×

เปิดใจ ‘พรพจน์ เพ็ญพาส’ อธิบดีกรมที่ดิน ทำตามกฎหมาย ไม่แลกชีวิตข้าราชการ เกมการเมืองเขากระโดง

โดย THE STANDARD TEAM
14.01.2025
  • LOADING...
pornpoth-penpas-interview

มหากาพย์ที่ดินเขากระโดง 5,083 ไร่ ที่มีหนังสือแสดงสิทธิในที่ดินที่ออกทับที่ดินการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) บริเวณแยกเขากระโดง อำเภอเมืองบุรีรัมย์ จังหวัดบุรีรัมย์ จำนวน 995 ฉบับ ตามคำพิพากษาของศาลปกครองกลางในคดีหมายเลขดำที่ 2494/2564 กลายเป็นเผือกร้อนทางเมืองของ 2 หน่วยงานในกระทรวงเกรดเอของรัฐบาลแพทองธาร คือ ‘กรมที่ดิน’ กระทรวงมหาดไทย ภายใต้การดูแลของพรรคภูมิใจไทย และการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) กระทรวงคมนาคม ซึ่งอยู่ในการดูแลของพรรคเพื่อไทย

 

เมื่อคณะกรรมการสอบสวนตามความในมาตรา 61 แห่งประมวลกฎหมายที่ดิน ของกรมที่ดิน กระทรวงมหาดไทย ที่มี อนุทิน ชาญวีรกูล เป็นเจ้ากระทรวง มีมติเอกฉันท์ไม่เพิกถอนเอกสารแสดงสิทธิในที่ดินที่ทับซ้อนดังกล่าว พร้อมส่งคณะมหาดไทยลงพื้นที่สำรวจสถานที่จริง และชี้ว่า รฟท. ก้าวล่วงสิทธิของประชาชน

 

จากนั้น รฟท. กระทรวงคมนาคม ภายใต้การดูแลของพรรคเพื่อไทย ที่มี สุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ เป็นเจ้ากระทรวง ส่งหนังสืออุทธรณ์คำสั่งไม่เพิกถอนของกรมที่ดิน โดยยืนยันว่าการดำเนินการของ รฟท. เพื่อทวงคืนที่ดินบริเวณเขากระโดงนั้น เป็นการดำเนินการโดยชอบด้วยกฎหมาย และไม่ใช่เป็นการก้าวล่วงสิทธิของประชาชนแต่อย่างใด

 

กระนั้น…คอการเมืองทราบดีว่าการโต้ไปมาของทั้ง 2 หน่วยงานเป็นเสมือนละครฉากใหญ่ที่ต้องการวัดพลัง-ต่อรองคานอำนาจการเมืองของ 2 พรรคการเมือง และขณะนี้อยู่ระหว่างรอคำตัดสินของคำสั่งศาลปกครอง ซึ่งต้องติดตามอย่างใกล้ชิดต่อไปว่าศึกครั้งนี้จะจบอย่างไร

 

พรพจน์ เพ็ญพาส

 

THE STANDARD สนทนาพิเศษครั้งสำคัญกับ พรพจน์ เพ็ญพาส อธิบดีกรมที่ดิน เปิดใจตอบทุกคำถาม แจกแจงรายละเอียดทุกประเด็น และทางออกที่ดีที่สุดสำหรับมหากาพย์ที่ดินเขากระโดง

 

ที่มาที่ไป มหากาพย์ที่ดินเขากระโดง

 

พรพจน์ เพ็ญพาส: ที่ดินเขากระโดงมีความเป็นมาอย่างยาวนาน หากตัดที่มาปัจจุบันศาลยุติธรรม 3 ศาลตัดสินไปแล้ว ประกอบด้วยศาลฎีกา 2 ศาล และศาลอุทธรณ์ภาค 3 อีก 1 ศาล 

 

ในชั้นศาลฎีกาคดีนี้เป็นเรื่องของประชาชนที่มีเอกสาร ส.ค.1 (ใบแจ้งการครอบครองที่ดิน เป็นหลักฐานว่าผู้ครอบครองเป็นผู้แจ้งว่าตนครอบครองที่ดินอยู่) ไปยื่นขอออกโฉนดที่สำนักงานที่ดินจังหวัดบุรีรัมย์ แล้ว รฟท. คัดค้านไม่ให้ออกโฉนด

 

จนประชาชนฟ้องร้องต่อศาลยุติธรรมว่า ทำไม รฟท. ถึงคัดค้านการออกเอกสารสิทธิเป็นโฉนด ศาลฎีกาตัดสินว่า สิทธิของประชาชนสู้สิทธิของ รฟท. ไม่ได้ ทำให้สิทธินั้นเป็นสิทธิของ รฟท.

 

ศาลพิพากษาว่าให้กรมที่ดินเพิกถอนสิทธิของประชาชน คือการถอน ส.ค.1 ที่ประชาชนถือครองอยู่ และไต่สวนในส่วนที่ประชาชนดำเนินการไปแล้ว ซึ่งการตัดสินนั้นเป็นคู่กรณีกันระหว่างประชาชน คดีแรกมีประชาชนกับ รฟท. 35 ราย

 

คดีที่ 2 เป็นเรื่องของการเพิกถอนเอกสารสิทธิ ‘น.ส. 3 ก.’ ศาลพิพากษาว่าสิทธิของ รฟท. ดีกว่าสิทธิของประชาชน จากนั้น รฟท. ก็ส่งเรื่องมาให้กรมที่ดิน เราก็ดำเนินการตามกฎหมาย หากศาลมีคำสั่งอย่างไร กรมที่ดินก็ดำเนินการตามที่ศาลสั่ง

 

หมายเหตุ: น.ส. 3 ก. เป็นหนังสือรับรองจากเจ้าหน้าที่ว่าได้ทำประโยชน์ในที่ดินแล้ว แต่เพียงสิทธิครอบครองไม่มีกรรมสิทธิ์ โดยหนังสือเป็นแบบธรรมดา มีการรังวัด และจัดทำแผนที่ของที่ดิน น.ส. 3 จะมีตราครุฑสีดำ อนาคตสามารถออกเป็นโฉนดได้ และสามารถซื้อขาย จำนองได้ แต่ต้องมีประกาศจากทางราชการล่วงหน้า 30 วัน จึงจะสามารถจดทะเบียนซื้อขายได้

 

ส่วนคดีที่ 3 เป็นคดีของศาลอุทธรณ์ภาค 3 รฟท. ฟ้องประชาชน ซึ่งเป็นช่วง กม.8 ของการทางรถไฟที่แยกจากสถานีบุรีรัมย์ไปที่เขากระโดง โดยศาลพิพากษาว่าเป็นที่ดินของ รฟท. ให้มีการเพิกถอนเอกสารสิทธิบางส่วน รวมถึงเอกสารสิทธิ น.ส. 3 ก. ด้วย 

 

เมื่อเรื่องมาถึงกรมที่ดินเราก็ดำเนินการตามมาตรา 61 วรรค 8 ในการทำตามคำสั่งศาล ซึ่งคำพิพากษานั้นเป็นหน้าที่ของศาลยุติธรรม เป็นคดีแพ่งที่ผูกพันคู่กรณี 2 ฝ่าย ไม่ว่าเป็นโจทก์หรือจำเลย โดยที่กรมที่ดินไม่มีส่วนร่วมในการเข้าไปคัดค้านหรือให้ข้อมูลเพื่อพิจารณา แต่ศาลมีคำสั่งมาว่ากรมที่ดินต้องทำตามกฎหมายที่กรมที่ดินถือครองอยู่

 

ส่วนประเด็นคำพิพากษาตามที่มีการปรากฏตามข่าวว่า ‘เหตุใดกรมที่ดินถึงไม่ทำตามคำพิพากษา’ นั้น อธิบดีกรมที่ดินชี้แจงว่า การดำเนินการของศาลเป็นการดำเนินการของคู่กรณี ไม่ว่าจะโจทก์หรือจำเลย ใครแพ้ ใครชนะ เป็นความผูกพันระหว่างคู่กรณี แต่อาจมีประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 145 ที่พูดถึงสิ่งที่พิสูจน์ในศาลอาจจะนำมาสู่การพิจารณาผลข้างเคียงอื่นได้ แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นคู่กรณีต้องเป็นผู้ดำเนินการ 

 

เช่น การที่บอกว่าสิทธิของที่ดินของ รฟท.ดีกว่านั้น รฟท. ควรจะต้องไปเอาคำสั่งศาลนี้ไปอ้างเพื่อไปดำเนินการกับประชาชนที่อาจจะมีเอกสารสิทธิ หรืออาจจะมีโฉนด หรือมีเอกสาร น.ส.3 ก. ต่อไป

 

แต่กลายเป็นว่าเป็นเรื่องของกรมที่ดินที่จะต้องดำเนินการ ซึ่งกรมที่ดินมีแนวทาง มีข้อระเบียบกฎหมายในการดำเนินการการเพิกถอนเอกสารสิทธิ หากพบว่าเป็นกรณีที่ออกเอกสารสิทธิโดยไม่ชอบ หรือออกไปโดยคลาดเคลื่อน เป็นไม่ถูกต้องตามกฎหมาย ก็มีแนวทางในการดำเนินการอยู่แล้ว ทำให้กรณีเขากระโดง กรมที่ดินได้ดำเนินการและมีผลลัพธ์ออกมาในลักษณะเช่นนี้

 

พรพจน์ เพ็ญพาส

 

กรมที่ดินเป็นใคร เหตุใดจึงไม่ทำตามคำพิพากษาศาลฎีกาตัดสิน

 

พรพจน์ เพ็ญพาส: คำพิพากษาสั่งเฉพาะคู่กรณี คือ ‘โจทก์กับจำเลย’ ที่ผ่านมาคำพิพากษาทั้งศาลฎีกาหรือศาลอุทธรณ์ภาค 3 เป็นอย่างไร กรมที่ดินก็ดำเนินการตามคำสั่งศาลทั้งหมด 

 

ตัวอย่างเช่น ที่ดินของ 35 ราย ประมาณ 200 ไร่ ที่เป็น ส.ค.1 ก็มีการเพิกถอนที่ดินในส่วนนั้นไป ไม่ได้หมายรวมถึงที่ดินอีก 5,083 ไร่ที่จะต้องถูกเพิกถอนด้วย กรมที่ดินไม่สามารถทำได้ ตามหลักการของการออกเอกสารสิทธิให้กับประชาชนนั้น ไม่ว่าจะเป็นตัวโฉนด หรือ น.ส. 3 ก. กรมที่ดินต้องพิสูจน์ทราบเป็นแปลง

 

หากกรมที่ดินไปออกโฉนด หรือเปลี่ยนเอกสารสิทธิจาก น.ส. 3 ก. เป็นโฉนด ต้องไปรังวัดแนวเขต ซึ่งต้องมีคนข้างเคียงที่ชี้แนวเขต และมาพิสูจน์ว่าไม่รุกล้ำที่ของผู้อื่น

 

ทำให้ที่มาของโฉนดที่กรมที่ดินออกให้ในแต่ละแปลงนั้นมีที่มาที่แตกต่างกัน ดังนั้นจึงไม่สามารถเหมารวมทั้งหมดได้ และต้องพิสูจน์ทราบ พิสูจน์สิทธิ์เป็นแปลง

 

เช่นเดียวกับคำสั่งของศาลปกครอง รฟท. ไปฟ้องศาลปกครอง ซึ่งประเด็นหลักคือขอให้ศาลสั่งให้กรมที่ดินตั้งคณะกรรมการสอบสวนตามความในมาตรา 61 แห่งประมวลกฎหมายที่ดิน แล้วให้มีการดำเนินการในการเพิกถอนโฉนดที่อยู่ในแปลงในพื้นที่พิพาทเขากระโดงทั้ง 5,083 ไร่ และต้องชดเชยค่าเสียหายการดำเนินการที่ไปรุกล้ำพื้นที่ของ รฟท.

 

แต่ผลสรุปศาลปกครองกลางมีคำตัดสินว่า ให้กรมที่ดินตั้งคณะกรรมการสอบสวนตามความในมาตรา 61 แห่งประมวลกฎหมายที่ดิน ภายใน 15 วัน และการที่จะให้ข้อสังเกตว่า คณะกรรมการฯ ที่ตั้งขึ้นมาไปร่วมกับ รฟท. ในการพิสูจน์แนวเขตตามแผนที่ที่กล่าวอ้างในศาลฎีกาและศาลอุทธรณ์ภาค 3 

 

ส่วนการเพิกถอนนั้นศาลไม่อาจก้าวล่วงที่จะไปเพิกถอนในพื้นที่อื่นๆ โดยให้เป็นไปตามที่คณะกรรมการสอบสวนตามความในมาตรา 61 พิจารณาจากข้อเท็จจริงและกฎหมายที่เกี่ยวข้อง ให้อยู่ที่ดุลพินิจของอธิบดีกรมที่ดินจะพิจารณาตามที่คณะกรรมการสอบสวนตามความในมาตรา 61 พิจารณา

 

ตามที่มีการเผยแพร่ในข่าวบางครั้งนั้นพูดไม่หมด พูดแค่บางท่อน ถามว่าฝั่ง รฟท. บอกให้เพิกถอนหรือไม่ ก็ขอให้ศาลปกครองกลางสั่ง แต่ศาลปกครองกลางบอกให้ตั้งคณะกรรมการสอบสวนตามความในมาตรา 61 แล้วข้อเท็จจริง ข้อกฎหมายเป็นประการใดก็ให้อยู่ที่ดุลพินิจของอธิบดีกรมที่ดินพิจารณาโดยไม่ได้สั่งให้เพิกถอน ซึ่งรายละเอียดอยู่ในคำแถลงของศาลปกครองกลางอย่างชัดเจน แต่ยังมีการตั้งคำถามว่า เหตุใดกรมที่ดินจึงไม่ปฏิบัติตามคำสั่งศาล

 

องค์ประกอบของคณะกรรมการสอบสวนตามความในมาตรา 61 เป็นอย่างไร และใช้หลักฐานใดในการพิจารณาจนเป็นมติเป็นเอกฉันท์ เห็นสมควรไม่เพิกถอนหรือแก้ไขหนังสือแสดงสิทธิในที่ดิน รฟท. บริเวณแยกเขากระโดง

 

พรพจน์ เพ็ญพาส: องค์ประกอบในการจัดตั้งคณะกรรมการสอบสวนตามความในมาตรา 61 ตามประมวลกฎหมายที่ดินนั้น คณะกรรมการต้องมีไม่น้อยกว่า 2 คน คือผู้ปกครองพื้นที่ ไม่ว่าเป็นนายกเทศมนตรีในพื้นที่ที่เกี่ยวข้อง ในพื้นที่ดังกล่าวนั้นอยู่ใน 2 ตำบล คือ ตำบลอิสาณ กับตำบลเสม็ด ในเทศบาลนครบุรีรัมย์ 

 

ดังนั้นประกอบด้วย นายกเทศมนตรีตำบลอิสาณ และนายกเทศมนตรีตำบลเสม็ด ซึ่งเป็นกรรมการโดยตำแหน่งตามที่กฎหมายกำหนดไว้ นอกจากนี้ยังมีกฎกระทรวงรองรับอีกว่า ที่ระบุว่ามีไม่น้อยกว่า 2 คนนั้น ควรจะต้องมีองค์ประกอบอีก คือ 

 

  1. ประธานคณะกรรมการฯ ต้องเป็นคนที่อธิบดีกรมที่ดินเป็นแต่งตั้ง เช่น ผู้ตรวจราชการของกรมที่ดิน เจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดในพื้นที่ที่เกิดเหตุนั้นๆ
  2. นายอำเภอ เจ้าของพื้นที่
  3. ผู้บริหารท้องถิ่น เจ้าของพื้นที่
  4. ส่วนราชการที่อาจจะเกี่ยวข้องตามที่เห็นสมควร
  5. เจ้าหน้าที่ของกรมพื้นดิน ที่เป็นฝ่ายเลขานุการ

 

อธิบดีกรมที่ดินชี้แจงถึงกรณีที่ระบุว่า กรมที่ดินตั้งคณะกรรมการไม่ครบองค์ประกอบ โดยมีแค่ 4 คนนั้นชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ ขอยืนยันว่าชอบด้วยกฎหมาย มีการตั้งศูนย์ราชการตามที่เห็นสมควร ในกรณีที่มีพิพาทนั้น มีแค่ศูนย์ราชการเดียวที่เกี่ยวข้องคือ รฟท.

 

ข้อครหาที่ว่า กรมที่ดินตั้งคณะกรรมการไม่ครบองค์ประกอบ เพราะไม่ได้ตั้ง รฟท. เข้าไปใช่หรือไม่

 

พรพจน์ เพ็ญพาส: “ใช่ครับ” พร้อมให้เหตุผลว่า หากมีการตั้งคู่ขัดแย้งไป อาจทำให้คณะกรรมการฯ ในการวินิจฉัยมีความไม่เป็นกลาง เมื่อผลการตัดสินออกมาอาจทำให้ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียมีข้อขัดแย้งมาเป็นประเด็นที่ทำให้ไม่ชอบด้วยกฎหมายได้

 

ทั้งนี้ ยืนยันว่าคำตัดสินคำวินิจฉัยของคณะกรรมการฯ ที่มาจากข้อเท็จจริงหรือหลักฐาน ไม่ว่าผลจะออกมาบวกหรือลบ นั่นถือเป็นการทำตามคำสั่งทางปกครองแล้ว หากในคณะกรรมการมีคนที่มีส่วนได้ส่วนเสียมาร่วมพิจารณาด้วย จะทำให้คำสั่งทางปกครองอาจจะไม่ชอบด้วยกฎหมาย ซึ่งอธิบดีกรมที่ดินคนก่อนจึงตั้งคณะกรรมการฯ แค่ 4 คน

 

ส่วนองค์ประกอบของคณะกรรมการฯ ครบหรือไม่นั้น อธิบดีกรมที่ดินกล่าวว่า ต้องกลับมาพิจารณาจากรากของประมวลกฎหมายที่ดิน ซึ่งระบุว่าต้องไม่น้อยกว่า 2 คน และกรมที่ดินขยายกฎกระทรวงเพิ่มเติมเพื่อให้ประกอบกันครบถ้วนในเรื่องของการดำเนินการ ที่ต้องมีประธานและมีฝ่ายเลขา ดังนั้นจึงขอยืนยันว่าองค์ประกอบของคณะกรรมการสอบสวนตามความในมาตรา 61 แห่งประมวลกฎหมายที่ดินนั้นครบถ้วนและถูกต้อง

 

ถ้าให้พูดตามความเป็นจริง ทุกอย่างเป็นไปตามระเบียบกฎหมาย เราพิจารณาผลว่าเมื่อคำวินิจฉัยของคณะกรรมการออกมาเป็นคำสั่งของศาลปกครอง ซึ่งอาจมีผลต่อ 

Stakeholder หรือผู้มีส่วนได้ส่วนเสียที่เกี่ยวข้องนั้นอาจจะไม่ชอบด้วยกฎหมายได้ เมื่อเกิดความไม่ชอบขึ้นอาจนำมาซึ่งการฟ้องร้อง เราจึงตัดปัญหาเลยว่าน่าจะเพียงแล้วสำหรับการดำเนินการในการที่จะวินิจฉัย

 

พรพจน์ เพ็ญพาส

 

นอกเหนือจากการตั้งคณะกรรมการสอบสวนตามความในมาตรา 61 แห่งประมวลกฎหมายที่ดินตามที่ศาลปกครองกลางสั่งแล้วนั้น ในการแสวงหาข้อเท็จจริงจากกฎหมายต่างๆ กรมที่ดินมีการตั้งคณะกรรมการเพิ่มอีก 2 สองชุดคือ ชุดแรกเป็นกรรมการเทคนิค ทำงานเกี่ยวกับแผนที่ ระวาง โฉนด

 

กรมที่ดินมีการสำรวจแล้วใน 2 ประเด็นคือ ระยะทางของทางรถไฟ ที่ระบุว่าความยาว 8 กิโลเมตร หรือ 6.2 กิโลเมตร จากทางแยกสถานีรถไฟบุรีรัมย์ถึงจุดสิ้นสุดทางรถไฟ เมื่อเจ้าหน้าที่มีการออกไปพิสูจน์ทราบจากการดูแผนที่ภาพถ่ายทางอากาศแต่ละชั้นปี 1734 ว่าจุดสิ้นสุดทางรถไฟในภาพถ่ายของกรมแผนที่ทหารอยู่ส่วนไหน

 

ตนเองลงพื้นที่จังหวัดบุรีรัมย์เพื่อพิสูจน์และพบว่า จุดสิ้นสุดของ รฟท. นั้นอยู่ที่ประมาณ 6-6.2 กิโลเมตร โดยไม่ถึง 8 กิโลเมตร หากมีการลงพื้นที่จริงจะพบว่าจุดสิ้นสุดนั้นไม่ถึง 8 กิโลเมตร เนื่องจากมีบ้านเรือนของประชาชน มีบ่อหิน ซึ่งไม่น่าจะเป็นทางรถไฟตามข้อเท็จจริงของสภาพปัจจุบัน

 

ส่วนคณะกรรมการชุดที่สองคือ กรรมการด้านประโยชน์ศาสตร์ ทำงานด้านการสืบค้นหลักฐานต่างๆ ที่เคยออกเป็นพระราชกฤษฎีกา (พ.ร.ฎ.)​ การกำหนดแนวเขตของทางรถไฟ หรือเรื่องของการซื้อที่ดินตั้งแต่ปี 2462-2464

 

ถ้าพูดกันจริงๆ เราในที่นี้ไม่มีใครเกิดทัน ก็ต้องไปแสวงหาข้อเท็จจริง ไปที่จดหมายเหตุ หอสมุดแห่งชาติ ห้องสมุดจังหวัดอุบลราชธานี ที่จะพอมีความมูลเก่าๆ และนำมาการเทียบเคียงกันว่าการดำเนินการของ รฟท. ในสมัยก่อนไม่ใช่แค่เส้นทางสายอีสานใต้เท่านั้น แต่รวมถึงเส้นทางอื่นว่ามีแนวทางการปฏิบัติอย่างไร

 

ได้ข้อสรุปว่าการดำเนินการนั้นจะต้องมีการออก 2 พ.ร.ฎ. คือการกำหนดเขตแนวทางของเส้นทางรถไฟ และกำหนดในเรื่องของการจัดซื้อที่ดิน ซึ่งทั้ง 2 พ.ร.ฎ. นั้นจะมีแผนที่แนบท้ายที่เป็นตัวกำหนด ส่วนตัวมองว่าเป็นเรื่องของการรอมสิทธิ์ ประชาชนต้องมีกันขอบเขตที่ชัดเจนเพื่อออกเป็นกฎหมายได้

 

เมื่อมีการพิจารณาแล้วเห็นว่า ขอบเขตของทางรถไฟจาก Center Line มาจนถึงเขต Line Offway นั้นควรที่จะต้องกำหนดว่าควรอยู่ที่เท่าไร เมื่อสืบค้นจากประวัติศาสตร์และพิจารณาจากเส้นทางรถไฟอื่นๆ สูงที่สุดไม่เกิน 50 เมตรจากกึ่งกลางของทางรถไฟ ที่มีการพูดว่าการเกิดเป็นแผนที่เขตทาง 1 กิโลเมตร จึงเห็นข้อเท็จจริงนั้นมีความแตกต่างและไม่สามารถยืนยันได้ หากจะยืนยันได้ต้องมีแผนที่แนบท้ายกฤษฎีกาการก่อตั้งสร้างทางรถไฟเส้นทางเขากระโดง

 

พรพจน์ เพ็ญพาส

 

คณะกรรมการฯ รวบรวมข้อเท็จจริงเองหรือว่าเปิดโอกาสให้คู่กรณี ทั้ง รฟท. และประชาชนนำข้อมูลหลักฐานมา และพบว่าทนายความประจำตระกูลชิดชอบขอโอกาสให้ทั้งสองฝ่ายเอาหลักฐานมายื่นชนกันให้คณะกรรมการพิจารณาใช่หรือไม่

 

พรพจน์ เพ็ญพาส: ตามหลักการเป็นเช่นนั้น เนื่องจากคำวินิจฉัยของคณะกรรมการสอบสวนตามความในมาตรา 61 เป็นคำสั่งของศาลปกครองที่จะมีผลกระทบกับประชาชนหรือคนที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ กรมที่ดินจึงต้องเปิดโอกาสให้ทั้งสองฝ่ายใช้สิทธิ แสดงสิทธิ และเสนอสิทธิที่มี

 

หลักของการออกโฉนดหรือหนังสือเอกสารสิทธิที่ดิน โดยกรมที่ดินนั้นประกอบด้วยไปด้วย 2 ข้อ คือ ‘ครอบครอง’ และ ‘ทำประโยชน์’ หากสามารถแสดงสิทธิทั้ง 2 ข้อ และมีเอกสารหลักฐานทางราชการที่ชัดเจน ก็สามารถไปนำสู่สิทธิของการดำเนินการได้ 

 

ฝั่ง รฟท. มีเอกสารใดมายืนยันความเป็นเจ้าของที่ดิน

 

พรพจน์ เพ็ญพาส: เป็นเอกสารที่มีข้อสังเกตที่ศาลปกครองกลางพูดถึงเรื่องของการที่จะให้ไปรังวัดร่วมกันระหว่าง รฟท. กับกรมที่ดิน ซึ่งในคำสั่งศาลปกครองกลางบอกว่า ให้คณะกรรมการสอบสวนตามความในมาตรา 61 ร่วมด้วยในเรื่องสำรวจหาแนวเขตที่ชัดเจนของพื้นที่พิพาท

 

แต่คณะกรรมการฯ บอกว่าไม่สามารถร่วมได้ เพราะว่าเป็นคำสั่งทางปกครอง และมีผลต่อการที่ออกข้อวินิจฉัยบางสิ่งบางอย่างที่อาจจะมีผลกระทบกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ซึ่งอาจจะทำให้คำสั่งของศาลปกครองนั้นไม่ชอบด้วยกฎหมาย 

 

เพื่อให้กรมที่ดินปฏิบัติตามศาลปกครอง คณะกรรมการฯ ก็แจ้งมาที่กรมที่ดิน ให้กรมที่ดินแจ้งไปที่สำนักงานที่ดินจังหวัดบุรีรัมย์ให้ดำเนินการในการที่ร่วมกับ รฟท. ทำตามข้อสังเกตของศาลปกครองกลาง ซึ่งมีการดำเนินการเรียบร้อยแล้วตั้งแต่ช่วงเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา

 

ในรายงานข่าวระบุว่า ไม่ได้มีการดำเนินการระหว่างสำนักงานที่ดินจังหวัดบุรีรัมย์กับ รฟท.

 

พรพจน์ เพ็ญพาส: มีหนังสือโต้ตอบชัดเจนว่าเราไม่สามารถทำด้วยตัวเองได้ เพราะว่า รฟท. ต้องมาชี้สิทธิของตัวเอง แล้วก็มีหนังสือขอให้ รฟท. ส่งผู้ที่มีอำนาจในการชี้แนวเขตที่ที่คิดว่าเป็นของ รฟท. โดยส่งมา 2 ชุด พร้อมตำรวจ ขณะที่ฝั่งกรมที่ดินมีการส่งชุดรังวัดของเราเข้าไปประกอบจำนวน 2 ชุด แล้วก็ดำเนินการ

 

เราทำตามที่ รฟท. ชี้แนวเขต ถ้าดูจากรูปของการออกรังวัดนั้นน่าจะสันนิษฐานได้ว่า เป็นแผนที่ที่ถูกใช้เป็นหลักฐานที่อยู่ในศาลฎีกา 2 ศาล และศาลอุทธรณ์ภาค 3 ด้วย โดย รฟท. เอาหลักฐานเดียวกับที่สู้ในศาลมาชี้แนวเขต คือแผนที่ที่มีการจัดทำขึ้นตามมติที่ประชุมคณะกรรมการแก้ไขปัญหาการบุกรุกที่ดินของรัฐ (กบร.) จังหวัดบุรีรัมย์ เพื่อแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของเกษตรกรกลุ่มสมัชชาคนจนเมื่อปี 2539

 

พรพจน์ เพ็ญพาส

 

เหตุใดการแถลงต่อสาธารณชนของ รฟท. กับกรมที่ดิน เหมือนหนังที่ฉายคนละม้วน รฟท. ยึดคำสั่งศาลปกครอง ส่วนกรมที่ดินระบุว่าต้องมีแผนที่แนบท้าย

 

พรพจน์ เพ็ญพาส: ตามข้อกฎหมายที่ระบุว่าพื้นที่ดังกล่าวเป็นแผนที่ของ รฟท. หรือไม่นั้น ในยุคสมัยนั้นต้องมีกฎหมาย 2 ฉบับ คือ พ.ร.ฎ.กำหนดเขตที่ดินของเส้นทางที่จะสร้างรถไฟ และ พ.ร.ฎ.กำหนดการที่ซื้อที่ดิน โดยกรมที่ดินไม่เห็นแผนที่แนบท้ายใน พ.ร.ฎ.กำหนดเส้นทางจากแยกเขากระโดงเลย

 

แต่แผนที่ รฟท. ที่นำมาชี้นั้น เมื่อมีการพิสูจน์แล้วปรากฏว่า เป็นแผนที่ของเกษตรกรกลุ่มสมัชชาคนจนเมื่อปี 2539 ที่มีการร้องขอความเป็นธรรมเรื่องการครอบครองที่ดิน ซึ่งมีหนังสือยืนยันจากจังหวัดบุรีรัมย์ว่า การจัดตั้งคณะกรรมการ 1 ชุดในการกำหนดตำแหน่งของพื้นที่พิพาทว่า พื้นที่ใด เป็นพื้นที่ที่กลุ่มสมัชชาคนจนร้องขอ

 

จึงกลายเป็นแผนที่ที่คาดว่าเป็นตัวเดียวกับที่ รฟท. ยื่นอยู่ในทั้ง 3 ศาลยุติธรรม ดังนั้นจึงไม่สามารถยืนยันได้ว่าเป็นแผนที่ที่มาจากแนบท้าย พ.ร.ฎ. เพราะไม่มีแผนที่แนบท้ายใน พ.ร.ฎ.

 

ตอนที่สำนักงานที่ดินจังหวัดบุรีรัมย์และ รฟท. ทำรังวัดร่วมกันนั้น เราให้สิทธิ รฟท. ชี้ว่าพื้นที่ตรงไหนเป็นพื้นที่ของ รฟท. แต่สำนักงานที่ดินจังหวัดบุรีรัมย์ก็มีใบไต่สวนว่า การชี้จุดของ รฟท. ใช้หลักฐานเอกสารทางกฎหมายใด ซึ่ง รฟท. ใช้แผนที่ที่จัดทำขึ้นตามมติที่ประชุมคณะกรรมการแก้ไขปัญหาการบุกรุกที่ดินของรัฐ (กบร.) จังหวัดบุรีรัมย์ เพื่อแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของเกษตรกรกลุ่มสมัชชาคนจนเมื่อปี 2539 เป็นตัวอ้าง

 

ถ้าพูดจริงๆ ที่มาก็เป็นหลักฐานทางกฎหมายที่มีน้ำหนักไม่เพียงพอ ในการที่จะบอกว่าพื้นที่ตรงนี้เป็นที่ครอบครองของหน่วยงาน เมื่อเทียบกับชาวบ้านที่มีเอกสารสิทธิโฉนด เอกสาร น.ส. 3 ก. เอกสารสิทธิที่ถูกต้องซึ่งชอบด้วยกฎหมาย เป็นเอกสารที่ออกโดยราชการ

 

พื้นที่ทั้ง 5,083 ไร่นั้น เมื่อเดินหน้าชี้แนวเขต ตามที่ รฟท. ร่วมกับกรมที่ดิน โดยสำนักงานที่ดินจังหวัดบุรีรัมย์ทำแล้วนั้นเหลือประมาณ 4,400 กว่าไร่ ปรากฏว่าในพื้นที่นั้นมีโฉนด มีหลักฐานเอกสารสิทธิของประชาชนอยู่ประมาณ 955 ฉบับ ถ้าพูดจริงๆ มีอยู่กว่า 271 ฉบับเป็นโฉนด ซึ่งการออกโฉนดนั้นต้องมีการชี้แนบเขตโดย รฟท. ด้วย และมีใบยินยอมว่าเป็นแนวเขตถูกต้อง และสามารถออกโฉนดได้ในพื้นที่ข้อพิพาท

 

ทั้งนี้ หากไม่มีการชี้แนวเขตกรมที่ดินก็มีการติดประกาศตามระเบียบการออกโฉนด เราต้องติดประกาศอยู่ 30 วัน เมื่อติดประกาศแล้วหากไม่มีคนคัดค้าน ถือว่ามีการวางแนวเขตเรียบร้อยแล้ว จึงออกเอกสารสิทธิไป ดังนั้นเอกสารสิทธิของประชาชนในพื้นที่ทั้งสองตำบลนั้นเป็นเอกสารสิทธิที่ชอบด้วยกฎหมายในการดำเนินการตามระเบียบของประมวลกฎหมายที่ดิน

 

ในวันนี้หากกรมทางหลวงจะตัดถนนยังต้องขอ รฟท. เหมือนราชการต่างก็ยอมรับว่าที่ตรงนี้เป็นที่ของ รฟท.

 

พรพจน์ เพ็ญพาส: ตอนที่ตนเองลงไปพื้นที่พร้อมกับ ทรงศักดิ์ ทองศรี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย ไปพบปะประชาชนเมื่อวันที่ 20 ธันวาคมที่ผ่านมา ปรากฏว่าส่วนราชการที่อยู่ในบริเวณนั้น 12 ส่วนราชการ โดยเฉพาะกองร้อยอาสารักษาดินแดนจังหวัดบุรีรัมย์ก็ไม่ได้ยอมรับว่าพื้นที่ดังกล่าวเป็นที่ดินของ รฟท.

 

ทั้งนี้ 12 ส่วนราชการได้มาร่วมดีเบต เป็นอีกข้อเท็จจริงที่ยังไม่สามารถยืนยันได้ เพราะว่ายังไม่มีความชัดเจน และยังไม่ฟันธงว่าที่บริเวณดังกล่าวเป็นที่ของใคร การที่จะออกคำสั่งตามคณะกรรมการสอบสวนตามความในมาตรา 61 ได้นั้นเป็นคำสั่งทางปกครอง ต้องใช้คำว่าปราศจากข้อสงสัยโดยสิ้นเชิง มีแค่ 1% ก็ไม่ได้

 

“ถ้าจะมีแค่เปอร์เซ็นต์เดียว

แล้วออกคำสั่งปกครองไปเพิกถอน

ชาวบ้านฟ้องเราตาย”

 

อธิบดีกรมที่ดินกล่าวต่อว่า ถ้าพูดตรงๆ ร้อยเปอร์เซ็นต์การพิสูจน์สิทธิทราบในที่ดินนี้ว่าเป็นที่ดินของใคร หากพูดถึงศักดิ์และสิทธินั้นที่ประชาชนถืออยู่ ที่มีทั้งโฉนด เอกสาร น.ส. 3 ก. ประชาชนมีศักดิ์และสิทธิที่ดีกว่า เพราะเป็นเอกสารของทางราชการ

 

ด้วยคำว่าไม่เป็นกลางถูกมองเป็นเรื่องทางการเมือง รัฐมนตรีที่ดูแลกำกับกระทรวงมหาดไทยก็เป็นพรรคภูมิใจไทย เป็นผู้ที่มีส่วนได้ส่วนเสียอยู่ในพื้นที่จังหวัดบุรีรัมย์ โดยเฉพาะเขากระโดง เป็นที่ตั้งของสนามแข่งรถ สนามฟุตบอล ทำให้กรมที่ดินถูกมองว่ามีความเกรงใจและเอื้อประโยชน์ทางการเมือง ให้ออกมาเป็นคำวินิจฉัยไม่เพิกถอนด้วยมติเอกฉันท์หรือไม่

 

พรพจน์ เพ็ญพาส: ความที่เป็นข้าราชการนั้นต้องทำตามข้อระเบียบกฎหมายอยู่แล้ว ไม่อาจจะทำตามอำเภอใจหรือเอาใจใครคนใดคนหนึ่งไม่ได้ เพราะต้องรับผิดชอบการกระทำนั้นๆ การทำงานของราชการนั้น ถ้าไม่มีข้อระเบียบกฎหมายรองรับนั้นถือว่าทำผิดระเบียบ การที่บอกว่าเป็นดุลพินิจของอธิบดีนั้น อิงบนพื้นฐานของข้อเท็จจริง ยึดหลักกฎหมายที่ถูกต้อง

 

อนุทิน ชาญวีรกุล

อนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย

หัวหน้าพรรคภูมิใจไทย

 

ท่านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยเคยถามผมว่า ถ้าไม่เกี่ยวกับการเมืองคุณจะทำเช่นนี้หรือไม่ ผมก็ยืนยันว่าเพื่อประโยชน์ของประชาชน หน้าที่ของกรมที่ดินคือการคุ้มครองสิทธิในที่ดินของประชาชนอย่างมีธรรมาภิบาล ถ้าเราทำอะไรที่ไม่มีธรรมาภิบาล มันไม่น่าจะได้ผลตามที่กรมที่ดินดำเนินการ

 

แม้จะไม่มีที่ดิน 200 กว่าไร่ (ของตระกูลชิดชอบ) กรมที่ดินก็ยังยืนยันตามเดิม คือยืนยันตามข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้อง ขออนุญาตพูดจากใจ แม้วันนี้จะเป็นพรรคการเมืองอื่นที่คุมกระทรวงมหาดไทย แนวทางในการทำงานของกรมที่ดินก็ต้องอิงข้อระเบียบกฎหมายที่เกี่ยวข้อง

 

ไม่มีแรงกดดันทางการเมืองใช่หรือไม่

 

พรพจน์ เพ็ญพาส: “ไม่มีใครเคยสั่งผมเลย พูดกันเป็นการส่วนตัว ท่านก็บอกผมว่าให้ทำตามระเบียบ และมีหนังสือสั่งการใหม่ครบ 30 วันเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ท่านรัฐมนตรีสั่งผ่านท่านปลัดมาถึงกรมที่ดิน ขอให้กรมที่ดินทำตามระเบียบข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้องอย่างเคร่งครัด และรายงานกลับไปให้กระทรวงทราบด้วย”

 

ขณะนี้ รฟท. อุทธรณ์คำสั่งใช่หรือไม่

 

พรพจน์ เพ็ญพาส: กรมที่ดินแจ้ง รฟท. ว่าขอยุติเรื่อง แต่การยุติเรื่องในครั้งนี้มีรีมาร์กต่อว่า หาก รฟท. มีข้อเท็จจริงหรือมีหลักฐานทางกฎหมายที่ดีกว่า ก็สามารถที่จะพิสูจน์สิทธิของตนเองได้ผ่านกระบวนการของศาลยุติธรรม ไม่ใช่การยุติเรื่องให้จบไปเลย 

 

“ผมมั่นใจว่าระบบกระบวนการยุติธรรมของเมืองไทยผ่านระบบศาลนั้น

จะให้ความยุติธรรมกับประชาชนคนไทยทุกคน”

 

พรพจน์ เพ็ญพาส

 

เอกสารสิทธิ 900 กว่าฉบับข้างต้น การได้มาของประชาชนได้มาต่างกรรมต่างวาระกัน หมายความว่าที่ดินแปลงหนึ่งมีกระบวนการว่า การจะออกโฉนดต้องประกาศ 15 วัน และมีคนข้างเคียงมาชี้แนวเขต ดังนั้นพื้นที่แต่ละแปลงนั้นมีที่มาที่แตกต่างกันออกไป การที่จะไปเพิกถอนนั้นต้องเพิกถอนรายแปลง

 

หากมีความจำเป็นที่จะต้องฟ้องรายแปลงหลายร้อยแปลง กรมที่ดินก็ตั้งคณะกรรมการมาตรา 61 จำนวนหลายร้อยคณะในการพิจารณาเรื่องนี้เช่นกัน เพราะว่าข้อเท็จจริงของแต่ละแปลงนั้นมีความแตกต่างกัน

 

เช่น แปลงที่ 1 คนชี้เขตเป็นนาย ก. ส่วนแปลง 2 คนชี้เขตอาจจะเป็นนาย ค. ซึ่งแตกต่างกัน ดังนั้นตามระเบียบหากต้องพิจารณารายแปลงก็ควรพิจารณารายแปลง หากดำเนินการตามกระบวนการยุติธรรมน่าจะเป็นวิธีในการดำเนินการเรื่องนี้ที่ถูกต้อง

 

โดยปกติคนจะฟ้องรายแปลง ไม่ใช่มาฟ้องศาลปกครองแล้วเหมารวมเช่น 3 คดีที่ผ่านมา ไม่สามารถใช้ข้อเท็จจริงมาเหมารวมได้เนื่องจากเป็นเรื่องของคู่กรณี เรื่องทางแพ่ง

 

ข้อพิพาทเรื่องที่ดินระหว่างรัฐและประชาชนเกิดขึ้นเยอะในประเทศไทย ในกรณีเขากระโดงคำตอบสุดท้ายจะเป็นอย่างไร

 

พรพจน์ เพ็ญพาส: เรื่องที่ดินของหลวงนั้นทุกหน่วยงานที่มีกฎหมายรองรับในที่ดินของตัวเอง เช่น กรมป่าไม้, กรมอุทยานฯ, ส.ป.ก. และกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง จะมีกฎหมายและมีแผนที่แนบท้ายในการกำหนดขอบเขตพื้นที่ที่ตัวเองดูแลอยู่

 

เจ้าของหน่วยงานเหล่านี้ต้องเป็นผู้ที่ระวังป้องกันไม่ให้ประชาชนมาบุกรุกหรือรุกล้ำ แต่บางครั้งยังมีเรื่องของเอกสารสิทธิปรากฏอยู่ แต่หลักการคือต้องครอบครองและทำประโยชน์ หากครอบครองและทำประโยชน์มาก่อนที่จะมี พ.ร.ฎ. หรือ พ.ร.บ. ก็ต้องมีการพิสูจน์ทราบจากภาพถ่ายในแต่ละชั้นปีว่าเข้ามาก่อนการประกาศเขตของรัฐ จะมีแนวทางในการทำการอยู่

 

แต่ในส่วนพื้นที่สาธารณะ หลายคนอาจจะเข้าใจว่ากรมที่ดินดูแลอยู่ เพราะกรมที่ดินคือผู้ออกหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวง (น.ส.ล.) หากพิจารณาตามพระราชบัญญัติลักษณะปกครองท้องที่ พ.ศ. 2457 การดูแลพื้นที่สาธารณะเป็นอำนาจหน้าที่ของท้องถิ่น คือ นายอำเภอ ผู้บริหารท้องถิ่น จะเป็นผู้ดูแลที่สาธารณะที่ประชาชนสามารถใช้ร่วมกัน หรือพื้นที่ใช้ประโยชน์อื่นๆ

 

ดังนั้นคำถามว่า ถ้ามีกรณีแบบนี้เกิดขึ้นอีก ก็เป็นหน้าที่ของหน่วยงานหรือเจ้าของพื้นที่ที่จะต้องป้องกันและระวังการบุกรุกของพี่น้องประชาชน ไม่ให้ทำกินในพื้นที่ที่ตัวเองเป็นผู้รับผิดชอบอยู่

 

เหตุใด รฟท. ปล่อยระยะเวลาให้เกิดกรณีถึง 900 กว่าโฉนด และทิ้งเวลากว่า 100 ปี กรมที่ดินมีภาพถ่ายทางอากาศหรือไม่

 

พรพจน์ เพ็ญพาส: ถ้าย้อนภาพถ่ายทางอากาศในปี 2464 ของกรมแผนที่ทหาร เห็นว่าพื้นที่ดังกล่าวก็มีชุมชน แต่ยังไม่มีการพิสูจน์ทราบว่ามีแนวทางรถไฟสิ้นสุดอยู่ที่ 6.6 กิโลเมตร หรือ 6.2 กิโลเมตร แต่เรื่องของการทำประโยชน์อื่นๆ นั้นยังมองไม่เห็น

 

สิ่งที่จะพิสูจน์ทราบได้จริงๆ ตามพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) จัดวางการรถไฟแลทางหลวง พระพุทธศักราช 2464 ซึ่งบอกว่าการจะทำเส้นทางรถไฟนั้นต้องมี พ.ร.ฎ.กำหนดเส้นทาง และ พ.ร.ฎ.การซื้อที่ดิน ซึ่งล้วนต้องมีแผนที่แนบท้าย ซึ่งขาดหลักฐานในส่วนนี้ไป ทำให้เราไม่มั่นใจในการที่จะออกแนวทางว่าที่ดินดังกล่าวนี้เป็นของใครกันแน่ เพราะสิทธิในที่ดินยังไม่เกิดความชัดเจน

 

แล้วเหตุใดกรมที่ดินจึงไม่เอื้อให้หน่วยงานภาครัฐด้วยกัน ก็เพราะกรมที่ดินทำไม่ได้ เพียงแต่ว่าหลักฐานเอกสารข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นมา ศักดิ์และสิทธิของประชาชนที่มีหลักฐานค่อนข้างดีกว่า จนทำให้ไม่สามารถฟันธงและพิสูจน์ทราบได้ว่าที่ดินดังกล่าวเป็นของใครกันแน่ ดังนั้นควรที่จะต้องใช้กระบวนการของศาลยุติธรรมในการดำเนินการ

 

กรณีเขากระโดง กรมที่ดินถูกใช้เป็นเกมการเมืองของ 2 พรรคใหญ่หรือไม่

 

พรพจน์ เพ็ญพาส: สิ่งที่กรมที่ดินยืนยันในการทำงานคือ เราทำงานตามข้อเท็จจริง และทำตามข้อระเบียบกฎหมาย ผมบอกทีมงานเสมอว่าสิ่งหนึ่งที่เราสู้ไม่ได้คือสื่อและสังคม สิ่งที่เราทำนั้นอาจจะเกิดผลกระทบทางการเมืองหรือพรรคการเมือง แต่พื้นฐานนั้นเราครองสิทธิของประชาชนอย่างมีธรรมาภิบาล เจตนาที่แท้จริงนั้นเราทำเพื่อทุกคน หากได้รับประโยชน์ก็ได้รับคำชื่นชม ถ้าไม่ได้รับประโยชน์ก็จะโจมตี ตรงนี้เราห้ามไม่ได้

 

ส่วนการทำงานของคณะกรรมการสอบสวนตามความในมาตรา 61 นั้นเราไปก้าวล่วงไม่ได้ เพราะมีดุลพินิจของเขา ทีมงานก็ต้องพิจารณาเสนอต่อไป และต้องสู้กับความจริงว่าเราต้านทานกระแสสังคมไม่ได้ เราต้องเข้มแข็ง ยืนยันว่าเราทำในสิ่งที่ถูกต้อง หากเราทำในสิ่งที่ไม่ถูกต้องเราก็ต้องโดนวินัยข้าราชการตามระเบียบกฎหมายที่เกี่ยวข้อง ถามว่ากรมที่ดินมีประเด็นการเมืองหรือไม่ จะบอกว่าไม่เกรง (ใจ) ก็คงไม่ได้ แต่เพียงเราสามารถตอบทุกคนได้ว่าเราทำตามข้อเท็จจริงและกฎหมายที่เกี่ยวข้อง

 

ถ้าพูดตรงๆ ตามวินัยข้าราชการ ข้าราชการทุกคนทราบดี มีตัวอย่างให้เห็น ถ้าเราไม่ทำตามข้อระเบียบกฎหมายที่เกี่ยวข้องนั้น เราก็โดนมาตรา 151 (ใช้อำนาจในตำแหน่งโดยทุจริต อันเป็นการเสียหายแก่รัฐ) มาตรา 157 (ปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบเพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด)

 

พรพจน์ เพ็ญพาส อธิบดีกรมที่ดิน ทิ้งท้ายการสนทนากับ THE STANDARD ด้วยการยืนยันว่า ตนเองเป็นข้าราชการมาทั้งชีวิต ไม่ยอมติดคุก และไม่แลกชีวิตข้าราชการเพื่อเกมการเมือง 

 

พรพจน์ เพ็ญพาส

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X