านี้ตัวเลขเงินเฟ้อที่ชะลอตัวหลายเดือนติดต่อกันทำให้มีการมองโลกในแง่ดีว่า Fed กำลังชนะการต่อสู้เพื่อกำราบเงินเฟ้อ แม้เจ้าหน้าที่หลายรายยืนยันว่า พวกเขาตั้งใจที่จะไม่ประกาศชัยชนะก่อนเวลาอันควร

 

โอแมร์ ชาริฟ จาก Inflation Insights กล่าวว่า รายงานราคาผู้บริโภคในเดือนมกราคมอาจเย็นลงน้อยกว่าที่คาดไว้ ซึ่งได้เน้นย้ำถึงความจำเป็นที่ Fed จะต้องผลักดันการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในเดือนมีนาคมและพฤษภาคม


ข่าวที่เกี่ยวข้อง:


อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X
Close Advertising