×

หมอเอ้ก-คณวัฒน์ จันทรลาวัณย์ อย่าให้กฎหมายมาขวางทางความรักของพวกเรา

06.07.2019
  • LOADING...
คณวัฒน์ จันทรลาวัณย์

หมอเอ้ก-คณวัฒน์ จันทรลาวัณย์ หนึ่งในนักการเมืองรุ่นใหม่ ความหวังของพรรคประชาธิปัตย์ เดินขึ้นเวที THE STANDARD POP Talk Our Pride #แตกต่างเหมือนกัน ในฐานะสปีกเกอร์คนที่ 5 ที่มาตอกย้ำว่าความแตกต่างไม่ใช่เรื่องผิด 

 

ไม่ว่าคุณจะเคยจดจำภาพของเขาว่าเป็นนักการเมืองไฟแรง มีความสร้างสรรค์ หรืออาจจะเคยเย้ยหยันว่าเขาเป็นเพียงนักการเมืองที่มีดีแค่ ‘หน้าตา’ คนหนึ่ง แต่สิ่งที่เขากำลังจะพูดต่อไปนี้ เขาพูดด้วยการถอดหมวกทุกสถานะที่เคยสวมเอาไว้ทั้งหมดออก

 

และออกมาพูดสิ่งที่อยู่ในใจทั้งหมด ในฐานะ เอ้ก คณวัฒน์ คนธรรมดาที่เชื่อว่าความ ‘แตกต่าง’ คือความสวยงามที่ควรรักษาเอาไว้ และต้องพยายามทำทุกอย่างเพื่อไม่ให้กฎหมายมาขวางทางความรักของเรา 

 

1. “ผมตอบรับคำเชิญของ THE STANDARD POP ถอดหมวกทุกใบออก ไม่มีหมวกสถาบันหรือองกรค์ไหน ผมพูดในฐานะ เอ้ก คณวัฒน์ ผมพยายามเป็นเอ้กจริงๆ ไม่มีบทบาทนักการเมืองเลย” 

 

หลังจากพูดแซวพรรคประชาธิปปัตย์ที่ตัวเองสังกัดอยู่เล็กน้อย พร้อมกับขอบคุณทุกคนที่มีส่วนช่วยผลักดันนโยบายเกี่ยวกับ LGBTQ ออกมา หมอเอ้กเริ่มต้นการเสวนาด้วยการชวนทุกคนมองไปที่ #แตกต่างเหมือนกัน เพราะสังคมเราประกอบขึ้นด้วยความแตกต่างทั้งความคิด อุดมการณ์ทางการเมือง อายุ รูปร่างหน้าตา ไปจนถึงเรื่องเพศ ฯลฯ

 

สิ่งหนึ่งที่ทำให้หมอเอ้กตกใจและเสียใจมากที่สุด คือ ถึงแม้เราจะมองเห็นว่าเรื่องเพศเป็นประเด็นที่เปิดกว้างมากขึ้นทั้งในสังคมและสภา แต่ถ้าดูตามความจริงจากคอมเมนต์ต่างๆ ในโซเชียลมีเดีย จะเห็นว่ายังมีหลายคนที่รังเกียจ และไม่อยากไปใช้ชีวิตอยู่ร่วมกับคนที่มีความแตกต่างทางความคิด 

 

2. “แต่ผมมองว่าความแตกต่างคือความสวยงาม” เขาเปรียบเทียบสังคมเป็นเหมือนป่าที่มีความหลากหลายทางระบบนิเวศ ประกอบไปด้วยต้นไม้เล็กใหญ่ สัตว์นานาพันธุ์ อยู่รวมกันท่ามกลางความแตกต่างได้อย่างสวยงาม นี่คือการยอมรับในความแตกต่างที่สังคมควรเป็นทั้งเรื่องอุดมการณ์ เพศสภาพ หรืออะไรก็ตาม

 

“ไม่รู้ว่าผมไร้เดียงสาหรือมองโลกในแง่ดีมากไปไหม แต่ผมอยากให้เราคุยกันในฐานะเอ้ก ในฐานะอ๋อง ในฐานะครูเคท แคนดี้ เชฟตาม พี่ออฟ โดยไม่ต้องจัดกลุ่มหรือตีกรอบเหมารวมว่าผมเป็นอะไร ไม่มีสลิ่ม ไม่มีสีแดง ไม่มีติ่งส้ม คุยกันในฐานะมนุษย์คนหนึ่ง ไม่มีการตัดสินว่าใครผิดหรือถูก”

 

3. หมอเอ้กพูดถึงกรณีที่มีผู้ปกครองบางกลุ่มไม่อยากให้ลูกเรียนกับครูที่เป็นกะเทย เพียงเพราะกลัวว่าลูกจะโตมาเป็นกะเทยตามไปด้วย และยกตัวอย่างคำพูดของป๋อมแป๋ม (นิติ ชัยชิตาทร) ที่บอกว่า ถ้าจะแก้ปัญหาจริงๆ ต้องไม่ให้ลูกไปเรียนกับครูผู้หญิง เพราะเด็กเขาอยากเป็นผู้หญิง ไม่ได้อยากเป็นกะเทยแบบที่พ่อแม่เข้าใจ 

 

ซึ่งความคิดแบบเหมาะรวมว่ากะเทยเป็นครูไม่ได้ หรือใครสักคนจะเป็นบางสิ่งบางอย่างที่เขาอยากเป็นไปไม่ได้ คือความคิดที่จะไม่เกิดขึ้นในสังคม ถ้าเรายอมรับความแตกต่างอย่างแท้จริง

 

4. ต่อด้วยประเด็น Positive Discrimination (การเหยียดหยามเชิงบวก) ที่ตัวเขาประสบมาตลอดโดยเฉพาะในช่วงหาเสียง ที่ถูกตีกรอบว่าเป็นเพียงนักการเมือง ‘หน้าตาดี’ คนหนึ่งเท่านั้น หมอเอ้กเคยไปพูดในงานเสวนาครั้งหนึ่ง แล้วมีคนเดินมาบอกเขาว่า ก่อนหน้านี้ไม่ได้สนใจอะไรในตัวเขา เพราะคิดว่ามีดีแค่หน้าตาเฉยๆ มองเผินๆ อาจดูน่าดีใจที่มีคนเอ่ยปากชมว่าหน้าตาดี แต่สร้างความร้าวลึกให้กับคนที่พบเจอ 

 

การชื่นชมด้วยการมองจากผิวเผินภายนอก นำไปสู่หลายเหตุการณ์ที่ทำให้เกิดการ ‘เหยียด’ ใครสักคนขึ้นโดยไม่รู้ตัว เช่น ที่เราพูดกันอยู่เสมอว่า เรามีการยอมรับเพศทางเลือก แต่เราต้องมาดูกันโดยเนื้อแท้ว่าอย่างไร การยอมรับ เรายอมรับกันขั้นไหน หรือเป็นเพียงการยอมรับในฐานะ ‘ตัวตลก’ ที่เป็นประเด็นสำคัญเดียวกับที่ดีเจอ๋องพูดเอาไว้ก่อนหน้านี้ 

 

5. เช่นเดียวกับ เรื่องสิทธิของ LGBTQ ที่มีหลายพรรคอยากผลักดันประเด็นความเท่าเทียมทางเพศ ‘พ.ร.บ. คู่ชีวิต’ มีแค่พรรคเราที่สวนกระแสว่า พ.ร.บ. คู่ชีวิต ไม่ใช่คำตอบ เพราะถึงแม้วัตถุประสงค์ของ พ.ร.บ. นี้จะดี แต่นี่คือหนึ่งในตัวอย่างของการ Positive Discrimination ด้วยการสร้างอีกเพศหนึ่งขึ้นมา ถ้าเชื่อและยอมรับในความแตกต่างอย่างเข้าใจจริงๆ เราไม่จำเป็นต้องสร้างอะไรขึ้นมาเพื่อกำหนดว่า LGBTQ ต้องทำอะไร 

 

เพราะในตัวกฎหมาย พ.ร.บ. คู่ชีวิต ไม่ได้ให้สิทธิเท่ากับคู่สมรสใน ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1448 (ป.พ.พ. 1448) คู่ชีวิตไม่สามารถรับบุตรบุญธรรม ไม่มีสิทธิ์ตัดสินใจแทนในการรักษาพยาบาล แม้กระทั่งในวันที่อีกฝ่ายเสียชีวิตก็จัดงานศพให้ไม่ได้ เพราะเป็นเพียงคู่ชีวิต ไม่ใช่คู่สมรส 

 

ทางออกที่หมอเอ้กเสนอคือ การแก้ ป.พ.พ. 1448 ที่ใช้กฎหมายกับกลุ่มคนเพศตรงแบบหนึ่ง แต่กลุ่ม LGBTQ ใช้อีกแบบหนึ่ง ในเมื่อทุกคนเป็นมนุษย์เช่นเดียวกัน เราก็ควรมีกฎหมายในการคุ้มครองฉบับเดียวกันด้วยไม่ใช่หรือ จึงจะเรียกว่าเป็นหนทางนำไปสู่ความเท่าเทียมอย่างแท้จริง 

 

6. หมอเอ้กก็ยังเชื่อว่าสิ่งที่ทุกคนร่วมกันทำได้เมื่อ พ.ร.บ. คู่ชีวิตออกมา คือปล่อยให้นโยบายดำเนินต่อไป แต่อย่าให้ทุกอย่างหยุดอยู่เพียงเท่านี้ แน่นอนว่าการผลักดันเรื่องใดเรื่องหนึ่งจะต้องเป็นไปด้วยอุปสรรค แรงเสียดทาน และคำติฉินนินทามากมาย แต่สุดท้ายต้องร่วมมือกันไปให้ถึงการแก้กฎหมาย ป.พ.พ. 1448 ให้ได้ 

 

“ผมขออย่างเดียว อย่าให้ประเด็นนี้เป็นแค่ก้อนหินที่โยนลงไปในน้ำแล้วหาย ต้องมีกลุ่มเคลื่อนไหว มีการรณรงค์ให้การแก้กฎหมายเกิดขึ้นจริง ถึงแม้นักการเมืองหลายคนจะทำให้พวกคุณผิดหวัง แต่ผมจะยังอยู่ตรงนี้ จะเป็นส่วนหนึ่งในการช่วยผลักดันไปถึงตรงนั้นให้ได้ 

 

“และสุดท้าย อย่าให้กฎหมายมาขวางทางความรักของพวกเรา”

 

พิสูจน์อักษร: พรนภัส ชำนาญค้า

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising