นับเป็นเวลามากกว่า 1 ทศวรรษที่พระสันตะปาปาฟรานซิสทรงดำรงตำแหน่งเป็นบิชอปแห่งกรุงโรม หรือที่เรียกกันทั่วไปว่า ‘โป๊ป’ ซึ่งเป็นทั้งผู้นำรัฐวาติกัน และผู้นำทางจิตวิญญาณของบรรดาคริสตชนในนิกายโรมันคาทอลิกกว่า 1,300 ล้านคนทั่วโลก หน้าที่ของพระสันตะปาปาจึงประกอบไปด้วยมิติทางจิตวิญญาณ และมิติทางโลก
ด้วยเหตุนี้ พระสันตะปาปาฟรานซิส จึงมีบทบาทหลักๆ ภายในศาสนจักรโรมันคาทอลิก ได้แก่
(1) เทศน์สอนให้ข้อคิดแก่คริสตชน (2) รักษาความเป็นเอกภาพภายในศาสนจักร และ (3) ดูแลภาพรวมการจัดการบริหารศาสนจักรพร้อมกับ “โรมัน คูเรีย” ซึ่งในฐานะประมุขของรัฐ พระสันตะปาปาฟรานซิสยังพบปะผู้นำประเทศต่างๆ เพื่อสานความสัมพันธ์ในเวทีนานาชาติ
พระสันตะปาปาฟรานซิสนับว่าเป็นพระสันตะปาปาองค์แรกที่มาจากอเมริกาใต้ โดยพระองค์เกิดที่บัวโนสไอเรส ประเทศอาร์เจนตินา ยิ่งไปกว่านั้น พระองค์ยังเป็นพระสันตะปาปาองค์แรกที่มาจากคณะนักบวชเยสุอิต (Society of Jesus) ซึ่งแม้ว่าจะเป็นคณะนักบวชที่มีอิทธิพลและผลงานระดับโลกทั้งในด้านการศึกษา และวิทยาศาสตร์ แต่ทว่าไม่มีใครที่ได้รับเลือกให้ดำรงตำแหน่งพระสันตะปาปาก่อนหน้าโป๊ปฟรานซิส
สภาพแวดล้อมที่หล่อหลอมแนวคิดและมุมมองของ พระสันตะปาปาฟรานซิส
หากทบทวนเรื่องราวของโป๊ปฟรานซิสในอดีต พื้นเพเดิมของพระองค์และเหตุการณ์ที่พระองค์เคยเผชิญ ต่างส่งอิทธิพลต่อทัศนคติและแนวปฏิบัติของพระองค์ ซึ่งสามารถเห็นได้จากงานเขียน หรือการกล่าวสุนทรพจน์ของพระสันตะปาปาฟรานซิสในปัจจุบัน
โดยก่อนหน้าที่จะดำรงตำแหน่งพระสันตะปาปา โป๊ปฟรานซิสมีชื่อเดิมว่า ฮอร์เฮ มารีโอ แบร์โกกลีโอ (Jorge Mario Bergoglio) โดยมาจากครอบครัวอพยพชาวอิตาลี ที่หนีความยากลำบากทางเศรษฐกิจมาตั้งรกรากในประเทศอาร์เจนตินา จากหนังสือชีวประวัติเรื่อง “ความหวัง” ซึ่งออกจำหน่ายเมื่อต้นปีนี้นั้น พระสันตะปาปาฟรานซิสกล่าวถึงครอบครัวของพระองค์ว่า “ข้าพเจ้าเกิดในครอบครัวของผู้อพยพ: เช่นเดียวกับชาวอิตาเลียนอีกมากมาย บิดา ปู่ และย่าของข้าพเจ้าได้อพยพไปยังประเทศอาร์เจนตินา และต้องเผชิญกับชะตากรรมของผู้ที่ไม่มีอะไรติดเนื้อติดตัว ข้าพเจ้าเองก็อาจตกอยู่ในกลุ่มผู้ที่ถูกทอดทิ้งในสังคมปัจจุบันได้เช่นกัน”
แน่นอนว่าพระสันตะปาปาฟรานซิสก็เหมือนกับชาวอาร์เจนตินาทั่วไป ชอบแทงโก้และฟุตบอล โดยทีมโปรดของโป๊ปฟรานซิสก็เป็นทีมอื่นใดไม่ได้นอกจากสโมสรบ้านเกิดในกรุงบัวโนสไอเรส ซาน โลเรนโซ (San Lorenzo) หากแต่ว่าในช่วงชีวิตในวัยหนุ่มนั้น โป๊ปฟรานซิสได้เผชิญกับภาวะปอดติดเชื้อ และจำเป็นต้องได้รับการผ่าตัด จนทำให้ต้องเสียปอดข้างขวาส่วนหนึ่ง
ในยุครัฐบาลเผด็จการทหาร ประเทศอาร์เจนตินาพบกับปัญหาเศรษฐกิจ คอร์รัปชัน และความเหลื่อมล้ำ ซึ่งส่งผลให้ชาวอาร์เจนตินาจำนวนมากไม่มีเงินและต้องย้ายไปอาศัยอยู่ในสลัม รัฐบาลทหารได้ปราบปรามประชาชนที่ออกมาต่อต้าน อีกทั้งยังมีการบังคับผู้เห็นต่างให้เป็นผู้สูญหาย ซึ่งพระสันตะปาปาฟรานซิสบรรยายถึงช่วงเวลาอันมืดมนในหนังสือชีวประวัติว่า พระองค์เห็นความโหดร้ายของมนุษย์ในรูปแบบต่างๆ ในช่วงรัฐบาลเผด็จการ และสิ่งที่เลวร้ายที่สุด คือ การที่รัฐบาลเผด็จการทหารใช้การทรมานเป็นเครื่องมือในการกำจัดผู้ต่อต้านรัฐบาล เหล่าบรรดามิตรสหายของโป๊ปฟรานซิส ไม่ว่าจะเป็น เพื่อนพระสงฆ์ด้วยกันเอง และเพื่อนที่ยิ่งใหญ่ของโป๊ปฟรานซิส อย่างเอส์เธร์ บาล์เลสตรีโน (Esther Ballestrino) ซึ่งสอนพระองค์ให้รู้ถึงความเป็นจริงทางการเมือง ต่างพบกับจุดจบที่น่าเศร้า นอกจากนี้ “ยุคมืด” ภายใต้เงาของรัฐบาลเผด็จการทหารทำให้พระองค์รู้สึกว่าต้องเข้าพบนักบำบัด
อิทธิพลของ “Theology of People” ซึ่งเป็นเทวศาสตร์แขนงหนึ่งที่เริ่มต้นขึ้นในประเทศอาร์เจนตินาในยุค 60-70 ส่งผลให้พระสันตะปาปาฟรานซิสสนใจเรื่องราวที่เกี่ยวกับผู้คน รวมทั้งวัฒนธรรม และวิถีชาวบ้านเป็นพิเศษ โดยเทววิทยาดังกล่าวเน้นผู้คนเป็นศูนย์กลาง ซึ่งตั้งอยู่บนพื้นฐานที่ว่า ต้องให้ความสำคัญกับความเป็นอยู่ที่ดีของคนยากจนและผู้คนชายขอบสังคม (Preferential option for the poor) ด้วยเหตุนี้เองพระสันตะปาปาฟรานซิสจึงถือคติว่า “หูข้างหนึ่งไว้ฟังพระวาจาของพระเจ้า (พระคัมภีร์ไบเบิล) ส่วนหูอีกข้างหนึ่งไว้ฟังผู้คน”
11 ปีของการเป็นพระสันตะปาปา… 11 ปีของการเป็นนักเคลื่อนไหว ?!?
นับตั้งแต่วันที่ 13 มีนาคม 2013 ซึ่งเป็นเวลากว่า 11 ปีที่พระสันตะปาปาฟรานซิสขึ้นรับตำแหน่งประมุขของศาสนจักรโรมันคาทอลิก โป๊ปฟรานซิสให้ความสำคัญต่อประเด็นผู้อพยพเป็นอันดับแรกๆ ซึ่งเป็นเครื่องยืนยันถึงหน้าที่ของศาสนจักรในการส่งเสริมความยุติธรรมทางสังคมและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ โดยไม่กี่เดือนหลังจากที่ดำรงตำแหน่งพระสันตะปาปา โป๊ปฟรานซิสก็ไปเยี่ยมผู้ลี้ภัยในเกาะลัมเปดูซา (Lampedusa) ของอิตาลี ซึ่งเป็นเกาะที่ผู้อพยพต่างเดินทางเข้ามาตลอดทั้งปีจนเกินขีดจำกัดที่ศูนย์รับรองผู้อพยพบนเกาะนี้จะรับได้
ต่อมา พระสันตะปาปาฟรานซิสยังคงเน้นย้ำถึงการเปิดรับผู้อพยพ ในค.ศ. 2014 ที่รัฐสภายุโรป พระองค์เรียกร้องสหภาพยุโรปให้เปิดรับผู้อพยพ โดยกล่าวว่า “ไม่มีใครสามารถปล่อยให้ทะเลเมดิเตอร์เรเนียนกลายเป็นสุสานขนาดใหญ่ได้ !” นอกจากนี้ พระสันตะปาปาฟรานซิสยังประกาศเรียกร้องให้โบสถ์/วัด (Parish) ในยุโรปแต่ละแห่งเปิดรับครอบครัวผู้ลี้ภัยแห่งละหนึ่งครอบครัว แม้กระทั่งในวาติกันเอง ก็รับผู้อพยพเช่นกัน
ทันทีที่ประธานาธิบดีทรัมป์ออกมาตรการผลักดันผู้อพยพกลับประเทศอย่างแข็งกร้าว โป๊ปฟรานซิสวิพากษ์วิจารณ์นโยบายดังกล่าวผ่านจดหมายถึงเหล่าบิชอปในสหรัฐฯ อย่างชัดเจน ยิ่งไปกว่านั้นยังเขียนจดหมายโต้แย้ง เจ ดี แวนซ์ (J.D. Vance) รองประธานาธิบดีสหรัฐฯ ซึ่งได้อ้างถึง Ordo amoris (Order of charity) ของนักบุญออกัสติน เพื่อสนับสนุนมาตรการขับไล่ผู้อพยพของประธานาธิบดีทรัมป์ ว่า “Ordo amoris ที่แท้จริงที่ควรสนับสนุน คือ สิ่งที่เราค้นพบเมื่อได้ทำความเข้าใจนิทานเปรียบเทียบเรื่องชาวสะมาเรีย (ลก. 10, 25-37) ซึ่งเกี่ยวข้องกับความรักที่มุ่งสร้างภราดรภาพ ความเป็นพี่น้องที่ต้อนรับทุกคนโดยไม่มีข้อยกเว้น” โดยข้อโต้แย้งของพระสันตะปาปาฟรานซิสเผยให้เห็นว่าสิ่งที่รองประธานาธิบดีสหรัฐฯ ทำนั้นเป็นการอ้างอิงที่ไม่ถูกต้อง และแฝงนัยทางการเมือง
สำหรับพระสันตะปาปาฟรานซิสแล้ว การเมืองถือว่าเป็นอีกเรื่องหนึ่งที่สำคัญอย่างยิ่ง เนื่องจากการเมืองเป็นเครื่องมือที่สร้างสันติสุขในโลก ช่วยเหลือผู้คนให้สามารถอยู่อย่างมีคุณค่าและมีศักดิ์ศรี โดยสมณสาส์น (จดหมายของพระสันตะปาปาถึงบรรดาคริสตชน) เรื่อง Fratelli Tutti (ทุกคนเป็นพี่น้องกัน) ของพระสันตะปาปาฟรานซิส ไม่เพียงแต่จะกล่าวถึงกระแสประชานิยม และการปลุกระดมโดยนักการเมือง แต่ยังเชิญชวนให้ทุกๆ คนต่างมีส่วนร่วมทางการเมือง ด้วยเหตุผลที่ว่า “การเมืองเป็นหนึ่งในรูปแบบความรักที่มีค่าที่สุด เพราะเป็นการทำเพื่อประโยชน์ส่วนรวม” (FT 180)
ในการสร้างสังคมโลกให้เป็นสังคมที่น่าอยู่สำหรับทุกคน พระสันตะปาปาฟรานซิสมองว่าเรื่องวิกฤติสิ่งแวดล้อมเป็นเรื่องสำคัญอีกเรื่องหนึ่งไม่น้อยไปกว่าเรื่องการเมือง โดยวิกฤตดังกล่าวจำเป็นต้องอาศัย “การปรับเปลี่ยนรูปแบบการดำเนินชีวิต โมเดลการผลิตและการบริโภค” (LS 23) ในขณะเดียวกันนั้น ต้องปรับมุมมองอีกว่า “การซื้อของไม่ได้เป็นเพียงแค่กิจกรรมทางเศรษฐกิจเท่านั้น แต่ยังเป็นเรื่องทางศีลธรรมอีกด้วย” (LS 206) โดยทั้งหมดนี้ก็เนื่องจาก “แนวคิดการหากำไรสูงสุดโดยต้นทุนต่ำสุด […] ขัดแย้งกับการให้ความสำคัญต่อโลกที่เป็นบ้านของทุกคน และผู้ถูกทอดทิ้งในสังคม” (LD 31)
ไม่ว่าจะเป็นมุมมองด้านสิ่งแวดล้อมหรือแนวคิดทางเศรษฐกิจและสังคม พระสันตะปาปาฟรานซิสมีบทบาทสำคัญในการผลักดันให้เกิดขบวนการเครือข่ายเยาวชนและนักวิชาการรุ่นใหม่ที่มุ่งสร้างสรรค์โมเดลทางเศรษฐกิจทางเลือกที่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อม ความเหลื่อมล้ำ และความเป็นธรรม จนกระทั่งในวันที่ 23 กันยายน 2024 ขบวนการดังกล่าวได้รับการจัดตั้งเป็นมูลนิธิอย่างเป็นทางการภายใต้ชื่อ Economy of Francis Foundation
สมเด็จพระสันตะปาปาฟรานซิส สิ้นพระชนม์แล้วในวันนี้ (21 เมษายน) ด้วยพระชนมายุ 88 พรรษา
การสิ้นพระชนม์ของพระสันตะปาปาเกิดขึ้นในช่วงไม่ถึง 24 ชั่วโมงหลังจากที่พระองค์ปรากฏตัวที่จัตุรัสเซนต์ปีเตอร์ในวาติกัน และประทานพรแด่ชาวคริสต์เนื่องในวันอีสเตอร์
ก่อนหน้านี้ สมเด็จพระสันตะปาปา เสด็จเข้ารับการรักษาอาการประชวรด้วยโรคปอดอักเสบสองข้างที่โรงพยาบาลเจเมลลี (Gemelli) ในกรุงโรมนานกว่า 1 เดือน โดยเข้ารับการรักษาตั้งแต่วันที่ 14 กุมภาพันธ์ ก่อนที่พระอาการจะฟื้นตัวและแพทย์วินิจฉัยให้ออกจากโรงพยาบาลได้ตั้งแต่วันที่ 23 มีนาคมที่ผ่านมา
ภาพ: Yara Nardi / File Photo / REUTERS
อ้างอิง:
- https://www.lavie.fr/christianisme/eglise/pape-francois-pourquoi-une-nouvelle-autobiographie-97771.php
- https://www.lemonde.fr/le-monde-des-religions/article/2025/01/15/espere-les-memoires-du-pape-francois-dialogue-entre-l-intime-le-spirituel-et-la-politique_6498523_6038514.html
- https://www.la-croix.com/a-vif/j-d-vance-contre-le-pape-francois-l-ordre-de-lamour-justifie-t-il-lexpulsion-des-etrangers-20250217
- Laudato si’: On Care for Our Common Home (2015)
- Fratelli tutti: On fraternity and social friendship (2020)
- Laudate Deum: To all people of good will on the climate crisis (2023)