×

ศาลฎีกาฯ เลื่อนฟังคำพิพากษาอีกครั้งเป็น 29 พ.ย. นี้ ในคดียิ่งลักษณ์ใช้อำนาจย้าย ถวิล เปลี่ยนศรี พ้นเก้าอี้เลขาฯ สมช. โดยมิชอบ เหตุองค์คณะผู้พิพากษามาไม่ครบ

โดย THE STANDARD TEAM
09.11.2023
  • LOADING...
ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร

วันนี้ (9 พฤศจิกายน) ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองนัดพิพากษาคดีที่ ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ถูกกล่าวหาว่าปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบเมื่อครั้งดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ใช้อำนาจโยกย้าย ถวิล เปลี่ยนศรี เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) ในขณะนั้น ให้ไปดำรงตำแหน่งที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี 

 

โดยในวันนี้ ยิ่งลักษณ์ในฐานะจำเลยไม่ได้เดินทางมาศาล แต่ได้ส่ง นรวิชญ์ หล้าแหล่ง และ วิญญัติ ชาติมนตรี ในฐานะทนายความของจำเลย มาฟังคำพิพากษาแทน แต่ศาลได้เลื่อนการฟังคำพิพากษา โดยระบุว่าองค์คณะผู้พิพากษามาปฏิบัติหน้าที่ไม่ครบ 9 คน จึงให้เลื่อนไปฟังคำพิพากษาอีกครั้งในวันที่ 29 พฤศจิกายน 2566 เวลา 13.30 น.

 

ย้อนที่มาคดีย้ายถวิลพ้นเก้าอี้ สมช. ทำยิ่งลักษณ์ตกเก้าอี้นายกฯ

 

คดีนี้เริ่มต้นเมื่อวันที่ 30 กันยายน 2554 ขณะที่ ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ลงนามในคำสั่งตามมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) ที่ให้โอน ถวิล เปลี่ยนศรี ไปปฏิบัติหน้าที่ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี

 

ในเวลาต่อมา ครม. ตั้ง พล.ต.อ. วิเชียร พจน์โพธิ์ศรี ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.) ในขณะนั้น ให้ดำรงตำแหน่งเลขาธิการ สมช. และต่อมามีการแต่งตั้ง พล.ต.อ. เพรียวพันธ์ ดามาพงศ์ ซึ่งเป็นญาติกับยิ่งลักษณ์ เป็น ผบ.ตร. แทน

 

ต่อมาถวิลได้ฟ้องยิ่งลักษณ์ในฐานะนายกรัฐมนตรีต่อศาลปกครอง จนคดีสิ้นสุดลงเมื่อวันที่ 7 มีนาคม 2557 ศาลปกครองสูงสุดสั่งคืนตำแหน่งเลขาธิการ สมช. ให้ถวิล หลังศาลเห็นว่าเป็นการโยกย้ายที่ใช้ดุลพินิจโดยมิชอบ พร้อมเพิกถอนประกาศให้มีผลย้อนหลังไปถึงวันที่ถูกสั่งย้าย

 

และในวันที่ 7 พฤษภาคม 2557 ศาลรัฐธรรมนูญมีมติเอกฉันท์ 9 ต่อ 0 วินิจฉัยว่า ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ใช้สถานะการเป็นนายกรัฐมนตรีเข้าไปก้าวก่าย แทรกแซง การแต่งตั้งโยกย้ายถวิลเพื่อประโยชน์ของตัวเอง ทำให้ความเป็นรัฐมนตรีของนายกรัฐมนตรีสิ้นสุดลง

 

ความเป็นนายกรัฐมนตรีของยิ่งลักษณ์สิ้นสุดลงในห้วงเดียวกับที่ยิ่งลักษณ์ทำหน้าที่รักษาการนายกรัฐมนตรีจากเหตุยุบสภาเพื่อเลือกตั้งใหม่ หลังต้องเผชิญกับการประท้วงทางการเมืองของกลุ่มคณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงปฏิรูปประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์แบบอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (กปปส.) ก่อนที่จะมีการรัฐประหารคณะรัฐมนตรีชุดรักษาการในวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 โดย พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผู้บัญชาการทหารบก (ผบ.ทบ.) ในขณะนั้น

 

พ้นเก้าอี้นายกฯ ไม่พอ ป.ป.ช. ชี้มูลความผิดทางอาญาเพิ่ม

 

วันที่ 1 กรกฎาคม 2563 ป.ป.ช. ได้ชี้มูลความผิดยิ่งลักษณ์ปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ผิดประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 จึงส่งอัยการสูงสุดพิจารณาสั่งฟ้องศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ก่อนที่อัยการจะสั่งฟ้องยิ่งลักษณ์ในอีกเกือบ 2 ปีต่อมา

 

อย่างไรก็ตาม ในช่วงการฟ้องยิ่งลักษณ์ ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองได้ออกหมายจับยิ่งลักษณ์อีกด้วย เนื่องจากไม่มาศาลโดยไม่แจ้งเหตุ ซึ่งยิ่งลักษณ์ได้หลบหนีคดีที่ถูกกล่าวหาว่าปล่อยปละละเลยให้มีการทุจริตในโครงการจำนำข้าว โดยเดินทางออกจากประเทศไทยช่วงเดือนสิงหาคม ปี 2560 และไม่ได้กลับมาประเทศไทยจนถึงปัจจุบัน

 

หากนับจากจุดเริ่มต้นของการใช้อำนาจโยกย้ายในขณะนั้น ใช้เวลาราวกว่า 12 ปี ตัวละครในคดีนี้อย่างยิ่งลักษณ์ไปใช้ชีวิตอยู่ต่างประเทศ ในขณะที่ถวิลปัจจุบันเกษียณอายุราชการแล้ว แต่ยังดำรงตำแหน่งสมาชิกวุฒิสภา (สว.) ชุดปัจจุบัน

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising