×

ความยากจนและเหลื่อมล้ำปี 2562 ตัวเลขดีขึ้น แต่คนจน 1 คน ต้องเลี้ยงดู 4 ชีวิต

26.03.2021
  • LOADING...
ความยากจนและเหลื่อมล้ำปี 2562 ตัวเลขดีขึ้น แต่คนจน 1 คน ต้องเลี้ยงดู 4 ชีวิต

HIGHLIGHTS

4 mins. read
  • ความเหลื่อมล้ำจากการถือครองที่ดินมีแนวโน้มจะเพิ่มขึ้น ความจนทำให้ต้องเอาที่ดินไปค้ำเงินกู้และถูกยึดในที่สุด
  • วัยแรงงานในครัวเรือนยากจน 1 คน ต้องรับผิดชอบเลี้ยงดูเด็กและผู้สูงอายุ 4 คน

สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) จัดทำรายงานวิเคราะห์สถานการณ์ความยากจนในประเทศไทยเมื่อปี 2562 และพบว่า จากการขยายตัวของเศรษฐกิจและการขยายมาตรการช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อยของภาครัฐ เช่น โครงการบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ และโครงการสร้างความเข้มแข็งของเศรษฐกิจฐานรากตามแนวทางประชารัฐ ทำให้ในภาพรวมนั้นสถานการณ์ดีขึ้น สัดส่วนของคนจนลดลงจากร้อยละ 9.85 ในปี 2561 มาอยู่ที่ร้อยละ 6.24 หรือคิดเป็นคนจนจากจำนวน 6.7 ล้านคนมาสู่ 4.3 ล้านคน ในระดับครัวเรือน มีครัวเรือนยากจนทั้งสิ้น 1.31 ล้านครัวเรือน และลดลงเมื่อเทียบกับปี 2561 ซึ่งอยู่ที่ 1.85 ล้านครัวเรือน 

 

ทั้งนี้ยังพบว่า ครัวเรือนคนจนมีอัตราการพึ่งพิงสูงกว่าครัวเรือนไม่ยากจนอย่างมาก เพราะจากสถิติที่พบในปี 2562 วัยแรงงาน 1 คนในครัวเรือนยากจน ต้องรับผิดชอบดูแลเด็กและผู้สูงอายุ 1 คนเท่ากัน ขณะที่ครัวเรือนไม่ยากจน วัยแรงงาน 2 คน ดูแลผู้สูงอายุและเด็ก 1 คน นอกจากนี้ ครัวเรือนขนาดใหญ่ ครัวเรือนแหว่งกลาง ซึ่งหมายถึงมีแค่ผู้สูงอายุกับเด็กที่ไม่มีส่วนร่วมทางเศรษฐกิจ ประกอบอาชีพทางการเกษตร และมีการศึกษาต่ำ เป็นกลุ่มคนที่ประสบปัญหาความยากจนที่สุด

 

หากแบ่งคนจนออกเป็น 3 กลุ่มคือ 1. คนจนด้านตัวเงินเพียงอย่างเดียว 2. คนจนด้านตัวเงินและคนจนหลายมิติ 3. คนยากจนหลายมิติเพียงอย่างเดียว พบว่าคนจนกลุ่มแรกนั้นมีจำนวน 1.8 ล้านคน กลุ่มที่ 3 มีจำนวน 6.8 ล้านคน และกลุ่มตรงกลางที่จนทั้งด้านตัวเงินและจนหลายมิติมีจำนวน 2.25 ล้านคน โดยเป็นกลุ่มคนที่ต้องให้ความสำคัญมากที่สุด เพราะนอกจากรายได้ไม่เพียงพอแล้วยังมีความขัดสนในด้านต่างๆ ซึ่งส่งผลต่อคุณภาพชีวิตด้วย และกว่า 33.5 เปอร์เซ็นต์เป็นกลุ่มผู้สูงอายุและเด็ก ทั้งส่วนใหญ่อาศัยอยู่ในชนบทด้วย อย่างไรก็ตาม กลุ่มคนจนเข้าถึงสวัสดิการของรัฐได้มากขึ้น และความยากจนในภาพรวมมีแนวโน้มลดลง

 

อย่างไรก็ตาม สถานการณ์ด้านความยากจนด้านตัวเงินนั้นแม้จะปรับตัวไปในทิศทางที่ดีขึ้น และความรุนแรงของปัญหาความยากจนจะลดลง เพราะคนยากจนมากที่มีระดับรายจ่ายเพื่อการอุปโภคบริโภคต่ำกว่าเส้นความยากจนกว่าร้อยละ 20 มีจำนวน 1.28 ล้านคน หรือร้อยละ 29.50 ของคนยากจนทั้งหมด ลดลงมาจากปีก่อนหน้าร้อยละ 51.78 ขณะที่คนยากจนน้อยหรือมีระดับรายจ่ายเพื่อการอุปโภคบริโภคใกล้เคียงกับเส้นความยากจน มีจำนวน 3.05 ล้านคน ซึ่งลดลงจากปีก่อนร้อยละ 24.43 ซึ่งกลุ่มคนที่ยากจนมากนั้นอาจบริโภคอาหารไม่เพียงพอต่อความต้องการของสารอาหารขั้นต่ำด้วยซ้ำไป เพราะไม่มีกำลังในการอุปโภคแและบริโภค รวมถึงกลุ่มคนที่ยังไม่ใช่คนยากจนแต่มีรายจ่ายเพื่อการอุปโภคบริโภคใกล้เคียงเส้นความยากจน คนกลุ่มนี้มีความเสี่ยงที่จะกลายเป็นคนยากจนในทันทีได้ง่ายหากมีปัญหาที่เกิดขึ้นอย่างฉับพลัน เช่น การเจ็บป่วยหรือการว่างงาน

 

และหากพิจารณาจากรายได้ รายจ่าย หนี้สินของครัวเรือนยากจน พวกเขามีรายได้เฉลี่ย 9,994 บาท/ครัวเรือน/เดือน โดยกลุ่มครัวเรือนที่มีอาชีพทำเกษตรกรรม การป่าไม้ และการประมง มีสัดส่วนคนจนสูงสุดที่ร้อยละ 11.33 รองลงมาคือสาขาการทำเหมืองแร่ เหมืองหิน และการก่อสร้าง และมีคนที่ทำงานช่วยธุรกิจครอบครัวโดยไม่ได้รับค่าจ้างมีปัญหาความยากจนเยอะที่สุด รองลงมาคือกลุ่มคนที่ทำงานโดยไม่มีลูกจ้าง และกลุ่มลูกจ้างภาคเอกชนที่มีสัดส่วนคนจนร้อยละ 4.38 ซึ่งในจำนวนนี้มีหลายคนที่เป็นแรงงานโดยไม่มีสวัสดิการใดๆ รองรับด้วย 

 

สถานการณ์ความเหลื่อมล้ำมีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2549 เป็นต้นมา แต่ความแตกต่างด้านรายได้ระหว่างกลุ่มประชากรยังสูงอยู่มาก ประชากรกลุ่มที่มีฐานะทางเศรษฐกิจที่ต่ำที่สุดมีรายได้เฉลี่ย 2,049 บาทต่อเดือน ขณะที่คนที่มีฐานะทางเศรษฐกิจสูงที่สุดมีรายได้เฉลี่ยสูงถึง 32,663 บาทต่อเดือน โดยความเหลื่อมล้ำด้านรายจ่ายมีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่อง ขณะที่ความไม่เสมอภาคในการถือครองทรัพย์สินนั้นแม้จะลดลงแต่ก็ยังอยู่ในระดับสูง ค่าสัมประสิทธิ์การถือครองยานพาหนะและทรัพย์สินทางการเงินปรับตัวลดลงเล็กน้อย ขณะที่การถือครองบ้าน ที่ดิน และสิ่งปลูกสร้างที่ใช้ประกอบธุรกิจ / เกษตรฯ เป็นประเภททรัพย์สินที่มีความไม่เสมอภาคมากที่สุด และเป็นปัจจัยสำคัญที่ส่งผลต่อความเหลื่อมล้ำทางด้านรายได้ให้สูงขึ้น เพราะทรัพย์สินทั้งสองประเภทเป็นปัจจัยการผลิตสำคัญนั่นเอง

