เลื่อนโหวตญัตติแก้รัฐธรรมนูญ พลังประชารัฐ ภูมิใจไทย จับมือ ส.ว. ตั้ง กมธ. ศึกษาก่อนลงมติในวาระแรก ฝ่ายค้านไม่ร่วมสังฆกรรมงดส่งชื่อร่วมกรรมาธิการศึกษา ชี้ซื้อเวลาแก้รัฐธรรมนูญไปนานกว่า 8 เดือน
บรรยากาศการประชุมรัฐสภาเพื่อลงมติในญัตติแก้ไขรัฐธรรมนูญ ที่สุดแล้วไม่เกิดการลงมติแก้ไขรัฐธรรมนูญขึ้น โดยพรรคพลังประชารัฐอาศัยข้อบังคับตั้งกรรมาธิการร่วมสองสภาเพื่อศึกษาก่อน 30 วันก่อนลงมติในวาระแรก
วิรัช รัตนเศรษฐ ส.ส. พรรคพลังประชารัฐ ในฐานะประธานวิปรัฐบาล กล่าวสรุปการอภิปรายขอเสนอเลื่อนการลงมติเป็นสมัยประชุมหน้า โดยหลังจากที่ตนพูดจบจะมีเพื่อนสมาชิกเสนอตั้งคณะกรรมาธิการพิจารณาศึกษาร่วมก่อนรับหลักการ ตามข้อบังคับข้อที่ 121 วรรค 3
“กราบเรียนไปที่สมาชิกพรรคร่วมฝ่ายค้านว่าทำไมไม่มาร่วมกันแก้ไขปัญหา ถ้าจะบอกว่าทำวันนี้แล้วจะได้อะไรเมื่อมันถึงทางตัน ถ้าเดินไปแล้วไปต่อไม่ได้ผมจะหยุดรอเพื่ออีก 1 เดือนข้างหน้า” วิรัช กล่าว
จากนั้น ไพบูลย์ นิติตะวัน ส.ส. พลังประชารัฐ กล่าวว่า จากการฟังการอภิปรายตลอด 2 วัน มีสมาชิกรัฐสภาหลายท่านโดยเฉพาะสมาชิกวุฒิสภาปรารภว่าเพิ่งได้เห็นร่างรัฐธรรมนูญทั้ง 6 ฉบับ ซึ่งยังไม่มีเวลามากพอที่จะได้ศึกษา และใช้ดุลยพินิจในการพิจารณา จึงขอใช้ข้อบังคับการประชุมข้อที่ 121 วรรค 3 ระบุว่าการพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมในวาระที่ 1 นั้น เพื่อประโยชน์แก่การวินิจฉัยที่ประชุมรัฐสภาจะต้ังคณะกรรมาธิการพิจารณาก่อนรับหลักการในวาระที่ 1 ก็ได้ จึงเสนอให้ตั้งกรรมาธิการขึ้นมาพิจารณาก่อนการรับหลักการขึ้นมาก่อนเพื่อให้ตัวแทนวุฒิสภา ตัวแทน ส.ส. รัฐบาล และฝ่ายค้าน
โดยกรรมาธิการที่ตั้งขึ้นจะได้จัดทำรายงานความเห็นของทั้ง 3 ฝ่ายเสนอต่อรัฐสภาโดยเร็ว เพื่อเป็นประโยชน์ในการใช้ดุลยพินิจว่าจะรับหลักการญัตติร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้ง 6 ฉบับหรือไม่ในสมัยประชุมหน้า
สุทิน คลังแสง ส.ส. พรรคเพื่อไทย ในฐานะประธานวิปฝ่ายค้าน กล่าวว่าข้อเสนอดังกล่าวตามข้อบังคับนั้นทำได้ และเห็นว่าทางใดที่เราจะแก้รัฐธรรมนูญสำเร็จนั้นเราไม่ขัดข้อง แต่พอข้อเสนอตั้งกรรมาธิการ 3 ฝ่ายนี้ เกรงว่าจะไม่ใช่หนทางที่จะประสบความสำเร็จ แต่เกรงว่าจะเป็นทางที่นำไปสู่ความล้มเหลว
เนื่องจากเหตุผลที่ว่าที่ผ่านมาก็ได้มีการคุยกัน 3 ฝ่ายแล้ว แต่ก็ไม่เคยมีการพูดเลยว่าจะเสนอให้ตั้งกรรมาธิการศึกษาร่างรัฐธรรมนูญแล้ว ตอนนั้นไม่มีข้อกังวลในความไม่เข้าใจเนื้อหาสาระตั้งแต่ตอนนั้น อีกทั้งในขั้นตอนนี้คือขั้นรับหลักการ ส่วนรายละเอียดนั้นไปว่ากันได้ในวาระที่ 2-3 และเชื่อว่าข้อมูล 2 วันนี้เพียงพอในขั้นรับหลักการ และจากการฟังการอภิปรายของ ส.ว. เห็นว่าทุกท่านรู้ข้อมูลดี ชี้ถูกชี้ผิดได้ด้วย ดังนั้นเหตุผลว่าข้อมูลไม่พอ ยังไม่ค่อยเข้าใจร่างกฎหมายจึงเห็นว่าฟังไม่ขึ้น
ที่กังวลคือถ้านำเรื่องนี้ไปศึกษา 1 เดือน ให้หลักประกันได้ไหมว่าจะรับ ถ้ามีท่าทีว่าจะไม่รับก็ให้ตกวันนี้เลย ไม่ใช่รอให้ผ่านไป 1 เดือนบอกจะไปศึกษาแล้วให้ตก และถ้าตกสมัยหน้าก็ต้องรออีก 1 ปีเลยถึงจะยื่นใหม่ได้
อีกทั้งถ้าญัตติวันนี้ตกไป ก็ยังมีร่างฉบับประชาชนของ iLaw พิจารณาสมัยหน้า แต่ถ้ารอให้ญัตตินี้ไปตกในอีก 1 เดือนข้างหน้า เท่ากับว่าญัตติของเราก็ตก และฉบับของ iLaw ก็ตกไปด้วย
ดังนั้นถ้าท่านจะตั้งกรรมาธิการศึกษา ฝ่ายค้านขอไม่ร่วมเข้าศึกษาด้วยในกรรมาธิการชุดนี้
สมชาย แสวงการ ส.ว. กล่าวว่า ยังมีหลายประเด็นที่ ส.ว. ได้เห็นเอกสารจริงแล้วในการประชุมวิป 3 ฝ่าย โดยมีการคุยเรื่องการลงมติและการจัดเวลา ไม่ได้ลงในรายละเอียดเนื้อหา แต่เมื่อมีการฟังการอภิปรายแล้วก็มี ส.ว. หลายท่านกังวลในเนื้อหาว่าจะขัดคำวินิจฉัยรัฐธรรมนูญหรือไม่ บางร่างนั้นส่งมาล่วงหน้า 8 วัน ถามว่าเราจะพิจารณาแก้รัฐธรรมนูญกัน 8 วันเท่านั้น หรือว่าให้มีม็อบมาล้อมสภาแล้วจะผ่านกฎหมายกันให้หมด ถ้าเป็นเช่นนี้ต่อไปคงมีม็อบมาล้อมสภาทุกรอบ และขออย่ามัดมือชก ส.ว. อีกทั้งถ้าจะทำการศึกษาโดยกรรมาธิการร่วมกันก็สามารถทำได้ และนำทั้ง 6 ญัตติและร่างฉบับประชาชนที่ไปเข้าชื่อเสนอมาพิจารณาศึกษาร่วมกัน
ครูมานิตย์ สังข์พุ่ม ส.ส. พรรคเพื่อไทย อภิปรายช่วงหนึ่งว่า ท้าสาบานหรือไม่ว่าการตั้งกรรมาธิการศึกษาเป็นความคิดของพวกท่าน แต่มันมีใบสั่ง จะสั่งมาจากไหนผมไม่รู้
ชินวรณ์ บุณยเกียรติ ส.ส. พรรคประชาธิปัตย์ อภิปรายว่าได้พยายามเรียกร้องกับเพื่อนสมาชิกพรรคร่วมรัฐบาล และเพื่อนสมาชิกรัฐสภาตั้งแต่วันแรกว่า วันนี้เรากำลังทำสิ่งที่สำคัญในประวัติศาสตร์ เพราะการเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายสูงสุดของประเทศ
และเพิ่งมาทราบไม่กี่ชั่วโมงว่าจะมีการเปลี่ยนให้ตั้งกรรมาธิการศึกษาก่อนลงมติวาระแรก จึงยืนยันจุดยืนของพรรคประชาธิปัตย์ว่า ไม่มีความจำเป็นต้องให้กรรมาธิการขึ้นมาศึกษาก่อน เพราะเมื่อลงมติแล้วสามารถตั้งกรรมาธิการขึ้นมาศึกษาได้ในวาระสอง และยังย้ำว่าให้มีการลงมติรับหลักการเพื่อเดินหน้าต่อไป
จากนั้น วิรัช รัตนเศรษฐ ประธานวิปรัฐบาล ขอประธานพักการประชุม 10 นาที
จากนั้นเมื่อเวลาผ่านไปกว่า 20 นาที
ชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ ส.ส. พรรคพลังประชารัฐ แจ้งผลหารือว่าจะเดินตามญัตติตั้งกรรมาธิการเพื่อศึกษาก่อนลงมติแก้ไขรัฐธรรมนูญในวาระแรก
วิโรจน์ ลักขณาอดิศร ส.ส. พรรคก้าวไกล อภิปรายไม่สามารถร่วมสังฆกรรมการประวิงเวลาการแก้รัฐธรรมนูญไปอีก 8-9 เดือนไม่ได้ เพราะการเลื่อนไป 1 เดือน หากเวลาผ่านไปแล้วตีตกญัตติก็ต้องรอหลังวันที่ 22 พฤษภาคม เพราะในหลักการกฎหมายเดียวกันไม่สามารถเสนอซ้ำในสมัยประชุมเดียวกันได้
ศุภชัย ใจสมุทร ส.ส. พรรคภูมิใจไทย อภิปรายยินดีที่หากจะต้องใช้เวลาทบทวนกันของทั้ง 2 สภา และภูมิใจไทยขอสนับสนุนญัตติตั้งกรรมาธิการศึกษารัฐธรรมนูญ
ที่สุดแล้วที่ประชุมได้ลงมติเห็นชอบให้ตั้งกรรมาธิการศึกษาก่อนรับหลักการ 432 เสียง ไม่เห็นชอบ 255 งดออกเสียง 28 ไม่ลงคะแนน 1 เสียง
พร้อมเสนอตั้งกรรมาธิการ 45 คน แบ่งเป็น ส.ว. 15 คน ส.ส. 30 คน ประกอบด้วยพรรคเพื่อไทย 8 คน พรรคพลังประชารัฐ 8 คน พรรคภูมิใจไทย 4 คน พรรคก้าวไกล 3 คน พรคประชาธิปัตย์ 3 คน พรรคชาติไทยพัฒนา พรรคเสรีรวมไทย พรรคประชาชาติ และพรรคเศรษฐกิจใหม่ พรรคละ 1 คน โดยใช้เวลาศึกษา 30 วัน
อย่างไรก็ตาม ชลน่าน ศรีแก้ว ส.ส. พรรคเพื่อไทย อภิปรายขอไม่ตั้งกรรมาธิการในนามพรรคเพื่อไทย และขอไม่ร่วมสังฆกรรมด้วย
เช่นเดียวกับ รังสิมันต์ โรม ส.ส. พรรคก้าวไกล ไม่ขอร่วมสังฆกรรมและจะเดินหน้าขับเคลื่อนแก้รัฐธรรมนูญต่อไป
เช่นเดียวกับพรรคเสรีรวมไทย พรรคประชาชาติ พรรคเศรษฐกิจใหม่ ก็ไม่ขอร่วมตั้งกรรมาธิการในครั้งนี้ด้วย