ภาพเหตุการณ์ในนี้แทบจะไม่ต้องเล่าเรื่องอะไรมากเลย เนื่องจากกระแสข่าวและปัจจัยต่างๆ ที่มีผลต่อการลงทุนถูกกลบไปด้วยข่าวการระบาดระลอกที่ 3 ของโควิด-19 ซึ่งรอบนี้เข้าขั้นรุนแรงมาก มีผู้ติดเชื้อและเสียชีวิตกระจายไปในกลุ่มคนหลายช่วงอายุ หลายอาชีพ และกระจายไปเกือบทุกพื้นที่ ประเด็นด้านการลงทุนมีอยู่บ้างในช่วงต้นเดือน เอาเป็นว่าผมจะพยายามมาไล่เรียงประเด็นสำคัญและประเด็นที่น่าเป็นห่วง โดยจะตัดทอนในส่วนที่มีการพูดกันจากในหลายๆ สื่อออกไปนะครับ
เรามามองภาพความเป็นจริงก่อน ประเด็นแรกคือการระบาดรอบนี้รุนแรง รวดเร็ว และขยายตัวเป็นวงกว้างอย่างน่ากลัว มาตรการที่รัฐนำมาใช้ก็เหมือนจะใช้ไปหมดแล้ว แต่การระบาดก็ไม่ลดลง และอัตราการเสียชีวิตก็เพิ่มสูงขึ้น ประเด็นที่ สอง ยอมรับกันแล้วว่าการได้มาและการฉีดวัคซีนยังขาดประสิทธิภาพ ทำให้การฉีดวัคซีนเป็นไปอย่างล่าช้า ไม่ทันต่อการควบคุมการระบาดในรอบนี้ ประเด็นที่ สาม ตัวเลขประมาณการณ์ทางเศรษฐกิจหลายตัว ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการนำเข้า การส่งออก อาจจะเพี้ยนๆ เนื่องจากการเร่งสั่งซื้อสินค้ามาเติมร้านค้าเพื่อรองรับการเปิดเมืองในต่างประเทศ การประมาณการด้านการบริโภค และการฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยว ก็เป็นไปได้ยาก และผมเชื่อว่าตัวเลขที่มีการประมาณการออกมาในห้วงเวลานี้น่าจะมีอัตราการคลาดเคลื่อนที่สูงมาก เพราะปัจจัยที่ไม่แน่นอนมีเยอะเกินไป แต่ยังโชคดีที่ปีที่แล้วซึ่งเป็นปีเปรียบเทียบก็ไม่ได้ดีนัก แค่ 3 ประเด็นหลักๆ แค่นี้ก็น่าจะประเมินภาพเศรษฐกิจและการลงทุนของไทยปีนี้ได้แล้วครับ
อย่างไรก็ดี ท่ามกลางความกังวลก็ยังมีอะไรดีๆ อยู่ 2 เรื่อง เรื่องแรกมาจากฝั่งตะวันตก นำโดยสหรัฐอเมริกาที่การคืบหน้าเรื่องวัคซีนเป็นไปอย่างรวดเร็ว ทำให้หลายๆ รัฐในอเมริกาเริ่มฟื้นตัวขึ้นอย่างรวดเร็ว รวมทั้งบางประเทศในยุโรป ทำให้ความต้องการสินค้าเพื่อการบริโภคมีแนวโน้มที่ดีขึ้น เรื่องที่ 2 การลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานของสหรัฐอเมริกาที่เป็นหนึ่งในแผนกระตุ้นเศรษฐกิจ จากตอนแรกที่ทุกคนต่างคาดเดากันว่าจะเป็นการกู้ยืม ซึ่งจะมีผลทำให้อัตราดอกเบี้ยในระบบเพิ่มสูงขึ้น ดูแล้วเหมือนจะเป็นการซ้ำเติมเศรษฐกิจ ทำให้ตลาดหุ้นและตลาดตราสารหนี้ต้องประสบกับความผันผวนไปช่วงหนึ่ง อย่างไรก็ตาม จากแผนของประธานาธิบดีสหรัฐฯ ที่จะปรับขึ้นภาษีคนรวยและนิติบุคคล ทำให้ความกังวลในเรื่องของการขึ้นอัตราดอกเบี้ยเริ่มจางลงไป
จะเห็นได้ว่าการฟื้นตัวของประเทศทางฝั่งตะวันตกน่าจะเป็นกุญแจสำคัญต่อการฟื้นตัวของประเทศแถบเอเชีย แต่ยังมีประเด็นเรื่องสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ กับจีน ทำให้ประเทศที่ได้รับประโยชน์จริงๆ น่าจะเป็นประเทศญี่ปุ่น เกาหลี และเอเชียตอนใต้ แต่ผมมองว่าประเทศที่จะได้รับประโยชน์สูงสุดจากการฟื้นตัวในประเทศฝั่งตะวันตกคือประเทศญี่ปุ่น เพราะสหรัฐอเมริกาและประเทศยุโรปเหล่านั้นก็ถือได้ว่าเป็นตลาดหลักของประเทศญี่ปุ่น โดยเฉพาะในกลุ่มเครื่องใช้ไฟฟ้าระดับสูงและสินค้าดิจิทัลที่มีอัตรากำไรค่อนข้างสูง ดังนั้นการฟื้นตัวของประเทศคู่ค้าเป็นบวกกับเศรษฐกิจของประเทศญี่ปุ่น
อย่างไรก็ตาม อาจจะมีคนแย้งได้ว่าในยามนี้ประเทศญี่ปุ่นก็ตกที่นั่งเดียวกับประเทศไทย คือโดนโควิด-19 ระลอกที่ 3 เหมือนเรา แต่ถ้าได้รับวัคซีนมาเร่งฉีดในช่วงครึ่งหลังของปี ก็น่าจะทำให้ญี่ปุ่นสามารถแสดงถึงศักยภาพที่ซ่อนอยู่ออกมาได้ คำถามต่อมาคือเราจะลงทุนแบบไหนและอย่างไร ตรงไปตรงมา ผมก็ยังคงแนะนำการลงทุนแบบกระจายสินทรัพย์เหมือนเดิม ซึ่งในรอบนี้ตราสารหนี้คงจะมีสัดส่วนสักประมาณร้อยละ 50 ตราสารทุนก็ประมาณร้อยละ 50 เหมือนกัน โดยมีหุ้นไทย จีน ยุโรป สหรัฐฯ และญี่ปุ่น โดยรอบนี้จะให้น้ำหนักการลงทุนในหุ้นทุนเฉพาะประเทศญี่ปุ่นประมาณร้อยละ 15 ส่วนที่เหลือก็แบ่งกันไปในแต่ละประเทศเท่าๆ กัน สุดท้ายก็ขอให้ทุกๆ ท่านปลอดเชื้อปลอดภัยทุกคนครับ