 

ขณะที่ความเหลื่อมล้ำด้านการศึกษาในภาพรวมค่อนข้างดีขึ้น แต่ยังมีความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงการศึกษาในระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย และประกาศนียบัตรวิชาชีพ (ปวช.) กลุ่มเด็กที่มีฐานะดีที่สุดมีอัตราการเข้าศึกษาต่อระดับมัธยมศึกษาตอนปลายสูงกว่าเด็กที่มีฐานะทางเศรษฐกิจต่าที่สุดประมาณ 2 เท่า และเป็น 13 เท่าเมื่อเป็นระดับปริญญาตรี โดยระดับการศึกษาของหัวหน้าครัวเรือนมีผลต่อโอกาสการเข้ารับการศึกษาของเด็กๆ ในครัวเรือน รวมถึงการเข้าถึงโครงการเงินกู้เพื่อการศึกษาของรัฐในกลุ่มครัวเรือนที่ยากจนซึ่งยังมีระดับต่ำอยู่มาก ทั้งความเหลื่อมล้ำด้านคุณภาพและการจัดสรรทรัพยากรทางการศึกษายังมีอยู่หลายมิติ เพราะปัญหาด้านการศึกษาในภาพรวมของประเทศไทยนั้นมีแนวโน้มที่คุณภาพจะลดลงแล้ว ยังพบความเหลื่อมล้ำด้านคุณภาพการศึกษาระหว่างสังกัดโรงเรียน ขนาดโรงเรียน ภูมิภาค และระหว่างกลุ่มรายได้ของประชากรด้วย

 

หากคิดเป็นร้อยละ คนจนส่วนใหญ่ร้อยละ 79.18 จบการศึกษาในระดับประถมศึกษา คนยากจนที่มีอายุ 25 ปีขึ้นไปมีโอกาสจะได้รับการศึกษาในระดับที่สูงกว่าพ่อแม่ที่โดยเฉลี่ยจบการศึกษาในระดับประถมศึกษาเพียงร้อยละ 46.7 ในปี 2562 ขณะที่ประชากรอายุ 25 ปีขึ้นไปในครัวเรือนที่ไม่จน มีโอกาสได้รับการศึกษาสูงกว่าประถมศึกษา ถึงร้อยละ 79.1 ชี้ให้เห็นถึงโอกาสที่แตกต่างกันในการได้รับการศึกษาในระดับสูงของครัวเรือนทั้ง 2 กลุ่ม และเป็นคนกลุ่มการศึกษาน้อยนี่เองที่ต้องเผชิญกับปัญหาความยากจนมากที่สุด ในปี 2562 คนที่ไม่ได้เรียนหนังสือมีสัดส่วนที่เป็นคนจนร้อยละ 16.3 รองลงมาเป็นกลุ่มที่ได้รับการศึกษาก่อนประถมศึกษาและระดับประถมศึกษา แสดงว่าการมีการศึกษาเพิ่มขึ้นทำให้ปัญหาความยากจนลดลง และไม่เพียงแต่สวัสดิการด้านการศึกษา หากแต่สวัสดิการในการมีคุณภาพชีวิตที่ดีก็เช่นกัน สศช. พบว่า ครัวเรือนยากจนเข้าถึงน้ำสะอาด (เช่น น้ำจากขวด เครื่องกดน้ำ หรือน้ำประปาในบ้านที่ผ่านการต้มแล้ว) เพิ่มขึ้น แต่ยังมีครัวเรือนยากจนอีกร้อยละ 27.71 เข้าไม่ถึงน้ำดื่มสะอาด

 

มองจากภาพรวม เราจะเห็นปัญหาเชิงโครงสร้าง นั่นคือแรงงานภาคเกษตรยังเป็นกลุ่มคนจนกลุ่มใหญ่เหมือนเดิม และกลุ่มคนที่มีการศึกษาน้อย รายได้น้อย แต่อัตราการพึ่งพิงสูง ก็ทำให้หลุดจากความยากจนได้ยาก โดยเฉพาะในปัจจุบันที่สังคมไทยเข้าสู่สังคมสูงวัย ทำให้วัยแรงงานที่ต้องหาเลี้ยงครอบครัวต้องรับผิดชอบในการหารายได้มาจุนเจือสมาชิกในครอบครัวทั้งเด็กและผู้สูงอายุ และกลุ่มคนเหล่านี้มักประกอบอาชีพที่สร้างรายได้ได้น้อย ด้วยข้อจำกัดทางด้านการศึกษาที่ทำให้หลายคนเข้าถึงการศึกษาขั้นพื้นฐานไม่ได้ ทำให้การเพิ่มโอกาสทางการศึกษาให้เด็กนั้นเป็นเรื่องจำเป็นและภาครัฐต้องให้ความสำคัญอย่างมาก 

 

ขณะที่หลักประกันสุขภาพที่แม้จะครอบคลุมประชากรเกือบทั้งประเทศ แต่ก็ยังมีความเหลื่อมล้ำด้านคุณภาพการบริการที่ได้รับระหว่างหลักประกันสุขภาพสามระบบ และความเหลื่อมล้ำระหว่างประชากร กลุ่มผู้มีรายจ่ายต่ำที่สุดจะได้รับการอุดหนุนค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพที่ลดลงตั้งแต่อายุ 85 ปีเป็นต้นไป สะท้อนว่าคนเหล่านี้มีข้อจำกัดในการเข้าถึงการบริการและคุณภาพของบริการสาธารณสุข ขณะที่ผู้มีฐานะทางเศรษฐกิจสูงมีความสามารถในการจ่ายค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพเอง สามารถเลือกใช้สถานบริการเมื่อเจ็บป่วยกันตามระดับรายได้ ประชากรที่มีรายได้ต่ำกว่ามีแนวโน้มจะเลือกใช้สถานพยาบาลจากสถานีอนามัยหรือศูนย์สุขภาพชุมชนและโรงพยาบาลชุมชนมากกว่ากลุ่มที่มีระดับรายได้สูง ซึ่งจะเลือกใช้การบริการจากโรงพยาบาลรัฐและเอกชน ซึ่งสะท้อนว่าผู้มีฐานะทางเศรษฐกิจดีกว่ายอมจ่ายมากขึ้นเพื่อได้รับบริการด้านสุขภาพที่มากขึ้น 

 

เช่นเดียวกันกับความเหลื่อมล้ำด้านการศึกษาที่แม้จะเป็นไปในทิศทางที่ดีขึ้น แต่ก็พบว่าการเข้าถึงการศึกษาในระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย และ ปวช. นั้นแตกต่างกันตามระดับฐานะทางเศรษฐกิจอย่างมาก กลุ่มเด็กที่มีฐานะดีที่สุดสามารถเข้าถึงการศึกษาระดับมัธยมศึกษาตอนปลายได้สูงกว่าเด็กที่มีฐานะทางเศรษฐกิจต่ำที่สุดสองเท่า โดยกลุ่มที่จนที่สุดนั้นเข้าเรียนเพิ่มขึ้นในระยะยาวจากนโยบายเรียนฟรี 15 ปี ที่ครอบคลุมการศึกษาตอนปลาย และ ปวช., การศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย (กศน.) ด้วย ขณะที่ในระดับปริญญาตรีนั้นแม้จะเพิ่มขึ้นจากปี 2561 อยู่ที่ร้อยละ 28.1 แต่ก็ยังห่างกันมากประมาณ 13 เท่าระหว่างเด็กจากกลุ่มฐานะดีและเด็กฐานะยากจน และพบว่านักเรียนกลุ่มครัวเรือนยากจนนั้นเรียนต่อมัธยมศึกษาตอนปลายและปริญญาตรีต่ำกว่านักเรียนในครอบครัวที่ไม่ยากจนในทุกภูมิภาค โดยเฉพาะในเขตกรุงเทพมหานคร (กทม.) ที่กลุ่มเด็กจากครอบครัวยากจนมีอัตราการเข้าเรียนต่อมัธยมศึกษาตอนปลายร้อยละ 36.2 ขณะที่เด็กจากกลุ่มครอบครัวไม่ยากจนเข้าถึงได้ร้อยละ 69.8 และเด็กจากครอบครัวยากจนมีอัตราการเรียนต่อระดับปริญญาตรีร้อยละ 0 สะท้อนให้เห็นความเหลื่อมล้ำในระบบการศึกษาที่ยังสูงมาก

 

อย่างไรก็ตาม สิ่งที่จำเป็นต้องให้ความสำคัญคือความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงแหล่งทุนและโครงสร้างพื้นฐาน เพราะพบว่าความเหลื่อมล้ำจากการถือครองที่ดินนั้นสูงและมีแนวโน้มจะเพิ่มขึ้นด้วย โดยเป็นปัญหาที่ฝังรากมายาวนานในสังคมไทย เนื่องจากที่ดินเป็นสินทรัพย์ที่ผู้คนนิยมสะสมเพื่อส่งต่อความมั่งคั่งให้ครอบครัว ขณะที่คนจนสูญเสียที่ดินไปกับการนำไปค้ำประกันหรือสินเชื่อ และไม่สามารถชำระคืนได้ ทำให้ที่ดินหลุดไปอยู่ในมือคนรวยหรือกลุ่มนายทุน ในภาคเกษตร เกษตรกรส่วนใหญ่ถือครองที่ดินจำนวน 10-19 ไร่ และมีเกษตรกรร้อยละ 10 ที่ถือครองที่ดินแปลงใหญ่มากกว่า 40 ไร่ โดยมีลูกจ้างภาคเกษตรที่ไม่เป็นเจ้าของที่ดินและไม่ได้เช่าที่ดินร้อยละ 0.85 ในจำนวนนี้เป็นคนจนและกลุ่มเปราะบางกว่าร้อยละ 68 สะท้อนความเหลื่อมล้ำในการถือครองที่ดิน เพราะแสดงให้เห็นว่าเกษตรกรยากจนไม่สามารถเข้าถึงที่ดินได้ ตลอดจนความเหลื่อมล้ำด้านกฎหมายที่เป็นปัจจัยเชื่อมโยงกับความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงกระบวนการยุติธรรม ทั้งยังมีประเด็นของความเหลื่อมล้ำในกระบวนการยุติธรรม เช่น การเลือกปฏิบัติที่ไม่เป็นธรรมและระบบอุปถัมภ์ ตลอดจนการละเว้นปฏิบัติหน้าที่จำนวนมาก ทำให้การพิจารณาคดีล่าช้า กระทบเสรีภาพผู้ต้องหาระหว่างพิจารณาคดี

 

สศช. ได้สรุปว่า สถานการณ์ความยากจนในไทยนั้นโดยรวมดีขึ้นในปี 2562 โดยถือว่าบรรลุเป้าหมายการแก้ไขปัญหาความยากจนที่กำหนดไว้ในแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 12 เพราะสัดส่วนคนจนปี 2562 อยู่ที่ร้อยละ 6.2 ตามที่แผนพัฒนาฯ กำหนดไว้ให้เหลือที่ร้อยละ 6.5 ทั้งนี้ แม้คนยากจนจะลดลง แต่ยังต้องเฝ้าระวังและมีมาตรการช่วยเหลืออย่างต่อเนื่อง เพราะยังพบว่าอัตราการพึ่งพิงคนจนสูงถึงร้อยละ 98.6 หรือวัยแรงงานในครัวเรือนยากจน 1 คน ต้องรับผิดชอบเลี้ยงดูเด็กและผู้สูงอายุ 4 คนเท่ากัน มากกว่าอัตราการพึ่งพิงของคนไม่จนเกือบเท่าตัว และเมื่อแยกตามช่วงวัยก็พบว่าเด็กและเยาวชนมีปัญหาความยากจนสูงกว่ากลุ่มผู้สูงอายุและวัยแรงงาน ทั้งยังมีปัญหาด้านความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงการศึกษา การอุปโภคบริโภค และสวัสดิการต่างๆ ที่ทำให้กลุ่มคนยากจนเหล่านี้ขยับฐานะหรือความเป็นอยู่ของตัวเองได้อย่างยากลำบาก ซึ่งเป็นปัญหาที่ภาครัฐต้องเร่งแก้ไขและให้ความสำคัญต่อไป

 

พิสูจน์อักษร: วรรษมล สิงหโกมล

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X