เมื่อควันสีขาวลอยขึ้นจากปล่องไฟวัดน้อยซิสทีน สายตาจากทั่วโลกจับจ้องไปที่ระเบียงหน้ามหาวิหารนักบุญเปโตร หลังจากการลงคะแนนเสียงครั้งที่ 4 ในที่สุด พระศาสนจักรคาทอลิกก็มีพระสันตะปาปาองค์ที่ 267 อย่างเป็นทางการ
พระคาร์ดินัล โจวานนี บัตติสต้า เร (Giovanni Battista Re) หัวหน้าคณะคาร์ดินัล เหมือนจะคาดการณ์ล่วงหน้าได้ ซึ่งพระคาร์ดินัลโจวานนี บัตติสต้า เร ได้กล่าวในช่วงเช้าของวันที่ 8 พฤษภาคม ก่อนที่ควันสีขาวจะลอยขึ้นในเย็นวันเดียวกันว่า “พ่อหวังว่าเมื่อกลับถึงโรมเย็นนี้ พ่อจะเห็นควันสีขาว…”
พระสันตะปาปาที่มาจากพหุวัฒนธรรม
โดยพระคาร์ดินัลที่ได้รับเลือกให้ดำรงตำแหน่งพระสันตะปาปานั้น ได้แก่ พระคาร์ดินัล โรเบิร์ต ฟรานซิส เพรโวสต์ (Robert Francis Prevost) ชาวอเมริกัน ซึ่งพระองค์ทรงเลือกที่จะใช้พระนามว่า ‘เลโอที่ 14’ ทั้งนี้ โป๊ปองค์ใหม่มีพระชนมายุ 69 พรรษา และมีเชื้อสายอิตาเลียน ฝรั่งเศส และสเปน ยิ่งไปกว่านั้น พระองค์ทรงเป็นพระสันตะปาปาองค์แรกในประวัติศาสตร์ที่มาจากสหรัฐอเมริกา
พระสันตะปาปาเลโอที่ 14 เกิดวันที่ 14 กันยายน 1955 พระองค์สามารถพูดได้หลายภาษา เช่น ภาษาฝรั่งเศส อิตาเลียน โปรตุเกส และเยอรมัน
นอกจากนี้ ประวัติการศึกษาของพระสันตะปาปาเลโอที่ 14 ทำให้พระองค์เป็นพระสันตะปาปาที่มีความเป็นนักวิชาการ โดยพระองค์จบปริญญาตรีด้านคณิตศาสตร์และปรัชญาจากมหาวิทยาลัยวิลลาโนวา (Villanova) ซึ่งตั้งใกล้กับเมืองฟิลาเดลเฟีย โดยหลังจากที่พระองค์เข้าเป็นสมาชิกคณะนักบวชออกัสติน (Augustin) พระองค์ทรงศึกษาต่อปริญญาโทด้านเทววิทยาที่มหาวิทยาลัย คาทอลิก เธียโลจิคอล ยูเนียน (Catholic Theological Union) และจบปริญญาเอกด้านกฎหมายพระศาสนจักรจากมหาวิทยาลัยแองเจลิคุม (Angelicum หรือที่รู้จักกันในชื่อเต็มว่า Pontifical University of St. Thomas Aquinas)
ในระหว่างที่เป็นมิชชันนารีในประเทศเปรูกว่า 20 ปี พระองค์ทรงทำงานเพื่อพระศาสนจักรท้องถิ่นหลากหลายหน้าที่ ไม่ว่าจะเป็น เจ้าวัด ผู้พิพากษาคดีพระศาสนจักร อาจารย์สอนกฎหมายพระศาสนจักร เป็นต้น
ในฐานะที่เป็นสมาชิกคณะนักบวชออกัสติน พระสันตะปาปาเลโอที่ 14 เคยทรงได้รับเลือกให้เป็นเจ้าคณะออกัสตินในภูมิภาคมิดเวสต์ของสหรัฐอเมริกา และภายในสองปีครึ่ง พระองค์ก็ได้รับเลือกให้เป็นอธิการเจ้าคณะของคณะออกัสติน โดยประจำอยู่ที่กรุงโรม ทั้งนี้พระองค์ทรงได้รับเลือกให้ดำรงตำแหน่งเป็นอธิการเจ้าคณะอีกครั้งในปี 2007 ภายในเวลา 20 นาทีหลังจากมีการจัดการเลือกตั้ง (ซึ่งเร็วที่สุดที่เคยมีมาในประวัติศาสตร์ของคณะออกัสติน) การเป็นอธิการเจ้าคณะ ทำให้พระองค์พบกับผู้คนมากมาย และเข้าใจความสำคัญและบทบาทของการยอมรับผู้อื่นอย่างลึกซึ้งมากขึ้น
บทบาทในการจัดการกรณีการล่วงละเมิดในเปรู
พระสันตะปาปาเลโอที่ 14 ในอดีตนั้น ทรงมีบทบาทในการติดตามและจัดการกรณีการล่วงละเมิดทางเพศในกลุ่ม โซดาลีโช (Sodalicio) ซึ่งเป็นกลุ่มคาทอลิกในประเทศเปรู ที่ใกล้ชิดกับแนวคิดทางการเมืองขวาจัด อีกทั้งพระองค์ยังมีบทบาทในการดำเนินการปลดพระคุณเจ้าโฆเซ อันโตนิโอ เอกูเรน (José Antonio Eguren) บิชอปกิตติคุณแห่งปีอูรา (Piura) ซึ่งเป็นสมาชิกของกลุ่มโซดาลีโช ที่ถูกตัดสินว่ามีความผิดฐานมีส่วนรู้เห็นในการล่วงละเมิด
แม้ว่าพระสันตะปาปาเลโอที่ 14 จะถูกกล่าวหาจากสมาชิกกลุ่มโซดาลีโชว่าพระองค์ปกปิดกรณีการล่วงละเมิดทางเพศ ทว่าศาลเปรูและสมณกระทรวงพระสัจธรรม (Dicastery for the Doctrine of the Faith) ก็ยุติการสืบสวนคดี เนื่องจากหลักฐานไม่เพียงพอ อย่างไรก็ตาม พาโอลา อูกัส (Paola Ugaz) ซึ่งเปิดโปงกรณีการละเมิดภายในกลุ่มโซดาลีโชให้ข้อสังเกตว่า ข้อครหาเหล่านี้มีจุดประสงค์เพื่อกลั่นแกล้งและแก้แค้นพระสันตะปาปาเลโอที่ 14 พร้อมกับระบุว่า พระคุณเจ้าเพรโวสต์เป็นบิชอปไม่กี่คนในเปรูที่สนับสนุนผู้เสียหายจากการถูกล่วงละเมิด
“ขอสันติสุขจงมีแก่ท่าน !”: เพื่อสันติภาพและเพื่อความเป็นหนึ่งเดียว
จากสุนทรพจน์ของพระสันตะปาปาเลโอที่ 14 พระองค์ทรงให้ความสำคัญเกี่ยวกับการสร้างสันติภาพ ซึ่งเป็น “สันติภาพที่ปราศจากอาวุธ สันติภาพที่อ่อนน้อม สันติภาพที่ยืนหยัดมั่นคง” การขึ้นมาดำรงตำแหน่งของพระสันตะปาปาเลโอที่ 14 สอดคล้องกับช่วงเวลาที่หลายประเทศในทวีปต่างๆ กำลังเผชิญกับสถานการณ์ความขัดแย้ง อาจกล่าวได้ว่าบทบาทของพระสันตะปาปาเลโอที่ 14 ในฐานะผู้นำรัฐ คือพยายามให้ทุกฝ่ายหาทางออกด้วยสันติวิธี เพื่อให้ทุกคนสามารถใช้ชีวิตภายใต้สันติ และอยู่อย่างมีเกียรติและศักดิ์ศรี
พระสันตะปาปาเลโอที่ 14 ยังแสดงให้เห็นว่าพระองค์มุ่งมั่นที่จะสานต่องานของพระสันตะปาปาฟรานซิส เช่น ความสัมพันธ์ระหว่างศาสนา การให้ความสำคัญต่อคริสตชนและผู้คนที่อยู่ชายขอบสังคม และเสริมสร้างพระศาสนจักรที่เป็นหนึ่งเดียวท่ามกลางความหลากหลาย โดยพระสันตะปาปาเลโอที่ 14 เลือกใช้ถ้อยคำที่สอดคล้องกับโป๊ปฟรานซิส ซึ่งเกี่ยวข้องกับการ “สร้างสะพาน”: “สร้างสะพานเพื่อผ่านการสนทนาแลกเปลี่ยนและพบปะซึ่งกันและกัน เพื่อที่พวกเราทุกคนจะได้อยู่ร่วมกันอย่างสันติสุขตลอดไป”
ความกังวลที่หลายคนคิดว่าพระสันตะปาปาองค์ใหม่อาจเปลี่ยนแนวทางของการประชุมซิโนดว่าด้วยการก้าวเดินไปด้วยกัน (Synodality) และการมีส่วนร่วมของคริสตชนในพระศาสนจักรคาทอลิกดูเหมือนจะได้หายไป เนื่องจากพระสันตะปาปาเลโอที่ 14 ได้ยกคำพูดของนักบุญออกุสตินในสุนทรพจน์ของพระองค์ ซึ่งพระองค์ยืนยันว่าพระองค์ก็เป็นคริสตชนคนหนึ่งเช่นกัน และทำหน้าที่โป๊ป / บิชอปแห่งโรม เพื่อช่วยเหลือและรับใช้บรรดาคริสตชน : “ข้าพเจ้าเป็นบุตรของนักบุญออกัสติน เป็นนักบวชคณะออกัสติน นักบุญออกัสตินเคยกล่าวไว้ว่า : ‘กับท่าน ข้าพเจ้าเป็นคริสตชน และเพื่อท่าน ข้าพเจ้าเป็นพระสังฆราช’ ขอให้พวกเราทุกคนก้าวเดินไปด้วยกัน…”
หลายคนรู้จัก?
เนื่องจากพระสันตะปาปาเลโอที่ 14 มีประสบการณ์ทั้งในสหรัฐฯ และเปรู ทำให้พระองค์ทรงเป็นที่รู้จักในบรรดาพระคาร์ดินัลจากอเมริกาเหนือและอเมริกาใต้ นอกจากนี้ เป็นไปได้ว่าการที่พระองค์ทรงดำรงตำแหน่งประธานสมณะกระทรวงเพื่อบิชอป ซึ่งดูแลเรื่องการเข้าเฝ้าถวายรายงานต่อพระสันตะปาปา (Ad limina visit) ส่งผลให้พระสันตะปาปาลีโอที่ 14 ได้พบกับบิชอปจากหลากหลายประเทศจนเป็นที่ยอมรับในภูมิภาคต่างๆ
อนาคตพระศาสนจักรคาทอลิกภายใต้พระสันตะปาปาองค์ใหม่
เมื่อได้ยินชื่อเลโอ ก็ทำให้หลายคนนึกถึงพระสันตะปาปาเลโอที่ 13 ซึ่งเน้นย้ำถึงเรื่องสภาพชีวิตของผู้ใช้แรงงานผ่านสมณสาสน์ Rerum Novarum (1891) อันเป็นพื้นฐานคำสอนด้านสังคมของพระศาสนจักรในปัจจุบัน ในขณะเดียวกัน ก็ยังชวนให้นึกถึงพระสันตะปาปาเลโอที่ 1 ผู้ยิ่งใหญ่ ซึ่งมีบทบาทสำคัญในการรักษาความเป็นเอกภาพของพระศาสนจักร
การเลือกใช้พระนามเลโอ อาจเผยให้เห็นว่าพระสันตะปาปาองค์ใหม่ไม่เพียงแต่สนใจความยุติธรรมทางสังคมที่เกี่ยวกับชีวิตประจำวันของผู้คน แต่ยังมุ่งหวังที่จะสร้างความเป็นหนึ่งเดียวภายในพระศาสนจักรคาทอลิก ซึ่งในปัจจุบันนั้น ความหลากหลายภายในพระศาสนจักรนั้นกลับสร้างรอยร้าวระหว่างคริสตชนคาทอลิกด้วยกัน
ภาพ: Massimo Valicchia / NurPhoto
อ้างอิง:
- https://www.repubblica.it/cronaca/dossier/conclave/2025/05/08/diretta/conclave_2025_nuovo_papa_notizieoggi-424173072/
- https://www.la-croix.com/religion/portrait-leon-xiv-qui-est-le-cardinal-prevost-le-nouveau-pape-elu-20250508
- https://www.la-croix.com/Religion/Catholicisme/Monde/Le-pape-arrive-Perou-Eglise-divisee-fragilisee-2018-01-18-1200906790
- https://www.lefigaro.fr/actualite-france/l-americain-robert-francis-prevost-devient-le-pape-leon-xiv-20250508
- https://www.vaticannews.va/en/pope/news/2025-05/pope-leo-xvi-peace-be-with-you-first-words.html