หุ้น Porsche AG เข้าซื้อขายในตลาดหุ้นแฟรงก์เฟิร์ตด้วยมูลค่าตลาด 7.5 หมื่นล้านยูโร เกือบเท่ากับบริษัทแม่อย่าง Volkswagen ที่มีมูลค่าตลาด 8 หมื่นล้านยูโร โดยนักลงทุน Cornerstone แห่ถือหุ้นราว 40% ขณะที่ราคาหุ้นวิ่งสวนตลาดรวม แต่นักวิเคราะห์ยังประเมินว่าน่านฟ้า IPO ของตลาดหุ้นยุโรปยังไม่เปิด
หุ้น Porsche AG เข้าซื้อขายในตลาดหุ้นแฟรงก์เฟิร์ตครั้งแรกเมื่อวันที่ 29 กันยายนที่ผ่านมา (ตามเวลาเยอรมนี) ด้วยมูลค่าตลาด 7.5 หมื่นล้านยูโร (ราว 7.2 หมื่นล้านดอลลาร์) และกลายเป็นหุ้น IPO ที่ใหญ่เป็นอันดับ 2 ในตลาดหุ้นแฟรงก์เฟิร์ต โดยเป็นรองจาก Volkswagen อันเป็นบริษัทแม่ ซึ่งมีมูลค่าตลาดอยู่ที่ 8.01 หมื่นล้านยูโร แต่ก็เหนือกว่าคู่แข่งอย่าง Ferrari เท่ากับว่า Porsche AG เป็นหุ้น IPO ที่ใหญ่ที่สุดในตลาดหุ้นแฟรงก์เฟิร์ตนับตั้งแต่ Deutsche Telekom ที่ IPO ในปี 1996
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
- รู้จัก BYD แบรนด์รถยนต์ไฟฟ้าชื่อนี้ ที่ Tesla อยากได้ และกำลังจะเข้ามาทำตลาดในไทยเป็นครั้งที่ 3
- VinFast ผู้ผลิต EV สัญชาติเวียดนาม เตรียมส่งออกรถ 5,000 คัน ไปยังสหรัฐฯ ยุโรป และแคนาดา
- Benz จับมือ Rivian ผลิตรถตู้ไฟฟ้า รุกตลาดยุโรป คาดเปิดตัวในปี 2025
โดยในวันเข้าซื้อขายวันแรก หุ้น Porsche AG ได้รับความสนใจจากนักลงทุนเป็นอย่างมาก โดยเปิดการซื้อขายที่ราคา 84 ยูโรต่อหุ้น (81 ดอลลาร์ต่อหุ้น) จากราคาหุ้น IPO ที่เสนอขายที่ 82.50 ยูโรต่อหุ้น ซึ่งเป็นราคาสูงสุดของกรอบราคาที่กำหนดไว้ โดยระหว่างวัน Porsche AG ไต่ระดับขึ้นไปทำราคาสูงสุดที่ 86.78 ยูโรต่อหุ้น และปิดการซื้อขายวันแรกที่ 82.56 ยูโรต่อหุ้น ซึ่งใกล้เคียงกับราคา IPO
Arno Antlitz หัวหน้าเจ้าหน้าที่การเงินของ Volkswagen ซึ่งเป็นบริษัทแม่ของ Porsche AG กล่าวกับรายการ Squawk Box Europe ของสำนักข่าว CNBC ว่าวันนี้เป็นวันที่ยอดเยี่ยมสำหรับ Porsche AG และ Volkswagen ด้วยเช่นกัน ซึ่งก็เป็นไปตามที่คาดการณ์ไว้อยู่แล้ว เพราะเราเชื่อมั่นในงบการเงินที่แข็งแกร่งและมีกลยุทธ์การเติบโตในอนาคตที่น่าเชื่อถือ
“เราเชื่อมั่นอย่างมากแม้ว่าสภาวะตลาดหุ้นจะมีความท้าทายค่อนข้างมาก แต่การ IPO ครั้งนี้ก็ได้พิสูจน์แล้วว่าเราเชื่อมั่นในสิ่งที่ถูกต้อง” Antiltz กล่าว
ก่อนการเข้าซื้อขายในตลาดหุ้นอย่างเป็นทางการ หุ้น Porsche AG ได้รับการตอบรับเชิงบวกอย่างมาก โดยมีนักลงทุนประเภท Cornerstone จองซื้อหุ้นไปราว 40% ของจำนวนหุ้นที่เสนอขาย ส่งผลให้ภายหลังการ IPO บริษัทแม่อย่าง Volkswagen ได้ลดสัดส่วนการถือหุ้นลงไปเหลือ 12.5%
