เทศกาลการเลือกตั้งของประเทศไทยเริ่มต้นอย่างเป็นทางการแล้ว การต่อสู้สัประยุทธ์กันระหว่างพรรคการเมืองต่างๆ คงห้ำหั่นกันอย่างถึงพริกถึงขิง แต่ความน่าสนใจของการเลือกตั้งหนนี้คงหนีไม่พ้นเรื่องของการชูนโยบายลดแลกแจกแถมชนิดที่เรียกว่า คนรับยังอาย ตัวอย่างเมนูนโยบายของแต่ละพรรคการเมืองที่นำเสนอแก่ผู้มีสิทธิเลือกตั้ง เช่น
- พรรคเพื่อไทย ค่าแรงขั้นต่ำ 600 บาทต่อวัน เงินเดือนปริญญาตรีเริ่มต้น 25,000 บาท รถไฟฟ้าตลอดสาย 20 บาท และแจกเงินผู้มีอายุตั้งแต่ 16 ปีขึ้นไปคนละ 10,000 บาท
- พรรครวมไทยสร้างชาติ บัตรสวัสดิการพลัส 1,000 บาทต่อเดือน ปรับเพิ่มเบี้ยผู้สูงอายุ คนละครึ่งและเที่ยวด้วยกัน ภาค 2
- พรรคก้าวไกล ขึ้นค่าแรงทุกปี เริ่มทันที 450 บาทต่อวัน สวัสดิการเด็กเล็ก 1,200 บาทต่อเดือน ผู้สูงวัย 3,000 บาทต่อเดือน ลดค่าไฟทันที 70 สตางค์ต่อหน่วย
- พรรคพลังประชารัฐ บัตรประชารัฐเพิ่มเงินเป็น 700 บาท สวัสดิการผู้สูงอายุเกิน 80 ปี รับ 5,000 บาท สวัสดิการประชารัฐจากครรภ์มารดา
- พรรคภูมิใจไทย ฟรีหลังคาโซลาร์เซลล์ มอเตอร์ไซค์ไฟฟ้า ผ่อนเดือนละ 100 บาท พักหนี้ 3 ปี หยุดต้น ปลอดดอกเบี้ยไม่เกิน 1 ล้านบาท
- พรรคประชาธิปัตย์ ชาวนารับ 30,000 บาทต่อครัวเรือน เรียนฟรีถึงปริญญาตรีสาขาที่ตลาดต้องการ ธนาคารหมู่บ้านแห่งละ 2 ล้านบาท ประมงท้องถิ่นรับ 100,000 บาททุกปี
นโยบายแจกสะบัดเหล่านี้เรียกทั้งดอกไม้และก้อนอิฐจากสังคมไทย ทั้งเสียงชมที่มาจากชาวบ้านร้านตลาด และเสียงวิพากษ์วิจารณ์จากชุมชนวิชาการและเหล่าเทคโนแครต แต่ก็ไม่ใช่เรื่องที่น่าแปลกใจแต่ประการใด เพราะความหลากหลายทางความคิดเป็นเรื่องปกติของสังคมประชาธิปไตย และก็เป็นความสวยงามที่คนในสังคมสามารถหันหน้าแสดงความเห็นกันโดยต่างฝ่ายต่างรับฟังกัน แม้กระนั้นก็ตาม ประเด็นที่น่าสนใจสำหรับเรื่องราวที่เกิดขึ้นในปัจจุบันคงเป็น ‘นโยบายประชานิยม’ จะส่งผลอย่างไรกับประชาธิปไตย การที่พรรคการเมืองต่างทุ่มทุนเอาเงินภาษีของประชาชนไปแจกคืนแก่ประชาชนทั่วไปเป็นเรื่องของประชาธิปไตยอันแท้จริง หรือการให้โดยปราศจากการไตร่ตรองอย่างรอบคอบจากนโยบายประชานิยมเป็นการกัดกร่อนบ่อนทำลายประชาธิปไตยต่างหาก เหรียญด้านไหนที่มีคำอธิบายที่สมเหตุสมผลที่สุด
บทความเรื่อง ‘Populism and Democratic Theory’ ที่เขียนโดยศาสตราจารย์เจน แมนส์บริดจ์ (Jane Mansbridge) และศาสตราจารย์สตีเฟน มาเซโด (Stephen Macedo) ศาสตราจารย์จากมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด และมหาวิทยาลัยพรินซ์ตัน ตามลำดับ ซึ่งตีพิมพ์ในวารสาร Annual Review of Law and Social Science ในปีคริสต์ศักราช 2019 ได้ยกอภิปรายความเชื่อมโยงระหว่างประชานิยมและประชาธิปไตยไว้อย่างน่าประทับใจ
Mansbridge และ Macedo (MM) ให้นิยาม ‘ประชานิยม’ ว่า แก่นแท้ของประชานิยมคือ ‘การต่อสู้ทางศีลธรรมของประชาชนกับชนชั้นนำ’ หากขยายความให้ชัดขึ้นก็คงเป็นการต่อสู้ทางศีลธรรมของประชาชนที่ต้องการนำเอาประชาธิปไตยกลับคืนมาสู่รากฐานที่ควรจะเป็น หรือก็คือความต้องการและความจำเป็นของพลเมืองสามัญทั่วไป และสร้างความท้าทายที่มีต่อความเสมอภาคของมนุษย์และพื้นฐานแห่งความยุติธรรมที่ถูกครอบครองโดยชนชั้นนำผ่านอิทธิพลทางการเมือง เศรษฐกิจ และวัฒนธรรม ถ้ามองตามแนวทางของ MM แล้ว พรรคที่มีนโยบายประชานิยมคงหนีไม่พ้นพรรคเพื่อไทยและพรรคก้าวไกล ซึ่งทั้งสองพรรคพยายามสื่อสารว่าตนกำลังต่อสู้กับอำมาตย์เพื่อราษฎร แต่พรรคก้าวไกลก็ก้าวไปไกลสมชื่อ ถึงขั้นคิดที่จะแก้ไขประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 โดยอ้างว่าเพื่อความยั่งยืนสถาพรของสถาบันพระมหากษัตริย์ของประเทศไทย
แต่ทว่า นิยามดังกล่าวสอดคล้องกับการปกครองในระบอบประชาธิปไตยกระนั้นหรือ คำตอบก็คงใช่ดังที่ว่า เพราะระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตยเป็นของประชาชน โดยประชาชน และเพื่อประชาชน แต่เผอิญว่าประชาชนถูกจำแนกเป็น 2 กลุ่ม ได้แก่ ประชาชนที่เป็นพลเรือนเต็มขั้นกับประชาชนที่มีความเป็นศักดินาเหนือกว่าผู้อื่น นโยบายประชานิยมจึงนำไปสู่การต่อสู้ทางศีลธรรมของกลุ่มคน 2 กลุ่ม โดยเฉพาะเรื่องของผลประโยชน์และค่านิยมทางการเมือง ซึ่งเคยถูกครอบครองโดยชนชั้นนำและไม่เคยได้ยินเสียงเรียกร้องของพลเรือนเต็มขั้นแม้แต่น้อย
ดังนั้น นโยบายประชานิยมจึงถูกสถาปนาขึ้นประหนึ่งว่าเป็นวิถีทางส่งเสียงเรียกร้องแบบประชาธิปไตยของบรรดาคนเดินถนนทั่วไปไปยังชนชั้นนำว่า ‘ตั้งใจฟังหน่อย!’
แม้ว่าประชาชนปกติจะมิใช่ผู้เชี่ยวชาญเกี่ยวกับนโยบายสาธารณะ แต่พวกเขาก็มีความสามารถที่จะพินิจพิจารณาว่าชีวิตของพวกเขาควรจะเดินต่อไปอย่างไร และความคับข้องใจของพวกเขาก็หาได้ถูกตอบสนองจากบรรดาผู้ปกครองของรัฐบาลแต่ละชุดอย่างจริงจัง และก็เป็นเรื่องจริงที่ว่าประชาชนโดยทั่วไปไม่ได้สนใจรายละเอียดของนโยบายสาธารณะ การปกครองในระบอบประชาธิปไตยจึงจำเป็นต้องกระตุ้นให้ชนชั้นปกครองรับฟังความคับข้องใจที่เพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ และต้องตั้งใจฟังว่าพวกเขาต้องการอะไร และต้องออกแบบนโยบายให้ตอบสนองข้อเรียกร้องของประชาชน แต่เพราะชนชั้นนำไม่ได้ฟังอย่างตั้งใจ นโยบายประชานิยมจึงสถาปนาตัวเองขึ้นได้ในระบอบประชาธิปไตยอย่างเป็นรูปธรรม
แต่ก็ต้องยอมรับว่าชนชั้นนำหรือชนชั้นปกครองมีความสนใจและค่านิยมที่แตกต่างจากประชาชนที่มีฐานะยากจน ด้อยการศึกษา ขาดโอกาสในชีวิต และห่างไกลจากศูนย์กลางของอำนาจทางการเมือง เศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม เมื่อชนชั้นนำเพิกเฉยต่อผลประโยชน์และคุณค่าของประชาชนที่ขาดอำนาจ นโยบายประชานิยมจะเป็นกลไกในการปรับสถานการณ์ของประชาธิปไตยในสังคมให้เข้าสู่ดุลยภาพ ถ้าชนชั้นปกครองหรือชนชั้นนำฉุกคิดและปรับตัวได้ไว ก็ถือเป็นข้อดีของนโยบายประชานิยม แต่หากไม่เข้าใจและไม่ครุ่นคิดว่าสถานการณ์เป็นเช่นไร นโยบายประชานิยมก็จะพาทั้งชนชั้นนำและประชาชนลงเหวไปพร้อมกัน
สถานการณ์ประเทศไทยวันนี้คงอยู่ระหว่างทางที่ประชานิยมยังคงเป็นกลไกหรือเครื่องมือให้นักการเมืองตระหนักว่า แท้จริงแล้วคุณต้องฟังเสียงประชาชนและทำตามที่ประชาชนเรียกร้องอย่างมีสติสัมปชัญญะครบถ้วน และยังคงมีเวลาที่จะถอนสมอกลไกประชานิยมก่อนที่จะพาประเทศไทยก้าวเข้าสู่ยุคอันตรายอย่างที่หลายประเทศเคยประสบจนยากที่จะถอนตัว
กล่าวโดยสรุปแล้ว นโยบายประชานิยมก็มีข้อดีต่อระบอบประชาธิปไตยในอันที่ว่าจะช่วยให้ชนชั้นนำหันกลับมาฟังเสียงชาวบ้าน และตอบสนองต่อสิ่งที่เขาเรียกร้องอย่างเป็นรูปธรรม แต่หากใช้จนเลยเถิดไป นโยบายประชานิยมจะย้อนกลับมาทำร้ายประชาธิปไตยจนยากที่จะกู้คืนกลับมาในเร็ววัน ก็หวังว่าเมืองไทยคงไปไม่ถึงจุดนั้น
ข่าวที่เกี่ยวข้อง:
- เปิด 8 ตัวเลขเศรษฐกิจในช่วงกว่า 8 ปีของ ‘รัฐบาลประยุทธ์’ สำเร็จ หรือ ล้มเหลว?
- ความท้าทาย ‘ เศรษฐกิจไทย ปี 2566 ’ กับการปรับตัวของภาคธุรกิจ
- ‘ส่วนต่างรายได้’ กับนโยบายรักษาเสถียรภาพเศรษฐกิจ