×

29 พฤศจิกายน 2485 – วันประสูติ หม่อมเจ้าชาตรีเฉลิม ยุคล ‘คนบ้าหนัง’ ที่เล่าได้ตั้งแต่เรื่องราวสะท้อนสังคม ไปจนถึงพีเรียดฟอร์มยักษ์

29.11.2019
  • LOADING...

เริ่มต้นจากหนังไซไฟ ต่อด้วยการพูดถึงชีวิตคนเล็กๆ และขยายไปรำลึกถึงบุคคลสำคัญในประวัติศาสตร์ คือสิ่งที่หม่อมเจ้าชาตรีเฉลิม ยุคล หรือท่านมุ้ย ผู้กำกับชั้นครูที่อุทิศมากกว่า 3 ส่วน 4 ของชีวิตให้กับวงการภาพยนตร์ไทย 

 

หม่อมเจ้าชาตรีเฉลิม ยุคล ประสูติเมื่อวันที่ 29 พฤศจิกายน พ.ศ. 2485 เป็นพระโอรสในพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอนุสรมงคลการ กับหม่อมอุบล ยุคล ณ อยุธยา (สุฤทธิ์) สองผู้บุกเบิกแถวหน้าของวงการภาพยนตร์ไทยในยุคเริ่มแรก และผู้ก่อตั้งบริษัทละโว้ภาพยนตร์ 

 

ทำให้ท่านมุ้ยคุ้นเคยอยู่กับกองถ่าย และสะสมความหลงใหลในภาพยนตร์มาตั้งแต่เด็ก ก่อนจะเข้าศึกษาต่อที่มหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย ลอสแอนเจลิส ในสาขาวิชาเอกธรณีวิทยา และสาขาวิชาโทภาพยนตร์ โดยมีผู้กำกับฮอลลีวูดชื่อดังอย่าง ฟรานซิส ฟอร์ด คอปโปลา และโรมัน โปลันสกี เป็นเพื่อนร่วมชั้น 

 

ในปี พ.ศ. 2511 หม่อมเจ้าชาตรีเฉลิมเริ่มงานกำกับครั้งแรกจากละครโทรทัศน์ เรื่อง ผู้หญิงก็มีหัวใจ ก่อตั้งบริษัท พร้อมมิตรภาพยนตร์ และเริ่มเดินหน้าเข้าสู่วงการภาพยนตร์เต็มตัวจากการกำกับเรื่อง มันมากับความมืด ในปี พ.ศ. 2514 ที่นับว่าเป็นภาพยนตร์แนวไซไฟเรื่องแรกของประเทศไทย 

 

และแจ้งเกิดในฐานะผู้กำกับคุณภาพจาก เขาชื่อกานต์ ในปี พ.ศ. 2516 ซึ่งนับเป็นงานแจ้งเกิด สรพงษ์ ชาตรี ในฐานะพระเอกคู่ใจ ที่กลายเป็นอีกหนึ่งตำนานของวงการภาพยนตร์ไทยในเวลาต่อมา 

 

หลังจากนั้น หม่อมเจ้าชาตรีเฉลิมก็สร้างสรรค์ผลงานภาพยนตร์ออกมาอย่างต่อเนื่อง เช่น เทพธิดาโรงแรม (2517), เทวดาเดินดิน (2518), ทองพูน โคกโพ ราษฎรเต็มขั้น (2520), อุกาฟ้าเหลือง (2523), มือปืน (2526), ครูสมศรี (2528), คนเลี้ยงช้าง (2533) มือปืน 2 สาละวิน, เสียดาย (2537), เสียดาย 2 (2539) ที่มีเอกลักษณ์ชัดเจนในการนำเสนอเรื่องราวความขัดแย้งระหว่างประชาชนกับอำนาจรัฐ กระบวนการยุติธรรม หรือสังคมเมือง ที่มีตัวละครเป็น ‘คนชายขอบ’ ที่ถูกกระทำจากสังคม หรือไม่มีคนสนใจ ทั้งหมอชนบท, มือปืนขาเป๋, คนขับแท็กซี่, หญิงขายบริการ, คนเลี้ยงช้าง และครูผู้เสียสละ

 

ในยุคหลังหม่อมเจ้าชาตรีเฉลิมหันมาสร้างภาพยนตร์พีเรียดฟอร์มยักษ์เล่าเรื่องบุคคลสำคัญในประวัติศาสตร์ เริ่มต้นจาก สุริโยไท (2544) ที่ทำรายได้ 550 ล้านบาท ตำนานสมเด็จพระนเรศวรมหาราช ที่ขยายเรื่องราวมาถึง 6 ภาค (2550-2558) และพันท้ายนรสิงห์ (2558) เป็นผลงานสุดท้ายในฐานะผู้กำกับภาพยนตร์ (ไม่นับเวอร์ชันละครโทรทัศน์) 

 

นอกจากการเป็นผู้กำกับ และผลักดันอุตสาหกรรมภาพยนตร์ไทย หม่อมเจ้าชาตรีเฉลิม ยังเป็นที่รู้จักในกลุ่มคนรักภาพยนตร์ในเว็บบอร์ดพันทิป โดยมักจะใช้แอ็กเคานต์ที่ชื่อ Cinephile ที่แปลว่าคนบ้าหนัง คอยตอบคำถามและแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับสมาชิกคนอื่นๆ อยู่เป็นประจำ 

 

ถึงแม้ทุกวันนี้หม่อมเจ้าชาตรีเฉลิมจะไม่มีผลงานภาพยนตร์ออกมาให้เราได้ชม แต่ผลงานที่ผ่านมาทั้งหมด จะทำให้เราจดจำท่านเอาไว้ ในฐานะ ‘คนบ้าหนัง’ และผู้กำกับชั้นครู ที่สร้างคุณูปการให้กับวงการภาพยนตร์เอาไว้มากมาย 

 

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X