เดินทางมาถึงช่วงปลายปี 2566 ‘Major Cineplex’ เริ่มเข้าใกล้เป้าหมายที่ ‘วิชา พูลวรลักษณ์’ แม่ทัพใหญ่เมเจอร์ เคยวาดฝันเอาไว้ว่าต้องการสร้างรายได้เฉพาะการขายป๊อปคอร์นให้ได้เท่ากับตั๋วหนัง และหนึ่งในยุทธศาสตร์สำคัญคือ รีแบรนด์ ‘ป๊อปสตาร์’ สู่ ‘POPCORN MAJOR’ ส่งขายในร้านสะดวกซื้อ 7-Eleven ไม่หวั่น! แม้ตลาดขนมขบเคี้ยวแข่งขันสูง
เมเจอร์ระบุว่า ในช่วงที่ใช้ชื่อแบรนด์ป๊อปสตาร์มาทดลองตลาดได้เรียนรู้ว่าอะไรที่ทำสำเร็จและไม่สำเร็จ ส่วนใหญ่ลูกค้าจะมีความสงสัยว่าป๊อปคอร์นเป็นสินค้าของเมเจอร์จริงหรือไม่ ซึ่งก็ต้องยอมรับว่าที่ผ่านมาคุณภาพสินค้า ทั้งโรงงานการผลิต แบรนด์ดิ้ง รสชาติ และราคาป๊อปสตาร์ ปริมาณไซส์จะอยู่ที่ 40 กรัม จำหน่ายในราคา 35 บาท ซึ่งถ้าสินค้าอยู่ในตลาดแมสราคาก็ถือว่าค่อนข้างสูง
“แต่เมื่อเปลี่ยนมาใช้แบรนด์ ‘POPCORN MAJOR’ จากนี้จะทำให้สินค้าเป็นที่รู้จักมากขึ้นเพราะต่อยอดความแข็งแรงของแบรนด์มาจากโรงหนัง ในระยะแรกจะทดลองวางขาย 3 รสชาติที่ขายดีในโรงหนัง ได้แก่ รสชีส รสคลาสสิก และรสข้าวโพดปิ้ง ปริมาณไซส์ 35 กรัม จำหน่ายราคา 28 บาท เรียกได้ว่าปรับลดราคาลง และด้วยรสชาติ ปริมาณที่คุ้มค่า และราคาที่เข้าถึงง่าย เราเชื่อว่าจะสามารถสู้กับโปรดักต์สแน็กแบรนด์อื่นๆ ได้แน่นอน” วิศรุต พูลวรลักษณ์ ผู้อำนวยการฝ่ายกลยุทธ์องค์กร บริษัท เมเจอร์ ซีนีเพล็กซ์ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) กล่าว
ข่าวที่เกี่ยวข้อง:
- ‘ป๊อปคอร์น’ ดาวรุ่งดวงใหม่ของ Major Cineplex ที่ ‘วิชา พูลวรลักษณ์’ อยากให้มีสัดส่วนรายได้ 50% พุ่งสู่ 5 พันล้านบาท เมื่อเทียบกับตั๋วหนัง
- ‘เมเจอร์’ กางแผน 3 ปี อัปเกรดเป็นระบบ IMAX with Laser ให้ครบ 13 สาขา ชี้รายได้ปีที่ผ่านมาทุบสถิติตั้งแต่เปิดในไทยปี 2541
- สัตว์เลี้ยงก็เปรียบเสมือนลูก! Major เปิดโรงภาพยนตร์สุนัข-แมว 10 มิ.ย. นี้ ราคาตั๋ว 99 บาทต่อตัว แต่ต้องใส่ผ้าอ้อม และนั่งในกระเป๋าเท่านั้น
พร้อมกับการเปิดตัวพรีเซนเตอร์ศิลปินวงป๊อปร็อก Three Man Down เข้ามาสื่อสารแบรนด์และดึงดูดผู้บริโภค โดยเฉพาะ Gen Z อายุ 10-25 ปี ที่เป็นกลุ่มเป้าหมายหลัก ระยะแรกจะทดลองขายในร้านสะดวกซื้อ 7-Eleven ซึ่งบริษัทได้ใช้ความเชี่ยวชาญในธุรกิจขนมขบเคี้ยวของเถ้าแก่น้อยมาช่วยเสริมความแข็งแกร่งของช่องทางขาย และจากนี้จะมีการร่วมกันคิดค้นรสชาติใหม่ๆ ออกมาสู่ตลาด
แม้ว่าตลาดสแน็กมูลค่า 4.4 หมื่นล้านบาทจะแข่งขันกันสูงจากผู้เล่นรายใหญ่ๆ โดยเฉพาะกลุ่มสินค้ามันฝรั่งที่มีสัดส่วนกว่า 40% ในตลาด แต่เมเจอร์ไม่ได้โฟกัสคู่แข่ง โดยมองแค่ว่าตลาดยังมีโอกาสอีกมาก โดยเฉพาะตลาดป๊อปคอร์นที่มีผู้เล่นอยู่แค่ไม่กี่ราย
เช่นเดียวกับเมเจอร์ ตั้งแต่ปี 2562 ที่ผ่านมายอดขายป๊อปคอร์นในช่องทางเดลิเวอรีเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยปัจจุบันบริษัทมีช่องทางจำหน่ายป๊อปคอร์น อาทิ เดลิเวอรี ตามด้วย Kiosks & Event ที่เตรียมจะเปิดให้ครบ 40 สาขาในปีนี้ และ Major Mall
ขณะที่สถานการณ์โรงหนังในไตรมาส 4 จะมีหนังไทยและต่างประเทศเข้าใหม่หลายเรื่อง ซึ่งหนังไทยก็เป็นอีกจุดขายสำคัญที่ทำให้คนกลับมาดูหนังมากขึ้น แต่ภาพรวมยังไม่กลับมา 100% เพราะมีหนังฟอร์มยักษ์เลื่อนออกไปหลายเรื่อง ส่วนการขยายสาขายังมีการขยายไปทั้งกรุงเทพและต่างจังหวัด
จากกลยุทธ์ทั้งหมดนี้ คาดว่าปีนี้รายได้จากการขายป๊อปคอร์นจะอยู่ที่ 2,400 ล้านบาท และปัจจุบันสัดส่วนรายได้ของธุรกิจจำหน่ายป๊อปคอร์นและเครื่องดื่มเมื่อเทียบกับรายได้ตั๋วหนัง อยู่ที่ 64%
เรียกว่า ‘Major Cineplex’ เริ่มเข้าใกล้ความฝันที่อยากขายเฉพาะป๊อปคอร์นให้ได้มากกว่าตั๋วหนังมากขึ้นทุกที เพราะตั้งแต่โควิดระบาด อุตสาหกรรมโรงหนังก็ยังไม่กลับมาฟื้นตัว 100% ดังนั้น การเลือกให้ความสำคัญกับธุรกิจป๊อปคอร์นจึงกลายเป็นโอกาสที่จะสร้างการเติบโตให้ได้อย่างยั่งยืนในอนาคต