×

อ๋อง-เขมรัชต์ สุนทรนนท์ เพราะไม่มีใครอยากเป็น ‘ตัวตลก’ ไม่ว่าคนนั้นจะเป็นเพศใดๆ ก็ตาม

06.07.2019
  • LOADING...
POPTALK

เปิดงาน THE STANDARD POP Talk Our Pride #แตกต่างเหมือนกัน ด้วยสปีกเกอร์คนแรก ดีเจอ๋อง-เขมรัชต์ สุนทรนนท์ หนึ่งในศิลปิน ดีเจ นักแสดง พิธีกรมากความสามารถ ที่หลายครั้งภาพลักษณ์ที่ปรากฏออกมาตามสื่อ ก็ทำให้ถูก ‘ตีกรอบ’ ว่าคนตลกอย่างเขา จะต้องเป็น ‘ตัวตลก’ ที่ใครจะทำอะไรก็ได้ 

 

ถึงแม้ว่าในภาพกว้างๆ จะดูเหมือนว่าสังคมเราจะมีความหวัง เพราะมีการเปิดรับบุคคลกลุ่ม LGBTQ ให้มีพื้นที่แสดงตัวตน และความสามารถได้มากขึ้น หากแต่สิ่งที่บางครั้งเราถูกแสงที่ดูเหมือนจะมีความหวังบังตาจนมองข้ามไป คือ ‘การยอมรับ’ ที่เกิดขึ้นนั้น เป็นการยอมรับที่มาจากความเข้าใจกลุ่มที่แตกต่างกันจริงๆ หรือเป็นเพียงการยอมรับที่มีเงื่อนไขพ่วงท้ายมาว่า 

 

“คน ‘ตลก’ จะต้อง ‘แสดงตลก’ ให้ดูก่อน ถึงจะได้รับการยอมรับจริงๆ”

 

1. อ๋องเริ่มต้นด้วยมุกตลก บอกว่านอกจากประเด็นที่สะสม และอยากพูดมาตั้งแต่เด็ก เหตุผลที่ทำให้มางานวันนี้คือหมอเอ้ก สิ่งแรกที่เขาทำเมื่อมาถึงงานตั้งแต่บ่ายโมง คือถ่ายรูปกับหมอเอ้ก และลงรูปอวดเพื่อนในโซเชียล 

 

ทั้งนี้ก็เพื่อชวนตั้งคำถามว่า อ๋องเป็นคนตลกใช่ไหม คำตอบคือใช่ เบื้องลึกเขาเป็นคนดี ก่อนเริ่มเล่าอดีตตั้งแต่ครั้งเขายังเป็นเด็ก

 

2. อ๋องเรียกตัวเองว่าเป็นตุ๊ดหัวโปก ที่ยืนหนึ่งเรื่องการกระโดดยางและเล่นหมากเก็บ นอกจากไม่คิดเรื่องเข้าวงการบันเทิงแล้ว เขายังไม่เคยแม้แต่จะเปิดเผยตัวเองว่าลึกๆ แล้วเขารู้สึกอย่างไร เพราะรับรู้มาโดยอัตโนมัติว่าเราไม่สามารถเป็นตุ๊ด เกย์ เพศที่ 3 โดยแสดงออกได้ เพราะ 25 ปีที่แล้วยังไม่มีการยอมรับใดๆ แบบทุกวันนี้ 

 

3. ขยับมาที่ 15 ปีต่อมา เริ่มเข้าช่วงวัยรุ่น อ๋องเริ่มร้องเพลง อยากเข้าวงการบันเทิง มีโอกาสเข้าวงการบันเทิงในฐานะนักร้องนำวงมะลิ ด้วยภาพลักษณ์นักร้องชายวงร็อก ที่ได้รับบรีฟมาว่า ให้ขายแค่ความคูล ความสตรอง ความเท่ เพราะถ้าพูดเยอะ ความเป็นตุ๊ดจะออกมาแน่นอน 

 

ความโชคดีเล็กๆ คืออ๋องไม่ได้รู้สึกอึดอัดเท่าไรนักกับสถานการณ์ที่เป็นตอนนั้น เพราะพื้นที่ตรงนั้นเปิดโอกาสให้เขาได้ร้องเพลงในสิ่งที่รัก มีผลงานของตัวเองที่ทำให้คนรู้จัก ยอมรับ และพ่อแม่ก็ภูมิใจในตัวเขา

 

แต่สิ่งที่น่าเศร้าคือ เหตุผลที่เขาไม่อึดอัด เป็นเพราะการเติบโตมาในวัฒนธรรม ที่ถึงแม้จะไม่มีใครมาสอนว่าห้ามเป็นตุ๊ด ห้ามเป็นเกย์ ห้ามเป็นเพศที่ 3 แต่เขาก็ซึมซับมาจากสังคมรอบข้างด้วยตัวเองว่า ไม่มีใครอยากเห็นเขา หรืออยากให้เขาเป็นแบบนั้น 

 

4. ตัดภาพมาที่ยุคปัจจุบันในปี 2019 อ๋องดีใจที่สังคมเราเปิดกว้าง ทุกคนได้เป็นตัวของตัวเอง มีพื้นที่ บทบาท และจุดยืนในสังคมมากขึ้น แต่สิ่งที่เขาอยากชี้ชวนให้ทุกคนมองลงไปลึกกว่านั้น คือการยอมรับเพศที่ 3 ในสังคม ณ ตอนนี้ เรายอมรับกันจากหัวใจจริงๆ หรือเป็นการยอมรับแบบมีเงื่อนไขบางอย่างพ่วงท้ายมาด้วย 

 

5. อ๋องยกตัวอย่างเวลาตัวเองอยู่บนเวที เขาเล่น หยอกล้อ แทะโลมหมอเอ้ก เพื่อสร้างเสียงหัวเราะ โดยที่บางคนอาจหลงลืมและเผลอมองข้ามไปว่า นี่คือหนึ่งในคาแรกเตอร์ เขาสร้างขึ้นมาเพื่อสร้างความตลก สร้างรายได้ สร้างอาชีพให้ตัวเอง 

 

แต่ภาพที่เห็นไม่ได้หมายความว่า เมื่ออ๋องเดินออกไปแล้วทุกคนจะสามารถเดินมาตบหัว บอกให้เล่นตลกให้ดู ซึ่งนี่ไม่ใช่เรื่องตลก หลายครั้งที่แม้อ๋องไม่ได้ถูกทำร้ายร่างกายโดยตรง แต่อ๋องเคยเจอเหตุการณ์ที่ยืนถ่ายรูปในงานหนึ่ง แล้วมีคนเอามือมาลูบผ่านร่องก้น แล้วพูดตลกว่า เป็นการทักทาย 

 

คำถามที่อ๋องอยากชวนให้ทุกคนช่วยกันคิดและนึกภาพตาม คือเราสามารถทักทายทุกคนด้วยวิธีนี้เหมือนกันได้หรือเปล่า 

 

6. อ๋องมองว่ามันมีเงื่อนไขบางอย่างที่มากับการยอมรับเรื่องเพศที่ 3 ในสังคมตอนนี้ ว่าเรายอมรับคุณนะ แต่คุณก็ต้องถูกลดคุณค่าลงโดยพวกเรา เพื่อแลกกับการยอมรับนั้น 

 

ซึ่งไม่ใช่แค่อ๋อง เพื่อนของอ๋องที่เป็นคนเรียบร้อยและเป็นเกย์ชัดเจน ที่ตื่นมาทุกเช้าต้องไปเจอกับสังคมที่ปฏิบัติกับเขาเป็นตัวตลกตลอดเวลา และเป็นตัวตลกที่ทุกคนคาดว่าจะต้องเล่นตลกให้ดู ความขมขื่นตรงนั้น คือการลดคุณค่าของความเป็นมนุษย์คนหนึ่งลงไปอย่างร้ายแรง 

 

7. มีหลายคนที่เคยแย้งอ๋องว่า เพราะตัวอ๋องเองก็ยังขายความตลกอยู่เหมือนกัน ซึ่งอ๋องอยากถามกลับไปสั้นๆ ว่า เขาเหล่านั้นแยกไม่ออกจริงๆ หรือ ว่าที่อ๋องปรากฏภาพออกมาแบบที่เห็นนั้นทำไปเพราะอะไร 

 

อ๋องอยากให้ทุกคนแยกแยะว่า แต่ละคนมีบทบาท มีหน้าที่ มีความสามารถในการทำสิ่งต่างๆ ของตัวเอง ร้องเพลงต้องใช้ความสามารถด้านเสียง เป็นพิธีกรต้องใช้ความสามารถด้านความตลก อารมณ์ดี เพื่อสร้างความสุข ความสนุกในชิ้นงานให้กับทุกคน  

 

เพียงแต่การเป็นคนตลก หรือแม้กระทั่งการแสดงออกว่าเป็นคนตลก ไม่ได้หมายความว่าพวกเขาจะอยากเป็น ‘ตัวตลก’ ในสายตาของใครก็ตาม 

 

8. อ๋องยกตัวอย่างกรณีล่าสุดที่เกิดขึ้นกับหนูรัตน์ ที่เกิดประเด็นทางสังคม จนออกมายืนยันคำพูดแบบเดียวกับอ๋องที่ว่า ถึงแม้เธอจะเป็นคนตลก แต่เธอไม่เคยอยากเป็นตัวตลกเช่นเดียวกัน 

 

และไม่ใช่แค่อ๋องหรือหนูรัตน์ แต่หมายความรวมถึงมนุษย์ทุกคนว่า ไม่มีใครอยากเป็นตัวตลก แล้วเพราะเหตุใด เราถึงยอมรับกันได้ว่า เราสามารถคาดหวังและมองคนอื่นเป็นตัวตลก เพียงเพราะเขาหรือเธอคนนั้นมีความคิด หรือความรู้สึกบางอย่างไม่เหมือนกับคุณ 

 

9. อ๋องเคยทำวิจัยตอนศึกษาระดับปริญญาโท เรื่อง การที่ภาพยนตร์ไทยผลิตซ้ำเรื่องดังกล่าวออกมา มีเคสภาพยนตร์เรื่องหนึ่ง ตัวละครพ่อเป็นกะเทย แล้วถูกลูกตัวเองตบตี ทำร้ายร่างกาย เรื่องทั้งหมดดูเลวร้าย แต่เซนส์ที่นำเสนอออกมา กลับกลายเป็นความตลก ที่ยิ่งพ่อถูกตบ ยิ่งมีคนหัวเราะ 

 

ซึ่งถ้าตัดภาพสลับกัน ให้ตัวละครที่ถูกทุบตีเป็นแม่ที่เป็นเพศหญิงตามปกติ เชื่อได้เลยว่าต่อให้บริบทจะสนับสนุนให้ตลกมากแค่ไหน ก็ไม่มีทางที่คนจะตลกกับภาพที่เห็นตรงหน้าแน่นอน อ๋องวิจัยด้วยการให้คน 100 คนดูภาพยนตร์เรื่องนี้ และคำตอบที่ได้ก็เป็นอย่างที่เขาคิดจริงๆ 

 

นำไปสู่คำถามต่อมาที่ว่า แล้วทำไมเมื่อตัวละครผู้ชายที่เป็นกะเทยถูกตบ ถึงกลายเป็นเรื่องตลก ทั้งที่บริบทแทบไม่มีอะไรแตกต่างกันแม้แต่นิดเดียว

 

10. ถึงแม้คำถามดังกล่าวจะต้องใช้เวลาเพื่อถกเถียง และค้นหาคำตอบกันต่อไป แต่สิ่งที่อ๋องอยากสื่อสารในครั้งนี้ คือประเด็นที่ว่า ทุกคนมีคุณค่า มีคาแรกเตอร์ มีความถนัดของตัวเอง ซึ่งสิ่งที่เหนือไปกว่านั้น คือถึงแม้จะแตกต่าง แต่เมื่อเรามีพื้นฐานเป็นมนุษย์เหมือนกัน 

 

สิ่งหนึ่งซึ่งง่ายที่สุด และเราพึงมอบให้แก่กันได้ คือการให้เกียรติ การเคารพซึ่งความเป็นมนุษย์ ที่ถึงแม้จะมีความแตกต่าง ไม่เหมือนกับความคิด หรือภาพที่เคยชินตา หากแต่ความแตกต่างนั้นเป็นเพียงความหลากหลาย ที่ไม่ใช่ ‘ความผิด’ 

 

แม้กระทั่งใครสักคนจะไม่ชอบความแตกต่างนั้นก็ไม่ใช่ ‘ความผิด’ เพียงแค่ยอมรับในความแตกต่าง และยอมรับในความแตกต่างนั้นด้วยใจจริงๆ โดยไม่มีข้อแม้ อยู่ร่วมกันด้วยความเห็นอกเห็นใจ และเราจะเห็นส่วนหนึ่งที่ทำให้สังคมน่าอยู่ขึ้น

 

ไม่ว่าเราจะเป็นใคร หรือแตกต่างกันมากขนาดไหนก็ตาม 

 

พิสูจน์อักษร: ลักษณ์นารา พักตร์เพียงจันทร์

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X