“พี่คะ ช่วยจอดหน่อยค่ะ ลงตรงนี้ ครั้งหนึ่งดิฉันเคยนั่งรถตู้อยู่หลังสุด แต่กลับไม่กล้าตะโกนบอกคนขับว่าจะลง เพราะกลัวเสียงแตก”
เคท ครั้งพิบูลย์ ที่ครั้งหนึ่งเคยต่อสู้โดยยื่นฟ้องต่อศาลปกครองกลาง จนศาลมีคำสั่งให้เพิกถอนมติของคณะกรรมการบริหารมหาวิทยาลัย ได้มีมติเมื่อ 2 มีนาคม 2558 ว่าไม่สมควรว่าจ้าง ‘เธอ’ ในตำแหน่งอาจารย์คณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
ก้าวเท้าขึ้นเวที THE STANDARD POP Talk Our Pride #แตกต่างเหมือนกัน ด้วยการแชร์ประสบการณ์ที่บอกเล่าถึงการคงอยู่ เรียนรู้ที่จะเคารพตัวตนของตัวเอง ไปจนถึงการต่อสู้ ทั้งในกรอบของสังคม และตัวตนที่อยู่ภายใน ผ่านวิถีชีวิตประจำวันที่เด็กไทยทุกคนเติบโตมา เช่น การเข้าแถวเคารพธงชาติ ที่ต้องแบ่งแยกชายหญิง การแบ่งว่าชายควรทำอะไร หญิงเหมาะกับอะไร และที่เด็ดสุดคือการบอกเล่าประสบการณ์กดดันทางเพศด้วยโมเมนต์โดยสารรถตู้ประจำทาง การเดินทางสาธารณะที่หลายคนต้องเคยมีประสบการณ์
ครูเคทที่ในวันนี้ถือเป็นหนึ่งไอดอลเพื่อการต่อสู้ถึงการเคารพต่อเพศสภาพที่หลากหลาย แชร์ประสบการณ์กับผู้ฟังว่า “เวลาเราไปโรงเรียน เราต้องตั้งแถวแยกเพศ แต่เราไม่เคยตั้งคำถามว่าเราได้อะไรจากการแยกเพศ สิ่งแบบนี้เรียกว่าเป็นทางการที่เราไม่เคยตั้งคำถามกับมัน เด็กไทยมากมายทำสิ่งเหล่านี้ตามๆ กันไปมา ตลอดจนกลายเป็นวัฒนธรรมความเป็นเพศ (Gender) มากกว่าจะเกิดจากอารมณ์รักใคร่ และเวลาเราจะตัดสินความเป็นเพศ เราดูจากสิ่งที่อยู่ตรงหว่างขา เครื่องเพศที่ติดมาอยู่หว่างขา แต่บางครั้งคนที่เกิดมา เราไม่ได้เกิดมาพร้อมกับเครื่องเพศ แต่สังคมไทยไม่ได้มองแบบนั้น”
ขณะเดียวกัน เธอก็ชี้ให้เห็นว่าสิ่งเหล่านี้ ‘เป็นปัญหา’ เนื่องจากเราดำเนินชีวิตอยู่ในสังคมที่ผู้ชายเป็นใหญ่ ดังนั้นเวลาที่คุณคิดต่าง คุณจึงไม่ถูกยอมรับ สุดท้ายสิ่งที่เกิดขึ้นคืออคติ นำไปสู่การเลือกปฏิบัติ ซึ่งสิ่งเหล่านี้สามารถสะท้อนได้ผ่านเรื่องราวในชีวิต ทั้งในบริบทของความเป็นครูบาอาจารย์เช่นทุกวันนี้ที่ถูกมองแต่เพียงเปลือก แต่ไม่ได้มองไปที่แก่นแท้ สิ่งที่เธอทำในฐานะอาจารย์
“เมื่อคุณเห็นคนข้ามเพศ คุณจะต้องเห็นความสวย เรียบร้อย น่านับถือ คุณครูต้องมีมาดที่ดี สุภาพ สิ่งที่เราแสดงออกจะต้องเป็นสิ่งที่สังคมยอมรับ ดิฉันจะถูกท้าทายตลอดว่า เห็นเด็กหล่อแซวเด็กบ้างหรือเปล่า แต่ไม่มีคนคอยถามว่าสิ่งที่ดิฉันสอนคืออะไร นำไปสู่อะไร ดังนั้นสิ่งที่ดิฉันคาดหวังคือการต้องพูดเรื่องนี้ต่อไป แม้เราจะเคยโดนเลือกปฏิบัติ แต่การที่ฉันลุกขึ้นมาไม่เพิกเฉย ฉันเลยยังเป็นอาจารย์ได้ต่อไป เราต้องจัดการสิ่งที่ตีตราหรือเลือกปฏิบัติต่อไป” ครูเคทยิ้มสวยๆ ก่อนจะสรุปจบแบบคมคายถึงปัญหาจากกรอบแห่งคอคติของอัตลักษณ์และวัฒนธรรมความเป็นเพศว่าแท้จริงแล้วเป็นเรื่องของสิทธิที่เราจะเลือก
“Sex is something between your legs but gender is something between your ears. เรื่องเพศมันอยู่หว่างขาเรา แต่การเรียนรู้เรื่องเพศ ความจริงแล้วมาจากวัฒนธรรม”
พิสูจน์อักษร: พรนภัส ชำนาญค้า