ทั้งนี้ กล่าวได้ว่าหุ้นรถยนต์ยี่ห้อดังรายนี้เข้าซื้อขายในจังหวะที่ตลาดค่อนข้างผันผวน ส่วนหนึ่งมาจากอุตสาหกรรมยานยนต์ยังคงต้องเผชิญกับผลกระทบจากสงครามในยูเครน ซึ่งกดดันให้หุ้นผู้ผลิตรถยนต์ชื่อดังรายอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็น Aston Martin, Ferrari, BMW และ Mercedes-Benz ต่างพากันปรับตัวลดลงกันถ้วนหน้า
“Porsche AG กลับวิ่งสวนทางตลาดรวมอย่างชัดเจน ในขณะที่บริษัทอื่นๆ ต่างพากันชะลอแผนการขายหุ้น IPO และเข้าเทรดในตลาดกันทั้งนั้น” นักลงทุนรายหนึ่งกล่าวกับ Reuters
Porsche AG ได้รับเงินระดมทุนจากการ IPO ไปราว 1.95 หมื่นล้านยูโร ซึ่งจะช่วยให้บริษัทมีความยืดหยุ่นทางการเงินมากยิ่งขึ้น และส่งเสริมแผนการขยายด้านรถยนต์ไฟฟ้า
Antlitz ยังกล่าวถึงปัญหาการขาดแคลนเซมิคอนดักเตอร์ที่กำลังดำเนินอยู่ ซึ่งจะยังคงเป็นปัญหาในปีนี้ แต่คาดการณ์ว่าอุปทานจะเพิ่มขึ้นในปี 2023 จากนั้นปัญหาการขาดแคลนดังกล่าวจะคลี่คลายลงในปี 2024
กองทุนมองน่านฟ้า IPO ยังไม่เปิด
แม้หุ้น Porsche AG จะเป็นดีล IPO ที่ประสบความสำเร็จทั้งด้านการระดมทุนและเข้าซื้อขายในตลาดหุ้น แต่ก็ยังไม่สามารถจุดพลุให้กับบรรดาหุ้น IPO อื่นๆ ได้ เนื่องจากตลาดหุ้นทั่วยุโรปผันผวนหนักจนเรียกได้ว่าเป็นปีที่ตลาดหุ้นเลวร้ายที่สุดนับตั้งแต่ปี 2009 โดยนักลงทุนยังกังวลเกี่ยวกับภาวะเศรษฐกิจถดถอยที่เกิดขึ้นจากอัตราเงินเฟ้อที่พุ่งสูงขึ้นในหลายประเทศ และการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอย่างรุนแรงของบรรดาธนาคารกลางทั้งหลาย อีกทั้งยังมีปัจจัยลบจากสงครามในยูเครนอีกด้วย
โดยข้อมูลจาก Refinitiv ของ Reuters ณ วันที่ 27 กันยายน ตลาดหุ้นยุโรปมีการระดมทุน 4.4 หมื่นล้านดอลลาร์ ซึ่งเป็นการระดมทุนด้วยการ IPO คิดเป็นมูลค่า 4.5 พันล้านดอลลาร์เท่านั้น
Chi Chan ผู้จัดการพอร์ตโฟลิโอของ European Equities ของ Federated Hermes Limited กล่าวกับ Reuters ว่า ที่ Porsche AG ประสบความสำเร็จในการระดมทุนและเข้าตลาด เป็นเพราะปัจจัยเฉพาะตัว ทั้งการใช้พลังงานไฟฟ้าเชิงรุก การมีกระแสเงินสดที่แข็งแกร่ง และการเป็นแบรนด์ระดับพรีเมียมในตลาด
ขณะที่ Malte Hopp หัวหน้าแผนก Equity Capital Markets (ECM) ในประเทศเยอรมนีและออสเตรียของ Citi กล่าวว่า แม้จะรู้สึกยินดีไปด้วยกับดีลนี้ แต่สำหรับ IPO อื่นๆ การเข้าตลาดช่วงนี้น่าจะเป็นเรื่องที่ยาก
อ้างอิง: